"สุริโยไท"
คอลัมน์ คุยกับประภาส
ถึงตอนนี้คำทักทายที่ว่าไปดูหนังเรื่องสุริโยไทมาหรือยัง ได้กลายเป็นคำทักของคนทั่วไปเหมือนคำทักที่ถามว่าไปทำบัตรประชาชนมาหรือยัง นั่นคือเหมือนถามว่าเกิดเป็นคนไทยแล้วไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ก็กระไรอยู่ ผมไปดูมาแล้วสองรอบ ไม่ได้ไปเพราะดูไม่รู้เรื่องหรอกครับถึงต้องไปดูอีกรอบหนึ่ง แต่รอบแรกดันพลาดไปดูโรงขนาดใหญ่เกินไปหน่อย เผอิญวันนั้นน้องๆ เขาแห่กันไปดูที่โรงไอแม็กที่จอสูงเกือบท่วมฟ้า ได้ยินว่าจอใหญ่มากก็เลยรีบตามเขาไปด้วย ดูแล้วภาพมันไม่สวยอิ่มตาเหมือนที่เคยดูในหนังตัวอย่างครับ มันเบลอๆ ไปเล็กน้อย ของบางอย่างนี่ใหญ่เกินไปก็ไม่ดีจริงๆ ลืมไปครับว่าหนังเรื่องนี้เขาไม่ได้ตั้งใจถ่ายด้วยฟิล์มที่จะมาฉายจอขนาดนี้ ก็เลยต้องหาโอกาสไปดูอีกรอบหนึ่งในโรงธรรมดาในวันต่อมา ดูคราวนี้ขนลุกครับ ขนาดได้ดูมาแล้วรอบหนึ่งก็ตาม
ภาพในประวัติศาสตร์ของเราในหนังเรื่องนี้สวยงามสมใจจริงๆ ครับ ส่วนที่ประทับใจมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพจินตนาการอันสมจริงของท่านมุ้ยและทีม งาน แสงกลางคืนอันเป็นแสงเทียนและแสงคบ ดูแล้วเชื่ออย่าสนิทว่านี่คือเมืองไทยสมัยอยุธยา ไม่มีไฟฟ้าใช้ เครื่องเงินเครื่องทองที่ประดับอยู่กับตัวและฉากเป็นทองจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นความรุ่งโรจน์ของอยุธยาสมัยนั้นอย่างชัดแจ้ง แววสะท้อนแสงจากน้ำในตาของนักแสดงเวลาหันเข้ากล้องออกสีเหลืองส้มๆ งดงามและขลังดีจริงๆ
ก่อนเข้าไปดูมีน้องคนหนึ่งดูใบปิดแล้วเห็นคุณ ศรัณยู ซึ่งแสดงเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ปล่อยผมสยายประบ่าและถอดเสื้ออยู่ น้องคนนั้นถามผมว่าผมรู้ไหมว่ากษัตริย์องค์นี้เขาเป็นอะไรไปในเรื่อง เขาต้องหนีเข้าป่าไปเป็นฤๅษีผมยาวหรืออย่างไร ผมฟังแล้วก็ไม่ได้ตอบอะไร ได้แต่บอกว่าเข้าไปดูเองดีกว่าแล้วจะรู้เอง ภาพกษัตริย์โบราณในหนังจักร วงศ์ๆ ทางโทรทัศน์ทำให้คนดูจินตนาการไม่ออกว่าพระมหากษัตริย์โบราณเขาอยู่กันอย่าง ไร แล้วก็ติดตาไปแล้วว่ากษัตริย์และมเหสีที่เกล้าผมเป็นมวยสูงอย่างนั้น เวลานอนเวลาก็คงทำผมเป็นมวยสูงตลอดเวลา
ท่านมุ้ยท่านสร้างภาพของกษัตริย์ในสมัยโบราณในเรื่องนี้ออกมาค่อนข้างสม จริง ผมว่าถูกของท่านครับ คนที่เกล้าผมเป็นมวยเวลานอนใครจะไปนอนทั้งทรงอย่างนั้นได้ เราจึงเห็นไม่ว่าจะเป็นพระสุริโยไท พระไชยราชา พระมหาจักรพรรดิมีผมยาวประบ่าตลอดในเวลากลางคืน อาจดูแปลกตาไปบ้างสำหรับคนไทย ด้วยไม่เคยเห็นภาพอย่างนั้นมาก่อน กษัตริย์แทบทุกพระองค์ในหนังเรื่องนี้ถอดเสื้อกันหมดเวลาอยู่ในที่ประทับ แปลกตาขนาดน้องคนหนึ่งตั้งคำถามว่าศรัณยูเขาไปทำอะไรมาหรือ
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้กลับยิ่งทำให้ความสมจริงของภาพยนตร์มีมากขึ้นครับ เอาง่ายๆ ในหนังเรื่องนี้ผมแทบจะไม่เห็นคนไทยผิวขาวจั๊วะเดินอยู่ในฉากเหมือนหนังไทย ที่ทำย้อนยุคเรื่องอื่นๆ เลย ชายไทยแทบทุกคนที่ไม่รับราชการถอดเสื้อตัวดำเป็นเหนี่ยงกันหมดครับ สมัยโบราณมันเป็นอย่างนั้นนี่ครับ ไพร่หญิงก็ถอดเสื้อกันเดินนมต้มเต็มจอไปหมด แต่แปลกนะครับ ถึงจะมีฉากเห็นหน้าอกหน้าใจของนักแสดงหญิงอยู่ไม่รู้กี่ฉากต่อกี่ฉาก แต่ก็ดูไม่อุจาดตาแต่อย่างไร แม้กระทั่งฉากที่ผู้คนเขาพูดถึงกันของคุณ วรรณษา ที่แสดงเป็น พระอัครชายา ของ สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร ก็ดูสมจริงจนไม่มีทางรู้สึกไปทางอื่นได้
พูดถึงคุณวรรณษาในฉากนี้ ตอนที่กล้องจับที่ไปที่หน้าใกล้ๆ ผมได้ยินคนดูผู้หญิงที่นั่งอยู่ข้างหน้าสองคนหัวเราะออกมา คนที่นั่งข้างๆ หันไปมองเลยครับ ผมเดาเอาว่าเธอทั้งสองคงรู้สึกขำในการแต่งหน้าของคุณวรรณษา คนที่ไปดูมาแล้วคงนึกออกนะครับ คุณวรรณษาเธอไม่ได้แต่งหน้าในแบบที่ผู้หญิงทุกวันนี้แต่งกัน ตรงนี้ก็เป็นรายละเอียดอันน่าชมเชยของหนังเรื่องนี้ การแต่งหน้านักแสดงแต่งออกมาได้ดีมากครับ ผมเชื่อว่าคงมีการศึกษากันก่อนว่าผู้หญิงสมัยก่อนน่าจะเขียนคิ้วทาชาดกัน อย่างไร ทาแป้งขาวแค่ไหน แล้วผู้ออกแบบการแต่งหน้าก็พยายามจินตนาการแต่งออกมาให้คล้ายอย่างนั้น คล้ายจนสาวสมัยใหม่สองท่านที่นั่งอยู่ข้างหน้าผมหัวเราะออกมา บางทีเธอคงอาจจะลืมไปว่า การแต่งหน้าของเธออย่างทุกวันนี้ อีกสี่ห้าร้อยปีจากนี้ก็คงเรียกเสียงหัวเราะของผู้หญิงสมัยนั้นออกมาได้เช่น กัน
นอกจากจะแต่งหน้าได้แตกต่างจากผู้หญิงสมัยนี้แล้ว ที่น่าชมเชยอีกเรื่องหนึ่งในการแต่งหน้าก็คือ ฉากที่ตัวแสดงอยู่กับบ้านอยู่กับที่นอน ก็แต่งได้สมจริงจนดูเหมือนไม่ได้แต่ง ครั้นมองไปที่นักแสดงชายก็แต่งได้แนบเนียนจนดูเหมือนไม่แต่งเช่นกัน อ่านถึงตรงนี้บางคนอาจบอกว่าแต่งให้เหมือนไม่แต่ง แล้วจะไปแต่งทำไมให้เสียเวลา สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์นี่ไม่ได้หรอกครับ ถึงอย่างไรก็ต้องแต่งหน้าถ้าจะเข้ากล้อง เพราะแสงที่จัดในการถ่ายนี่มันไม่เหมือนแสงธรรมชาติครับ เขาเพียงแต่ทำให้ดูเหมือนธรรมชาติเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเขาใช้แสงเยอะกว่าธรรมชาติมาก ในฉากอาจจะมีเทียนตั้งอยู่เล่มเดียว แต่ในการถ่ายทำต้องใช้ไฟไม่รู้กี่ดวงเพื่อให้ออกมาสวยขนาดนั้น อีกอย่างหนึ่งฟิล์มหนังกับดวงตามนุษย์นี่ก็รับแสงได้ไม่เหมือนกัน
จะมีนักแสดงชายอยู่เพียงท่านเดียวเท่านั้นที่แต่งหน้าจัดจนเห็นได้ชัด นั่นคือคุณศุภกิจ ที่รับบทเป็น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ท่านมุ้ยให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในเรื่องนี้แต่งหน้าขาวและทาปากแดงดังใบ หน้าสตรี ดูแล้วเหมือนท่านมุ้ยจะตีความอะไรบางอย่างในบุคลิกของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในพระราชประวัติที่ท่านมุ้ยศึกษามา แต่ท่านมุ้ยก็ไม่เฉลยออกมาตรงๆ ในภาพยนตร์ด้วย ท่านมุ้ยทำให้คนดูเอาไปตีความต่อเอา
ส่วนที่ต้องพูดถึงอีกอย่างมากอีกส่วนหนึ่งก็คือการคัดเลือกนักแสดง ผมมองเห็นโจทย์สองข้อที่ผู้กำกับฯต้องตอบให้ได้ในการคัดเลือกนักแสดงมาแสดง หนังเรื่องนี้
โจทย์ข้อแรกคือการนำนักแสดงที่มีชื่อมาแสดงนำ การทำหนังยิ่งใหญ่ระดับนี้จำเป็นต้องได้นักแสดงระดับห้าดาวทั้งชื่อทั้ง ฝีมือมาร่วมงาน อย่างน้อยที่สุดนักแสดงที่เก่งๆ ก็จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น ได้ยินมาว่านักแสดงเกือบทุกคนในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์อยากร่วมงานอันยิ่ง ใหญ่นี้ ขอเพียงถูกตามให้ไปแสดงแม้จะมีบทเพียงน้อยนิดก็พร้อมจะเสียสละเวลาเพื่อมี ส่วนในหนังที่ใช้เวลาถ่ายทำนานกว่าสามปีเรื่องนี้ ผมจึงว่าที่ใช้คำว่าภาพยนตร์แห่งสยามประเทศประกอบกับชื่อของหนังนี่ถูก ต้องอย่างยิ่งเลยครับ เพราะจะว่าไปหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังไทยธรรมดาที่สร้างฉายกันเป็นอุตสาหกรรม อยู่ทุกวันนี้ จะเรียกว่าเป็นงานเฉพาะกิจก็คงไม่ผิดนัก การสร้างหนังเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นการร่วมมือร่วมใจของคนไทยแทบทุกคนในชาติ ที่อยากเห็นวัฒนธรรมและศิลปะของไทยสู้กับวัฒนธรรมต่างชาติได้
นักแสดงชื่อดังทุกคนในเรื่องแสดงได้ค่อนข้างเป็นธรรมชาติครับ การพูดภาษาโบราณให้เป็นธรรมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จะมีก็เพียงนักแสดงหนุ่มสาวในเรื่องเท่านั้นที่พูดคำโบราณได้ไม่ค่อยรื่นหู นัก แต่ที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นคุณ สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่รับบทเป็น พระยามหาเสนา ในฉากที่พระสุริโยไทให้เข้าเฝ้าพร้อมกับพระราชทานเหล้าฝรั่งให้ดื่ม ดูเป็นธรรมชาติแบบขลังๆ และก็ยังขำได้อีกด้วย
ที่ว่าโจทย์ข้อแรกที่หนังเรื่องยิ่งใหญ่นี้แก้ได้อย่างสวยงามก็คือ การนำนักแสดงชื่อดังมารับบทนำแต่ละบทได้อย่างไม่ขัดเขิน ไม่ว่าจะเป็นคุณพงษ์พัฒน์ ในบทพระไชยราชาฯ ที่ดูขึงขังเข้มแข็งแต่ต้องพ่ายในอิสตรี ขุนพิเรนทรฯ นักรบเจ้าเสน่ห์ที่รับบทโดยคุณฉัตรชัย และ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแผ่นดินถึงสองครั้งที่รับบทโดยคุณใหม่ หนังที่มีเนื้อเรื่องค่อนข้างมากและมีเวลาจำกัดในการนำเสนอบุคลิก ได้นักแสดงที่มีฝีมือและมีบุคลิกใกล้เคียงกับบทอยู่แล้วย่อมทำให้คนดูเข้าใจ ได้ง่ายขึ้น
ตอนที่หนังเรื่องนี้เริ่มมีการโฆษณาทางโทรทัศน์และใบปิดตามโรงหนัง เพื่อนผมคนหนึ่งเคยพูดเข้าหูให้ได้ยินว่า ไม่น่าต้องเอาดาราดังมาเล่นเยอะขนาดนี้เลย ผมก็เลยบอกไปว่าหนังยิ่งใหญ่อย่างเบ็นเฮอร์หรือคลีโอพัตรานี่ ซูเปอร์สตาร์ทั้งนั้นนะครับ หนังประวัติศาสตร์นี่ นักแสดงก็ต้องสมศักดิ์ศรีเหมือนกัน เพื่อนผมก็เลยบ่นต่อว่าอย่างคุณ จอนนี่ แอนโฟเน นี่มาแสดงหนังประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างไร หน้าฝรั่งออกอย่างนั้น ให้บังเอิญผมได้เคยติดตามข่าวคราวของหนังเรื่องนี้มาบ้าง เลยอธิบายเพื่อนกลับไปว่า คุณจอนนี่ นั้นเขาแสดงเป็น ขุนวรวงศาฯ ซึ่งมีการตีความทางประวัติศาสตร์ว่าเขาสืบสายมาทางพราหมณ์ทางละโว้ซึ่งมาจาก ทางขอมอีกที ซึ่งแน่นอนก็เป็นแขกกลายๆ นี่เอง แล้วคุณจอนนี่เวลามีเครามีหนวดนี่ก็ไม่ผิดอะไรกับพ่อพราหมณ์ ไม่รู้สิครับผมว่าการคัดเลือกตัวแสดงตัวนี้เป็นคุณจอนนี่นี่ต้องเรียกว่า เป็นทีเด็ดเลยทีเดียว ผู้ชายที่ผู้หญิงเห็นแล้วมีจิตปฏิพัทธ์ในทันทีเลยนอกจากคุณจอนนี่แล้วหายาก นะครับ
จะติดใจก็ตรงบุคลิกของคุณศรัณยูในบทพระเจ้าจักรพรรดิที่ดูสับสนไปหน่อย ในภาพยนตร์นั้นบางฉากก็ดูเข้มแข็งบางฉากก็ดูอ่อนแอไร้เหตุผล (ฉากที่ขุนพิเรนทรฯเข้าไปปรึกษาว่าจะอัญเชิญขึ้นครองราชย์ตอนทรงผนวชอยู่ ตอนแรกก็ปฏิเสธแข็งแรง แต่พอพูดกันแค่สองประโยคก็รับปากแล้ว กับอีกฉากหนึ่งตอนที่พระสุริโยไทจะตามเสด็จร่วมรบด้วย ปฏิเสธแค่เพียงประโยคเดียวก็พระราชทานพระแสงให้เสียแล้ว ผมคาดเอาว่าตรงนี้คงเกิดจากขั้นตอนการตัดต่อที่ตัดจากหนังที่มีความยาว 8 ชั่วโมงลงสั้นเหลือเพียง 3 ชั่วโมง)
การตอบโจทย์ในข้อแรกเรื่องคัดตัวนักแสดงที่มีชื่อ ยังทำได้น่าชมเชยมาถึงคนดังอย่างเขาทราย สามารถและนักมวยคนอื่นๆ ที่รับบทเป็นไพร่ทหาร นางเอกรุ่นเก่ามารับบทเป็นนางสนมของกษัตริย์องค์ก่อนๆ เป็นการแบ่งกลุ่มที่ทำให้คนดูเข้าใจง่ายขึ้น พูดถึงคนดูที่ดูไม่เข้าใจ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการรู้ประวัติศาสตร์ก่อนเข้าไปดูจะทำให้ดูง่ายขึ้น และสนุกขึ้น เพราะหนังเรื่องสุริโยไทนั้นไม่ใช่หนังเพื่อดูเอาเนื้อเรื่อง แต่เป็นหนังที่ดูเพื่อซึมซับความสมจริงเพื่อดื่มด่ำกับความงดงามรุ่งโรจน์ ของวัฒนธรรมไทยในอดีต ขอแนะนำครับหากใครยังไม่ได้ดูแล้วจะไปดู อ่านประวัติศาสตร์ย่อๆ ที่มีแจกหรือขายอยู่ทั่วไปตอนนี้ก่อน จะดูหนังอย่างมีความสุขมาก
โจทย์ข้อสองของการคัดเลือกนักแสดงก็คือบทของพระสุริโยไท ความขลังอยู่ตรงนี้ครับ หากได้คนที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อนยิ่งทำให้หนังดูน่าเชื่อและมีมนต์ขลัง มากขึ้น ที่สำคัญคนดูก็จะจดจำไปตลอดว่าสมเด็จพระสุริโยไทนั้นหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง หลังจากดูจนจบแล้วยอมรับว่าชอบครับ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ที่มารับบทนี้ เธอสวยแบบคนโบราณจริงๆ และที่ชอบที่สุดก็เห็นจะเป็นแววตาอันชาญฉลาด บทนี้ใช้นักแสดงผู้หญิงหน้าตาไม่ฉลาดมาเล่นไม่ได้หรอกครับ ตัวเอกตัวนี้เดินเรื่องเกือบทั้งเรื่องครับ เพราะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการกู้บัลลังก์ให้กับสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ
มีคนถามผมว่าหากให้ย่อเรื่องของหนังเรื่องนี้เหลือเพียงบรรทัดสั้นๆ ผมจะย่อว่าอย่างไร ผมมองเห็นเป็นอย่างนี้ครับ ผมคิดว่าท่านมุ้ยท่านกำลังตีความประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในสมัยอยุธยาที่มี ผู้หญิงสองคนอยู่เบื้องหลังในการเมืองชิงแผ่นดิน นั่นคือท้าวศรีสุดาจันทร์ และพระสุริโยไท ดูหนังจบไปสองรอบ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ประกอบบ้างห้าหกเล่ม แล้วก็แทบไม่น่าเชื่อว่าผู้หญิงนั้นมีบทบาทในสังคมและการเมืองไทยมาตั้งนาน แล้ว หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้หญิงสองคนที่ขับเคี่ยวกันทางการเมืองในสมัย โบราณครับ และที่ชอบอกชอบใจไม่น้อยสำหรับผมก็คือ ในสามชั่วโมงที่ดูอยู่นั้น สตรีในเรื่องทั้งสองนั้นที่ว่า ไม่มีฉากร่วมฉากปะทะคารมกันเลยแม้แต่ฉากเดียว ยิ่งได้รู้ว่าหนังเรื่องนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งว่า THE SUN AND THE MOON ผมยิ่งมั่นใจว่าผมเข้าใจแก่นของหนังเรื่องนี้ไม่ผิด รู้ไหมครับทำไมหนังเรื่องนี้ถึงได้มีชื่อนี้ สุริโยไท กับ ศรีสุดาจันทร์ พระอาทิตย์กับพระจันทร์นั่นอย่างไร
ที่มา: คอลัมน์ คุยกับประภาส "สุริโยไท" ประภาส ชลศรานนท์ มติชน 2 ก.ย. 44
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น