วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ภาพประวัติศาสตร์

ผมมีภาพๆ หนึ่งเอามาให้ดูกัน เป็นภาพหลอดยาสีฟันที่ถูกใช้แล้วครับ เห็นทีแรกไกลๆ ก็ไม่รู้สึกอะไรมากหรอกครับ เป็นภาพที่ติดอยู่บนบอร์ดที่โรงเรียนของลูก ระหว่างที่ยืนรอลูกๆ ลงมาจากห้องเรียน จึงได้อ่านข้อความ ที่ประกอบภาพนี้ อย่างละเอียด


ภาพหลอดยาสีฟันที่เห็นนี้ ต้องเรียกว่าเป็นหลอดยาสีพระทนต์ประวัติศาสตร์ เพราะนี่คือหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นแล้วรู้สึกเหมือนผมไหมครับ ความฉ่ำเย็นจากที่ไหนก็ไม่รู้อาบลงมากลางกระหม่อมเลย ภาพนี้ถูกตีพิมพ์เป็นโปสเตอร์โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ ครูที่โรงเรียนของลูกผม ไปพบเข้าเลยนำมาถ่ายสำเนา ติดบอร์ดให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจคำว่า "ประหยัด" ศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนเล่าให้ฟังว่า

"ครั้งหนึ่งทันตแพทย์ประจำพระองค์ กราบถวายบังคมทูลเรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย บางคนมีค่านิยมในการใช้ของต่างประเทศ และมีราคาแพง รายที่ไม่มีทรัพย์พอซื้อหาก็ยังขวนขวาย เช่ามาใช้เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบมา มีความแตกต่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงนิยมใช้กระเป๋า ที่ผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป
ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม แม้ยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่าน ก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบน จนแน่ใจว่าไม่มียาสีพระทนต์หลงเหลืออยู่ในหลอดจริงๆ เมื่อกราบบังคมทูลเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็เหมือนกัน และยังทรงรับสั่งต่อไปด้วยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้เองมหาดเล็กห้องสรง เห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้ว จึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบ ก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่า มาคืนและพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน จะเห็นได้ว่าในส่วนของพระองค์ท่านเองนั้น ทรงประหยัดอย่างยิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงพระราชทานเพื่อราษฎรผู้ยากไร้อยู่เป็นนิจ พระจริยาวัตรของพระองค์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงพระวิริยะ อุตสาหะ ตลอดจนความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า

หลังจากนั้นทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้น เพื่อนำไปให้ศิษย์ได้เห็นและรับใส่เกล้าเป็นตัวอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อๆ ไป ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานส่งหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นมาให้ถึงบ้าน ทันตแพทย์ประจำพระองค์รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้ายิ่ง เมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นแล้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้จึงแบนราบเรียบโดยตลอด
คล้ายแผ่นกระดาษโดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงเกลียวคอหลอด เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอีกครั้งในเวลาต่อมา จึงได้รับคำอธิบายจากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็น แบนเรียบนั้นเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มที่เห็นนั่นเอง และเพื่อที่จะขอนำไปแสดงให้ศิษย์ทันตแพทย์ ได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ จึงได้ขอพระราชานุญาตซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงพระเมตตาด้วยความเต็มพระทัย"

ผมมีโอกาสได้ยืนมองดูรูปหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้อยู่เนืองๆ เวลาไปรอรับลูกที่โรงเรียน
และเมื่อยิ่งดูก็ยิ่งได้รับรู้ถึง ปรัชญาที่พระองค์พระราชทานผ่านมาทางหลอดยาฯ นี้แล้ว ผมก็พบว่าแก่นแท้ของการประหยัดมันอยู่ตรงนี้นี่เอง ไม่ใช่ไม่ยอมใช้เลย แต่ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช้แบบเหลือทิ้งเหลือขว้าง และทำให้ผมคิดไปถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติบนโลกใบนี้ หลอดยาสีพระทนต์ของในหลวง หลอดนี้สอนผมให้เข้าใจว่า
ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรายังคงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อ ไม่ใช่ไม่ใช้เลย แต่จะใช้อย่างไรมากกว่า ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการใช้น้ำ เราไม่ควรประหยัดน้ำจนต้นไม้ที่ปลูกอยู่ตายเพราะขาดน้ำ แต่เราควรระวังการเปิดน้ำทิ้งไว้ เราควรระวังท่อน้ำรั่ว หยด ซึม เราควรระวังเรื่องสิ้นเปลืองเหล่านี้ต่างหาก แล้วผมก็คิดเลยไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องเขื่อนว่าทำไมบางครั้งโลกเราถึงต้องยอมเสีย พื้นที่ป่าบางพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนบ้าง

ประภาส ชลศรานนท์

จากหนังสือพิมพ์มติชน วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2543
คอลัมภ์ "คุยกับประภาส"

ไม่มีความคิดเห็น: