คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์
ถึงพี่ประภาส
น้อง ชายดิฉันจบด้านสื่อสารมวลชน ตอนเรียนเขาก็ดูไฟแรงดี พอจบมาแล้วกลายเป็นคนขี้เกียจไปได้ยังไงไม่รู้ พยายามบอกให้เขาลุกขึ้นทำอะไรบ้าง แม่ก็อยากให้ไปทำงานบริษัท เขาก็บอกว่าไม่อยากเป็นลูกน้องใคร บอกให้ลองลงทุนทำอะไรเองหรือไม่ก็คิดเรื่องใหม่ๆ หรือแต่งเพลงออกมาสักม้วนอย่างที่เคยทำสมัยเรียน เขาก็เอาแต่กวนประสาทบอกว่าสมัยนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน คิดอะไรไปก็มีคนทำหมดแล้ว เพลงรักเพลงเพื่อชีวิตก็ถูกแต่งหมดแล้ว ไม่รู้จะแต่งอะไรอีก จะให้ค้าขายอะไรเขาก็บอกว่าอันนี้ก็ทำไม่ได้อันนั้นก็ไม่น่าทำ ฟังแล้วท้อค่ะ บางทีดิฉันมีโปรเจ็คต์ดีๆ ไปชวนเขาทำ เขาก็เบรกเราเสียเราเองก็ไม่กล้าทำตามเขาไปเลย
พี่ประภาส พอจะมีอะไรแนะนำให้ต่อกรกับคนแบบนี้บ้าง
นุช
=========================================
เคยได้ยินประโยคทำนองนี้กันบ้างไหมครับ บทสนทนาในละครฉากเล็กๆ ของชีวิตจริง
ลูก ชาย- "พ่อ เห็นตึกสี่ชั้นที่อยู่หน้าหมู่บ้านนั่นไหม เขาติดประกาศขายแล้ว ไม่ไกลจากบ้านเราด้วย หน้ามันกว้างดี จอดรถน่าจะได้สองคันสบายๆเลยนะพ่อ"
พ่อ - "ไหน…หลังไหน ร้านหนังสือเก่านั่นน่ะเหรอ ละเมอไปหรือเปล่า อย่างเราจะมีปัญญาไปซื้ออย่างไรไหว"
ลูกชาย - "ลองโทร.ไปถามหน่อยไม่ดีหรือ เผื่อเอาเข้าแบงก์แล้วขยับขยายร้านได้ใหญ่ขึ้น"
พ่อ - "เสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์เปล่าๆ ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเถอะ"
………………………………….
สามี - "ไปเที่ยวยุโรปกันไหม กลางๆ ปีเขาว่าไม่หนาวมาก อยากไปเห็นเมืองนอกบ้าง"
ภรรยา - "ไปต่างประเทศ คุณจะมีเวลาหรือ แล้วเรื่องเงินอีก ไหนจะค่าตั๋ว ค่าที่พัก แล้วยังต้องซื้อของฝากคนอื่นอีกล่ะ โอย…ยุ่งยากเปล่าๆ อย่าคิดอะไรเกินตัวนักสิ
…………………………………
น้อง - "พินัยกรรมสรุปออกมาแล้ว คุณป้าท่านยกเงินให้เราแสนหนึ่งแน่ะ"
พี่ - "แสนหนึ่ง ค่าทนาย ค่าธรรมเนียม แล้วก็ต้องผ่อนรถที่เหลืออีกสามสี่เดือน จะไปเหลือสักเท่าไร ไม่เห็นน่าดีใจเลย"
………………………………….
อาจารย์ ที่ปรึกษา - "อีกอาทิตย์เดียวก็สอบใหญ่แล้วนะ เธอนอนอยู่โรงพยาบาลนานขนาดนั้น ขาดเรียนสิบกว่าครั้งอย่างนี้ อ่านทวนเยอะๆหน่อยก็ดี ข้อสอบปีนี้ไม่ง่ายนะ"
นักศึกษา -"อ่านอย่างไรอ่านก็ไม่ทันแล้วครับ หนังสือตั้งเกือบสิบเล่ม อาทิตย์เดียวจะไปอ่านทันได้อย่างไร… ช่างมันเถอะครับอาจารย์ มันจะตกก็ให้มันตกไป อ่านไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว"
………………………………….
บางทีผมก็แอบเรียกคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างนี้ว่า "นักฆ่าความฝัน"
ใน สังคมรอบๆ ตัวท่านผู้อ่านก็คงมีให้เห็นบ้างละครับ ทั้งแบบนักฆ่าสมัครเล่นที่มองอะไรก็เห็นว่าเป็นไปไม่ได้หมด กับพวกนักฆ่ามืออาชีพ พวกนี้ต่างจากพวกสมัครเล่นก็คือไม่เพียงแต่มองไม่เห็นความเป็นไปได้แค่นั้น พวกนี้ยังออกโรงออกแรงค้านอย่างจริงจังจนทุกโครงการที่นักฝันคนไหนก็ตามเสนอ ขึ้นมา เป็นหมันตั้งแต่ออกจากปากแล้ว
คุณนุชเขียนมาขอวิธีต่อกรกับ พวกฆาตกรความฝัน ยอมรับครับว่าทุกวันนี้ผมก็ยังผจญภัยกับคนเหล่านี้อยู่ วิธีคิดของผมก็คือ อย่ามองเขาเป็นศัตรู มองเขาเป็นเพื่อนมองเขาเป็นฝ่ายค้านที่มาช่วยติงช่วยติ
แต่อย่ายอมให้เขาฆ่าความฝันเราได้นะครับ
ที่ สำคัญที่สุดหากเราทำให้ฝันที่เขาคิดว่าเป็นจริงไม่ได้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ให้เขาเห็นได้บ่อยๆ ต่อไปเขาก็จะไม่กล้าฆ่าความฝันใคร แม้แต่ของตัวเอง
มี กรณีศึกษาจากนักจิตวิทยาที่ผมเคยอ่านเจอ นักฆ่าความฝันพวกนี้มักมีปมในวัยเด็กกับประสบการณ์แย่ๆ เช่น พ่อกับแม่ชอบสัญยิงสัญญาอะไรกับเขาแล้วไม่เคยทำได้สักครั้ง คงเคยเห็นใช่ไหมครับพ่อแม่ที่รับปากลูกไปวันๆ ฝันอันงดงามในความรู้สึกของเด็กจึงกลายเป็นฝันลมๆ แล้งๆ แทบทุกครั้ง หนักเข้าก็เริ่มไม่วางใจใคร สุดท้ายการมองโลกในแง่ร้ายก็เลยฝังลึกลงก้นบึ้งจิตใจ
ไม่มีอะไรแนะนำมากกว่านี้ครับ นอกจากขออนุญาตเล่าถึงโครงการแปลกๆ ในอดีตให้ฟังกัน ฝากเอาไปเล่าให้น้องชายคุณนุชฟังอีกต่อด้วยนะครับ
โครงการพวกนี้ล้วนเคยเป็นโครงการที่ไม่น่าสนใจแทบทั้งสิ้นครับ
อา กิโอะ โมริตะประธานฯบริษัทโซนี่ มองเห็นอีฟูกะ ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่อีกคนหนึ่งชอบหิ้วเครื่องเล่นเทปพร้อมกับหูฟังติดอยู่ ที่หูเดินไปไหนมาไหนอยู่เรื่อย จึงออกปากถามถึงเหตุผล อีฟูกะบอกว่าเขาชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เดินไปนั่งตรงไหนก็อยากเอาเพลงไปฟังด้วย แต่ไม่อยากเปิดเบาๆ และก็ไม่อยากให้หนวกหูคนอื่นจึงจำต้องใช้หูฟัง
อากิโอะ ได้ยินเข้าก็เกิดความคิดสว่างวาบขึ้นที่จะทำสินค้าออกขาย โดยคิดย่อเครื่องเล่นเทปให้เล็กลง พร้อมหูฟังที่เล็กลงด้วย
ใช่ครับ จุดกำเนิดซาวนด์นอะเบาต์ มันเกิดง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ
แต่ฝ่ายการตลาดไม่เห็นด้วยกับสินค้าตัวนี้ คำวิจารณ์แรงๆก็คือ "จะมีใครที่ไหนโง่มาซื้อเครื่องเล่นเทปที่ไม่มีส่วนของการบันทึกเสียง"
อา กิโอะไม่คิดอย่างนั้น เขาไม่ยอมให้ใครฆ่าความฝันของเขา เขาเชื่อว่าซาวนด์อะเบาต์นั้นมีไว้เพื่อฟังไม่ใช่เพื่ออัด การจะใส่ส่วนของการบันทึกเสียงลงไปด้วยจะทำให้เครื่องใหญ่ขึ้น และเพื่อไม่ทะเลาะกับฝ่ายการตลาด เขาขอเป้าการขายแค่เพียงปีละหนึ่งแสนเครื่องเท่านั้น และไม่ต้องทุ่มโฆษณาให้สินค้าตัวนี้มากนักด้วย ปีแรกที่วางตลาด ซาวนด์อะเบาต์ ทำยอดจำหน่ายให้โซนี่เท่าไรรู้ไหมครับ
สี่ล้านเครื่อง !
เรื่องราวของอากิโอะนั้นคล้ายๆ กับบิล เลียร์ แต่ตอนจบกลับไม่เหมือนกัน
บิล เลียร์ คิดเรื่องวิทยุติดรถยนต์ขึ้นมาครั้งแรก คนรอบๆ ข้างเขาต่างรุมถล่มความฝันอันบรรเจิดของเขาอย่างหูดับตับไหม้ ความเห็นที่มองไปทางเดียวกันก็คือ "มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้คนจะติดวิทยุไว้ในรถ เพราะมันจะทำให้คนขับเสียสมาธิได้" ไม่รู้ว่าเลียร์ไม่หนักแน่นพอหรือนักฆ่าพวกนั้นออกอาวุธหนักเสียจนเลียร์ ตั้งตัวไม่ติด เขายอมขายความคิดนี้ให้กับบริษัทกัลวิน แมนูแฟคเตอร์ไป
หลัง จากร่ำรวยจากวิทยุติดรถยนต์ บริษัทกัลวินนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โมโตโรลา บริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งในวงการโทรศัพท์มือถือตอนนี้
พูด ถึงโทรศัพท์มือถือ นี่ถ้าเกรแฮมเบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์รู้ว่าทุกวันนี้มีคนบนโลกใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลาไม่ เว้นแต่วินาทีเดียว เขาคงดีใจที่สุด เพราะตอนที่เบลล์ เพิ่งทดลองโทรศัพท์ข้ามแม่น้ำสำเร็จใหม่ๆ เมื่อร้อยสามสิบปีก่อน นายกเทศมนตรีให้สัมภาษณ์นักข่าวดูแคลนสิ่งประดิษฐ์ของเบลล์ว่า "ของเล่นอันนี้มันก็ดีอยู่หรอก แต่มันจะใช้ทำอะไรได้"
ปี พ.ศ.2505 บริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ เดคค้า เรคคอร์ด ปฏิเสธงานของวงดนตรีหน้าใหม่ที่ชื่อเดอะบีตเทิลส์ด้วยเหตุผลว่า "เพลงที่เล่นด้วยกีตาร์กำลังจะหมดสมัยแล้ว"
ใกล้ๆ ตัวนี่เลยครับ จา พนมที่กำลังเนื้อหอมในต่างประเทศจากหนังเรื่ององค์บาก ก็เคยถูกคำวิจารณ์จากบริษัทเก่าที่จา เคยเซ็นสัญญาด้วยว่า "เขาไม่มีเสน่ห์พอ ถ้าจะทำหนังให้เขาเล่น เขาต้องประกบกับพระเอกที่หล่อกว่าเขา" ไม่รู้ปรัชญา ปิ่นแก้วผู้กำกับฯองค์บากประชดประชันหรือคิดอะไรอยู่ หลังจากมาเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ เขาให้จาเล่นหนังเรื่องแรกโดยประกบกับหม่ำ จ๊กมกเสียเลย
มองคำทักท้วงเหล่านี้เป็นมิตรสิครับ แล้วเอาชนะมันให้เขาเห็น
เมื่อ 60 ปีก่อน โทมัส วัตสัน ประธานไอบีเอ็มยังเคยพูดถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเลยว่า "ตลาดของพีซีทั้งโลก น่าจะมีประมาณห้าเครื่องได้มั้ง" ดีนะครับที่สุดท้ายแล้วผู้บริหารรุ่นหลังของไอบีเอ็มไม่ได้เชื่อคำพูดของวัต สัน
ประโยคสกัดดาวรุ่งประโยคสุดท้ายครับ เป็นของนักฝันชื่อดัง บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์
ฟัง ประโยคนี้แล้วอย่าหัวเราะดังนะครับ บิล เกตส์ พูดไว้เมื่อปี พ.ศ.2511 คนเรานี่บางทีก็เผลอเป็นนักฆ่าความฝันของตัวเองไปเหมือนกัน เขาพยากรณ์ถึงหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในอนาคตว่า
"640 k ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับทุกๆ คน"
ประภาส ชลศรานนท์
ที่มาของบทความ - มติชน วันอาทิตย์ หน้า 17
วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551
โครงการที่ไม่น่าสนใจ - 20 ก.พ. 2548
โครงการที่ไม่น่าสนใจ - 20 ก.พ. 2548
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น