วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

"หนุ่มเมืองจันท์" คุยกับ "ประภาส"

"หนุ่มเมืองจันท์" คุยกับ "ประภาส"

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1300

"ดูผู้ประกาศข่าวคนนั้นแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง"
"พี่จิก" ประภาส ชลศรานนท์ ชี้ให้ดูผู้ประกาศข่าวสาวคนหนึ่งในจอโทรทัศน์ระหว่างการนั่งรอออกรายการ "มุมใหม่ไทยแลนด์" ทางช่อง 11
"สวยดีครับ"
ผมตอบตามความรู้สึกแท้จริง
"มีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า" พี่จิกถามซ้ำ

ผมนั่งดูต่ออีกนิดนึงก็ไม่เห็นสิ่งประหลาดอะไรอยู่ในหน้าจอ
ยิ่งดูนานยิ่งยอมรับว่าเธอสวย ฟันก็เป็นระเบียบดี ไม่เห็นมีเศษอาหารติดไรฟันเลย

"ฟันสวย" ผมเติมรายละเอียด
"พี่จิก" ส่ายหน้าแบบเบื่อหน่ายในสัจธรรม
"ความสวยทำให้คนตาบอด"
"น้องคนนี้แก้วเสียงไม่ดี" เขาเฉลย
จากวินาทีนั้น ผมรู้เลยว่า "ของจริง" วงการโทรทัศน์นั้นเป็นอย่างไร

"พี่จิก" บอกว่าคนที่เป็นผู้ประกาศข่าวนั้นจำเป็นที่ "แก้วเสียง" ต้องดี
เพราะหน้าที่ของเธอแตกต่างจากผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ทั่วไป
พิธีกร รายการอื่นๆ กล้องจะจับภาพพิธีกรพร้อมเสียง คนดูจะเห็นหน้าเห็นปากและได้ยินเสียงของพิธีกร คนที่แก้วเสียงไม่ดีนักจึงไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์
หลัง จากที่เธออ่านหัวข่าวที่คนดูได้ยินเสียงแบบเห็นหน้าเห็นปากแล้ว ภาพบนจอโทรทัศน์ก็จะตัดไปที่ภาพข่าว เหลือแต่เสียงผู้ประกาศข่าวเท่านั้นที่ยังคงอยู่
"เสียง" จึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้า "แก้วเสียง" ไม่ดี ความน่าสนใจของข่าวก็จะลดลง
ผมเคยอ่านหนังสือของ "ลาร์รี่ คิง"
บอกเหมือนกันว่าคนทำรายการโทรทัศน์ เรื่องการใช้ "เสียง" สำคัญมาก

"ลาร์รี่ คิง" บอกว่าเขาโชคดีที่ทำรายการวิทยุมาก่อนจึงไม่มีปัญหาเรื่องการใช้ "เสียง"
แต่ผมนึกไม่ถึงว่าระดับความสำคัญของการใช้ "เสียง" นั้นยังแตกต่างกันอีกระหว่าง "พิธีกร" ทั่วไปกับ "ผู้ประกาศข่าว"
ลึกล้ำ-ลึกล้ำ งานนี้เจอ "ของจริง" แล้วครับ
อาชีพนักข่าวมีข้อดีอยู่ประการหนึ่งก็คือ เรามีโอกาสได้คุยกับคนระดับ "ของจริง"
ในแต่ละแขนงวิชาบ่อยๆ ทุกครั้งที่เจอ "ของจริง"
ผมจะถามด้วยความกระหายใคร่รู้ ถาม-ถาม-ถาม
เจอกับ "พี่จิก" ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมตักตวงความรู้เรื่องวงการโทรทัศน์ได้มากทีเดียว
ศาสตร์แต่ละแขนงล้วนมีความซับซ้อนและลึกซึ้งแตกต่างกันไป

ภาพที่ปรากฏบนจอทีวีนั้นผ่านการตัดต่ออย่างละเอียดยิบ หั่นแล้วหั่นอีกเพื่อให้กระชับน่าติดตาม

รายการ "แฟนพันธุ์แท้" ที่มาแรงในวันนี้ "รู้ไหมว่าทำไมคนที่ตอบถูกบางคนจึงร้องไห้"
แน่นอน สำหรับ "ปราชญ์" อย่างผม คำตอบก็คือ "ส่ายหน้า"

" พี่จิก" บอกว่าในการแข่งขันจริง คนนั้นใช้เวลาคิดนานกว่า 10 นาที คิดแล้วคิดอีก พอเฉลยว่าถูกต้องจึงดีใจมากจนร้องไห้ "แต่ภาพที่ออกโทรทัศน์มันเพียงแค่นาทีเดียว" หรือ "ชิงร้อยชิงล้าน" ที่เราเห็นตลก 3 ช่า "หม่ำ-เท่ง-โหน่ง" ออกมาทีไร "ฮากลิ้ง" ทุกที

เคล็ด ลับของทีมนี้ก็คือจะใส่มุขกันเต็มที่แบบไม่มียั้ง เริ่มตั้งแต่มุข "คาเฟ่" เล่นเรื่องใต้สะดือและตีหัว ที่ต้องเริ่มจากมุข "คาเฟ่" ก่อนก็เพราะเป็นมุขที่คุ้นเคย นำมาใช้เพื่อ "เผาหัว" ให้เครื่องร้อน พออารมณ์ขำเริ่มมาจึงค่อยเข้ามุขจริง เขาเล่นกันเต็มที่ยาวเหยียดเพราะรู้ว่าเดี๋ยวจะมีทีมตัดต่อจัดการให้

หรือ อย่างเรื่อง "มุมกล้อง" รายการ "เกมทศกัณฐ์-แฟนพันธุ์แท้" จะใช้กล้องพิเศษตัวหนึ่งซูมใบหน้าผู้แข่งขันแบบใกล้ชิด เพื่อให้ได้อารมณ์ของการแข่งขัน มีน่า "เวิร์คพ้อยท์" จึงได้รับชื่อว่าเจ้าพ่อเกมโชว์ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ชนิดที่ไม่สังเกตหรือไม่มีใครบอกก็ไม่รู้

ทีม งานของ "เวิร์คพ้อยท์" คิดค้นและใส่เข้าไปในรายการจึงก่อให้เกิด "ความแตกต่าง" ขึ้นมา คงเหมือนกับการจัดหน้าหนังสือ หรือการเลือกรูปแบบตัวอักษรที่มีผลต่อความรู้สึกของคนอ่าน ถ้าคนไม่อยู่ในแวดวงหนังสือก็จะไม่รู้ว่ามันมีผลต่อความรู้สึกของคน อ่านอย่างไร
หรืออย่างเรื่อง "เสียง" โดยเฉพาะเรื่องเสียงเพลง ความได้เปรียบของ

" เวิร์คพ้อยท์" ประการหนึ่งอยู่ที่ "พี่จิก" เป็น "เซียน" ด้านเพลง รูปแบบและจังหวะของการปล่อยเสียงเพลงในรายการก็มีผลต่ออารมณ์คนดูเช่นกัน

แฮ่ม...รวมถึงรูปร่างและหน้าตาของคนร้องด้วยครับ
เฉพาะรายการ "ชิงร้อยชิงล้าน" มันมีผลต่อคนดูอย่าง... ...อมร...มากเลย


"แล้วรายการสัมภาษณ์หรือรายการทอล์ก เราจะใช้เพลงหรือเสียงต่างๆ เข้ามาช่วยได้หรือเปล่า" ผมถาม
"ได้" พี่จิกบอก
แต่เสียงหรือเพลงนั้นจะไม่เด่น แต่มีหน้าที่จะช่วยขับให้การสัมภาษณ์เด่นขึ้น"

น่าสนใจทีเดียวครับ ผมนึกถึงเพลงประกอบในภาพยนตร์ที่บางครั้งเราดูไปแล้วแทบจะไม่รู้สึกเลยว่ามีเพลงประกอบ แต่ถ้าตัดเพลงประกอบออกไป

หนังเรื่องนั้นจะไม่น่าดูเลย แต่ "เพลง" ที่มาใช้ในรายการสัมภาษณ์จะเป็นแบบไหน
ผมนึกไม่ออก แต่อยากเห็น "พี่จิก" เป็นคนที่ชอบอยู่เบื้องหลัง
ไม่ยอมโผล่หน้าให้เห็นในจอโทรทัศน์

ทั้งที่เขาเป็นหนึ่งในสองผู้ถือหุ้นใหญ่ค่ายเวิร์คพ้อยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ร่วมกับ
"ปัญญา นิรันดร์กุล" ตอนทำวงเฉลียง เขาก็อยู่เบื้องหลัง
ทำหนังสือ "ไปยาลใหญ่" ก็อยู่เบื้องหลัง

"เสน่ห์ของการอยู่เบื้องหลังอยู่ที่ไหน" ผมถาม
"พี่จิก" ตอบว่าตอนทำละครหรือคอนเสิร์ต เขาชอบอยู่หลังเวที
ในจุดที่มองออกไปเห็นทั้งนักดนตรีหรือนักแสดง และเห็นหน้าคนดูด้วย
มันเป็นจุดยืนที่เขามีความสุขมากที่สุด

หลัง อัดรายการเสร็จ "พี่จิก" ก็ชวนไปนั่งคุยกันต่อที่คอฟฟี่ช็อปในโรงแรมเซ็นทรัล พลาซา โดยที่เรายังไม่ได้ล้างเครื่องสำอางที่ช่างแต่งหน้าแต่งให้ก่อนอัดรายการ พอรถจอดหน้าโรงแรม
"พี่จิก" ก็บอกยิ้มๆ "ใครเห็น เขาคงนึกว่าเราเป็นคู่เกย์" ผมหัวเราะลั่น ขำกลิ้ง
ผู้ชายที่แต่งหน้า 2 คนเดินเข้าโรงแรมพร้อมกัน ใครเห็นก็คงคิดแบบที่ "พี่จิก" บอก ดังนั้น ก่อนลงจากรถ

ผมจึงเริ่มคิดถึงหลักยุทธศาสตร์การถอย หากเสียหาย ก็ให้เสียหายน้อยที่สุด
ฮึ่ม...ถ้าจะถูกมองว่าเป็น "เกย์" อย่างน้อยก็ขอเป็น "คิง"
"พี่จิก" คงไม่สังเกตว่าตอนที่เดินเข้าโรงแรมพร้อมกัน
ผมจะเดินช้าๆ ตามหลัง "พี่จิก" ครับ
ผมเข้าใจ "พี่จิก" แล้ว
บางครั้งการอยู่ "เบื้องหลัง" ก็ดีกว่าอยู่ "ข้างหน้า"

ไม่มีความคิดเห็น: