วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

หมูยอของคำใส

วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9766

หมูยอของคำใส

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

แม่เภามีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่อยากจะถามคำใส เพื่อนร่วมหอ มาตลอด

มันเป็นคำถามเกี่ยวกับหมูยอของคำใสนี่แหละ แต่ไม่รู้จะด้วยความเกรงใจหรืออะไรสักอย่าง ทำให้ยังไม่สบช่องสักที ถึงวันนี้แล้วแม่เภาคิดว่าคงต้องหาโอกาสถามให้ได้

พูดถึงหมูยอนี่ ไม่ว่าใครในหอนี้ก็ต้องรู้ว่าหมูยอของคำใสนั้นอร่อยขนาดไหน

และเป็นที่รู้กันอีกว่า ถ้าวันไหนเป็นวันที่คำใสกลับจากต่างจังหวัด สาวๆ ชาวหอจะต้องมารวมตัวกันที่ร้านเจ๊เกียว ใต้ถุนหอ เพื่อรออาหารสุดอร่อยโดยมิต้องนัดหมาย เพราะทุกครั้งที่คำใสกลับบ้าน เธอจะต้องหอบเอาหมูยอสูตรของครอบครัวมาฝากเพื่อนๆ ชาวหอให้ได้อร่อยกันถ้วนทั่ว

รถบัสกำลังวิ่งอยู่

เสียงเพลงท้ายรถก็ดังระงมด้วยความสนุกสนาน

บ้างก็อ้างว่าเป็นเพราะความอยากไปเที่ยวอีสาน บ้างก็พูดตรงๆ ว่า เพราะความอยากกินหมูยอสูตรเด็ดมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการปิดเทอม รถบัสคันย่อมๆ คันนี้กำลังพานักศึกษาสาวๆ จากกรุงเทพฯ มุ่งสู้หนองคายบ้านเกิดของคำใส

"ฉันคิดถึงเธอ หมูยอ ยอดยาหยี อย่าหนีพี่ไปไหนเลย" เสียงเพลงแต่งขึ้นเองสดๆ ดังขึ้นมาจากท้ายรถบัส ต้นเสียงนั้นใครๆ ก็จำได้ว่าคือแม่แต้วตัวแสบประจำหอ

ตามด้วยเสียงหัวเราะและเสียงร้องตามเป็นจังหวะแทบทั้งคันรถ

"เห็นแก่กินจังนะยายแต้ว" แม่เภาร้องแหย่แต้วต้นเสียงร้องเพลงจากท้ายรถ

"ใครไม่กินอย่าบอกแฟน ฉันจะกินแทนให้เอง ลาลาล้า...ลาลาล้า..." แต้วร้องตอบขึ้นเป็นเพลงทำนองคุ้นๆ หูต่อทันที

"หมูยอยักษ์...หมูยอยักษ์...ลาลาลา" เพลงแต่งสดของแต้วยังคงบรรเลงต่อ

แม่เภาแทบจะระเบิดเสียงหัวเราะตามจินตนาการของตัวเองที่นึกถึงขนาดของหมูยอบ้านคำใส

แต่หมูยอบ้านคำใสมีขนาดใหญ่จริงๆ ไม่ว่าใครก็ต้องตาโตเมื่อเห็นครั้งแรก

"หรือเป็นเพราะว่ามันใหญ่มันหนามากหรือเปล่า มันถึงได้นุ่มฟันนุ่มลิ้นอย่างนั้น" แม่เภาเคยถามเจ๊เกียวด้วยเห็นว่าเป็นแม่ครัว "ไม่น่าจะเกี่ยวกับหนานะ" เจ๊เกียวตอบ "เจ๊เคยกินแบบหนาๆ อย่างนี้ก็หลายเจ้าแล้ว หาอร่อยมาก จะว่าไปของต้มของทอดนี่ยิ่งหนายิ่งทำยาก"

"หมูยอบ้าอะไรยังกับต้นกล้วย" แม่ตุ้มรูมเมตของแม่เภาเปรียบเทียบได้ถูกใจที่สุด คำใสเองยังหัวเราะขันกับคำเปรียบเปรยของเพื่อนๆ ถึงหมูยอจากบ้านเกิดของเธอ

"มันใหญ่มานานแค่ไหนแล้วคำใส รุ่นเธอหรือรุ่นแม่เธอ" แม่เภาซะโงกหน้าไปถามคำใสที่นั่งห่างออกไปอีกแถวหนึ่ง

"เฮ้ย...เภาต้องถามใหม่ ถามอย่างนั้นได้อย่างไร มันต้องถามว่ามันอร่อยมานานแค่ไหนแล้วต่างหาก" แต้วพูดแซงขึ้นมาจากด้านหลังรถ

"ไม่รู้สิ" คำใสหันมาตอบ "ฉันเกิดมาฉันก็เห็นแม่ฉันทำขนาดเท่านี้แล้ว น้าฉัน พี่สาวฉันก็ทำขนาดนี้ไม่ผิดกัน"

แม่เภาอ้าปากจะถามคำถามที่อยู่ในใจ เสียงแต้วก็ดังขึ้นมาแซวจากท้ายรถอีก

"ใส่กัญชาหรือเปล่าแม่คำใส คนกินถึงได้ติดใจกันไปขนาดนี้"

เสียงหัวเราะดังขึ้นมารับคำพูดของแต้ว

"ไม่มี รับรอง แม่ฉันทำให้กินตั้งแต่เด็กแล้ว" คำใสรีบโบกมือปฏิเสธ

"นั่นสิ แม่ที่ไหนจะให้ลูกกินกัญชา" แม่เภาหันไปค้อนแต้ว

รถวิ่งไปอีกสักครู่ใหญ่ แม่เภาจึงตัดสินใจลุกจากที่นั่งตัวเองไปนั่งข้างๆ คำใส คำใสเห็นแม่เภาย้ายที่นั่งมา ก็ใจดีเขยิบก้นให้

"ถามอะไรหน่อยสิ อยากรู้มานานแล้ว เคยถามเจ๊เกียวแล้วเจ๊เกียวแกก็ตอบไม่ค่อยได้" แม่เภาเอ่ยปาก

"เอาสิเภา เรื่องอะไรหรือ" คำใสยิ้ม

"เรื่องหมูยอของคำใสนั่นแหละ" แม่เภาทำหน้าเกรงใจ

"มีอะไรหรือ" คำใสถาม

แม่เภาแหงนหน้านึก แล้วก็ตัดสินใจพูด "คืออย่างนี้ ฉันเคยสังเกตมานานแล้วว่า ทุกครั้งที่คำใสเอาหมูยอมาจากบ้านมาฝากให้พวกเรากินที่หอ ตอนที่จะเอาหมูยอลงต้มอีกครั้ง ทำไมคำใสต้องหั่นหัวหั่นท้ายออกข้างละเกือบครึ่งนิ้วทุกทีเลย" แม่เภาลดเสียงลง "มันมีความหมายอะไรหรือเปล่า"

"อืมม์..." คำใสมองหน้าเภา "เภา ใครๆ เขาก็ว่าเธอเป็นคนช่างสังเกต ฉันไม่นึกว่าเธอจะช่างสังเกตขนาดนี้ แต่บอกตรงๆ นะ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม"

"อ้าว" แม่เภาทำหน้าผิดหวัง

"เห็นแม่ทำ ฉันก็ทำตาม" คำใสตอบง่ายๆ แต่พอเห็นแม่เภาทำหน้าคล้ายไม่เชื่อ คำใสจึงยืนยันอีกที "จริงๆ"

"ฉันเคยตั้งข้อสันนิษฐานว่า หรือการทำอย่างนั้นมันทำให้อร่อยขึ้น" แม่เภาอธิบายความคิดตัวเอง

"หรือกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเนื้อมากเกินไป" เสียงพี่สมรที่นั่งอยู่อีกข้างคำใสด้านที่ติดหน้าต่างโผล่หน้าออกมาเสริมความเห็น

"แต่มันก็ซึมเข้าด้านข้างได้อยู่ดี" เภาแย้ง

"หรือมันเป็นส่วนที่แข็ง ต้องหั่นทิ้งเพราะไม่อร่อย" น้องแดงที่นั่งถัดไปข้างหลังคงได้ยินบทสนทนาจึงเอี้ยวตัวออกความเห็น

"ตรงที่หั่นทิ้งไปมันก็ไม่แข็งนะ" คำใสติง

"เกี่ยวอะไรกับความเชื่อหรือเปล่า แม่ของคำใสมีเชื้อลาวพวนไม่ใช่หรือ" แม่เภาพูดคำถามที่อยากถามมากที่สุดออกมาจนได้ "คำใสอย่าโกรธนะ ที่เรียกลาวพวน"

"ไม่โกรธหรอก ก็ฉันเป็นลาวจริงๆ นี่" คำใสยิ้มเปิดเผย "เอ..แต่เรื่องหั่นหัวหั่นท้ายทิ้งนี่ ฉันก็ไม่เคยถามแม่สักที เราไปเจอแม่คราวนี้ เภาลองถามดูเลยก็ได้ แม่ใจดีออก"

................................................................

ที่บ้านคำใส หนองคาย

แคร่ไม้ที่หน้าบ้านถูกสาวๆ จากกรุงเทพฯ จับจองนั่งล้อมวงกินอาหารอีสานอย่างสนุกสนาน และที่กลางวงของจานอาหารหลายสิบจาน จานหมูยอจากฝีมือแม่ของคำใสลอยเด่นเป็นพระเอกของมื้อ

"ยัยแต้วนี่เธอกะจะไม่กินอย่างอื่นบ้างเลยหรือไง" พี่สมรร้องลั่นขึ้นเมื่อหมูยอที่อยู่กลางวงหมดไวจนหั่นไม่ทัน

"หมูยอชิ้นใหญ่ๆ หนาๆ อย่างนี้ จะไปกินอย่างอื่นทำไมพี่สมร ส้มตำลาบก้อยนี่กรุงเทพฯก็มีกิน" แต้วร้องตอบ "เออแล้วนี่ยัยเภาหายไปไหน เดี๋ยวฉันจะกินหมูยอคำเดียวทั้งชิ้นโดยไม่ต้องกัดให้ดู อยู่บนรถท้าตีนัก"

เพื่อนๆ เหลียวหาเภา คำใสได้ยินเพื่อนๆ เรียกเภาก็นึกขึ้นมาได้

"เมื่อกี้เห็นเดินเข้าไปในครัว" คำใสพูดขึ้น "สงสัยจะไปถามแม่เรื่องหั่นหมูยอหัวท้ายก่อนทอด"

"เภานี่ ขี้สงสัยสมกับเรียนหนังสือพิมพ์จริงๆ" คำใสเดินตามเข้าไปในครัว

ไม่ทันจะเข้าไปในครัว เภาก็เดินสวนออกมาพอดี

"เป็นอย่างไรเล่าเภา ได้คำตอบหรือยัง"

เภาสั่นหน้า "แม่เธอบอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องหั่น แม่ก็หั่วหัวหั่นท้ายทิ้งอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มทำหมูยอเป็น เห็นยายของเธอทำ แม่ก็ทำตามมาอีกที"

"จริงสิ มานึกๆ ดู พวกน้าๆ เขาก็หั่นหัวท้ายทิ้งกันทุกคนเหมือนกัน" คำใสให้ข้อมูลเพิ่ม "แล้วนี่เธอจะไปไหน เภา"

"ไปท้ายวัด แม่เธอบอกทางแล้ว" เภาตอบ

"เดี๋ยว...เดี๋ยว...อย่าบอกว่านะเธอกำลังจะไปหายายฉัน" คำใสยิ้มเอ็นดูเพื่อน "เธอนี่มันแม่นักข่าวตัวจริงเลย"

"ไม่รู้สิ อะไรมันค้างในใจแล้วอีดอัด" เภาตอบ "ฉันอยากรู้จริงๆ ว่ามันเกี่ยวกับความเชื่อของลาวพวนอะไรหรือเปล่า แม่เธอบอกว่า ยายเธอเป็นแม่ชีอยู่ท้ายวัด ฉันจะลองเดินไปถามยายดู ฉันอยากรู้จริงๆ"

"ไป ฉันจะพาเธอไปเอง เธอนี่น่านับถือจริงๆ" คำใสจูงมือเพื่อนเดินนำไป

"แต่ฉันไม่รับประกันนะว่าเธอจะได้คำตอบที่เธอต้องการหรือเปล่า ยายฉันเป็นคนไม่ช่างพูดเสียด้วย"

(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์หน้า)

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9723

หมูยอของคำใส(จบ)
===========
คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

เสียงพระสวดมนต์แว่วมาจากโบสถ์ แม้จะฟังไกลๆ จากตรงนี้เภาก็รู้สึกได้ถึงความสงบ เภานั่งพิงเสาไม้หลับตานึกไปถึงตอนเด็กๆ

อาจจะเป็นเพราะความทรงจำหรือความเคยชินดีๆ กับเสียงสวดมนต์ของหลวงน้า ที่เภาได้ยินเวลาไปนั่งอ่านหนังสืออยู่ใต้ถุนกุฏิเมื่อครั้งยังเรียน โรงเรียนวัดก็ได้ ทำให้เภารู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ยินเสียงสวดมนต์

คำใสพาเภามาถึงเรือนของยายตั้งนานแล้ว เผอิญมาปะเข้ากับเวลาทำวัตรเย็นของพระวัดนี้พอดี คำใสเลยต้องจูงเภามานั่งรอยายที่นอกระเบียง

"ยายแกเคร่ง"คำใสกระซิบ "ถึงแกเป็นชีแต่แกสวดมนต์พร้อมพระ"

เภายิ้มแทนคำตอบ เสียงสวดมนต์ของยายคงเบามากจนเภารู้สึกว่าได้ยินเสียงของพระที่มาจากโบสถ์มากกว่า

"ที่นี่สวดยืดกว่าแถวบ้านฉันนะคำใส" เภาชวนคุย "แถวลำปาง เชียงรายนี่ว่าสวดยืดแล้วนะ"

"เธอฟังออกหรือ"

"ฉันชอบฟังนะ โทนเสียงของพระเวลาสวดมนต์ทำให้ใจนิ่งดีนะ"

"แล้วเภาฟังรู้เรื่องไหม"

เภาส่ายหน้า "เคยอยากเรียนบาลีให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยเหมือนกันนะคำใส"

"เธอพูดยังกะว่าหาที่เรียนได้ง่ายๆ อย่างนั้น" คำใสช่วยต่อประโยคที่อยู่ในใจแม่เภา

"เอ แล้วพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่สวดกันอยู่นี่ ท่านรู้ความหมายไหม"

"ไม่รู้สิ ก็คงจะมีทั้งรู้และก็ไม่รู้นะ"

แล้วทั้งสองก็เงียบไปอีกพักใหญ่ เหมือนจะพยายามเงี่ยหูฟังว่ายายของคำใสสวดมนต์จบหรือยัง เสียงจากบนเรือนแม่ชีไม่พอบอกอะไรได้มากนัก ทั้งสองเลยต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงจากโบสถ์ซึ่งยังคงแว่วอยู่

"บางทีนะ ฉันก็เคยคิดว่าเราฟังพระสวดมนต์นี่เราเหมือนจะเอาเพียงแค่เป็นสิริมลคลแก่ตัวแค่นั้นหรือเปล่า ไม่ได้อยากรู้ความหมายในประโยคจริงๆ" เภาเอ่ยขึ้นอีก

"ถ้าเรารู้แล้ว อาจจะทำให้ความขลังหายไปก็ได้นะ" เภาไม่เคยรู้เลยว่าคำใสมีความคิดแปลกๆ แบบนี้

"ไม่จริงหรอกคำใส" เภาท้วง "ฉันเคยทำรายงานเรื่องบทสวดมนต์ เคยต้องหาทางแปล"

"แม้แต่บทสวดมนต์ที่เราเคยสวดสมัยเรียนประถมก็มีความหมายที่ดีมาก"

คำใสหรี่ตาคิดตาม

"เธอกำลังจะบอกว่า พวกเราน่าจะรู้ความหมายของบทสวดมนต์พระท่านสวดให้เราฟัง"

"ที่จริงมันไม่น่ายากเลย แต่ก็นั่นแหละ เพราะแม้แต่ฉันที่ต้องเรียกว่าตัวสอดรู้สอดเห็นเลยนะ ฉันก็ยังขวนขวายไม่พอ" เภาหัวเราะขันอะไรสักอย่าง

เสียงสวดมนต์จากโบสถ์เงียบไปแล้ว เสียงก่อกๆแก่กๆบนเรือนแม่ชีดังขึ้น

"ขึ้นไปหายายกันเถอะ" คำใสชวน

สองสาวเดินไปที่บันไดทางขึ้นเรือนแม่ชี ขณะที่กำลังถอดรองเท้า เภาก็หันไปเห็นแม่ชีร่างเล็กๆ คนหนึ่งกำลังค่อยๆ เกาะราวบันได้เดินสวนลงมา

"คำใส" เภาเรียกเบาๆพลางชี้ให้ดูแม่ชีเฒ่า

"อ้าว ยาย" คำใสพนมมือไหว้ เภาเห็นจึงไหว้ตาม

"ยายจะไปไหน"

"คำใสหรือ" ยายร้องทัก

ดูจากผิวพรรณที่เหี่ยวย่นแล้ว แม่เภานึกเล่นๆ ว่าอายุของแม่ชีชราผู้นี้คงไม่น่าจะน้อยกว่าเจ็ดสิบแปดสิบ แต่ดูอีกทียายก็ดูแข็งแรงเดินเหินขึ้นบันไดคนเดียวโดยไม่ต้องมีใครช่วย

"ยายจะไปไหน" คำใสถามอีก

"กลับมาตั้งแต่เมื่อไร" ยายถามกลับ แล้วก็เหมือนไม่ต้องการคำตอบ เพราะหลังจากถามเสร็จแกก็สวมรองเท้าแตะเดินมุ่งหน้าไปที่โบสถ์

คำใสมองหน้าเพื่อนแล้วยิ้ม "แกเป็นอย่างนี้แหละ"

"ยายจะไปไหนนี่"

เพิ่งจะคราวนี้เองที่ยายหันกลับมา "จะไปที่โบสถ์หน่อย จะเอาหนังสือไปคืนหลวงพ่อ" ว่าแล้วแกก็ออกเดินต่อ

"เดี๋ยวก่อนยาย" เภาไม่อยากรอ "หนูจะถามอะไรยายหน่อยหนึ่งก่อน ยายอย่าเพิ่งไป"

ยายหันมาตามเสียง แล้วก็ไม่เห็นแกจะสนใจหรือสงสัยเลยว่าเภาเป็นใคร "ถามอะไรอีหนู" พูดเสร็จแกก็เดินต่อ สองสาวเห็นดังนั้นก็รีบสวมรองเท้าเดินตามมา

"ยาย ถามเรื่องหมูยอที่ยายสอนแม่ทำหน่อยจ้ะ" คำใสช่วยเพื่อน

ยายไม่พูดอะไร ยังคงเดินไปเรื่อยๆ

"หนูอยากรู้ว่าทำไมเราต้องตัดหัวตัดท้ายก่อนจะเอามาต้มทุกครั้งทำไม ถามแม่ แม่ก็บอกไม่รู้ เห็นยายทำก็ทำตาม"

ประโยคนี้ทำให้ยายหยุดเดินหันมาถามคำใส "อะไรนะ"

คำใสจึงทวนประโยคให้อีกครั้ง แกฟังจบแกก็ยิ้มออกมา

"รุ่นแกก็ยังตัดหัวตัดท้ายทิ้งอยู่หรือ"

คำใสพยักหน้า

"ยายเป็นลาวพวน ย้ายมาจากขอนแก่น" นั่นไงสิ่งที่แม่เภาตั้งสมมติฐานไว้ว่าน่าจะเกี่ยวกับความเชื่อของบรรพบุรุษก็เริ่มเผยออกมา "ปู่แกก็ลาวพวน"

"แล้วลาวพวนมีความเชื่อว่าอะไรหรือยาย" แม่เภาใจร้อน

"เชื่ออะไรอีหนู" ยายออกเดินต่อ "พวกเราย้ายที่อยู่ก็หลายที แล้วพวกเรามีเงินกันเสียที่ไหน หม้อไหก็มีอยู่แค่สองสามใบ" พอยายเริ่มพูดประโยคต่อมา แม่เภาก็ชักเอะใจเสียแล้ว

"หม้อแต่ละใบก็เล็กๆทั้งนั้น ยายมีอยู่ใบหนึ่งแค่นี้เอง" ยายทำมือ

"แล้วหมูยอที่หลายๆ บ้านมาช่วยกันทำน่ะ เราก็ปั้นกันเสียทั้งใหญ่ ทั้งยาว ทำเสร็จแบ่งกันมาตามบ้าน" ยายหยุดไปนิดหนึ่งเพื่อเช็ดน้ำหมาก

เภาเริ่มเดาเรื่องออกแล้ว

"ถ้ายายไม่ตัดหัวท้ายทิ้ง ยายจะไปใส่หม้อต้มได้อย่างไร ก็หม้อมันเล็กกว่าตั้งเยอะ" แกพูดจบแกก็บ้วนน้ำหมากลงพื้น แล้วเดินลิ่วๆ ไปทิ้งให้สองสาวยืนอมยิ้มมองหน้ากันเองสองคน ประตูความลับแห่งหมูยอถูกเปิดแล้ว

"เพื่อนๆ มากันหลายคนหรือคำใส เย็นๆ ยายจะแวะไปหานะ อยากลองหมูยอฝีมือยายบ้างไหมละ" ยายพูดลอยๆ ขึ้นมา เหมือนไม่ต้องการคำตอบอย่างเคยๆ

………

เย็นวันนั้นที่บ้านคำใส เพื่อนยังคงล้อมวงอยู่ที่แคร่หน้าบ้านสองสามวง

วงหนึ่งยังคงเล่นกีต้าร์ร้องเพลงมาตั้งแต่บ่าย และทำตัวเหมือนว่าเพลงในโลกนี้จะต้องถูกร้องให้หมดภายในวันนี้ ส่วนอีกสองวงนั้นนั่งคุยกันส่งเสียงโขมงโฉงเฉง แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกวงก็คือ กลางวงต้องมีจานหมูยอรสเลิศพร้อมถ้วยแจ่ววางไว้อยู่กลางวง

เภาเดินเข้ามาช่วยคำใสอยู่ในครัว ยายของคำใสไม่ได้แวะมาอย่างที่บอก คำใสยังคงใช้ประโยคเก่า เมื่อเภาถามถึงยาย "แกเป็นอย่างนี้แหละ"

"คำใสขออีกจาน" เสียงแต้วดังขึ้นพร้อมกับโผล่หน้าเข้ามาในครัว มือนั้นถือจานเปล่ามาด้วย

เภายืนอยู่ใกล้ประตูจึงรับจานมา "พรุ่งนี้หน้าเธอก็คงจะเป็นหมูยอแล้ว ไม่กินอย่างอื่นเลยนี่ยัยแต้ว"

"อิอิ …หั่นหนาๆ นะเภา" พูดจบเพื่อนผู้พิศวาสหมูยอเป็นชีวิตจิตใจก็แล่นกลับไปที่วงกีต้าร์หน้าบ้านต่อทันที

"เภาส่งหมูยอก้อนนั้นมาให้ที" คำใสชี้มือไปที่ถาดที่วางอยู่หลังตู้

เภาทำตามที่เพื่อนบอก "สงสัยต้องต้มอีกรอบ" คำใสเอามือบีบ "ก้อนนี้ทำไว้ตั้งแต่เมื่อวาน" พูดจบคำใสก็หยิบหม้อใส่น้ำขึ้นตั้งเตา แล้วก็ถือหมูยอก้อนนั้นนิ่งอยู่เหมือนคิดอะไร สักพักคำใสก็ตัดสินใจวางก้อนหมูยอบนเขียง พลางหยิบมีดขึ้นมา

อะไรก็ไม่รู้บอกให้คำใสรู้ว่ามีสายตาคู่หนึ่งจ้องมาตลอด

เภานั่นเอง

"ยิ้มอะไร เภา" คำใสเขิน

เภายิ้มให้เพื่อนอย่างกว้างขวางที่สุด "หั่นหัวหั่นท้ายทิ้งเถอะ เธอจะได้มั่นใจว่ามันอร่อย"

หน้า 17

ไม่มีความคิดเห็น: