เข้าวัด
คอลัมน์ คุยกับประภาส
โดย ประภาส ชลศรานนท์ มติชนวันอาทิตย์ 19 ก.พ. 49
คำนับยังพี่ประภาส
ท่าน พ่อตาได้ "บอกบุญ" ชวนไปทำบุญ (แกมบังคับ) กับวัดที่ท่านไปทำบุญเป็นประจำ และบังคับด้วยว่าเราต้องใส่ชุดขาวไปด้วย ชุดขาวเราไม่มีก็บอกท่านไป ชุดอื่นได้ไหม ชุดปกติไม่ได้หรือ ท่านก็ยืนกราน แถมว่ากลับมาอีก "จะไปทำบุญ แค่ชุดขาวสักชุดนี่ลงทุนซื้อไม่ได้เลยหรือ จะแต่งชุดอื่น ไปแล้วไปเอ๋อก็ตามใจ บอกบุญมาแล้ว" เราจะไม่ไปท่านก็มองว่าเราเป็นคนไม่ดีอีก บอกบุญมาแล้วไม่ยอมรับ นี่ยังไม่ได้ไปทำบุญเลย จิตใจคิดต่อต้านกลายเป็นบาปไปแล้ว ไม่เข้าใจเลย สมัยนี้มันเปลี่ยนไปแล้วหรือ จะไปทำบุญต้องแต่งเครื่องแบบ ต้องเป็นชุดขาว ชุดสุภาพธรรมดาไม่ได้หรือ หรือว่าวัตถุนิยมมันทำให้คนเราเปลี่ยนมุมมองไปหมด หรือว่าผมจะเป็นคนขวางโลกเกินไป มุมมองพี่ประภาสเป็นอย่างไรเล่าให้ฟังหน่อย
บุญน้อย
คุณประภาส
ประโยค ที่ว่า "คนสมัยนี้ห่างเหินธรรมะ เพราะไม่ค่อยเข้าวัดเข้าวากัน" คุณประภาสว่าจริงมั้ย แล้วไอเดียเอาวัดเข้าไปไว้ในห้างเพื่อให้คนใกล้ธรรมะนั้นคุณประภาสฟังแล้ว รู้สึกอย่างไร
จำปาจำปี
วันนี้คุยกันเรื่องการเข้าวัดของคนไทยกันนะครับ
อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าคุณบุญน้อยน่าจะยินดี ที่ครอบครัวคุณบุญน้อยมีวัดประจำไว้เพื่อไปทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรม
ทำไมผมจึงว่าน่ายินดีรู้ไหมครับ
ผม ไม่รู้ว่าคุณบุญน้อยเป็นคนกรุงเทพฯหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯเกือบทุกคนน่าจะรู้สึกอย่างผม นั่นคือเมื่อเราต้องการความสงบ ความร่มรื่นในชีวิต ส่วนใหญ่แล้วเราไม่เคยคิดจะไปวัดเลย
ปีสองปีมานี้ผมต้องไปร่วมพิธีศพ ของบิดามารดาของเพื่อนๆ ร่วมรุ่นอยู่เนืองๆ และสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกทุกครั้งระหว่างเดินหาศาลาก็คือ เนื้อที่ส่วนใหญ่ในวัดได้ถูกจัดให้เป็นเรื่องของธุรกิจงานศพไปเกือบหมด บางวัดนี่มีศาลาเลยครึ่งร้อย ถึงตอนสวดพระอภิธรรมที ต้องไปขอตัวหลวงพี่จากวัดอื่นๆ มาช่วยกันเพราะพระในวัดคิวแน่นทุกรูป ใครที่เคยไปวัดพระศรีฯ บางเขน ก็คงเคยได้ยินเสียงพระสวดสวนกันไปมาระหว่างศาลา
นึกแบบสถาปนิกที่ คิดว่าสถาปัตยกรรมสามารถกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ได้ ก็เคยนึกว่าหากวัดทุกวัดเต็มไปด้วยศาลาอย่างนี้ แล้วความสงบในวัดมันจะมีหรือ
ดังนั้นในจดหมายฉบับที่สอง โจทย์ที่คุณจำปาจำปีตั้งมานั้นดูเหมือนจะตั้งผิดเสียแล้วที่ว่า "คนสมัยนี้ห่างเหินธรรมะ เพราะไม่ค่อยเข้าวัดเข้าวากัน"
ผมลองยก ตัวอย่างจากตัวผมเองก็ได้ เวลาที่ผมอยากเรียนรู้ธรรม ผมจะทำอย่างไร อย่างแรกที่ผมเลือกทำก็คืออ่านหนังสือ บ้านเรามีหนังสือดีๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาเยอะมาก อย่างที่สองถ้ามีโอกาสตั้งปุจฉา ผมก็มักจะไปตั้งเอากับพระสงฆ์ตามสำนักสงฆ์หรือวัดป่า
แล้ววัดแถวๆ บ้านหรือวัดตามถนนหนทางของเมืองไทยที่ได้ชื่อว่ามีวัดอยู่มากมายเล่า? เป็นที่ที่จะเรียนรู้ธรรมได้ไหม
ตอบได้เลยว่า ยาก หรือถึงได้แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
" ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก" ผมใช้คำไม่ผิดหรอกครับ ครั้งหนึ่งผมเคยลองเข้าไปที่วัดแห่งหนึ่งแถวที่ทำงาน กว่าจะเดินฝ่าศาลาที่ตั้งศพเพื่อจะไปที่โบสถ์ได้ ต้องฝ่าด่านสายตาทั้งเด็กวัดและผู้ใหญ่วัดไม่รู้กี่คู่ นี่ถ้าผมเป็นผู้หญิงผมก็คงเดินกลับออกมาทันทีที่เจอแล้ว ใจนั้นคิดว่าอยากขึ้นโบสถ์จะไปกราบพระ แล้วจะนั่งสมาธิสงบสติอารมณ์เสียหน่อย ก็ดันเจอแม่ค้ามาชวนปล่อยนกอยู่แถวระเบียงคต แล้วคุณป้าแกก็ตื๊อชนิดบอกว่าไม่ก็จะเดินตามท่าเดียว รอดจากแม่ค้านกก็ไปก็ต้องมาเจอคนขายลอตเตอรี่อีก พี่แกเล่นนั่งอยู่หน้าโบสถ์ดักคนเลยครับ บรรยากาศของความสงบไม่มีเอาเสียจริงๆ ครั้นพอเดินเลี่ยงไปแถวกุฏิก็มีพระหนุ่มรูปหนึ่งมาถามว่าจะมาถวายสังฆทาน หรือเปล่า
หรือว่าวัดส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ไม่ใช่ที่อยู่ของธรรมะของคนทั่วไปเสียแล้ว
คำ ถามนี้ไม่ได้เหมารวมไปหมดเสียทุกวัดนะครับ วัดอย่างวัดสวนแก้ว วัดชลประทานฯ วัดสวนโมกข์ ก็ยังเป็นวัดที่เปิดประตูต้อนรับอุบาสกอุบาสิกาที่อยากมาศึกษาธรรมอยู่
เปิด ประตูต้อนรับนี่ ไม่ใช่หมายถึงเปิดประตูวัดนะครับ ผมหมายถึงการเชื้อเชิญให้ไป ได้ไปแล้วอยากไปอีก วัดเซนที่ญี่ปุ่นหลายวัดก็เป็นอย่างนี้ เงียบ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ บางทีแค่เดินจงกรมรอบวัดสักสองสามรอบก็อาจจะได้สติกลับไปเยอะเลย
พระ ท่านก็ยังว่าการทำชั่วนั้นเหมือนของหวาน การทำดีนั้นเหมือนของขม คือไม่ค่อยมีใครอยากกินของขม ธรรมะก็เหมือนกันคือเป็นของขม ผู้คนย่อมจะหลีกเลี่ยงกัน ผมจึงว่าของที่คนเขาเลี่ยงอยู่แล้วเรายิ่งไม่เปิดประตูเชื้อเชิญ คนก็จะยิ่งห่างออกไปเรื่อยๆ นะครับ
หรืออาจเป็นเหตุผลนี้ ทำให้มีคนเสนอความคิดเรื่องเอาวัดเข้าไปไว้ในห้าง
ไม่ รู้สิครับถ้ามีใครสามารถทำให้วัดที่เข้าไปอยู่ในห้างสงบร่มรื่น เหมาะแก่การเจริญสติได้ ผมว่าผมก็เชียร์นะ แต่ผมเกรงว่าห้างเขาจะให้พื้นที่แค่บู๊ธเล็กๆ มีโต๊ะหมู่บูชาสักชุด แล้วก็มีคนยืนแจกใบปลิวเหมือนบู๊ธของพวกหมู่บ้านจัดสรรเสียมากกว่า
ผมจึงว่าเป็นเรื่องน่ายินดีจริงๆ ที่ครอบครัวคุณบุญน้อยมีวัดที่ไปทำบุญเป็นประจำ
วัด ในสังคมคนไทยสมัยโบราณก็เป็นอย่างนี้ เรามีวัดประจำหมู่บ้าน เรารู้จักหลวงพ่อ หลวงพ่อก็รู้จักเรา ความทุกข์อันใดที่เราไขไม่ออกเราก็ไปปรึกษาท่าน การได้สนทนากับพระสงฆ์หรือแม้แค่การได้เห็นกิจวัตรของพระสงฆ์อยู่เนืองๆ ก็คือการเรียนธรรมอย่างหนึ่ง สมัยผมยังเด็กๆ อยู่บ้านนอกนี่ ผมก็ยังได้ทันเห็นความเป็นศูนย์กลางชุมชมของวัดอยู่เลย
โรงเรียนของ ทุกคนอยู่ที่นั่น มโหรสพก็อยู่แถวๆ นั้น วาเลนไทน์ปีใหม่เคานต์ดาวน์ฮาโลวีนไม่เคยมีหรอกครับ ผู้คนจะมารวมตัวกันก็ตอนออกพรรษาตักบาตรเทโวเวียนเทียนวิสาขะ หนุ่มสาวมาเจอกันก็ตอนก่อกองทราย ไหนจะงานบวชไหนจะงานศพอีกล่ะ ทุกอย่างมาที่วัดหมด
แล้วทุกคนรู้จักกันหมด หลวงพ่อเองก็รู้จักหมดว่าลูกใครหลานใคร ธรรมะอย่างง่ายๆ ก็แทรกซึมเข้าจิตใจโดยไม่รู้ตัว ประโยคง่ายๆ อย่าง "อย่าไปทำเลยมันบาป" ก็ทำให้สังคมสงบสุขได้
สังคมคนกรุงเทพฯ ไม่ได้แบ่งชุมชนเป็นหมู่บ้านที่พักอาศัย นึกออกไหมครับ ต่อให้อยู่หมู่บ้านเดียวกันก็ไม่ใช่คนสังคมเดียวกัน บางทีก็ไม่เคยคุยกันด้วยซ้ำ สังคมของคนกรุงเทพฯมันไปอยู่ที่ทำงานหมด บ้างก็อยู่ที่คลับเฮาส์ หรือไม่ก็ไปอยู่ในเว็บไซต์นู่น ทีนี้วัดใกล้ๆ หมู่บ้านจึงไม่เหมือนวัดประจำสังคมของเรา คนกรุงมากกว่าเก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้าเปอร์เซ็นต์ไปวัดเพื่อทำบุญบริจาค ถวายสังฆทาน และร่วมพิธีศพเท่านั้น
ถ้าสิ่งที่ผมพูดเป็นจริง แล้วปัญหาคืออะไร
วัดขาดการบริหารที่ดีครับ ถามต่อแล้วทำไมต้องบริหาร ตอบง่ายๆ ที่ใดก็ตามเมื่อมีผู้คนมากขึ้น ย่อมต้องการการบริหาร
ถามต่ออีก แล้ววัดป่าวัดบ้านนอกเขาบริหารดีไหม
วัด บ้านนอกที่ขนาดเล็กๆ ชาวบ้านจำนวนน้อยๆ อย่างนี้คงบริหารไม่ยาก แต่วัดป่าบางวัดที่มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งประเทศนี่ คนบริหารวัดบางคนจบปริญญาโทนะครับ
คิดมาถึงตรงนี้แล้ว ผมก็เลยคิดต่อว่า ไหนๆ มหาวิทยาลัยบ้านเราก็มีภาควิชาบริหารอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด ถ้าเราจะมีภาควิชาบริหารวัดอีกสักภาควิชาก็น่าจะเป็นเรื่องดี (บริหารวัดนะครับ ไม่ใช่บริหารพระธรรม)
ฟังดูเหมือนเรื่องตลกนะครับ แต่ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ เมืองไทยเรามีวัดไม่รู้กี่พันกี่หมื่นวัด ศาสนาพุทธของเราทุกวันนี้ก็โดนปลวกโดนมอดมาอาศัยกัดกินอยู่ไม่น้อย ข่าวหนังสือพิมพ์ก็ลงบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องคนเอาวัดไปหาประโยชน์ส่วนตัว อีกทั้งเรื่องเจ้าอาวาสที่เป็นผู้บริหารวัดต้องมาจับเงินจับทองก็เสียผู้ เสียพระมาหลายรูปแล้ว จริงอยู่เรามีมัคทายกช่วยดูแลวัดก็จริง แต่นี่ผมเสนอแบบให้มีการเรียนการสอนอย่างจริงจัง เพื่อเราจะได้มีมืออาชีพที่จะพัฒนาวัดให้เป็นวัดอย่างที่ควรเป็น นั่นคือเป็นที่พึ่งทางใจได้
ทีนี้วัดก็จะไม่ใช่เรื่องของคนแก่อย่างเดียวแล้ว
กลับมาที่จดหมายของคุณบุญน้อยที่ถามความเห็นผมเรื่องแต่งชุดขาวไปวัดกับพ่อตาเสียหน่อย
ลอง ถามตัวเองกลับดูทีว่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากหรือเปล่านี่ ลองหาชุดขาวสักชุดแล้วใส่ไปทำบุญฟังธรรมดู ผมว่านะ ต่อให้ได้ข้อธรรมแค่ข้อเดียวมาสะกิดใจ ผมก็ว่าคุ้มไม่รู้จะคุ้มอย่างไรแล้วกับชุดขาวชุดเดียว
ลองคิดเล่นๆ สิครับว่า ถ้าทั้งสังคมตั้งคำถามทำนองเดียวกับคุณบุญน้อย จะเกิดอะไรขึ้นในสังคม
ทำไม ต้องกราบพระ เราไหว้พระด้วยใจไม่ได้หรือ ทำไมพระต้องห่มเหลือง ถ้าหาเหลืองผ้ายากนักผ้าสีอะไรก็ห่มได้มั้ง ธรรมะอยู่ที่ใจนี่นา อย่าไปยึดวัตถุให้มากนักเลย รับพระราชปริญญาทำไมต้องใส่ครุย ต้องเสียค่าเช่าอีก ชุดนิสิตสุภาพๆ ก็พอมั้ง
ผมว่านะ ถ้าคุณบุญน้อยอยากไปทำบุญจริงๆ แล้วเกิดหาชุดขาวไม่ได้เลย แล้วก็พยายามใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆไป ก็คงไม่มีใครตำหนิดอก อย่าไปพูดเรื่องวัตถุนิยมให้มากความเลยครับ พูดไปเดี๋ยวมันจะย้อนเข้าตัวได้ ไม่เชื่อคุณบุญน้อยลองกลับไปอ่านจดหมายของตัวเองอีกทีสิครับ บางทีคุณบุญน้อยอาจจะพบว่าตัวเองก็เป็นพวกวัตถุนิยมคนหนึ่ง
เมื่อมี ใครออกแรงมาแล้วเราต้านไว้ นั่นคือเราก็ออกแรงเท่ากับเขา และเช่นเดียวกันเมื่อเราต่อต้านวัตถุนิยมเราก็ย่อมเป็นพวกวัตถุนิยมอย่าง หนึ่ง
หรือจริงๆ แล้วคุณบุญน้อยอาจจะไม่ได้คิดต่อต้านอะไรมากเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพียงแต่พ่อตาคุณบุญน้อยใช้คำพูดแรงไปหน่อย บางทีก็มันแค่นั้นจริงๆ
เอ..แล้ววันนี้ผมพูดแรงไปหน่อยหรือเปล่านี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น