วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

แมง

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

เรียนคุณประภาส

บทความของคุณวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่คุณยกตัวอย่างเรื่องคำว่าแมงมุม ว่าอาจมีที่มาจากการเห็นแมงหรือแมลงตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่มุมหลังคา จึงตั้งชื่อว่าแมงมุม
ขอแย้งว่าแมงมุมต้องเรียกว่า แมง จึงจะถูก
เพราะแมลงมี 6 ขา และมีลำตัวที่แยกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง ตัวอย่างเช่น แมลงวัน แมลงสาบ ส่วนแมง มี 8 ขา ลำตัวแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหัวกับอกรวมเป็นส่วนเดียวกัน ส่วนที่สองเป็นท้อง เช่น แมงมุม แมงป่อง

คนทั่วไปชอบเรียกแมลงเป็นแมง ในเพลงก็ชอบร้องกันผิดๆ เช่น แมงวัน แมงหวี่ ทีมฟุตบอลของคุณแท่งศักดิ์สิทธิ์ก็ตั้งชื่อว่า แมงปอล้อคลื่น ซึ่งล้วนเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

แฟนวันอาทิตย์

วันนี้ขออนุญาตขวางโลกสักวัน
ไม่ได้แก้ตัวนะครับ ผมตั้งใจเขียนให้เป็นอย่างที่เห็นจริงๆ
ประการแรกในประโยคที่คุณแฟนวันอาทิตย์อ้างมานั้น ผมต้องการสื่อให้รู้เพียงว่ามีตัวอะไรเล็กๆ มีลักษณะเป็นแมลงตัวหนึ่งเกาะอยู่ ประการที่สองที่ผมเขียนไว้ทั้งสองคำเพราะผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าแมงกับแมลงมันเป็นคำคนละคำ
"แมงมีแปดขา แมลงมีหกขา" สมัยเรียนมัธยมก็เคยถูกสอนยังจำได้อยู่ แต่ผมฟังแล้วผมก็รู้สึกขัดๆ ทุกครั้งว่าใครหนอเป็นคนสรุป
ลองนึกตามผมสิครับว่าทำไมผมจึงรู้สึกขัด ตอนเช้าเรียนที่โรงเรียนครูสอนว่า ถ้า 6 ขาเรียกแมลง 8 ขาจึงเรียกแมง แต่พอกลับถึงบ้าน แม่ผมก็บอกให้ไปเอาไม้มาปัดแมงหวี่หน่อยเดี๋ยวมันมาตอมอาหาร ลุงกับป้าสองผัวเมียข้างๆ ตลาดก็ร้องตะโกนขายน้ำพริกแมงดากันออกลั่น และเพื่อนผู้หญิงของผมคนหนึ่งเธอเคยบอกผมว่าเธอชอบแมงปอแต่เธอกลัวแมงมุม
นั่นคือไม่ว่าจะหกขาหรือแปดขา ชาวบ้านก็เรียกสัตว์ตัวเล็กๆ พวกนี้ว่า ""แมง"" หมด
ผมมีหลักฐานนะครับว่าไม่เพียงแต่บ้านนอกภาคกลางแค่นั้นที่เรียก แมง
คนเหนือมี แมงตับ แมงนูน แมงขี้เต๋า แมงแสนตึ๋น แมงจอน ฯลฯ
คนใต้มี แมงปอ แมงพี้ แมงบี้ แมงพลับ แมงชอน ฯลฯ
คนอีสานมี แมงกระเบื้อ แมงกินูน แมงกุ๊ดจี่ แมงคาม ฯลฯ
แทบจะเหมาได้เลยว่า ทุกภาษาถิ่นในไทยล้วนเรียกแมงแทบทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมี 6 ขา หรือ 8 ขา ในความเห็นของผมแล้วความสัมพันธ์ของคำว่าแมลงกับแมงน่าจะคล้ายๆ กับคำว่า เม็ด และเมล็ด นั่นคือเมล็ดแผลงมาจากเม็ด หรือไม่ก็เม็ดตัดทอนมาจากเมล็ด
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แจงศัพท์สองคำไว้คล้ายๆ กับที่คุณแฟนวันอาทิตย์อธิบายมาคือ แมงกับแมลงเป็นสัตว์ที่อยู่วงศ์ใกล้ๆ กัน ต่างกันที่แบ่งลำตัวเป็น 2 ส่วนกับ 3 ส่วน และมีจำนวนขาต่างกัน

ที่น่าสนใจก็คือประโยคท้ายที่อธิบายคำศัพท์สองคำนี้ครับ ในคำว่า แมง ท่านต่อท้ายไว้ว่า มักเรียกสับกับคำว่า แมลง และในคำว่าแมลงท่านก็ต่อท้ายไว้เช่นกันว่า มักเรียกสับกับคำว่า แมง
ว่าแล้วผมก็ลองเข้าไปหาข้อมูลจากคนที่เชี่ยวชาญเรื่องแมลงโดยเฉพาะดู ผมเข้าไปที่เว็บไซต์ของ พิพิธภัณฑ์แมลง 60 ปีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นั่นอธิบายเรื่องแมงและแมลงไว้ว่า
"หลายครั้งเราสับสนเรียกชื่อแมลงบางตัวเป็นแมง ทั้งที่ความจริงเป็นแมลง แมลงคือ Insects ส่วนแมงคือ Arachnids"
ในความเข้าใจของผมก็คือ สองสามย่อหน้าข้างบนบอกเราว่า ใครเรียกตัวที่มี 6 ขาว่าแมง นั้นถือว่าเรียกผิด นั่นคือท่านไม่ยอมรับการเรียก "แมง" อะไรต่อมิอะไรของชาวบ้าน
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผู้คนทั้งประเทศก็คงเรียกผิดอยู่ ต้องอย่าลืมนะครับว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ไม่รู้สิครับ ผมกลับไม่เคยคิดแม้แต่น้อยเลยว่าพวกเขาจะสับสนอะไรกับคำสองคำนี้ พวกเขาเรียก "แมง" มาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด แล้วก็เรียกต่อๆ กันมา คนรุ่นหลังนี่ต่างหากที่มาตั้งชื่อวงศ์ของสัตว์สองพวกนี้ใหม่ตามแบบแผนฝรั่ง แล้วก็บอกพวกเขาว่าพวกเขาเรียกผิด
เรื่องแมงที่เราคุยกันอยู่วันนี้มันมีอยู่สองเรื่องนะครับ แยกให้ดีๆ คือเรื่องภาษาศาสตร์กับเรื่องอนุกรมวิธาน
ในทางภาษาศาสตร์ แมงกับแมลงน่าจะเป็นเรื่องของการว่าด้วยการแยกเสียงควบ มล ซึ่งเชื่อว่าเป็นเสียงดั้งเดิมของคนพูดภาษาไทย-ลาว เช่น มลาย มล้าง เมล็ด แมลง โดยที่บางท้องถิ่นไม่สะดวกออกเสียงจึงเก็บเสียง ม ไว้ ในขณะที่บางถิ่นเก็บเสียง ล ไว้ บางถิ่นก็เก็บไว้ทั้ง ม และ ล ตัวอย่างคำก็คือ
ฟ้าแมลบ บางถิ่นออกเสียงเป็น ฟ้าแมบ บางถิ่นเป็น ฟ้าแลบ
ตัวเมล็น มีทั้ง ตัวเม็น และ ตัวเล็น
มล้าง มีทั้ง ม้าง และ ล้าง
แมลง ก็เช่นกัน มีทั้ง แมง และ แมลง
ส่วนเรื่องอนุกรมวิธานหรือการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต มองคำว่าแมลงและแมงจากการนับขา ซึ่งดูแล้วน่าจะวิจารณ์ได้เลยว่าคงไม่ใช่แนวคิดแบบคนไทย เพราะให้นึกเท่าไรก็นึกไม่ออกว่าคนโบราณคงจะมานั่งนับขาแมลงเพื่อจำแนกวงศ์ทำไม ดูจากการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตหลายอย่างแล้ว ผมว่าสิ่งที่บรรพบุรุษเราสนใจคือ ขนาดและลักษณะท่าทาง
อ.ประเสริฐ ณ นคร ได้เคยอธิบายคำว่า จิ้ง กับ กิ้ง ว่ามีความหมายใกล้เคียงกัน ใช้เรียกสัตว์ที่มีอาการคลานไปกับพื้น เราจึงมีทั้ง จิ้งหรีด จิ้งเหลน กิ้งก่า กิ้งกือ ซึ่งถ้าเอามานับเข้ากับอนุกรมวิธานก็คงจะสับสนขนาดหนัก จิ้งหรีดกับกิ้งก่านี่เป็นสัตว์อยู่คนละวงค์คนละเผ่ากันเลยครับ
ส่วน "แมง" นั้นคนโบราณท่านคงใช้เรียกสัตว์ที่มีขนาดเล็กๆ แทบทุกตัว แม้แต่คนฟันผุ ท่านก็ว่าคงมีแมงกินฟันอาศัยอยู่

มาถึงตรงนี้ก็น่าจะพอเดาได้หน่อยๆ แล้วว่า การกำหนดเรื่องแมลงมี 6 ขา และแมงมี 8 ขานั้นน่าจะมาจากนักวิทยาศาสตร์ เพราะหลักฐานในวรรณคดี ก็ไม่เห็นปรากฏการแยก แมง กับ แมลง ด้วยจำนวนขา จะมีก็แต่การแยก จตุบาท ออกจาก ทวิบาท ซึ่งเป็นการแยกมนุษย์กับเดรัจฉานอย่างหยาบๆ เท่านั้น
ลองค้นดูในพจนานุกรมฉบับมติชนดูบ้าง เพราะเห็นโฆษณาไว้ที่ปกหลังว่า มีลักษณะการ "สะท้อนการใช้" มากกว่าการ "กำหนดเกณฑ์ให้ใช้" ฉบับมติชนเห็นไม่ตรงกับฉบับราชบัณฑิตฯครับ ในคำว่า แมง ฉบับมติชนบอกว่า แมงคือสัตว์เล็กๆจำพวกหนึ่ง มีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก บางกรณีอาจแทนด้วยคำว่า แมลงได้ ส่วนในคำว่าแมลง ก็ยังบอกอีกว่า บางกรณีอาจใช้สับกับคำว่า แมงได้
ไกลที่สุดที่พอจะค้นไปได้คือหนังสือสัตวาภิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร ในหนังสือเล่มนั้นแบ่งสัตว์ออกเป็นจำนวนเท้า และในตอนที่พูดถึงสัตว์ที่มีเท้าตั้งแต่ 6 เท้าขึ้นไป ก็แบ่งออกเป็นสัตว์น้ำและสัตว์บก โดยสัตว์บกแบ่งย่อยออกเป็นสี่ประเภทคือ
1.ประเภทเลื้อยคลาน ได้แก่ ตะบองพลำ ตะขาบ กิ้งกือ
2.ประเภทแมง ได้แก่ แมงมุม แมงป่อง แมงใย แมงดาเรือง
3.ประเภทแมลง ได้แก่ แมงกะแท้ แมงกะชอน แมงดานา แมงทับ แมงค่อม แมงวัน แมงภู่ แมงสาบ แมงเม่า ผึ้ง แตน ต่อ แมงปอ หมาร่า เหลือบ ยุง ริ้น ปลวก
4.ประเภทมด ซึ่งเป็นแมลงประเภทหนึ่ง ได้แก่ มดแดง มดดำ มดตะนอย มดคัน มดง่าม

ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ แม้แต่ในข้อสามที่กล่าวถึงแมลง ก็เห็นได้ชัดเลยว่าสัตว์ทุกตัวที่เอ่ยถึง พระยาศรีสุนทรโวหารฯก็ล้วนเรียกว่า "แมง" ทุกตัว

พูดถึงเรื่องแมงและแมลงแล้ว ทำให้นึกเลยไปถึง วาฬ โลมา ดาวทะเล และหมึก

มองไปสื่อไหนๆ ตอนนี้ก็เริ่มพูดกันแล้วว่า ต้องเรียกว่าวาฬ ไม่ใช่ปลาวาฬ เพราะวาฬไม่ใช่ปลา หมึกก็ไม่ใช่ปลาหมึก และดาวทะเลก็ไม่ใช่ปลาดาว

อึดอัดไหมละครับ เคยเรียกว่าปลาดาวมาแต่ไหนแต่ไร ถึงตอนนี้ไม่ให้เรียกเฉยเลย ท่านที่คิดเรื่องนี้และรณรงค์ขึ้นมา คงคิดแต่เรื่องอนุกรมวิธานจนลืมเรื่องภาษาศาสตร์ไป

หอยเม่นก็ไม่ใช่หอยครับ ม้าน้ำก็ไม่ใช่ม้าแน่นอน อีกหน่อยมิต้องเลิกเรียกกันหมดหรือ รวมไปถึงปลากริมไข่เต่าขนมโปรดของผมก็คงต้องเปลี่ยนไปเป็น "ขนมกริมเต่า" เพราะมันไม่ใช่ทั้งปลา(กริม) และไข่(เต่า)
ขอเสนออย่างนี้ได้ไหมครับ ให้พวกเรายังเรียกปลาวาฬอยู่ได้ และก็ให้รู้ด้วยว่าปลาวาฬไม่ใช่ปลา ซึ่งก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร หมาร่าถึงจะไม่ใช่สุนัขก็ยังเรียกหมาร่าได้

ชื่อก็ให้เป็นเรื่องของชื่อ เป็นเรื่องของภาษาศาสตร์ไป ส่วนการอนุกรมสัตว์ต่างๆ ก็อนุกรมกันไป อย่าไปยุ่งกับชื่อที่เรียกกันมาแต่ครั้งตาทวดเลย

ความจริงทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องศึกษาต้องแบ่งต้องจัดหมวดกันไป ถึงมันจะขัดกับชื่อดั้งเดิมที่คนโบราณตั้งมา ก็ไม่น่าจะถึงกับทำให้เข้าใจผิดไปหมดหรอกผมว่า ถึงวันนี้แล้วก็คงไม่มีใครหรอกกระมังที่คิดว่าปลาหมึกเป็นปลา หรือปลาดาวเป็นปลา

ลองไปให้ชาวประมงเรียก "กะพรุน" แทน "แมงกะพรุน" ดูก็ได้ เขาคงทำท่างงๆ ว่ามาเปลี่ยนของเขาทำไม เพราะถึงเขาจะเรียกแมงกะพรุน แต่ผมว่าเขาก็คงไม่เคยมองเห็นมันเป็น "แมง" เป็น "แมลง" หรอกครับ

ไม่มีความคิดเห็น: