ประภาส ชลศรานนท์......ยอดมนุษย์ลำลอง
โดย ...นายอยู่ดี
หากถามนักอ่านทั่วไปว่าอยากคุยกันทางตัวหนังสือกับใครมากที่สุด
ประภาส ชลศรานนท์ต้องมีชื่อติดอยู่ในนั้น
ประจักษ์ พยานคือคอลัมน์ "คุยกับประภาส" ในมติชนฉบับวันอาทิตย์ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อรวมเล่มเป็นหนังสือในชื่อต่างๆ ก็ติดอันดับหนังสือขายดีของหลายร้านหนังสือ
ประภาส ชลศรานนท์เกิดและเติบโตที่จังหวัดชลบุรี เรียนปริญาตรีที่ คณะสถาปัตย์ ม.จุฬา เป็นคนมากความสามารถ ร่วมก่อตั้งวงดนตรี เฉลียง กับ นิติพงษ์ ห่อนาค และวัชระ ปานเอี่ยม ออกเทป "ปรากฎการณ์ฝน" โดยมี เต๋อ เรวัต พุทธินันท์ เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นคนเขียนบทและร่วมทำตลกคั่นรายการกับซูโม่ตู้ ของกลุ่มซูโม่สำอางค์ เขาแต่งเพลงให้นักร้องนักดนตรีดังไปแล้วมากมาย
ประภาส ชลศรานนท์เล่าถึงที่มาของการเข้าสู่วงการหนังสือว่า
" ผมเขียนหนังสือตอนเรียนอยู่ปี 2-3 เขียนส่งนิตยสารเปรียว เป็นเรื่องสั้นชื่อสุธี หลังจากนั้นก็มาทำงานเขียนบท เขียนเพลง ในวงการโทรทัศน์กับวงการเพลง ระหว่างนั้นก็ทำหนังสือ "ไปยานใหญ่" พลัดกันทำ 3 คนกับคุณปินดา โพสยะ กับคุณจุ้ย(ศุ บุญเลี้ยง) เขียนเรื่องสั้นบ้าง บทความบ้างลงในไปยานใหญ่ และเขียน "คุยกับประภาส" ลงในนั้นด้วย พอหยุดจากไปยานใหญ่ก็เขียนเพลงและเขียนบทภาพยนตร์บ้าง ละครบ้าง จนกระทั่งมติชนเชิญให้ไปเขียนจึงได้กลับไปเขียนอีก"
เขา มีผลงานมาแล้วหลายเล่ม ตั้งแต่ ขอชื่อสุธีสามสี่ชาติ, ห้องครูวิไลตึกใหม่ชั้นสอง, สุธีเสมอ และหนังสือรวมบทความชุดคุยกับประภาสในมติชนวันอาทิตย์ในชื่อ คุยกับประภาส, ตัวหนังสือคุยกัน , กบเหลาดินสอ , มะเฟืองรอฝาน, เชือกกล้วย มัดต้นกล้วย...
ตัวหนังสือของเขาชวนอ่าน ชวนคิด มีแง่มุมในการมองสิ่งต่างๆ อย่างน่าทึ่ง น่าประทับใจ เมื่อถามถึงโครงการหนังสือเล่มต่อไปเขากล่าวว่า
"ทุกวันนี้ เขียนหนังสือลงคอลัมน์ที่สำนักพิมพ์มติชนสัปดาห์ละหนึ่งเรื่อง นอกนั้นก็เป็นงานเขียน 'หาเรื่อง' ที่จะไปทำเป็นภาพยนตร์ หรือไอเดียที่จะแต่งเพลง ไม่ได้ตั้งใจเขียนเป็นเล่มไว้ก่อนก็เลยไม่มีโครงการว่าจะออกเล่มไหน"
ประภาสเล่าว่า เขาเขียนหนังสือตอนเช้า สัปดาห์หนึ่งเขียนประมาณ 2-3 วัน เขียนบทความ 1 วัน เขียนอย่างอื่น 2 วัน เขาบอกว่าไม่ถึงขนาดเป็น "นักเขียนอาชีพ"
" ถ้าเทียบกับนักเขียนท่านอื่นๆแล้ว อย่างเช่นทมยันตีเขียนหนังสือทุกเช้า เหมือนงานประจำ นับถือท่าน เช้าขึ้นมา 9 โมงได้เวลาทำงานเข้าห้องเขียนหนังสือ พักเที่ยงกินข้าว นี่สิเรียกนักเขียนอาชีพจริงๆ คือบางคนอยากเขียนจึงเขียน แต่บางคนต้องเขียน ถ้าไม่เขียนจะอึดอัด ผมรู้สึกอย่างนั้น นักเขียนมีหลายแบบ แต่นักเขียนอย่างผมหรือคุณจุ้ยต้องอยากเขียนจึงเขียน
" ผมคุยกับพี่วาณิช จรุงกิจอนันต์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว พี่วาณิชต้องเขียน 9 ชิ้นต่อสัปดาห์ มากกว่าวันละ 1 ชิ้น ณ วันนี้ไม่รู้กี่ชิ้น ไม่นับเรื่องเขียนบทละคร และนิยายของแกอีก หรือวินทร์ เลียววาริณผมว่าสัปดาห์หนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น ไม่รวมเรื่องยาว และเรื่องสั้นของแกอีกล่ะ อย่างนั้นคือเขียนอย่าง 'ต้อง' เขียนเลยล่ะ"
เมื่อถามถึงเรื่องนิยาย ประภาสตอบว่าไม่มีแผนจะเขียน เพราะเวลาคิดอะไรขึ้นมาได้ จะนำเอาไปทำภาพยนตร์บ้าง ละครบ้าง เพลงบ้าง ยังไม่ทันได้คิดว่าจะเอามาเขียนเป็นหนังสือ ไม่แน่ใจว่าตนเองจะถนัดหรือเปล่าด้วย
สำหรับงานชุดคุยกับ ประภาส 2 เล่มหลัง คือ หลังตู้เย็น และ ยอดมนุษย์ลำลอง ที่พิมพ์ที่เวิร์คพ้อยท์สำนักพิมพ์กลุ่มธุรกิจในเครือบริษัทเวิร์คพ้อยท์ ซึ่งเขาเป็นผู้บริหารเขากล่าวว่า
"สำนักพิมพ์เป็นส่วนที่ เวิร์คพ้อยท์ขยายขึ้นมา จุดหลักอยู่ที่การขยายมาจากรายการ 'เกมแก้จน' เอามาทำเป็นหนังสือ พอถึงจุดหนึ่งก็เห็นว่าไหนๆก็ทำหนังสือแล้วก็ทำพ็อกเก็ตบุคด้วยสิ เพราะมีเรื่องในเกมแก้จนอีกเยอะ ทางน้องที่ร่วมงานด้วยก็บอกว่าตั้งเป็นสำนักพิมพ์แล้วเอางานที่อื่นมามา พิมพ์ด้วยได้มั้ย ก็ยินดี จุดเริ่มไม่ได้มาจากผม เน้นหนักไปเรื่องอาชีพก่อน พอคุณ 'ปรายมาช่วยบริหาร จึงเพิ่มเซ็กชั่นที่เป็นทางของคุณ 'ปรายด้วย และอยากเอาหนังสือของผมมาพิมพ์ ก็ดีเหมือนกัน จะได้ฝากดูแลไปด้วยเลย"
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถามว่าจะไม่เห็นผลงานของประภาส ชลศรานนท์ที่อื่นแล้วใช่ไหม เขาตอบให้ดีใจว่า
"ไม่จำเป็นครับ ผมอาจจะพิมพ์กับมติชนก็ได้ ประพันธ์สาสน์ก็ได้"
เคยเห็นว่าประภาสเขียนการ์ตูนและบทกวีลงในคอลัมน์ด้วยจึงถามถึงเรื่องนี้
"ผมเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เรียนสถาปัตย์ก็ยังใช้วิชานี้ ก็เขียนการ์ตูนบ้าง เป็นการ์ตูนสั้น ถ้าทำเป็นเล่ม คงเขียนไม่ไหวขนาดนั้น มือไม่ถึง
"ส่วนบทกวีผมเขียนน้อย เขียนเป็นกลอนแปด กลอนสี่สุภาพผมก็เขียน เขียนโคลงบ้าง ไม่ได้เขียนบ่อย เขียนเป็นเทศกาล หรือมีจังหวะที่แรงๆก็จะเขียน"
สุดท้ายถามถึงเรื่องงานอดิเรก
" เหมือนคนทั่วไปครับ เล่นอินเตอร์เน็ตหาข้อมูล เล่นกีฬา ตีแบทกับลูก ที่บ้านต้นไม้เยอะ เลี้ยงหมาด้วย เลี้ยงหมาปลูกต้นไม่ไม่มีเหงาหรอกครับ" ..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น