วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

จับเข่าคุย" ประภาส ชลศรานนท์

"จับเข่าคุย" ประภาส ชลศรานนท์

กระบี่อยู่ที่ใจ ใจอาจอยู่ที่เข่า
รู้จักหน้าไม่รู้จักเข่า
ลองมาจับเข่าคุยกัน... เข่าอาจนำไปพบใจ

อยู่ดีดี ผมก็ชวนปินดามานั่งหน้าเทปอัดเสียงเครื่องเล็กๆ ที่ยืมจ่าแจ๋วมา แล้วจึงบอกเขาว่า ผมจะขอชวนคุยอะไรหน่อย เจตนาคือจะเอาไปลงใน ไปยาลใหญ่ในฉบับขึ้นปีที่ 3...

หลังจากที่นั่งอ้ำอึ้งมองหน้ากันอยู่พักใหญ่ เพราะไม่รู้จะสัมภาษณ์อะไรดี ก็ปล่อยให้เทปอัดเสียงวิ่งไปเรื่อยๆ เราก็คุยกันไปเรื่อยๆ หวังจะให้เป็นธรรมชาติ และคงได้เรื่องอะไรสักอย่างบ้างล่ะ ระหว่างที่คุยนั้น ก็มีใครต่อใครเดินเข้ามาทักทายบ้าง เดินเข้ามาคุยมาเถียงบ้าง เพราะไม่รู้ว่าผมเอาเทปมาอัดสัมภาษณ์ปินดา

ลองอ่านดูเถอะครับ ถ้าพอจะมีสาระบันเทิงได้ ก็นึกเสียว่า ผมกับปินดา ได้พยายามอย่างสุดขีดแล้ว ที่จะกำนัลท่านผู้อ่านในฉบับขึ้นปีที่ 3 นี้

ประภาส : ตอนนี้ทำอะไรอยู่
ปินดา : ทำดี... ทำตัวเป็นคนดี
ประภาส : วันไหนบ้าง
ปินดา : วันเว้นวัน บางทีก็นับผิด 2 วันติด
ประภาส : ตอนนี้เขียนอะไรอยู่
ปินดา : เขียนเรื่องสั้น
ประภาส : เรื่องสั้นกับเรื่องยาวนี่ชอบอย่างไหน
ปินดา : เรื่องสั้น
ประภาส : ทำไม
ปินดา : มันสั้นกว่า (หัวเราะ 2 คน)

ผมเกรงว่า ในเทปจะมีแต่เสียงหัวเราะ ผมเลยปิดเทปชวนเขาคุยไปอีกพักใหญ่ เพราะสงสัยว่าจะสัมภาษณ์ยาก คงจะเป็นด้วยเหตุที่ไม่ได้เจอกัน หลายวัน มีสารทุกข์สุกดิบส่วนตัว ที่ต้องคุยกันอีกเยอะ แล้วเราก็คุยวกมาถึง 'แฟชั่นความคิด' ของวัยรุ่น

ประภาส : ทันยุค 'ฉันจึงมาหาความหมาย' ไหม
ปินดา : ทันพอดี กำลังเริ่มเข้าวัยรุ่นพอดี

เราตั้งชื่อยุคนี้กันเองว่า 'ฉันจึงมาหาความหมาย' เพราะกลอนในยุคนั้น ที่ดังมากก็คือประโยคนี้ ผมกับปินดาเคยคุยกันเล่นๆ ว่าความคิดของวัยรุ่นนั้น ในแต่ละยุคจะเปลี่ยนไป และมักจะคิดเหมือนกันทั้งยุค เป็นแฟชั่น คือบางคนก็มีความคิดอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งมักจะเป็นผู้ริเริ่ม และบางคนก็จะคิดตามเพื่อให้เขาเห็นทันสมัย

อย่างยุคที่วัยรุ่นสนใจการเมือง การปกครอง บทกลอนต่างๆ ก็จะออกมาในลักษณะ 'ฉันจึงมาหาความหมาย' ขวัญใจวัยรุ่นในสมัยนั้นคือ 'เช กูวารา' นักต่อสู้ทางการเมือง ที่รูปหล่อไม่แพ้ อำพล ลำพูน

ผมกำลังพูดว่า คนที่มีความคิดทางการเมืองจริงๆ ก็มี ที่คิดเพราะเป็นแฟชั่นก็มี จะเห็นได้ว่าในยุคนั้น วัยรุ่นที่ทันสมัย นิสิต นักศึกษา จะใช้เสื้อม่อฮ่อม ผ้าดิบ ด้วยอุดมคติไทยนิยม ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ วัยรุ่นเขายึดเอาดังกินโดนัท, ศูนย์การค้า, ผับ เป็นสรณะ

ผมไม่ได้โจมตีวัยรุ่นยุคไหนโดยเฉพาะ เพียงแต่พูดว่า วัยรุ่นนั้น เขาต้องการแฟชั่นเพียงอย่างเดียว ทั้งแฟชั่นการพูด การแต่งตัว และแฟชั่นความรัก

ประภาส : ตอนนั้นเขียนกลอน หาความหมายบ้างหรือเปล่า
ปินดา : ไม่ได้เขียน ทันยุคนั้นก็จริง แต่ปลายๆ ยุคแล้ว
ประภาส : ยุคต่อมามันยุคอะไร
ปินดา : ยุคพวกรักทะเล้น วัยอลวน วุ่นรักนักศึกษาใช่ไหม
ประภาส : ยุคอีรุงตุงนัง
ปินดา : ยุคนี้คงเบื่อจากการมีสาระจัด เลยกลายเป็นไร้สาระไปเลย
ประภาส : หนักไปทาง แซวตลก ยุคเรากำลังหนุ่ม
ปินดา : มิน่า ตลกกันติดนิสัยมาถึงทุกวันนี้
ประภาส : เดี๋ยว แล้วยุคก่อน ฉันจึงมาหาความหมายนี่ ยุคอะไร
ปินดา : ไม่รู้ ไม่ทัน ยุคลีลาศใช่ไหม
ประภาส : น่าจะใช่ เคยเห็นพี่สาวข้างบ้านหัดเต้น
ปินดา : ยุคนั้นวัยรุ่นค่อนข้างมีพิธีรีตองนะ เต้นรำเข้าจังหวะ จะมายึกยือไม่ได้ กลอนต้องมีสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบท
ประภาส : แต่งตัวล่ะ
ปินดา : ค่อนข้างมิดชิดนะ
ประภาส : สมัยนี้ไม่มิดชิดหรือไง
ปินดา : มิดแต่ไม่ค่อยชิด
ประภาส : เพลงมันตามความคิดเหมือนกันนะ อย่างยุคลีลาศ ยุคพิธีรีตองนี่ เพลงมันจะต้องเป็นวงใหญ่ มีเครื่องเป่า พอเปลี่ยนเป็นยุค ฉันจึงมาหาความหมาย ก็กลายเป็นวงโฟล์คซอง กีตาร์ตัวเดียว
ปินดา : ใช่ วงใหญ่มันจะหาความหมายลำบาก มันไม่ค่อยอิสระ
ประภาส : เขาตัดความหรูหราออกด้วย... เดี๋ยว กลับมาที่ยุคอีรุงตุงนังก่อน เรื่องสั้นว้าวุ่นนี่ ยุคอีรุงตุงนังหรือเปล่า
ปินดา : คงไม่ใช่... ชื่ออาจจะคล้าย แต่เรื่องไม่ใช่
ประภาส : แล้วจะเขียนว้าวุ่นภาค 2 ไหม
ปินดา : ไม่... ไม่อยากเขียนนิยายเศร้า...

เราคุยกันถึงเรื่องส่วนตัวอีกนิดหน่อย เพราะดันถามถึงว้าวุ่นภาค 2 ซึ่งปินดาบอกว่า ค่อนข้างเป็นนิยายชีวิตรันทดมากกว่า

ระหว่างที่คุยกันอยู่ถึงใครต่อใครในว้าวุ่นที่ผมไม่อาจถ่ายทอดมาให้ฟังได้ 'เจี๊ยบ' วัชระ ปานเอี่ยม เข้ามาหาพอดี พอรู้ว่าสัมภาษณ์กันเอง เขาแสดงท่ารังเกียจจนเห็นได้ชัด

วัชระ : น่าเกลียดๆ
ประภาส : เจี๊ยบ ฉบับหน้าสัมภาษณ์เจี๊ยบหน่อยนะ
วัชระ : จะดีเหรอ สัมภาษณ์กันเอง เว้นสักฉบับซิ จะได้ไม่น่าเกลียด

เขาเดินออกไป ปล่อยให้ผมคุยกันต่อ ถึงยุคกลอนเปล่า เหงา ว้าเหว่

ประภาส : ยุคต่อมาคือยุค 'หวานแหววแต๋วจ๋า'
ปินดา : ถึงวันนี้ก็ยังมีอยู่นี่
ประภาส : แต่ก็จางๆ ไปแล้วนะ
ปินดา : ดูเหมือนจะมาพร้อมกับ ตัวการ์ตูนน่ารัก ของฝรั่ง ญี่ปุ่น... ยุคนี้นี่ สีชมพูอ่อน ฟ้าอ่อนเนอะ
ประภาส : ตัวหนังสือ ลายมือเดียวกันหมด หัวโตโต
ปินดา : มึงไปว่าเขา แฟนๆ ไปยาลใหญ่ก็เยอะ
ประภาส : นั่นแหละแฟชั่นน่ารัก... คนในไปยาลใหญ่ยังเป็นเลย ไม่ได้ว่าใคร แฟชั่นไหมล่ะ ... ปินดาเคยเขียนกับเขาบ้างหรือเปล่า ตัวหนังสืออย่างนี้ กับกลอนไม่สัมผัส ไม่เคย
ปินดา : ไม่เคย
ประภาส : ไอ้จุ้ยเคยนะ
ปินดา : แต่ลายมือมันน่าเกลียด ไม่น่ารักอย่างวัยรุ่นเขา... แล้วเพลงยุคหวานแหวว เป็นยังไง
ประภาส : ก็ไม่ค่อยสัมผัส หนังล่ะ
ปินดา : ผีเสื้อและดอกไม้ ดีนะ... มือปืนก็สมบูรณ์มาก
ประภาส : หนังสองเรื่องนี่ยุคไหน
ปินดา : ไม่เข้ายุคเลยน่ะ ไม่เกี่ยวกับแฟชั่นด้วย... แล้วยุคนี้ยุคอะไร
ประภาส : จริงใจซะอย่าง
ปินดา : (หัวเราะ) ใช่ๆ จริงใจตลอดเวลา เพลงก็จริงใจ แต่งตัวก็จริงใจ
ประภาส : เบื่อไหม
ปินดา :

ไม่หรอก... แต่จริงๆ นะ จริงใจอะไรนักหนาวะ

ประภาส : ยุคนี้สีอะไร
ปินดา : น้ำตาลมั้ง... หรือดำ
ประภาส : สียีนส์ด้วย น้ำเงินเก่าๆ ยุคหน้าล่ะ ยุคอะไร ลองทำนายสิ
ปินดา : ยุค 'ข้ามาคนเดียว'
ประภาส : อะไรนะ (หัวเราะ)
ปินดา : ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เก่ง...
ประภาส : มีวี่แววแล้วหรือ
ปินดา : ตอนนี้ก็เห็นๆ แล้วนะ ทำอะไรทำคนเดียว อยู่ได้ด้วยคนเดียว
ประภาส : คล้ายๆ 'จริงใจซะอย่าง' ไหม
ปินดา : ไม่เหมือน จริงใจซะอย่างนี่ยังเป็นพวก แต่อันนี้จะมาคนเดียว ฉันก็อย่างนี้แหละ เป็นอย่างนี้แหละ แบบของฉันแหละ นี่แหละตัวฉัน กูทำอย่างนี้มึงเอาไม่เอาไม่รู้ล่ะ จะส่วนตัวมากขึ้น
ประภาส : อะไรนะ
ปินดา : พวกอิสระไง ชอบอิสระ คนเดียวไง ไม่ต้องเป็นหมู่เป็นกลุ่มหรอก ทำคนเดียวได้ เที่ยวคนเดียวได้
ประภาส : ยุค 'จริงใจซะอย่าง' จะอยู่อีกนานไหม
ปินดา : ไม่น่านาน ไม่เห็นจริงใจกันจริงเลย (หัวเราะ) พอต่างคนต่างไม่จริงใจ ก็เริ่มแยกกัน... ก็เลย 'ข้ามาคนเดียว'
ประภาส : ยุคนั้นจะกลับมาไหม ยุคกลอนสัมผัส เต้นรำมีจังหวะ ยุคพิธีรีตอง
ปินดา : มีทางนะ กางเกงเริ่มขาบานแล้วเห็นไหม
ประภาส : อ้าว ก็คนแต่งกลอนไม่สัมผัส เพลงไม่สัมผัส เต้นไม่มีสเต็ป แล้วมันจะเอากลับมาหรือ
ปินดา : เต้นไม่มีสเต็ปบ่อยๆ ก็เหนื่อยนะ
ประภาส : เขียนกลอนไม่มีสเต็ปมันไม่เหนื่อยนี่ ง่ายดี
ปินดา : เหนื่อยนะ เหนื่อยกว่าอีก เหนื่อยคนอ่าน คนเขียนเองก็ต้องพยายามทำให้ซึ้ง พยายามนี่เหนื่อย...
ประภาส : หมาที่บ้านยังอยู่หรือเปล่า
ปินดา : อยู่... ไอ้ไผ่
ประภาส : ไอ้ไผ่ยังอยู่เหรอ
ปินดา : ไอ้ไผ่นี่ตอนเด็กๆ ชื่อ 'หน่อไม้' โตก็เลยชื่อไผ่ แก่ๆ ว่าจะเปลี่ยนเป็น 'ข้าวหลาม' เดี๋ยวนี้ลองเรียกมัน 'ข้าวหลาม' ดู มันค้อน
ประภาส : สื่อสารมวลชนในเมืองไทยที่ผ่านมานี่ คิดว่าอะไรเดินช้าสุด โทรทัศน์ หนัง เพลง หนังสือ
ปินดา : หนังสือเคลื่อนตัวช้านะ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก... ไม่สิ เราต้องแบ่งออกเป็น พ็อกเก็ตบุค กับแมกกาซีน แมกกาซีนนี่เร็ว หวือหวาน่าดู พ็อกเก็ตบุคช้ากว่า
ประภาส : โทรทัศน์ล่ะ
ปินดา : เร็วที่สุดมั้ง 5-6 ปีนี้ฟู่ฟ่า
ประภาส : หมายถึงการนำเสนอใช่ไหม แก่นยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรก้าวหน้า
ปินดา : กำลังพูดถึงการนำเสนอไม่ใช่เหรอ โอ้ย ไอ้แก่นน่ะ โทรทัศน์แย่กว่าหนังสืออีก ไม่ค่อยมีอะไรนอกจากน้ำ... น้ำเต็มตู้ทีวี
ประภาส : การแข่งขันสูง ทำให้การนำเสนอฟู่ฟ่า ว่างั้น
ปินดา : อย่าเรียกการแข่งขันเลย เรียกว่าตลาดมันใหญ่ขึ้นดีกว่า
ประภาส : วงการเพลงล่ะ
ปินดา : 5 ปีที่ผ่านมานี่ ธุรกิจมากกว่าศิลปะนะ
ประภาส : โฆษณา 80% ศิลปะ 20% ได้มั้ง... อยากให้วงการเพลงเป็นอย่างไร...
ปินดา :

ไอ้ศิลปะธุรกิจน่ะเข้าใจ แต่น่าจะเป็นศิลปะค่อนข้างเพียวบ้าง อย่างเช่นทำชุดตลาดขายสัก 3-4 ชุด แล้วทำศิลปะบริสุทธิ์สักชุด แบ่งๆ กันบ้าง

ประภาส : หนังไทยล่ะ เป็นไง
ปินดา : ช้า... ช้ากว่าหนังสืออีก โดยส่วนใหญ่นะ
ประภาส : ละครเวทีล่ะ
ปินดา : อยากทำ... ทำละครกันเหอะ
ประภาส : เดี๋ยวสิ สัมภาษณ์ก่อน อยากทำอะไรอีก ละครแล้วอะไร
ปินดา : อยากทำละครเวที
ประภาส : หนังสือล่ะ อยากทำหนังสืออะไรอีก
ปินดา : หนังสือเรื่องละครเวที
ประภาส : ตกลง... ตกลง เดี๋ยว หนังสือที่เคยบอกว่าอยากทำตอนเรียนสถาปัตย์น่ะ ใช่เล่มนี้หรือเปล่า (ไปยาลใหญ่)
ปินดา : คล้ายๆ

คุยกันอีกสักพัก ปินดาก็ชวนผมทำละครเวทีอีก ท่าทางเขาอยากมาก แล้วผมก็ชอบตามใจเขาด้วย

แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ ไม่ค่อยว่างตรงกันเอาซะเลย

จะว่าอะไรมั้ยครับ ถ้าสำนักศิษย์สะดือจะทำละครเวที

ไม่มีความคิดเห็น: