วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

เซนสร้างญี่ปุ่น+เซนยังมิซา

เซนสร้างญี่ปุ่น

คอลัมน์คุย กับ ประภาส
โดย ประภาส ชลศรานนท์ (prapaschol@hotmail.com)
http://www.geocities.com/Athens/Troy/8697/zen_japan.gif
อาทิตย์ก่อนเล่าเรื่องตามรายทางของญี่ปุ่นให้ฟังไปบ้างแล้ว อาทิตย์นี้ผมจะชวนคุยเรื่องเซน (Zazen) ของญี่ปุ่นครับ เซน เป็นแขนงหนึ่งในพระพุทธศาสนา ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ในบ้านเรามีหนังสือเกี่ยวกับเซนให้อ่านกันอยู่มาก มาย ใครที่เป็นหนอนหนังสือก็คงผ่านตามานับไม่ถ้วนแล้ว ผมเองนั้นรู้จักกับเซนก่อนรู้จักประเทศญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเซนที่อ่านมาเมื่อครั้งยังรุ่นอยู่ ผมสังเกตดูพบว่าส่วนใหญ่แปลมาจากภาษาอังกฤษ จะบอกว่าพวกฝรั่งนี่แหละสนใจเซนเอามากๆ ก็ไม่ผิด
ถึงตรงนี้คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนทางตะวันตกนั้นเขามีพื้นฐานความคิดต่างกับคนทางตะวันออกอยู่ คิดดูสิครับ เคยแต่ใฝ่หาความสมบูรณ์พูนสุขความหรูหราอลังการ อยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่าสิ่งที่คุณมีนั้นมันไม่มี เป็นใครๆ ก็ต้องหยุดฟังทั้งนั้น
คนไทยไม่ค่อยจะตื่นเต้นอะไรกับเซนมากนัก เพราะเซนก็คือพุทธ เซนยังคงพูดถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดมาหลายพันปีก่อนเช่นกัน เซนพูดถึงเป้าหมายอันเดียวกันในพุทธศาสนาคือ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ นักบวชเซนเรียกการรู้แจ้งในชีวิตและสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยญาณทรรศนะของตัวเอง ว่า ซาโตริ (ผู้ดูแลบอร์ด - Satori มีความหมายเท่ากับคำว่า Enlightenment)
ซาโตริจะเหมือนกับสำเร็จเป็นพระอรหันต์หรือไม่ผมไม่แน่ใจ แต่การถึงซาโตริมีวิธีที่ไม่เหมือนกับทางฝ่ายเถรวาทและมหายานเลย
เล่าเรื่องมาไม่กี่ย่อหน้าผมก็ว่าเรื่องซาโตริเรื่องสำเร็จเสียแล้ว สงสัยจะเขียนด้วยวิถีแห่งเซนมากไปหน่อย นั่นคือไร้ขั้นตอนและปราศจากเหตุผล เซนเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ
กลับมาเริ่มกันใหม่ก่อนก็ดี เซน เป็นภาษาญี่ปุ่นครับ เป็นคำเดียวกับคำว่า ฌาณ ในบาลีนั่นเอง เซนกำเนิดที่ประเทศจีน ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มเซนชื่อ ฮุยเน้ง ท่านฉายประกายแห่งเซนก่อนที่จะบวชเป็นพระเสียอีก ครั้งนั้นท่านเป็นคนรับใช้หุงหาอาหารให้พระในวัดแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีน วันหนึ่งท่านเดินไปเห็นคาถาบทหนึ่งแปะอยู่หน้าวัด คาถานั้นเขียนไว้ว่า
กายดั่งต้นโพธิ์
วิญญาณดั่งกระจกเงา
หมั่นเช็ดถูกระจกเงาให้สะอาด
อย่าได้มีละอองฝุ่นจับได้

คาถานี้พระในวัดต่างสรรเสริญกันว่าเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งยิ่ง ฮุยเน้งเห็นคาถาที่ว่านี้ก็ให้รู้สึกอยากเขียนคาถาขึ้นมาบ้าง รุ่งเช้าคาถาของฮุยเน้งก็แปะต่อจากคาถาแรก มีความว่า
โพธิ์มิใช่ต้นไม้
กระจกเงามิฉายอยู่ที่ใด
เมื่อไร้ทุกสิ่งแต่แรก
ฝุ่นละอองแห่งใดจะมาจับ

และตั้งแต่นั้นมาเซนก็ถือกำเนิดขึ้น อ่านจากคาถาบทนี้ก็คงพอจะเข้าใจนะครับว่าเซนมีวิธีสอนอย่างไร
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเราเกิดมาแล้วเป็นทุกข์ เมื่อเราละตัวตนได้เราก็ไม่ทุกข์ วันนั้นแสงสว่างแห่งพระพุทธศาสนาก็สว่างขึ้น จนถึงวันนี้สองพันกว่าปีแล้วที่ผู้คนในหลายประเทศยังร่มเย็นอยู่ในแสงสว่าง นั้น คำสอนเรื่องความทุกข์ของพระพุทธเจ้ายังคงเป็นความจริงของโลก แม้ว่ามรรคไปสู่ความรู้แจ้งในชีวิตของพุทธบริษัทแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป
เซนมาเจริญงอกงามมากที่ญี่ปุ่น แปลกดีนะครับของหลายอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นที่หนึ่งแต่ไปโตอีกที่หนึ่ง ดินที่ญี่ปุ่นคงเป็นดินอุดมสำหรับเมล็ดพืชอย่างเซนโดยเฉพาะ เมืองไทยนี่ก็เหมือนกัน เถรวาทเติบโตในบ้านเราจนทุกวันนี้ศูนย์กลางของศาสนาพุทธอยู่ที่เมืองไทยแล้ว อย่าลืมนะครับว่าพระบรมศาสดาของเราเป็นชาวอินเดีย
กลับมาดูวิธีการสอนของเซนต่อครับ
เซนไม่สอนให้สวดมนต์ เซนไม่พูดถึงปรมัตถ์ ไม่พูดถึงสมมุติ เพราะเซนถือว่าทุกอย่างคือสิ่งเดียวกัน ปรมัตถ์ก็คือสมมุติ สมมุติก็คือปรมัตถ์ บางทีเซนก็พูดสิ่งที่ขัดกันในตัว พูดเพื่อให้ทุกสิ่งไร้ตัวตน ไม่เชื่อลองฟังอันนี้ดูก็ได้
เมื่อเราข้ามสะพาน
น้ำใต้สะพานไม่ไหล
สะพานต่างหากที่ไหล

ภาษาอย่างนี้ถ้ามาพูดแถวซอยในกรุงเทพฯ ก็อาจถูกต่อยได้ แต่ต้องลองคิดว่าเป็นคนเมื่อหลายร้อยปีก่อนพูด ว่ากันว่าคำพูดแค่นี้มีหลายคราทีเดียวที่ทำให้พระในวัดเซนสำเร็จซาโตริได้ ลองฟังอันนี้อีกอันดู
หินนี้มีสีเขียวด้วยตะไคร่
ตะไคร่มีสีเขียวด้วยมีหินให้เกาะ
ตะไคร่มิได้มีสีเขียว
หินก็มิได้มีสีเขียว

รู้สึกอย่างไรบ้างครับ คุยไปคุยมาสีเขียวหายไปเสียแล้ว ถ้าคุยไปอีกสักพักทั้งหินทั้งตะไคร่ก็คงหายไปด้วย และถ้าคุยไปเรื่อยๆ ตัวคนคุยก็คงจะหายไปเช่นกัน ฟังๆ ดูแล้ววิธีการสอนของเซนแล้วทำให้ผมนึกถึงคำว่า "เฉียบพลัน" ขึ้นมา เหมือนกับว่าเซนจะสอนให้คนเข้าถึงฌานหรือเซนก็ด้วยอาการฉับพลัน เหมือนแสงสว่างที่มากระทบตาแวบหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น ไม่มีเรื่องของการวิเคราะห์เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ ไม่มีลำดับความเป็นมาและเป็นไป ไม่มีเรื่องของสมาธิและศีล เซนพุ่งไปที่ปัญญาเพียงหลักเดียว
เซนถือว่าการเข้าใจและรู้แจ้งในชีวิตเกิดจากการเฝ้าดูชีวิตให้มันผ่านไป เรื่อยๆ ผ่านไปเหมือนสายน้ำในลำธาร แล้วแวบหนึ่งแสงแห่งฌานก็จะสว่างขึ้น แต่ถึงเซนจะเน้นเรื่องปัญญาเพียงอย่างเดียว เซนก็สร้างอุบายให้คนเข้าถึงเซนด้วยวิถีความเป็นอยู่เหมือนกัน เซนเชื่อว่าความวิเวกจะทำให้คนละอัตตาได้ง่ายขึ้น
ตามบันทึกในประวัติศาสตร์เซนเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อราวเก้าร้อยปีก่อน ในยุคแรกเซนเป็นธรรมของชนชั้นสูงและซามูไร ด้วยเหตุนี้เซนจึงมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่มาก และด้วยจุดประสงค์ที่จะให้เกิดความวิเวกนี่เอง ศิลปะต่างๆ ของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้ ภาพวาด โคลงไฮกุ การชงน้ำชา หรือแม้แต่การจัดบ้านเรือนทุกอย่างจะทำขึ้นเพื่อให้ดูแล้วจะรู้สึกได้ถึง อารมณ์สงบ โคลงไฮกุนั้นสั้นเพียงสามบรรทัด ไม่มีฉันทลักษณ์ใดๆ มาบังคับ นอกจากจำนวนพยางค์ ลองดูบทนี้สิครับผมล่ะชอบจริงๆ
ดอกไม้บานอีกครา
ม้านั้นมีขาถึงสี่ขา
แต่นกมีเพียงสอง

บางคนบอกอ่านแล้วเหมือนไม่ได้อ่านอะไร แต่เซนบอกว่านี่แหละคือชีวิต ถ้าจะให้ผมสรุปสั้นๆ ตามความรู้สึกส่วนตัวเมื่อเห็นศิลปะแขนงต่างๆ ของญี่ปุ่นก็คือ เรียบง่าย วิเวก และเฉียบพลัน
ไปญี่ปุ่นคราวนี้ได้ขอเขาเข้าไปดูการจัดดอกไม้ของจริงที่ญี่ปุ่นด้วย เขาใช้กิ่งก้านและใบน้อยเหลือเกินครับ ไอ้สวยน่ะก็สวยครับแต่คนไทยอย่างผมบางทีดูแล้วมันไม่ชุ่มใจเลยครับ เห็นเขาบอกว่ามันทำให้ดูแล้วสงบ พิธีชงน้ำชานี่ยิ่งหนักใหญ่ นั่งชงเงียบๆ เป็นชั่วโมงพอถึงเวลากินยกดื่มอึกเดียวเป็นเสร็จ ผมลองทำดัดจริตนึกตีความดู ผมว่ามันเหมือนซ่อนคำสอนเรื่องความเฉียบพลันอย่างไรไม่รู้
ชงให้นานแล้วดื่มแป๊บเดียว ภาพวาดก็เช่นกันใช้เวลากับการศึกษาและทำอารมณ์แสนนาน พอจะวาดปาดพู่กันเพียงห้าหกเส้นเป็นเสร็จ ซามูไรก็ฟันกันดาบเดียวแม้จะยืนจ้องกันหลายนาที ซูโม่ก็เช่นกันฝึกมาทั้งปี ขึ้นเวทีมีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้นที่จะทุ่มคู่ต่อสู้ให้ออกนอกวงให้ได้ ยกเดียวไม่มียกสองยกสาม ไม่มีการให้คะแนน ไม่มีรุ่น ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่มีสิทธิสู้กันได้ ถ้าล้มคนมียศได้ก็ได้ยศไป อะไรจะเฉียบพลันเรียบง่ายขนาดนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้พอนึกออกหรือยังครับว่า ทำไมผมถึงคิดว่าเซนสร้างญี่ปุ่น เซนทำให้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศเชื้อสายจีนประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นเรียบง่าย จนคนหลายชาติให้ความสนใจในความลุ่มลึกของความเรียบง่ายนี้ แม้แต่ภาษาจีนที่ญี่ปุ่นเอามาใช้ ญี่ปุ่นก็ตัดหางตัดหัวออกให้น้อยลงเสีย เพราะเซนถือว่า น้อยคือมาก ธงญี่ปุ่นนั่นประไร มีแต่พื้นขาวๆ แล้วก็วงกลมสีแดงอยู่ตรงกลางแค่นั้น ยิ่งสวนหินยิ่งไม่ต้องพูดถึง หินใหญ่สีเข้มวางบนทะเลกรวดสีขาว เป็นงานศิลปะที่มีความนิ่งอย่างแท้จริง ความนิ่งอันนี้เองที่เซนบอกว่า จะทำให้เห็นธรรม วัดเซนที่ผมไปเยี่ยมมาทุกแห่งจะรู้สึกถึงพลังนิ่งๆ ที่อาบไปทั่วภูมิสถาปัตยกรรมที่รายรอบวัดอยู่
ซามูไรทุกคนนับถือเซน ความวิเวกแห่งเซนสอนได้ให้ซามูไรมีวินัย เซนสอนซามูไรให้เสียสละและไม่กลัวตาย เพราะเซนเชื่อว่าความตายไม่มี สิ่งที่ดาบแหวกผ่านไปนั้นล้วนเป็นความว่างเปล่า นักรบทุกคนจึงยอมตายได้เพื่อชาติ ดังที่เราเคยเห็นซามูไรญี่ปุ่นขี่เครื่องบินพุ่งชนเรือรบมาแล้วในสงครามโลก ทุกวันนี้ซามูไรญี่ปุ่นเลิกถือดาบและหันมาหิ้วกระเป๋าเอกสารรบกับคนทั้งโลก แทน แต่ดาบเล่มเล็กเหน็บเอวที่ผมเรียกว่าดาบแห่งการรับผิดชอบนั้นดูเหมือนคน ญี่ปุ่นได้ถูกเซนปลูกฝังให้เหน็บไว้ที่ใจไปเสียแล้ว

ทั้งรับผิดชอบ ทั้งรักชาติ ทั้งมีวินัย ต่อให้เขาแพ้สงครามอีกกี่ครั้งเขาก็ฟื้นได้ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน 27 พ.ค. 2544

เซนยังมิซา
คอลัมน์ คุยกับประภาส

สวัสดีค่ะคุณประภาส

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้อ่านมติชนหน้า 14 ตามอย่างคนที่ติดตามอ่านหน้านี้เป็นประจำ พออ่านเรื่องเซนและเต๋า จึงอยากจะเสนอข้อแย้งเรื่องที่อธิบายว่า หลังจากพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศจีน ปรัชญาและคำสอนที่มีอยู่ในจีนอยู่แล้ว ทำให้เกิดการผสมผสานกลาย เป็นพุทธศาสนานิกายใหม่ที่เรียกกันที่หลังว่า "นิกายมหายาน" จริงๆ แล้วพุทธศาสนานิกายมหายานนี้เกิดขึ้นมาก่อนที่จะเข้าสู่ประเทศจีน เพราะหลังจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 อันมีเหตุเนื่องมาจากการแตกในหมู่สงฆ์เรื่องวัตรปฏิบัติบางข้อ สงฆ์พวกแรกยึดถือตาม วัตรปฏิบัติเดิมที่พุทธองค์กำหนดไว้ แต่อีกพวกหนึ่งเห็นว่าควรผ่อนผันบ้างในบางข้อ เพื่อความสะดวกบางประการ ซึ่งต่อมาสงฆ์กลุ่มนี้เป็นต้นเค้าการเกิดพุทธศาสนานิกายมหายาน แล้วพุทธศาสนานิกายนี้ ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย และแพร่ขยายขึ้นเหนือไปเรื่อยจนเข้าสู่จีน รายละเอียดเรื่องกำเนิดพุทธศาสนามหายาน หาอ่านได้ในหนังสือ พุทธปฎิมา ฝ่ายมหายาน โดย ดร.ผาสุข อินทราวุธ, พุทธศาสนามหายาน โดย บุณย์ นิลเกษ และ ประวัติพุทธศาสนาเมื่อ 2500 ปีล่วงมาแล้ว โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย (ชื่อหนังสือไม่ ค่อยแน่ใจเท่าไรนะคะ)

ส่วนเรื่องนิกายเซนตามที่ได้เรียนมา (จากหนังสือทั้งสามเล่มข้างต้น) นิกายเซนที่มีอยู่ในญี่ปุ่นมีต้นเค้ามาจากพุทธศาสนานิกายฌานใน จีนและนิกายฌาน ก็มีที่มาจากพุทธนิกายธยานของอินเดีย โดยสันนิษฐานว่าเริ่มต้นมาจากพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่ง ความรู้ทางศาสนาทั้งหลายในจีนเกิดการพัฒนา และการแสวงหาความหมายทางปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่าเดิม ช่วงราวสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279 หรือ พ.ศ.1503-1822) เกิดการผสมกลมกลืนปรัชญาเต๋า ขงจื๊อ และฌาน ทำให้เกิดการกลืนกันระหว่่่างศาสนาความเชื่อ ทำให้ปรัชญาอันเป็นพื้นฐานเหล่ามี มีบางแง่มุมที่ใกล้เคียงกัน แล้วที่คุณประภาสบอกว่าเต๋าเกิดก่อนเซน ใช่ค่ะเต๋าเกิดก่อนเซน เพราะเซนเป็นศาสนาที่พัฒนามาจากนิกายฌาน แต่ในขณะที่พุทธนิกายฌานเกิดนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 11 เท่านั้น อ้อ! แล้วที่บอกคำสอนของเซนล้อคำสอนของมหายาน นั้นเห็นว่าไม่ใช่การล้อ แต่เซนถือว่าการทำอะไรก็ตาม ด้วยความตั้งใจจนบรรลุเกิดปัญญา นั่นก็เป็นวิถีแห่งเซน

จาก แฟนหน้าสิบสี่

ตั้งแต่มานั่งเขียนคุยกันสารพัดเรื่องอยู่ตรงนี้ กำลังใจอย่างหนึ่งที่ทำให้มีแรงอยากเขียนอยากค้นอยู่ตลอดก็คือ ความเอ็นดูจากท่านผู้อ่านและวิทยอาทรที่ส่งมาแย้งเมื่อมีความผิดพลาดขึ้น ต้องขอบคุณคุณแฟนหน้าสิบสี่ อย่างมากครับสำหรับข้อแย้งต่างๆ ผมนำมาลงให้อ่านกันเพราะเห็นว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ บางข้อนั้น ถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับผมด้วยซ้ำ และก็ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านคุยเรื่องเซนกันต่ออีกสักตั้ง ถือเสียว่า ฝนเซนยังมิซาเม็ด ผมเลยมาชวนนั่งชมฝนกันต่อ อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ

เรื่องแรกที่ผมบอกว่า เซนล้อเถรวาท เซนล้อมหายาน แต่คำท้วงติงท้วงว่า ไม่ใช่การล้อ เรื่องนี้ผมขอตอบอย่างนี้ ผมเรียกสิ่งนี้ว่าการตีความครับ การใช้คำบางคำเพื่ออธิบายอะไรบางอย่างที่ผู้ตีความต้องการอธิบาย อาจมีการเปรียบเปรย หรือใช้คำที่ให้ความรู้สึกชัดเจนหน่อย แต่ทั้งหมดก็ถือเป็นการตีความ

ดังนั้น หากผมจะเรียกสิ่งที่เซนพูดว่าคือการล้อ และการล้อของเซนนั้นก็ทำให้เกิดปัญญา จะเรียกว่า ผมพูดผิดนั้นย่อมไม่ได้ และเช่นเดียวกันครับหากคุณแฟนหน้าสิบสี่จะบอกว่าสิ่งที่เซนพูดนั้นไม่ใช่การ ล้อ ผมก็จะไปค้านว่าคุณแฟนหน้าสิบสี่พูดผิดก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะนี่คือการตีความ ผมจะเล่าความคิดของผมให้ฟังว่า ทำไมผมจึงรู้สึกว่าการล้อทำให้เกิดปัญญาได้ จำคาถาที่ท่านฮุยเน้งปรมาจารย์เขียนปะกำแพงวัดที่ผมเล่าเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้ไหมครับ อันนั้นแหละผมก็เรียกว่าเป็นการล้อคาถาแรกที่ปะไว้ก่อน

เรามาทวนกันอีกครั้งก็ได้ครับ คาถาแรกเขียนไว้ดังนี้
กายดั่งต้นโพธิ์
วิญญาณดั่งกระจกเงา
หมั่นเช็ดถูกระจกเงาให้สะอาด อย่าได้มีละอองฝุ่นจับได้

ส่วนคาถาของฮุยเน้งคือ
โพธิ์มิใช่ต้นไม้
กระจกเงามิได้ฉายอยู่ที่ใด
เมื่อไร้ทุกสิ่งแต่แรก
ฝุ่นละอองแห่งใดจะมาจับ


ไม่รู้สิครับผมมองอย่างไรผมก็เรียกว่าล้อ และคำล้อนี้ก็ทำให้เกิดการฉุกคิด แต่จะถึงซาโตริหรือไม่ ก็แล้วแต่บุคคลครับ ตอนนี้ผมกำลังนึกถึงกำแพงที่ถูกเด็กนักเรียนไทยพ่นสีประกาศศักดาของโรงเรียน ตัวเองอยู่ นึกออกไหมครับ พวก "อ.น.พ. พ่อ วนาคาม" ซึ่งถ้าผมสมมุติว่านี่เป็นคาถาอย่างหนึ่ง แล้วมีใครมาพ่นทับว่า "อ.น.พ. ลูกไม่มีพ่อ" ผมก็เห็นว่ามันคือการล้อ ใครผ่านมาเห็นเข้าอาจจะหัวเราะขัน แล้วก็อาจได้คิดอะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย เขียนไว้อย่างนี้อย่าไปรวบรัดตีความว่า ผมกำลังยกให้กำแพงที่เด็กไทยพ่นสีใส่ถือเป็นโศลกหนึ่งของเซนนะครับ

ในหนังสือตลกอย่างขายหัวเราะ หรือการ์ตูนของคุณชัย ราชวัตร นี่ก็คือการล้อดีๆนี่เอง พวกตลกที่เล่นในโทรทัศน์ ์นี่ก็ใช่ การล้อนั้นจะได้ผลอย่างมากหากสิ่งที่นำมาล้อมันมีอาการค่อนข้างล้นๆ อยู่ หรือที่เด็กรุ่นใหม่เขาเรียกกันว่ามันโอเวอร์ ยิ่งล้นมากยิ่งล้อได้สนุก ล้อความรักอันหวานชื่นมากๆ ของหนุ่มสาว ล้อพิธีรีตองที่มากเรื่อง ล้อคนท่ามาก ล้อความรักชาติอันเกินเหตุ ฯลฯ รู้สึกเหมือนผมไหมครับว่าเวลาเราล้อสิ่งใด เราก็จะยึดติดสิ่งนั้นน้อยลง

ท่านพุทธทาสจึงเรียกวันเกิดว่าวันล้ออายุ อันที่จริงผู้ที่พูดเป็นคนแรกว่า "เซนล้อมหายาน" นั้นก็คือท่านพุทธทาสนั่นเอง (ท่านเขียนไว้ในหนังสือภูมิปัญญาวิชาเซน สำนักพิมพ์ศยาม พ.ค.2533)

เรื่องที่สองเรื่องนิกายมหายานถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่อินเดียไม่ใช่ที่จีน นั้น ผมขอเสริมดังนี้ครับ หลังจากที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาแนวทางที่ทรงวางไว้เพื่อให้สงฆ์เข้าถึง พุทธะก็คือ ความสันโดษ และเมื่อเวลาผ่านไปกว่าหกร้อยปีหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ก็เกิดการตีความพุทธเป็นแบบใหม่ขึ้น ผู้ก่อตั้งลัทธิใหม่เป็นนักปราชญ์ชื่อ นาคารชุนะ ลัทธินี้พุ่งไปที่ความกรุณาเป็นหลัก

อุดมคติของลัทธินี้ก็คือโพธิสัตว์ตั้งสัตย์อธิษฐานว่ายอมเสียสละแม้กระทั่ง ความหลุดพ้นของตัวเอง จนกว่ามวลภาวะสัมผัสทั้งหลายจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ การตีความหมายใหม่นี้ถูกเรียกว่า มะหายานะ หรือยานอันใหญ่ ด้วยเชื่อว่าแนวทางนี้พาผู้คนพ้นทุกข์ได้มากกว่าการเดินเข้าหาความสันโดษแต่ เพียงผู้เดียว ขณะที่แนวทางเก่าได้ชื่อว่า หีนะยานะ หรือยานอันเล็ก

เมื่อมหายานเข้ามาสู่จีน ผนวกเข้ากับปรัชญาดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้ จึงก่อเกิดเป็นมหายานที่พูดถึงสุขาวดี และ พระอวโลกิเตศวร ผู้มีความกรุณาและผู้อุทิศทั้งชีวิตในการช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนให้พ้นทุกข์ก็ คือ เจ้าแม่กวนอิม
ดังนั้นที่คุณแฟนหน้าสิบสี่แย้งมาว่ามหายานถือกำเนิดที่อินเดียก่อนนั้นถูกต้องกว่าครับ

เรื่องที่สามเรื่องกำเนิดเซน ผมลองกลับไปหาดูในหนังสือหลายสิบเล่มที่ผมมี ประวัติของเซน ในชมพูทวีปไม่ปรากฏครับ หลายเล่มให้ความตรงกันว่านิกายเซนน่าจะเริ่มที่ประเทศจีน พ.ศ.1063 พระโพธิธรรมเดินทางมาถึงประเทศจีนหลังจากที่มหายานลงรากปักฐานแข็งแรงแล้ว เมื่อมาถึงท่านโพธิธรรมได้มีโอกาสไปเยี่ยมจักรพรรดิหวู่ ผู้เป็นองค์ศาสนูปถัมภก ลองฟังบทสนทนาอันลือเลื่องนี้ดูสิครับ
"ข้าฯสร้างวัดวาอารามมากมาย สร้างพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ บุญกุศลของข้าฯ จะได้มากน้อยเพียงใด" จักรพรรดิหวู่ตรัสถามท่านโพธิธรรม
"ไม่ได้บุญเลย มหาบพิตร" ท่านโพธิธรรมตอบ
"แล้วอะไรคือความหมายของธรรมอันประเสริฐอันควรสักการะ" จักรพรรดิตรัสด้วยความประหลาดใจ
"เปิดใจให้กว้างอย่าได้จำกัดสิ่งใด" ท่านโพธิธรรมตอบ
"ท่านคือใครกันแน่ บอกเราหน่อยเถิด" จักรพรรดิตรัสถามอีก
"ไม่รู้" ท่านโพธิธรรมตอบสั้นๆ


แล้วชื่อเสียงของท่านก็ลือเลื่องไปพร้อมๆ กับคำตอบสั้นๆ นี้ ชาวพุทธเซน มักนับให้ท่านโพธิธรรมนี้ เป็นพุทธสังฆปรินายกแบบเซนองค์แรก และเมื่อถึงองค์ที่สามท่าน เซิงชาน เซนได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าของเล่าจื๊ออย่างมาก เต๋าเป็นประเพณีของจีน เป็นจิตใจของจีนมานับพันปี เต๋าเน้นการไม่ไปแทรกธรรมชาติ ซึ่งเซนรับอิทธิพลตรงนี้มาค่อนข้างมาก พอมาถึงท่าน ฮุยเน้ง ที่เขียนคาถาปะกำแพงนั่นก็นับเป็นสังฆปรินายกองค์ที่หกแล้ว
ก่อนสมัยของท่านฮุยเน้ง เซนไม่เป็นที่รับรู้ในฐานะนิกายหนึ่งของพุทธเลย การนับว่าท่านฮุยเน้ง เป็นผู้ให้กำเนิดเซนก็เป็นตีความอย่างหนึ่งของชาวพุทธเซน เพราะต้องถือว่า การปรากฏตัว และวิถีแสดงธรรมของท่านแสดงให้เห็นจิตใจแห่งเซนอย่างชัดเจน

ดังนั้นหากใครจะถามว่าเซนถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่หรือที่ไหน ก่อนตอบก็คงต้องบอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความว่าตรงไหนเซนได้เริ่มขึ้นแล้ว ผู้คนเรียกขานเป็นนิกาย? มีวัดแยกมาต่างหาก? การแสดงธรรมอย่างเซนครั้งแรก? ฯลฯ

แต่ถ้าจะถามผมว่าแล้วผมเล่าตีความว่าเซนถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกจริงๆ เมื่อไร ผมก็จะขอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังครับ

ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล การชุมนุมสงฆ์ครั้งใหญ่ถูกจัดขึ้นที่ยอดเขาคิชฌกูฏ วันนั้นมีสงฆ์มาชุมนุมกันมากมาย และต่างคาดหวังว่าจะได้รับฟังพุทธวจนะจากพระองค์

เมื่อผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง พระองค์กลับนั่งนิ่งเงียบอยู่นาน แล้วก็ทรงหยิบดอกไม้ดอกหนึ่งขึ้นมาถือไว้ในพระหัตถ์โดยมิได้ตรัสสิ่งใด สงฆ์ทั้งปวงก็พากันนิ่งอยู่ด้วยความฉงน มีแต่พระมหากัสสปะเถระเท่านั้นที่ยิ้ม เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นจึงยื่นดอกไม้ให้พระมหากัสสปะแล้วตรัสว่า

"ดูกรมหากัสสปะ เราได้แสดงขุมทรัพย์อันไพศาลแห่งจิตใจ คือโลกุตรธรรมให้เห็นแล้ว เราขอส่งมอบให้เธอ ณ บัดนี้"

แล้วเซนก็เกิดขึ้นมา

ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน 10 มิ.ย. 2544

ไม่มีความคิดเห็น: