วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

เลิกหมอบฤๅหมา - 4 เม.ย. 2548

เลิกหมอบฤๅหมา - 4 เม.ย. 2548

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

หลัง จากที่ผมเล่าเรื่อง "หมาหมอบ" เพื่อตอบจดหมายคุณสาวสร้อยที่เขียนมาระบายเรื่องความทุกข์อันทับถมอยู่ของ เธอไป ได้เกิดปรากฏการณ์อันน่าประหลาดใจขึ้น นั่นคือมีจดหมายสะท้อนกลับมายังผมเป็นจำนวนมาก

แม้จะไม่ได้มากเป็น หมื่นเป็นพัน แต่ก็มากจนผมแปลกใจเมื่อเปิดตู้จดหมายอีเมลดู เหมือนกับจะบอกว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเจออะไรคล้ายๆ กับคุณสาวสร้อย หรือว่าสังคมมนุษย์ทุกวันนี้ยังมีหมาที่ถูกขังกรงและถูกไฟช็อร์ตอยู่เต็มไป หมด

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพบก็คือ คนไทยเรามีน้ำใจ

เพราะนอกจากจดหมายที่เขียนมาเล่าคล้ายๆ คุณสาวสร้อยและจดหมายที่แสดงความคิดเห็นต่อยอดแล้ว จดหมายให้กำลังใจก็มีจำนวนไม่แพ้กัน

อาทิตย์นี้ขออนุญาตลงจดหมายจากท่านผู้อ่านที่น่าสนใจหลายๆ ฉบับโดยไม่เขียนตอบนะครับ


==========================================


พี่ประภาส

อ่าน เรื่องหมาหมอบแล้วนึกไปถึงเมื่อห้าหกปีก่อนที่ผมเช่าบ้านอยู่แถวฝั่งธนฯ ที่ข้างๆ บ้านมีลุงอยู่คนนึง คืนหนึ่งผมเห็นแกจับหมาจากที่ไหนก็ไม่รู้มาขังไว้ มันร้องหอนทั้งคืนแล้วก็พยายามตะกุยกรงจนขามันมีเลือดเต็มไปหมด มันร้องจนผมนอนแทบไม่หลับ

ผ่านไปตั้งสัปดาห์ผมก็ยังเห็นมันตะกาย กรงและหอนไม่มีหยุดสักคืน แสดงว่าแม้แต่หมาก็ไม่ใช่ว่ามันจะหมอบยอมแพ้ เหมือนกับหมาในการทดลองเหมือนกันหมด ผมจำได้แม่นเลยว่าเห็นเล็บขามันฉีกหมดเพราะพยายามตะกายกรงเหล็ก

จอห์นแอนด์จ้อน

==========================================
คุณอาประภาส


เป็น ครั้งแรกที่คุณอาเล่าเรื่องที่พีเคยรู้แล้ว ชอบจังค่ะ เรียนอยู่ที่ Penn ค่ะ เรียนจิตวิทยากับชีวเคมี...ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่ก็ชอบทั้งคู่

Martin Seligman คนที่ทดลองเรื่องหมาหมอบยังเป็นครูอยู่ที่นี่เลยค่ะ

สอง ปีที่แล้วแกสอนวิชา positive psychology ฟังดูน่าเรียนนะคะ เนื้อหาเค้าว่าสอนให้รู้ว่าสิ่งดีๆ เช่น ความรัก ความมั่นใจในตัวเอง ความภาคภูมิใจ ความคิดเห็นทางบวกส่งผลอะไรดีๆ กับชีวิตบ้างอยากเรียนแต่ว่าพลาดไป คือเทอมนั้นพอดีต้องเรียน quantum chemistry กับ thermodynamics พร้อมกันก็เลยไม่ได้ลง

อยากเขียนมา แอบบอกเฉยๆ ค่ะ ว่าจำได้ลางๆ ตอนเรียนจิตวิทยาเบื้องต้นเมื่อนานแล้ว ในตอนนั้นมีการพูดถึงหมาอีกหนึ่งในสามที่ไม่ยอมหมอบนิ่งๆ นะคะ มันก็ยังสู้ต่อไป หนึ่งในสาม..ถ้าจำไม่ผิดนี่ ไม่น้อยเลยนะคะ เค้าเลยใช้ตัวอย่างเรื่องหมาหมอบนี้(ชื่อเก๋มากว่า learned helplessness คือ มันแย่เรื่อยๆ จนเรียนรู้ที่จะไม่สู้และยอมให้กระทำ) อธิบายโรคซึมเศร้าไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด

ทีนี้ Seligman ก็เลยใช้คำอธิบายใหม่ที่ครอบคลุมกว่า(Explanatory style)

คือ ว่า บางคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนอื่นก็เพราะวิธีการมองโลกของพวก เค้า คนที่มีภูมิต้านทานมักเป็นคนมีมองเหตุการณ์ที่เลวร้ายแบบ external, specific, temporary คือว่า มองว่าไม่ได้เป็นเพราะตัวเองแย่(คล้ายๆ จะโทษสถานการณ์ภายนอกนิดนึง-external) เหตุการณ์ร้ายๆ จะเป็นเพียงเฉพาะครั้งนี้ ไม่ใช่ทุกครั้งทุกเรื่อง(specific) และเหตุการณ์แย่ๆ อีกไม่นานจะผ่านไป (temporary)

แต่คนที่ซึมเศร้า ก็จะมองแบบตรงข้าม พูดแบบนี้เหมือนจะแก้ปัญหาได้ง่ายๆ นะคะ...ก็มองโลกดีๆ พีเป็นอีกคนนึงเหมือนกันที่ชอบมองโลกแง่งาม ก็ต้องพยายามทำให้ได้ในทุกสถานการณ์แหละมั้งค่ะ อย่างน้อยก็จะได้ป้องกันตัวเองจากความซึมเศร้า ซึ่งคงจะทำให้อะไรๆ มันแย่ลงไปอีก

หนังสือของคุณหมอฟรังเกลที่เคยถูกกักกันอยู่ในคุกออ สวิทซ์ก็เคยอ่านเหมือนกัน อ่านแล้วเหนื่อยแทน แต่ว่าชื่นชมนะคะ...ที่มีคนสู้ชีวิตขนาดนั้น

ในสถานการณ์วิกฤตขนาด นั้น ที่จริงแล้ว...เวลาคนเรามีเรื่องมีความทุกข์ มันก็เหมือนทุกอย่างเลวร้ายไปหมด แล้วก็ประดังเข้ามาทีเดียว เรียนจิตวิทยาก็ไม่ค่อยช่วยนะคะ แต่เคมีช่วยเสมอ

ตามหลักเคมี เค้าว่าเกือบทุกระบบมันจะมีจุดสมดุล ถ้ามีอะไรจากภายนอกประดังเข้ามารบกวนระบบ ทำให้ระบบเสียสมดุล ระบบเองนั่นแหละค่ะ...ไม่ใช่สิ่งแวดล้อม...ที่จะปรับเปลี่ยน เอาออก นำเข้า เร่งหรือลดความเร็วของปฏิกิริยา เพื่อจะกลับเข้าสู่สมดุลใหม่

ค่อยๆ คิดทีละเรื่อง แก้ไปทีละเรื่อง เดี๋ยวก็กลับเข้าสมดุลค่ะ

พี

=========================================


พี่ประภาส


หลังจากอ่านเรื่องของวิกเตอร์ ฟรังเกล จบ ทำให้นึกถึงแววตาของน้องคนหนึ่งขึ้นมา

สองอาทิตย์ก่อนแอบไปสำรวจ ทางใต้มา แวบแรกที่เห็นแววตาเศร้าๆ ของน้องๆหลายคนที่ต้องพรากจากครอบครัวไป มันน่าเศร้าใจนัก

ระหว่าง ที่กำลังพูดคุยและร่วมกิจกรรมกันอยู่ มีคนตะโกนมาว่า "คลื่นมาอีกแล้ว" ไม่ทันจะได้คิดอะไร น้องๆ หลายคนและผู้คนแถวนั้นวิ่งสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว เหลือน้องอยู่คนหนึ่งที่ยังยืนอยู่กับพวกเรา "แววตา" ของน้องคนนี้ เหมือนกับจะบอกพวกเราว่า ไม่ต้องกลัวอะไร เดี๋ยวเราก็คงจะผ่านมันไปได้อีก

กร

==========================================
สวัสดีค่ะพี่ประภาส

วันนี้ ได้อ่านคอลัมน์คุยกับประภาส ทำให้อยากจะส่งหนังสือเข็มทิศชีวิต ของคุณฐิตินาถ ณ พัทลุง ที่กำลังขายดีอยู่ในขณะนี้ ให้กับคุณสาวสร้อยค่ะ ด้วยความหวังว่า ตัวอย่างความทุกข์ในอดีตของคุณฐิตินาถ และการปฏิบัติเพื่อรู้จักทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์นั้น ธรรมะของพระพุทธองค์อาจจะช่วยคุณสาวสร้อยได้ ยิ่งนานวันยิ่งเห็นว่า มรรค 8 พระพุทธองค์แสดงไว้ ช่วยให้คนเราพ้นทุกข์ได้จริงๆ

สี่ปอ

=========================================
พี่ประภาส

ช่วง ก่อนหน้านี้ ...มีชีวิตที่ตัวเองเรียกว่าเป็นไปตามกฎของเมอร์ฟี่ คือ เรื่องร้าย,ร้ายมาก,ร้ายที่สุด พากันเดินพาเหรดกันเข้ามา ราวกับว่ามันจะไม่มีที่สิ้นสุด เล่นเอาคนมองโลกในแง่ดีอย่างดิฉันตั้งตัวไม่ค่อยทัน

ด้วยเป็นคน เล่าเรื่องเศร้าไม่ค่อยเป็น..ร้องไห้ไม่ค่อยออก เวลาเล่าให้คนรอบตัวฟังก็เล่าอย่างปนขำ แล้วก็ฝืนยิ้ม..ฝืนพูด..ฝืนทำทุกอย่างอย่างปกติ

แต่ลึกๆ แล้ว รู้สึกเหมือนเวลายืนตรงๆ แล้วมีลมแรงๆ มาปะทะจะหงายไปด้านหลัง จนกระทั่งเรียนรู้ว่าถ้าเราถอยเท้าไปข้างหลังครึ่งก้าวและย่อตัวเล็กน้อย จะทำให้เรายังไม่ล้มและทรงตัวอยู่ได้

เพื่อนที่รักคนหนึ่ง..ที่รู้ ว่าถ้าดิฉันไม่เศร้าจริงๆ ไม่มีทางเล่าให้ใครฟัง ส่งหนังสือเข็มทิศชีวิตมาให้แล้วเขียนในหนังสือว่า "แกมีชั้นนะโว้ย" ทุกข์ของดิฉันไม่ใหญ่โตขนาดของคุณฐิตินาถ อ่านแล้วแม้ว่าไม่ใช่ทั้งหมดของคำตอบที่ดิฉันถามกับชีวิต แต่ก็เหมือนกระจกที่ส่องกลับมาถึงตัวเอง ความทุกข์จะไม่อยู่กับเรา..ถ้าเราไม่ถือมันมาด้วย

เหมือนกับว่า ความทุกข์มันเป็นหุ่นยนต์นักมวยที่เดินไม่ได้ แล้วเราก็เอาขามันมาเกี่ยวไว้กับสะเอวเรา...มือหุ่นยนต์ก็ยังชกเราไม่หยุด เวลาไปไหนมาไหน..ก็โดนหุ่นยนต์นักมวยชกอยู่เสมอ แล้วเรายังจะอุ้มมันต่อไปอีกทำไม มีสองวิธีง่ายๆ ที่จะแก้ปัญหานี้

1.วางหุ่นยนต์ไว้บนพื้นแล้วเดินถอยออกมาให้พ้นรัศมีหมัด

2.หาปุ่มปิดหุ่นยนต์ให้เจอ

ดิฉัน เลือกวิธีแรกค่ะ วางความทุกข์ไว้และถอยออกมามองดูทุกข์ของตัวเองอยู่ห่างๆ เคยถามคำถามนี้กับเพื่อนอีกคน เธอบอกว่าไม่เลือกทั้งข้อหนึ่งและข้อสอง เธอเลือกข้อสามคือ

"กอดหุ่นชกให้แน่นเข้า เพื่อที่มันจะชกเธอได้ไม่ถนัดและชกมันกลับบ้าง ถ่านไม่หมดหรือไม่พังบ้างก็แล้วไป"

Real women must have curve

==========================================

พี่ประภาส

อ่านเรื่องหมาหมอบในมติชนอาทิตย์ที่ผ่านมา มันโดนเข้ากลางใจผมจังเบอร์ ต้องขอบคุณพี่และวิกเตอร์ ฟรังเกล ที่มาทันเวลาพอดี

ตอนนี้ตั้งไว้ในใจแล้ว ไม่ว่าจะถูกไฟช็อร์ตอีกกี่ร้อยครั้ง ผมก็จะต้องรอดจากเหตุการณ์ห่วยแตกนี้ไปทำอะไรให้ลูกผมให้ได้

แกรนิต

==========================================

ไม่มีความคิดเห็น: