คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์
มติชนรายวัน 29 ม.ค. 49
สวัสดีค่ะคุณประภาส
เดือน กุมภานี้หนูกำลังจะจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ แต่เพิ่งมารู้ตัวว่า ตนเองไม่อยากทำงานด้านนี้เลย ไม่ชอบเลย ทั้งๆ ที่หนูก็เรียนได้ค่อนข้างดีค่ะ ตอนเด็กๆ รวมทั้งตอนนี้หนูชอบวาดรูปมาก ชอบลงสี สเก๊ต เป็นวิชาที่หนูมั่นใจในความสามารถ ทำได้ดี แต่ครอบครัวของหนูไม่รู้ เขาอาจจะเคยเห็นแต่ไม่ได้ใส่ใจมากกว่า
ก่อน อื่นต้องบอกว่า ทั้งพ่อและแม่ของหนูรับราชการ และครอบครัวเราอยู่ต่างจังหวัดครอบครัวราชการมักตั้งความหวังและวางกรอบให้ ลูกเสมอ สิ่งต่างๆ คอยย้ำว่า พวกศิลปิน มักไส้แห้ง บ้านหนูไม่ได้มีเงินมาจากไหน ทำให้หนูก็คิดว่า เออเราไม่ได้วาดสวยขนาดเอารูปไปขายได้หรอก จินตนาการเราไม่ได้ดีจะไปออกแบบอะไรให้ใครได้ ถ้าเราเรียนด้านนี้จบมาจะมีกินมั้ย ดังนั้นพอเข้ามหาวิทยาลัยหนูจึงไม่ได้เลือกเรียนคณะทางศิลปะเลย หนูเคยเอ่ยปากบอกพ่อว่า หนูจะเรียนวาดรูปนะ พ่อเขาขำๆ เขาไม่ใส่ใจเลย เขาบอกว่าไปนั่งวาดข้างถนนนะเหรอ หนูเลยเงียบ หนูชอบอ่านหนังสือพิมพ์ชอบอ่านการเมือง สังคม ทั่วไป ตอน ม.ปลายสอบกฎหมายทำได้ดี หนูเลยเบนเข็มมาทางนิติฯ ตอนนั้นหนูมุ่งมั่นมาก แต่ตอนนี้พอเรียนจบ ความมุ่งมั่น ความมั่นใจไม่รู้ไปไหนกันหมด หนูเคยคิดว่าเราไม่ชอบ หรือเราขี้เกียจกันแน่ คำตอบคืออย่างแรก หนูไม่อยากอยู่กับอะไรที่ไม่อยาก ไม่ชอบไปตลอด หนูรู้ว่ามันไม่ใช่ความสุขของหนู เด็กเรียนนิติฯ จะมุ่งมั่นมาก แต่อาจารย์กลับสอนแต่คุณค่าในเรื่องรายได้เท่านั้น แม่หนูเป็นครู พ่อก็รับราชการป่าไม้ หนูเคยนั่งมองแม่มองพ่อแล้วคิดว่าจริงๆ แม่อยากเป็นครูมั้ยนะ แม่หนูชอบถักนู่น ถักนี่ ออกแบบเสื้อ หนูเลยคิดว่าเออเขาก็คงอยากเป็นดีไซเนอร์บ้าง พ่อหนูชอบขับรถมาก พ่อคงอยากขับรถแข่ง เขาชอบเลี้ยงปลาด้วย เอาจริงเอาจัง พอมันสวยพ่อก็ภูมิใจ พ่ออยากมีร้านขายปลามั้ยนะ หนูเข้าใจนะว่าเราจะเป็นในสิ่งที่เราเลือกไปหมดไม่ได้หรอก หนูว่าบางทีพ่ออาจจะไม่ได้ชอบเลี้ยงปลามากมายอะไร แม่อาจจะเฉยๆกับงานถัก แต่เพราะงานประจำมันน่าเบื่อ มันหนัก งานอดิเรกเลยกลายเป็นอะไรที่ชอบก็ได้ แต่ตอนนี้หนูก็บอกพ่อแม่ไปแล้วค่ะว่าหนูไม่ชอบแล้วนะนิติ หนูไม่อยากทำงานด้านนี้ เขาก็ไม่ว่าอะไร แต่หนูรู้ว่าเขาก็คงเสียใจ เขาถามว่าเเล้วจะทำงานอะไร เรียนต่อมั้ย เรียนอะไรต่อละ ในเมื่อเราเรียนมาด้านนี้เราก็ต้องทำด้านนี้ดิ ตอนนั้นยังตอบไม่ได้จริงๆ หนูมาคิดว่าถ้าตอน ม.ปลายหนูกล้า หนูมั่นใจไม่กลัว ผ่านมาตอนนี้ก็คงไม่ต้องมานั่งเสียดายอยู่ หนูมาคิดได้เมื่อสายว่า ก็เรายังไม่ได้เรียนศิลปะไม่ได้เรียนออกแบบนี่แล้วเราจะรู้จักมันได้ยังไง เราจะมีจินตนาการถึงมันได้ยังไง
หนู คิดเรื่องนี้มาตลอด มานานเป็นปีแล้ว ใครถามอะไร จะทำงานอะไร จะเรียนต่อมั้ย จะเรียนอะไร บอกอะไรไปก็อ้าว ทำไมละ หนูตอบอะไรไม่ได้เลย จะให้หนูไปบอกอะไรใครได้ ตัวหนูเอง หนูก็ยังไม่รู้จะตอบตัวเองว่าไงเลย ตอนนั้นถ้าไม่กลัว ถึงตอนนี้คงสบายใจไปแล้ว ตอนนี้ถ้าได้เรียนก็คงมั่นใจฝีมือ ในความคิดไปแล้ว
หนู อยากเขียนเพราะอย่างน้อยถ้าพี่อ่านจบพี่ก็คงถามหนูไม่ได้ในทันทีว่า จะทำอะไร จะเรียนต่อมั้ย เรียนอะไร ตอนนี้หนูเหนื่อย คิดจนเหนื่อย หนูไม่อยาก "กลัวไปก่อน" กับช่วงชีวิตที่เหลือข้างหน้าอีกแล้ว
ขอบคุณค่ะที่อ่าน ขอบคุณมากๆ
จดหมาย ฉบับนี้ส่งมาทางอี-เมล ท้ายจดหมายไม่ได้ลงชื่อไว้ คงจะด้วยไม่ต้องการเปิดเผยตัว ดังนั้นขออนุญาตเรียกคุณว่า "หนู" ตามสรรพนามที่คุณเขียนมานะครับ
เวลา เรามีความทุกข์หรือเจอทางตันที่หาทางออกไม่ได้ นักจิตวิทยาหลายท่านมักแนะนำให้เราเขียน เขียนอะไรก็ได้ เพราะการเขียนถือเป็นการระบายออกที่ดีมากอย่างหนึ่ง ใครที่เป็นคนชอบขีดชอบเขียนจะนึกออกว่า ทุกครั้งที่เราเขียนมันจะเหมือนกับเราได้เรียบเรียงความคิดที่กระจัดกระจาย ให้เข้าที่มากขึ้น มองเห็นปัญหาชัดขึ้น
แม้แต่การเขียนจดหมายหาใครสักคน ก็เป็นหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยามักแนะนำให้คนที่กำลังเจอปัญหาลองทำ
ไม่ รู้จะเขียนหาใครก็เขียนหาตัวเองก็ได้ เขียนเสร็จแล้วเอามาอ่านกันดู ยิ่งอ่านให้บุคคลที่สองที่สามฟัง ผมว่ายิ่งมองเห็นปัญหา ถ้าไม่หวง
อย่าไปหวงมันเลยครับ ทุกข์นี่
คุณ "หนู" ลองอ่านจดหมายของตัวเองดูอีกทีสิครับ อ่านเสร็จแล้วลองจับผิดดูว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง จับผิดให้ละเอียดยิบเลยนะครับ แล้วลองมาเทียบกับของผมดู ว่าผมจับผิดเจออะไรในจดหมายของคุณหนูบ้าง แล้วมันตรงกันตรงไหนบ้าง
ลองดูนะครับ
1. เอาสิ่งที่ผมเห็นชัดที่สุด จดหมายของคุณหนู มีการสะกดผิดเป็นจำนวนมาก บางคำผมต้องเดาเลยครับว่าคุณหนูเขียนว่าอะไร ไม้เอกไม้โทวางผิดที่ บางคำก็หายไปเฉยๆ ซึ่งผิดกับคุณสมบัติของคนเรียนกฎหมายเพราะต้องขลุกกับภาษาไทยตลอด แม้แต่คำว่ากฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหนูร่ำเรียนมาตลอดสี่ปี คุณหนูก็สะกดผิด แทนที่จะเป็น ฎ.ชฎา แต่กลับใช้ ฏ.ปฏัก (จดหมายที่นำมาลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้รับการตรวจแก้ไขโดยฝ่ายพิสูจน์อักษรของมติชนเรียบร้อยหมดแล้ว) ผมวิเคราะห์เรื่องนี้ว่า คุณหนูคงจะเหนื่อยใจอย่างที่กล่าวไว้ในจดหมายจริงๆ คนเรานั้นถ้าใจมันแกว่งละก็ ความรู้ความสามารถมันหดหายไปเกินครึ่งเลยครับ
แม้ แต่คำขึ้นต้นจดหมาย คุณหนูเรียกผมว่าคุณประภาสอย่างเป็นทางการ แต่ท้ายจดหมายคุณหนูเรียกผมว่า "พี่" อย่างกันเอง เรื่องนี้คงยืนยันว่าคุณหนูเหนื่อยจริงๆ
2. ในขณะที่คุณหนูพูดเรื่อง ไม่อยากประกอบอาชีพหรือเรียนต่อทางสายนิติศาสตร์แล้ว ด้วยเหตุผลว่าใจไม่รัก แต่ขณะเดียวกันก็พูดถึงเรื่องอาจารย์บางท่านที่ให้น้ำหนักแต่เรื่องค่าตอบ แทนในอาชีพมากกว่าคุณค่าของวิชาชีพ
เรื่อง นี้เป็นคนละเรื่องกันนะครับ ประโยคแรกเป็นเรื่องของชอบไม่ชอบ ประโยคหลังเป็นเรื่องของอุดมคติ คุณหนูต้องถามตัวเองดีๆ ว่าปัญหาของตัวเองที่ไม่อยากเดินทางต่อสายนิติฯนั้นคือเหตุผลข้อไหน อย่าไปเหมารวมหมด
3. ตรงที่คุณหนูพูดถึงงานอดิเรกของพ่อแม่คุณหนู ผมคิดว่าคุณหนูกำลังหาพวกมากกว่าจะคิดอย่างนั้นจริงๆ คุณหนูรู้ไหมครับว่ามีคนไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์หรอกครับที่ได้ทำงานอย่างที่ ตัวเองฝันอย่างที่ตัวเองรัก หรือถึงแม้ได้ทำอย่างที่ฝันแล้วจะมีความสุขล้นเหลือ เราต้องยอมรับครับว่าชีวิตมันมีเงื่อนไขอะไรต่ออะไรอีกเยอะที่ทำให้เราต้อง ทำงานอย่างที่เราทำอยู่
แต่คุณหนูเชื่อผมอย่างหนึ่งเถิดว่า ทุกคนสามารถมีความสุขกับความฝันของตัวเองได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะได้ทำงานเป็นวิชาชีพหรือเปล่า
4. ตรงที่คุณหนูบอกว่า วันที่จบ ม.ปลายแล้วถ้ากล้าๆ ตัดสินใจเรียนศิลปะไป ถึงวันนี้ก็คงจะมั่นใจในฝีมือ คงจะมีจินตนาการกว้างไกลไปแล้ว อันนี้ผมว่าเป็นความคิดสำเร็จรูปเกินไปหน่อยครับ มีคนเยอะแยะที่ไม่ได้เรียนมาทางศิลปะ แต่ก็ไม่มีอะไรมาสกัดกั้นจินตนาการเข้าได้ ถ้าเขาอยากจะจินตนาการ คุณชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนมือระดับต้นๆของประเทศนี่ เรียนมาทางบัญชีครับ คุณไตรภพ พิธีกรชื่อดังก็เรียนมาทางกฎหมาย คุณแอ๊ด คาราบาว ก็เรียนมาทางก่อสร้าง วิญญาณศิลปินไม่เคยยอมถูกขังหรอกครับ ไม่ว่าจะได้เรียนหรือไม่ได้เรียน
และ ก็มีอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคนที่ร่ำเรียนมาทางศิลปะ แล้วก็หันเหไปทำงานเป็นเลขานุการ เป็นเซลส์แมน เป็นนักธุรกิจ ฯลฯ แล้วก็มีไม่น้อยที่ประกอบอาชีพเหล่านั้นอย่างมีความสุข ว่างเมื่อไรพวกเขาก็ทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรก
ขออนุญาตจับผิดเพียงแค่สี่ข้อนะครับ แต่ถ้าคุณหนูจับผิดได้มากกว่าผมก็ต้องถือว่าน่ายินดี
มี วิธีคิดอย่างหนึ่งที่อยากเล่าให้คุณหนูฟัง เอาไปใช้ได้นะครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เวลาที่ผมมีนัดที่จะไปสถานที่ที่ไม่เคยไปแล้วดันเกิดไปผิดทางนี่ ผมไม่เคยบ่นเสียดายเลย ผมจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่เราได้พบเส้นทางใหม่ๆ ที่เราไม่เคยมา
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ คุณหมอเทอดศักดิ์ท่านพูดไว้ดีจริงๆ
ช่วง ปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ผมได้ยินรุ่นน้องผู้หญิงสองคนนั่งนับว่าปีที่ผ่านมา ใครโชคดีใครโชคร้ายกี่ครั้ง แล้วก็เกทับกันว่าใครมีความสุขมากกว่ากัน ฟังแล้วก็ให้รู้สึกว่าแปลกดี ที่เขานับความสุขเป็นครั้งๆ
ความสุขในชีวิตมันน่าจะอยู่ที่ว่า เรามีทัศนคติอย่างไรกับเหตุการณ์ที่ผ่านไปแต่ละเหตุการณ์ไม่ใช่หรือ
เอา อย่างนี้สิครับ ถ้าความคิดเรื่องอนาคตมันยังวกวนนัก ก็หยุดพักมันสักปีหนึ่งแล้วค่อยว่ากันต่อว่าจะไปทางไหน ปีหนึ่งนี่แป๊บเดียวครับ ถึงตอนนั้นจะเบนเข็มไปเรียนศิลปะ ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะสายตรงไหน หรือจะมุ่งมั่นไปทางสายกฎหมายให้ถึงขั้นอัยการ ผู้พิพากษา ผมก็จะเห็นว่าก็น่าจะเป็นกำลังของชาติได้ดีทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น