วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

หมาหมอบ - 27 มี.ค. 2548

หมาหมอบ - 27 มี.ค. 2548

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

คุณประภาสที่รัก

โดยจริตดิฉันนิยมการมองโลกแง่งามอย่างคุณ แต่สองสามปีที่ผ่าน ชีวิตพบเจอแต่ทุกข์ที่โถมใส่ไม่ผิดอะไรกับคลื่นลูกใหญ่ๆ หลายสิบลูกต่อเนื่อง สามีขาดการติดต่อไปกว่าค่อนปีเจ้าหนี้ที่เป็นเพื่อนฝูงเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเจ้าหนี้เต็มตัวลูกสาวคนโตเริ่มไม่ให้ความนับถือและตีตัวออกห่างพี่สาวที่เคยชิดเชื้อเชื่อใจก็มากลายเป็นอื่น เทียบเท่าศัตรูก็ว่าได้ธุรกิจที่ทำอยู่ก็ง่อนแง่น ถ้าพูดโดยไม่อาย มันมากกว่าง่อนแง่นเสียอีก
ความมั่นใจในตัวเองหมดไปแล้ว หลายครั้งเคยคิดยอมแพ้ คุณประภาสที่รักทำประการใดดี

สาวสร้อย

==========================================
อย่างน้อยก็อุ่นใจได้ว่าแม้จะมีความทุกข์แต่คุณสาวสร้อยก็ยังเขียนจดหมายด้วยภาษาอันไพเราะ
หรือเป็นเพราะความทุกข์ที่ทับถม ทำให้ปฏิภาณกวีของมนุษย์ฉายออกมา

ดูแต่สุนทรภู่ แวนโก๊ะ กามูร์ ฟรีดา ฯลฯ นั่นปะไรสร้างผลงานประดับโลกจากทุกข์ที่โถมใส่ทั้งสิ้น
วันนี้ผมมีการทดลองอีกอันหนึ่งจะเล่าให้ฟังครับคงจำกันได้ว่าผมเคยเล่าเรื่องลิงหกตัวกับกล้วยในห้องที่เปียกชื้นไปทีหนึ่งแล้วก็เล่าเรื่องลิงกับข้าวโพดหวานที่เกาะในประเทศญี่ปุ่นไปอีกทีหนึ่งอาจจะเป็นเพราะลิงกับคนนั้นมีอะไรใกล้เคียงกันมากกว่าสัตว์อื่นจึงมักถูกนำมาทดลองในแง่พฤติกรรมบ่อยหน่อย
แต่คราวนี้เป็นสุนัขครับไม่ใช่ลิง

การทดลองนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐ ฝรั่งที่ทำการทดลองครั้งนี้มีสองคน ชื่อมาร์ติน เซลิกแมน กับ เอส เอฟ เมเยอร์ จุดมุ่งหมายของเขาในการทดลองครั้งนี้ก็คือเขาต้องการรู้ว่าสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์หรือสัตว์ที่คล้ายๆกันนั้นจะรู้สึกอย่างไรกับความเจ็บปวดที่มีอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

พวกเขาเริ่มอย่างนี้ครับ พวกเขาหาสุนัขมาฝูงหนึ่ง สายพันธุ์ต่างๆกันไปตามแต่จะหาได้ แล้วก็ขังพวกมันไว้ในกรงเหล็กจากนั้นก็เริ่มกระตุ้นพวกมันด้วยกระแสไฟฟ้า พูดแบบชาวบ้านก็ต้องบอกว่าเอาหมามาใส่กรงแล้วก็ช็อร์ตไฟ

เกิดอะไรขึ้น เดาไม่ยากใช่ไหมครับ

เห่าหอนกันระงมแน่นอน สุนัขไม่ว่าพันธุ์ไหนก็ปากเปราะทั้งนั้นตัวที่แข็งแรงหน่อยก็พยายามตะกายกรงเพื่อจะหาทางออก ส่วนตัวเล็กๆ ก็วิ่งวนไปมาเมื่อเห็นดังนั้นมาร์ตินกับเมเยอร์ก็ช็อร์ตไฟซ้ำเข้าไปอีก ช็อร์ตอีกมันเห่าอีกวุ่นวายไปทั้งกรงล่ะครับ พวกเขาทำอย่างนี้อยู่เกือบสิบครั้งต่อวัน

แปลว่าอะไร
พูดให้เป็นวิชาการก็ต้องแปลว่าเพื่อการทดลองที่ได้ผลเขาใช้เวลากักตัวสุนัขเพื่อกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้ามากกว่าหนึ่งวันแล้วก็กระตุ้นมันอย่างนั้นทุกๆ วันท่านผู้อ่านที่เป็นคนรักหมาอ่านแล้วคงอยากชกหน้าอีตามาร์ตินกับอีตาเมเยอร์เต็มแก่แล้วใช่ไหมครับ

วันหลังๆ ที่พวกเขาปล่อยกระแสไฟฟ้าใส่กรงสุนัขนี่ พวกสุนัขเริ่มไม่เห่าแล้วส่วนใหญ่จะหมอบนิ่งๆ ให้กระแสไฟฟ้าดูด มีบางตัวที่อาจจะร้องครางหงิงๆ ด้วยความกลัว

แต่ไม่มีตัวไหนเลยที่พยายามจะตะเกียกตะกายหาทางออก จากนั้นคุณเมเยอร์กับคุณมาร์ตินก็ดำเนินการทดลองขั้นต่อไปด้วยการย้ายสุนัขทุกตัวไปอยู่ในกรงใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ๆกรงใหม่นี้มีขนาดใหญ่กว่ากรงแรกหลายเท่าทีเดียว แต่ไม่ว่าจะใหญ่กว่าอย่างไรพวกเขาก็กะว่าจะยังคงปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไปในกรงอีก
"อย่างน้อยมันก็จะได้มีที่วิ่งหนีวิ่งหลบกระแสไฟฟ้าที่ไปไม่ทั่วทั้งกรงบ้าง"สองสหายผู้ทำการทดลองคงคิดอย่างนั้น ท่านผู้อ่านล่ะครับคิดอย่างพวกเขาไหม
ทันทีที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไป เกิดอะไรขึ้นละครับที่นี้
พวกมันหมอบนิ่งๆ
ไม่ว่าจะปล่อยอีกสักกี่ทีพวกมันก็หมอบนิ่งๆเหมือนยอมรับชะตากรรม การทดลองยังคงทำต่อไปด้วยการย้ายไปอยู่กรงที่ใหญ่ขึ้นๆและก็ช็อร์ตไฟอย่างเดิม และไม่ว่าจะย้ายกรงไปอีกกี่ครั้งพวกสุนัขที่ถูกทดลองก็ยังคงหมอบนิ่งๆ
มาร์ตินกับเมเยอร์สรุปว่าสัตว์ไม่ว่าชนิดไหนๆ ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ เมื่อถูกความเจ็บปวดตอกย้ำ ซ้ำๆ หลายๆ หนมันจะทำให้เกิดความชาชินกับความทุกข์จนไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้แล้วในที่สุดสิ่งมีชีวิตนั้นก็จะเลิกมีความหวังกับชีวิต
ฟังแล้วก็น่าเชื่อนะครับ เพราะเราก็เห็นผู้คนหลายๆ คนที่อยู่รอบๆตัวเราเป็นอย่างนั้น หลายคนยอมแพ้ต่อชะตากรรม หลายคนอยู่ไปแบบซังกะตาย
แต่สิ่งมีชีวิตไม่ใช่ไฟล์อะไรสักไฟล์ที่ถูกก๊อบปี้มานี่ครับจะได้เหมือนกันหมด
วิกเตอร์ ฟรังเกล คนหนึ่งล่ะที่ไม่เป็นอย่างนั้นเขาเป็นจิตแพทย์ที่อาศัยอยู่ในกรุงเวียนนาช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเฉกเช่นแพทย์ทั่วไป แต่ทันทีที่สงครามเริ่มต้นเขาก็ถูกจับด้วยมีเชื้อชาติเป็นยิว
วิกเตอร์และคนยิวอีกนับหมื่นนับแสนถูกจับตัวมาขังไว้ที่คุกออสวิตซ์โดยรถไฟขนสัมภาระคนที่เคยดูหนังเรื่องชิลเลอร์ลิสต์ น่าจะนึกภาพออกว่ามันแออัดเพียงใด
วิกเตอร์รู้ว่าอีกไม่นานพวกนักโทษส่วนใหญ่ก็จะถูกฆ่าตายที่คุกแห่งนี้เขาและนักโทษนับพันถูกบังคับให้ทำงานหนักภายใต้สภาพที่เลวร้ายที่สุดเพราะแม้แต่ขนมปังเน่าๆ สักแผ่นก็ยังต้องแบ่งกันกินทุกคนแทบจะเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก

ความทุกข์ทับโถมเท่าไรนั้นคงไม่ต้องไปพูดถึง มันหมดอาลัยตายอยากในชีวิตแทบทุกนาทีก็ว่าได้คิดเอาเองก็แล้วกันครับว่าถ้าชีวิตที่อยู่ๆ ข้างๆ เราค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคนเราจะรู้สึกอย่างไร

วิกเตอร์ได้เขียนไว้ในหนังสือ Man"s Search For Meaning ที่เขาเขียนขึ้นหลังสงครามสงบว่า เขายังชีพอยู่ในคุกนรกได้ด้วยปณิธานสามข้อ นั่นคือ

1.จะต้องมีชีวิตอยู่ เพื่อกลับไปหาครอบครัวให้จงได้

2.จะใช้ความรู้ทางแพทย์ช่วยคนอื่นอย่างเต็มกำลัง

3.จะเรียนรู้ท่ามกลางวิกฤตการณ์สังหารหมู่มหาโหดให้มากที่สุดเพื่อกลับไปเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง

อาจเป็นเพราะปณิธานสามข้อนี้ก็ได้ที่ทำให้วิกเตอร์รอดชีวิต
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกเมื่ออ่านเรื่องของเขาก็คือวิกเตอร์ไม่ยอมเป็นหมาหมอบอยู่ในกรงที่ถูกไฟช็อร์ตตลอดเวลาเมื่อมีโอกาสเขาจะตะกายหาทางออกให้จงได้ และเมื่อมันยังออกไม่ได้เขาก็พยายามที่จะอยู่ให้ได้ท่ามกลางกระแสไฟฟ้าที่ถูกส่งเข้ามา
หลังสงครามโลกยุติ วิกเตอร์กลับไปอยู่ที่เวียนนาและก็เขียนหนังสืออมตะเล่มที่ว่านี้ขึ้น หนังสือเล่มนี้ขายดีติดอันดับโลกเลยนะครับนั่นก็แสดงว่าปณิธานข้อสามของเขาบรรลุผล
ข้อความหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เขียนเอาไว้ดีเหลือเกินครับ
"แม้จะมีคนตายเป็นล้านๆ แต่สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่พวกเราต้องคิดเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า เราต้องรอดเพื่อไปทำสิ่งดีๆเราต้องรอดไปทำสิ่งสำคัญๆ ที่รอเราอยู่"
...............................................................
คนเกิดและตายมีทุกวัน คนทุกข์และสุขมีทุกวัน เพียงแต่ว่าวันไหนเราจะเลือกเป็นอะไร อันนี้ก็อยู่ที่เราแล้ว

ประภาส ชลศรานนท์

ที่มาของบทความ - มติชนวันอาทิตย์ หน้า 17 จากเวป Thaimung.com

ไม่มีความคิดเห็น: