คอลัมน์ คุยกับประภาส
โดย ประภาส ชลศรานนท์ มติชนรายวัน 26 ก.พ.46
สัปดาห์นี้ขออนุญาตจัดลิ้นชักจดหมายที่ส่งมาคุยกันในคอลัมน์นี้หน่อยนะครับ มันชักจะล้นแล้ว
พี่ประภาสครับ
ผมเคยได้ fwd mail เกี่ยวกับเรื่องการกลืนชาติน่ะครับ อ่านแล้วสะดุดตรงที่เขาบอกว่า ให้ต่อต้านการซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตของต่างชาติอย่างบิ๊กซี โลตัส หรือว่าคาร์ฟูร์ และให้ซื้อของป้าในซอยแทน ถึงจะแพงกว่าสามสี่บาทก็ช่างเถอะ เพราะเงินตราจะได้ไม่รั่วไหลไปข้างนอก ผมอ่านแล้วก็ตงิดๆ ไม่รู้ว่าจะชาตินิยม หรือว่าทุน (ตัวเอง) นิยมดี ไม่ทราบว่าพี่คิดยังไงบ้างครับเกี่ยวกับเรื่องนี้
เค่ม
ผมมีคนรู้จักคนหนึ่งที่ไม่ยอมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเลย ทั้งๆ ที่ก็เป็นคนมีฐานะพอควร
เหตุผลของเขาก็คือเขาไม่อยากให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ
อันที่จริงคนที่ไม่นิยมเดินทางไปต่างประเทศนั้น ผมก็เจอมาหลายคนแล้ว แต่รายนี้หนักที่สุดตรงที่แม้แต่ครั้งเดียวเขาก็ไม่ยอมไป จะว่าเป็นคนขี้เหนียวก็ไม่ใช่แน่ๆ เพราะเวลาเที่ยวในประเทศเขาก็พักโรงแรมสี่ดาวห้าดาว
เรื่องนี้น่าคิดครับ ครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวภูเก็ตโดยพักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ระหว่างที่นั่งรอลูกๆ เล่นทรายอยู่ที่ชายทะเล ก็มีผู้จัดการของโรงแรมมานั่งคุยด้วย
คุยจิปาถะไปเรื่อยๆ แล้วผมก็หันมาเห็นฝรั่งกลุ่มใหญ่ลงจากรถบัสกำลังจะมาลงทะเบียนเข้าพัก ผมจึงเอ่ยปากไปว่า ดีนะโรงแรมที่ตกแต่งสวยๆ แบบไทยอย่างนี้ฝรั่งคงชอบมาพัก เงินตราจะได้เข้าประเทศเยอะๆ ผู้จัดการโรงแรมฟังผมพูดอย่างนั้นก็เลยกระซิบบอกผมว่าโรงแรมแห่งนี้ รวมไปถึงโรงแรมที่ชื่อเดียวกันนี้ทั้งประเทศ สิงคโปร์เขาถือหุ้นใหญ่ครับ เงินไหลออกนอกประเทศหมด ฟังแล้วก็อึ้งเหมือนกันนะครับ
นักเศรษฐศาสตร์รุ่นน้องคนหนึ่งบอกผมว่า การที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา อย่างไรเสียก็ดีกว่าให้ไปลงทุนที่เวียดนาม ลาว หรือมาเลเซีย เพราะเมื่อมีธุรกิจก็ย่อมหมายถึงย่อมมีเงินเข้าประเทศ ไหนจะเรื่องจ้างงาน ไหนจะเรื่องภาษี ยิ่งเป็นธุรกิจท่องเที่ยวด้วยแล้วยิ่งชวนให้ผู้คนเข้ามาใช้จ่ายเงิน
แล้วเขาก็ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าดิสนีย์แลนด์มาตั้งในไทย ถึงแม้ว่าบริษัทของอเมริกาจะเป็นเจ้าของ แต่ประโยชน์ที่จะตามมาจะมีอีกเยอะมาก ผมฟังแล้วผมก็นึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องชาตินิยมแบบนี้มันลึกซึ้งเกินกว่าที่จะมองว่าเงินไหลเงินไม่ไหลแล้ว
แต่เรื่องซื้อของในห้างกับซื้อร้านป้าปากซอย ผมว่าต้องคิดอีกอย่าง
ของอย่างเดียวกันแต่ป้าขายแพงกว่าสามสี่บาท ผมว่ามันต้องมีตรงไหนสักแห่งผิดแล้ว
ถ้าป้าขายแพงกว่าเพราะไปซื้อจากห้างมาขายอีกที อย่างนี้เรื่องเงินไหลก็ไม่ได้แก้อะไรตรงไหนเลย
สำหรับผมแล้วผมเลือกสายกลางครับ เมื่อผมอยากเห็นโลกที่ผมไม่เคยเห็น ผมจะเดินทางไปเห็นแม้จะต้องเสียเงินให้ชาติอื่นบ้าง แต่ในขณะเดียวกันผมก็รักที่จะเห็นและชื่นชมประเทศของผมด้วย ผมซื้อของในห้างเมื่อเห็นว่ามันมีคุณภาพและสมราคา แต่ผมก็รักที่จะอุดหนุนป้าปากซอยของผมด้วย โดยเฉพาะถ้าป้าขายของที่ไม่ได้ไปซื้อจากห้างมาขายต่ออีกที
ไก่ย่างส้มตำ ข้าวเหนียวสังขยา พวงมาลัยดอกมะลิ แกงขี้เหล็ก แกงส้ม ฯลฯ ของพวกนี้คนไทยขาดกันได้ที่ไหน ฝรั่งมันก็ทำขายไม่เป็นหรอก
อันที่จริงถ้าไม่ต้องพูดเรื่องชาตินิยม ของในห้างหลายอย่างก็ไม่น่าบริโภค ขนมหวานใส่ขวดใส่ซองมันจะไปดีต่อสุขภาพสู้ของสดๆ ของป้าปากซอยได้อย่างไร แม้แต่ของใช้อย่างแชมพูสบู่ก็เถอะ ไอ้ที่ผลิตโดยบริษัทไทยผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแพ้ของนอกตรงไหน สมัยที่ผมไว้ผมยาวผม็ใช้มะกรูดบ้าง สระน้ำเปล่าๆ บ้าง แชมพูชั่งกิโลแถววัดตึกผมก็เคยซื้อมาใช้ ก็ไม่เห็นว่าผมเผ้ามันจะร่วงตรงไหน
ถ้าสบู่ของนอกมันดีจริง ผิวฝรั่งก็คงสวยกว่าผิวคนไทยไปหมดแล้ว
อย่าไปต่อต้านเขาเลยครับ ใช้จ่ายตามที่เราเห็นว่าควร อย่าไปใช้เพราะเห็นว่ามันเป็นรสนิยม ทำความรู้จักกับคำว่า "พอเพียง" ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เราเถิด คำๆ นี้จะพาชาติเราไปอีกไกล
ที่บอกว่าไม่คิดต่อต้านนี่ไม่ได้หมายความว่ายอมเป็นทาสนะครับ ที่สำคัญกว่านั้น เราต้องคิด"แข่ง"กับเขาด้วย
สร้างคนของเราขึ้นมาให้มีคุณภาพขึ้นมา ค้นหาศักยภาพของประเทศของเราให้เจอ แล้วก็เอาของไปขายเขาบ้าง เอาวัฒนธรรมเราไปอวดเขาบ้าง แล้วก็เก็บเงินเขากลับมาบ้าง
กบาลไทยไม่เล็กกว่าใครหรอกครับ เชื่อผมเถิด
สวัสดีครับพี่ประภาส
ถ้าถามถึงเอกลักษณ์ไทย พี่นึกถึงอะไรเหรอครับ แล้วมันแสดงออกถึงอะไรบ้าง แล้วพี่คิดว่าเราจะสามารถสร้างความเป็นไทยจากสิ่งที่ไม่เป็นไทยได้หรือเปล่า ครับ อย่างพวกการ์ตูน หรือแอนิเมชั่นต่างๆ
จิม
ใครว่าการ์ตูนไม่ใช่ของไทย ไปดูจิตรกรรมฝาผนังสิครับ
คนไทยเราวาดการ์ตูนมาก่อนอเมริกาตั้งประเทศอีก สมัยอยุธยาก็มีแล้ว หรือบางทีก็อาจจะก่อนนั้นด้วยซ้ำ
แอนิเมชั่นเราก็ทำ หนังตะลุงหนังใหญ่นั่นอย่างไร
แต่ถ้าคุณจิมหมายถึงการ์ตูนเป็นเล่มๆ ของญี่ปุ่น หรือหนังแอนิเมชั่นเป็นเรื่องๆของอเมริกา ผมก็จะบอกให้ว่าญี่ปุ่นเองก็เพิ่งวาดการ์ตูนกันจริงๆ จังๆ ไม่ถึงห้าสิบปี ส่วนคุณลุงดิสนีย์ผู้ทำแอนิเมชั่นมิกกี้เมาส์ซึ่งถือเป็นเรื่องแรกๆ นี่ก็แก่กว่าพ่อผมไม่กี่ปีเอง
อยากสร้างอะไรสร้างเลยครับ อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย
สวัสดีครับ
จากรายการทีวีแนววัฒนธรรมอย่างรายการ "คุณพระช่วย" ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม เช่นการเสริมสิ่งใหม่ลงในสิ่งเก่าเพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้น พี่คิดว่ามันมีขีดของความพอดีอยู่ที่ไหน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่ทำคือสิ่งที่ถูกที่ควร?หรือว่าเราไม่น่าจะไปพะวงกับเรื่องเหล่านั้น
คนไทยคนหนึ่ง
ถามเองตอบเองแล้วนี่ครับ
ศิลปะมันไม่มีอะไรถูกอะไรผิดหรอก สังกัปเดียวที่คนทำรายการนี้มีอยู่ก็คือ อะไรที่เห็นว่ามันงาม ก็ทำไป ไม่ว่าจะงามด้วยไวยากรณ์หรืองามด้วยฉันทลักษณ์ แต่ที่สำคัญต้องทำด้วยความรัก ความภาคภูมิ และไม่มีอคติใดๆ ซ่อนเร้น
จากนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของคนดูตัดสิน
คุณประภาส
อักษรไทยเราตอนนี้ ฃ.ขวด กับ ฅ.คน หายไปแล้ว (คีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กไม่มีปุ่มนี้แล้วด้วย!) คุณว่า ฃ.ขวด กับ ฅ.คน ยังมีประโยชน์อะไรอยู่อีกรึเปล่า นอกจากทำให้พยัญชนะมีครบ 44 ตัว?
คนขวด
ภาษาคือเครื่องมือของการสื่อสาร
ถ้าถือเอาตามบรรทัดข้างบน ฃ.ขวด กับ ฅ.คน ก็หมดหน้าที่ไปแล้ว เพราะทุกวันนี้ไม่ปรากฏว่ามีคำไทยคำใดใช้อักษรสองตัวนี้
กลับไปค้นในหนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ.2470 กล่าวถึง ฃ.ขวดและฅ.คน ไว้ดังนี้
ฃ (ขวด)-พยัญชนะตัวที่สามในพยัญชนะไทย เรียกชื่อว่า "ขอเขตต์" หรือ "ขอขวด" ตั้งขึ้นแทนตัว กษ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งอ่านควบเป็นเสียงตัวเดียวกัน รูปร่างก็น่าจะกลายมาจากอักษร กษ ซึ่งเขียนหวัดติดกัน เช่น เกษตร กษัตริย์
ฅ.(คน)-พยัญชนะตัวที่ห้า ในพวกพยัญชนะไทย อ่านว่า "คอ" เรียกชื่อว่า "คอกัณฐา" ออกเสียงอย่างเดียวกับ ค (คอคิด) เดิม มีที่ใช้อยู่คำหนึ่ง คือ คอ ที่หมายความว่า คอคนหรือคอสัตว์
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยให้ความรู้มาว่า อันที่จริงแล้ว ค.ควาย กับ ฅ.คน ออกเสียงไม่เหมือนกัน ตัว ฅ.คนนั้นจะออกเสียงกึ่งๆ มาทาง ตัว G.ของภาษาอังกฤษ ผมฟังท่านออกเสียงดู ยอมรับครับแยกความแตกต่างแทบไม่ออก
นี่อาจเป็นเหตุผลนี้ที่ทำให้ผู้คนเลิกใช้ไปในที่สุด
มีเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งคือ คำว่า "คน" ไม่เคยถูกสะกดด้วย "ฅ.คน"เลย และต่อให้ค้นกลับไปเก่าแก่แค่ไหน คำว่าคนก็สะกดด้วย "ค.ควาย" มาตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น