วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

ผู้รักษาไม้บรรทัด

ผู้รักษาไม้บรรทัด คุยกับประภาส 17 มิ.ย.44
............................
คอลัมน์ คุยกับประภาส
โดย ประภาส ชลศรานนท์
............................

คุณประภาส

ผมได้มีโอกาสเข้าไปเดินซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง มีคนที่เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ตัวผมเดินไปเดินมาแล้วก็ซื้อได้ของมาอย่างหนึ่ง ก็กำลังเดินออกไปตรงช่องจ่ายเงิน สังเกตดูเห็นมีป้ายสีแดงเขียนไว้ว่า "ทางด่วนสำหรับสินค้าจำนวนไม่เกิน 8 ชิ้น" ซึ่งก็จะมีคนใช้บริการอยู่ไม่เท่าไหร่ ผมก็เลยตรงออกไปยังช่องนั้น ก่อนหน้าผมมีสุภาพสตรีอยู่ท่านหนึ่ง ดูท่าทางแล้วก็คงมีฐานะดีพอสมควร เธอวางสินค้าของเธอซึ่งมีอยู่น่าจะประมาณ 16 ชิ้นได้ แล้วเธอก็จ่ายเงิน ส่วนพนักงานขายก็ทำหน้าที่คือคิดเงินไป ดูเหมือนมันจะไม่มีอะไร ผมดูแล้วก็งงๆ อยู่พอสมควร เอ๊ะ..ช่องนี้ใช่ช่องทางด่วนสำหรับสินค้าจำนวนไม่เกิน 8 ชิ้นหรือเปล่า? ก่อนที่เธอจะจ่ายเงินเสร็จก็มีเพื่อนของเธอมาทัก เหมือนว่ามาซื้อของด้วยกัน คุณประภาสคิดว่ายังไงครับ คิดว่าผมคิดมากไปหรือเปล่าที่ไปหงุดหงิดกับเรื่องแบบนี้ ผมมาคิดๆ ดูก็คิดได้ใน 3 แนวทางดังต่อไปนี้ครับ

- พนักงานขายไม่รับผิดชอบ เนื่องจากกฎที่ทางห้างออกไว้เอง แต่ไม่นำมาปฏิบัติ

- สุภาพสตรีผู้นั้นไม่รับผิดชอบ เนื่องจากไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามกฎอะไรทั้งนั้น ขอเร็วเข้าว่าจะรีบๆ จ่าย จะได้รีบๆ ไป

- ผมเองไม่รับผิดชอบ ในเมื่อผมเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ต้องเรียกร้องสิทธิ

- ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น เนื่องจาก

1.กฎที่ทางห้างออก ไม่ได้เป็นกฎอะไรที่ออกเป็นทางการ จะยกเลิกซะเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และที่สำคัญกว่านั้นมีอีกกฎหนึ่งที่มาก่อน คือ ลูกค้าย่อมถูกต้องเสมอ ซึ่งถ้าสมมติฐานนี้ถูกต้อง จะออกกฎออกมาทำไม

2.สุภาพสตรีท่านนั้นอ่านภาษาไทยไม่ออก

3.เธอมากับเพื่อนเธอ รวมกันเป็นสองคน ก็น่าจะได้สินค้าจำนวน 16 ชิ้น แต่ถ้าคิดแบบนี้ช่องนี้จะไม่เป็นช่องทางด่วนนะครับ เช่น ถ้ามากันเป็นครอบครัวหลายๆ คนแล้วมาที่ช่องนี้กัน ช่องนี้ก็จะต้องมีสินค้าจำนวนมากมายชิ้นต่อการคิดเงินหนึ่งรายการ

จะรอฟังความคิดเห็นครับ..

ธีรชัย เดชานันทศิลป์

พี่ประภาสที่นับถือ

ทำไมถนนบ้านเรามันพังเร็วจังเลยครับ ผมสังเกตดูยิ่งถ้าเป็นสายที่วิ่งเข้ากรุงเทพฯยิ่งดูไม่ได้เลยครับ เป็นหลุมเป็นบ่อยิ่งกว่าดวงจันทร์ อยากรู้ว่าสร้างไม่ได้มาตรฐานหรือรถบรรทุกไม่สนใจคนสมบัติของชาติบรรทุก น้ำหนักเกินกันมาก มีคนอย่างนี้เยอะๆ แล้วสงสารเมืองไทยครับ

จอมชัย

พี่ประภาส

ไปอยู่อังกฤษมา 6 ปี อยู่กับพ่อเลี้ยงชาวอังกฤษครับ ได้อ่านพี่ตอบจดหมายตลอด เพิ่งกลับมาเมืองไทย ตอนอยู่ที่นั่นนานๆ คิดถึงเมืองไทยมาก อยากกลับบ้านมาก แต่พอกลับมาได้สองสามเดือนชักไม่อยากอยู่เสียแล้ว คนบ้านเราไม่ค่อยมีระเบียบเลยครับ เขาถึงว่าเมืองไทยนั้นอะไรก็ดีหมดยกเว้นคนไทย เรื่องแซงคิวนี่ทำไมเมืองไทยมีเยอะจริงๆ ทั้งรถทั้งคน นี่กำลังคิดจะเปิดผับกับเพื่อน ผมเจอรายจ่ายที่นึกไม่ถึงอีกแล้วว่าร้านเหล้านี่ต้องมีจ่ายใต้โต๊ะรายเดือน อีก ผมฟังแล้วเซ็งครับสงสัยจะคิดผิดที่กลับเมืองไทย พี่ช่วยเขียนบอกให้ผมอยู่ต่อหน่อยได้มั้ยครับ

โป้ง

เมื่อตอนที่มนุษย์ยังเป็นสัตว์อยู่นั้น ผู้ที่แข็งแรงที่สุดจะได้เป็นคนแรกของคิว

เคยเห็นหมาตามวัดที่อยู่เป็นฝูงๆ ไหมครับ เวลามีใครมาโยนของกินให้ ตัวที่แข็งแรงที่สุดก็จะพุ่งเข้ามาก่อน และถ้าหากมีตัวอื่นเข้ามาแย่งด้วย การขู่ด้วยเสียงก็จะเริ่มขึ้นเพื่อประกาศศักดาของผู้มีพละกำลังมากกว่า ตัวที่อ่อนแอที่สุดจะได้กินเป็นตัวสุดท้าย

ผมยังไม่เคยเห็นหมาหรือแมวที่ไหนเดินเข้าแถวมากินอาหารเลย

มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ก็คงเป็นอย่างนั้น มีการแย่งอาหารกัน คนชนะก็จะได้ไปก่อน(เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับที่เราเห็นมดเดินเข้าแถวตามกลิ่น ที่ถูกตัวหน้าปล่อยทิ้งไว้ และไม่เกี่ยวกับการเข้าแถวของนกเพนกวินเพื่อกระโดดลงทะเล)

เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น การรวมกันอยู่เป็นสังคมมีมากขึ้น คุณธรรมทำให้มนุษย์วางกฎใหม่ขึ้นมาว่า มนุษย์ทุกคนควรเท่าเทียมกัน การมีพละกำลังมากกว่าไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้สิ่งที่คุณต้องการก่อนใคร

การเรียงลำดับจากการมาก่อนหลังจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

วัฒนธรรมการเข้าแถวก็ถือเป็นไม้บรรทัดอย่างหนึ่ง จำเรื่องไม้บรรทัดที่ผมเขียนเมื่อปีสองปีก่อนได้นะครับ

ผมพูดไว้ว่าคนเราเมื่ออยู่รวมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เราจำเป็นต้องมีไม้บรรทัดที่มีมาตราเดียวกันมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินปัญหา

ไม้บรรทัดในสังคมมนุษย์นั้นมีมาตราและองศาอ่อนแก่ต่างกันไปตามสถานการณ์ ที่ไม่เข้มมากนักก็เป็นพวกเรื่องมารยาท ที่เข้มขึ้นมาหน่อยก็เป็นพวกกติกา เข้มขึ้นไปอีกก็เป็นพวกกฎบริษัท พวกระเบียบของโรงเรียน ที่เข้มกว่านั้นก็กฎหมาย, พ.ร.บ, กฎอัยการศึก และเข้มที่สุดที่รัฐธรรมนูญ

มีผู้คนเกี่ยวข้องกับไม้บรรทัดแต่ละอันอยู่สามคนครับ คนแรกคือคนออกแบบและสร้างไม้บรรทัดขึ้นมา 2.คนที่สองคือคนทั่วไปทุกๆ คนที่ต้องใช้ไม้บรรทัดอันนี้ อีกคนเป็นใครรู้ไหมครับ

ผู้รักษาไม้บรรทัดครับ

ผมนำจดหมายทั้งสามฉบับมาลงไว้พร้อมกัน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือได้มีการทำให้ไม้บรรทัดที่เคยตรงเกิดไม่ตรงเสียแล้ว

เรื่องของคุณธีรชัยนั้น คุณธีรชัยวิเคราะห์ออกมาเป็นข้อๆ อย่างเห็นภาพ ถ้าให้ผมออกความเห็นบ้างผมคงจะสรุปได้ว่า

1.สุภาพสตรีท่านนั้นจะผิดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าเธออ่านข้อความนั้นทันหรือเปล่า หรือเธอได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่คิดเงินแล้วว่าขอจ่ายเงินช่องนี้ และเจ้าหน้าที่อาจอนุญาตไปแล้ว กรณีนี้ถือเสียว่ายกประโยชน์ให้จำเลย

2.เจ้าหน้าที่คนนั้นผิดแน่นอน เพราะนั่งทำงานอยู่ในช่องนั้นโดยเฉพาะ

และเจ้าหน้าที่คนนั้นก็คือผู้รักษาไม้บรรทัดที่ผมว่านั่นเองครับ

เคยใช้กันนะครับตอนเด็กๆ ไม้บรรทัดพลาสติกที่เต็มไปด้วยขอบอันขรุขระที่เกิดจากการที่เราเอามาฟันกันเล่นแทนดาบ

ถ้าคนรักษาไม้บรรทัดไม่รักษาเสียแล้ว ไม้บรรทัดผิวขรุขระอย่างนั้นจะไปขีดเส้นตรงได้อย่างไร

เมื่อเดือนก่อนได้ไปดูละคอนถาปัดที่รุ่นน้องคณะสถาปัตย์จัดแสดงที่หอ ประชุมจุฬาฯ ระหว่างแสดงมีการพักครึ่งให้คนดูออกมายืดเส้นยืดสายกินน้ำกินท่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ยร้านขายน้ำที่อยู่ข้างหอประชุมมีคนรุมแย่งซื้อรอบๆ ร้านจนแทบจะหาทางเข้าไปยืนดูป้ายว่าร้านขายอะไรบ้างยังแทบไม่ได้เลย มุงรุมซ้อนกันเป็นวงสองสามวงได้

ไม่น่าเชื่อนะครับว่าแม้แต่ในสถานที่อย่างนี้ยังไม่มีการเข้าคิวเลย

ต้องโทษคนขายครับ คนขายต้องรักษาไม้บรรทัดของการเข้าคิวสิครับ ให้เขาเข้าแถวตามลำดับใครมาก่อนหลัง คนที่เขาเข้ามาที่หลังเขาเห็นเส้นตรงที่ไม้บรรทัดขีดไว้เขาก็เดินตามเส้นเอง ใครที่ไม่สนใจแถวก็อย่าไปขายให้เขา ฝากไว้ด้วยครับกับกิจกรรมที่นักศึกษาทุกๆ แห่งจะจัดขึ้นปลูกฝังเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไว้ให้เป็นนิสัยของคนไทย

พูดถึงการเข้าแถวทำให้ผมนึกถึงแถวของผู้คนที่รอเข้าห้องน้ำที่ญี่ปุ่น บ้านเรานั้นเวลารอห้องน้ำซึ่งถ้าเป็นห้องน้ำชาย คนที่รอมักเข้าไปยืนรอจ่อหลังคนที่กำลังยืนฉี่อยู่ตามช่องต่างๆ และถ้าเป็นห้องน้ำหญิงก็มักไปยืนรอหน้าห้องน้ำเลย แต่ที่ญี่ปุ่นเขาไม่เหมือนบ้านเราครับ

เขาเข้าแถวรอข้างนอกครับ ห้องไหนว่างหรือช่องไหนว่างคิวแรกก็จะเดินไปเข้าเอง เหมือนเวลาซื้อตั๋วดูหนังที่มีช่องขายหลายช่อง นึกออกไหมครับ

ผมว่าอันนี้น่าสนใจเอามาใช้ เพื่อนผมหลายคนก็เห็นด้วยและบอกว่าเวลามีใครมายืนรออยู่ข้างหลังนี่มันพาลจะ ฉี่ไม่ออกเอา ผมว่าวัฒนธรรมแบบนี้มันเหมือนการจองอย่างไรไม่รู้นะครับ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องไม้บรรทัดของคุณจอมชัยซึ่งต้องเรียกว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องการเข้าคิว มันเป็นไม้บรรทัดที่ชื่อว่ากฎหมาย

บ้านเรามีกฎหมายนะครับว่ารถที่วิ่งอยู่บนถนนต้องมีน้ำหนักไม่เกินเท่าไร แต่เราก็ยังคงเห็นเขาวิ่งเกินใช่ไหมครับ ถนนบ้านเราถึงอยู่ได้ไม่ถึงห้าปีก็พังเสียหมด ถามว่าแล้วทำไมเราถึงปล่อยให้รถหนักกว่าข้อกำหนดวิ่งบนถนนได้ ก็ต้องตอบตรงๆ ว่าผู้รักษาไม้บรรทัดของเรารับเงินเขามาแล้วก็ยอมให้เขาทำผิดกฎ

พุทโธ่..เหล็กที่ว่าแข็งแสนแข็งยังง้างด้วยเงินได้ นับประสาอะไรกับไม้บรรทัดพลาสติกอันเดียว

ต้องช่วยกันแก้ครับ แก้วันนี้ไม่ได้ก็อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ใครมีหน้าที่แก้เรื่องปัจจุบันทันด่วนก็แก้ไป ใครปลูกฝังลูกหลานได้ก็ช่วยกันปลูกฝัง เอาตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่นเวลาจะเข้าลิฟต์หรือขึ้นรถไฟ สอนลูกสอนหลานให้รอคนเขาออกจากประตูมาก่อน อย่าไปยืนออยืนจองกันอย่างนั้น ผมเห็นบ่อยเหลือเกินในบ้านเรา ยิ่งเวลาลูกหลานทำผิดๆ ก็อย่าไปเอ็นดูว่าเขายังเป็นเด็กอยู่

สอนเขาไปเลยครับตั้งแต่เรื่องไม้บรรทัดอันเล็กๆ ง่ายๆ วันหนึ่งข้างหน้าหากเขาได้เป็นผู้รักษาไม้บรรทัด ไม้บรรทัดมันจะได้ไม่ขรุขระบิดงอมากนัก

ส่วนจดหมายของคุณโป้งที่เหนื่อยหน่ายกับความไม่มีระเบียบในบ้านเรา แล้วขอให้ผมเขียนดึงคุณให้อยู่เมืองไทยต่อ หลังจากอ่านจดหมายจบผมก็นึกอยู่ตั้งนานว่าจะเขียนอะไรดี แต่พอกลับมาอ่านจดหมายของคุณอีกรอบผมก็พบว่าผมไม่จำเป็นต้องเขียนเลย คุณรู้ตัวไหมครับว่าอันที่จริงคุณยังรักเมืองไทยอยู่มาก ไม่อย่างนั้นคุณคงไม่บ่นมา

เมื่อคืนไปรื้อหนังสือเก่า เปิดไปเห็นสุภาษิตจีนบทหนึ่งถูกใจเหลือเกิน เป็นประโยคสั้นๆ เองครับ

"จุดตะเกียงดีกว่าสาปแช่งความมืด"

ไม่มีความคิดเห็น: