วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

ตัวขี้เกียจ

พี่ประภาสที่นับถือ


พี่มีวิธีดีๆ ที่จะแนะนำให้คนที่ค่อนไปทางขี้เกียจอย่างผมขยันขึ้นบ้างไหมครับ ผมมีความฝันที่จะทำนู่นทำนี่หลายอย่างเลยครับ พวกงานขีด งานเขียนอะไรพวกนี้เนี้ยแหละครับ แต่ทำยังไงก็ไม่เคยสำเร็จเสียที บางทีทำไปหน่อยก็ขี้เกียจทำต่อแล้ว เพื่อนๆมันชอบล้อผมว่านักฝันรายวัน คือเอาแต่ฝันไม่ยอมลงมือทำซะที
หาวิธีแก้ให้หน่อยสิครับ เจ้าตัวขี้เกียจนี้

ชายกลาง

อัน ที่จริงแล้วผมก็ไม่ใช่คนที่มีนิสัยขยันขันแข็งอะไรเลยและถ้าจะบอกว่าผมเป็น สมาชิกคนหนึ่งของ "สมาคมผู้ผัดวันประกันพรุ่ง" เหมือนคุณก็ไม่ผิดนัก

" เจ้าตัวขี้เกียจ" ที่คุณว่า มันก็สนิทกับผมเสียเหลือเกิน บางทีมันก็กอดผมเสียแน่นจนแทบจะสลัดไม่หลุด บางทีก็กอดผมเสียแน่นจนแทบจะสบัดไม่หลุด บังเอิญผมพอจะมีวิธีพูดกับมันบ้าง มันถึงยอมให้ผมทำตัวขยันอยู่ได้บ้าง
มีคำอยู่คำหนึ่งผมใช้บอกกับเจ้าตัวขี้เกียจของผมเสมอ
คำว่า "รับผิดชอบ" ครับ
ผม มักจะบอกตัวผมเองเสมอว่า มนุษย์เราต้องมีความรับผิดชอบ นักเขียนต้องรับผิดชอบต่อคนอ่านที่รออ่านอยู่ นักแต่งเพลงต้องรับผิดชอบต่อคนฟัง คนจับกุ้งต้องรับผิดชอบต่อคนกินกุ้ง เรื่องค่าตอบแทนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่สำคัญเราต้องรับผิดชอบต่อความฝันของตัวเอง
นอกจากเจรจากับเจ้าตัวขี้เกียจแล้ว ผมก็ยังใช้อุบายหลอกล่อมันด้วยเหมือนกัน
เช่น ผมมักจะใช้เวลา "เช้าตรู่" กับงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นบทความ บทละคร หรือเพลง เพราะผมรู้ว่าตอนเช้าที่ผมตื่นขี้นมาอย่างสดชื่นนั้น เป็นเวลาที่เจ้าตัวขี้เกียจมันอ่อนแรงที่สุด
เรื่องอุบาย ต่อสู้กับเข้าตัวขี้เกียจนี้ มีผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาชิ้นหนึ่งน่าสนใจดี ผมไปอ่านเจอเข้า ขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟังกัน

ดร.โรเบิร์ต เอ็ปสไตน์ "เขียนวิธีเปลี่ยนนิสัยให้น่ารัก" ลงในนิตยสารไซโคโลจี้ทูเดย์ โดยสรุปย่อๆว่า คนเราอาจเปลี่ยนนิสัยที่ขี้เกียจหรือนิสัยตามใจตัวเองบางอย่างที่ไม่ดีให้หายไปได้โดยสร้างเงื่อนไขมากระตุ้นตัวเอง
คุณโรเบิร์ตแกแนะนำใช้สามวิธีใหญ่ๆครับ

วิธีแรก เปลี่ยนสภาพแวดล้อม อันนี้เห็นท่าจะจริง เพราะถ้าใครจะคิดเขียนหนังสือ แล้วดันไปนั่งอยู่ในดิสโก้เธคที่มีเสียงเพลงดังกระแทกจนหัวใจแทบเปลี่ยน จังหวะเต้น แล้วยังแสงสีที่วูบวาบขนาดนั้นอีก ใครเขียนหนังสือได้ก็ต้องรับเป็นยอดคน
คุณโรเบิร์ตแกบอกว่า จากการทดลองกับคนที่มีนิสัยชอบกัดเล็บตัวเอง โดนให้ซื้อตะไบเล็บมาสัก ๕๐ อัน แล้ววางให้ทั่วทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง โต๊ะ และเตียงนอน ที่สำคัญวางให้ใกล้มือตลอดเวลา ไม่นานนักนิสัยกัดเล็บก็จะหายไป เพราะเขาจะตะไบเล็บแทนตอนที่อยากจะกัดเล็บ
ฟัง เรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงรุ่นน้องของผมคนหนึ่งเอาลูกบาสวางไว้ข้างประตูบ้าน เขาบอกว่ามันทำให้เขาได้เล่นบาสทุกวันอย่างที่เขาต้องการ เพราะเขาเห็นมันทุกครั้งที่กลับบ้าน วิธีน่าจะใช้ได้ดีกับนิสัยผัดวันทุกประเภทว่าไหมครับ
จอดจักรยานไว้หน้าบ้าน ถ้าอยากขี่จักรยานทุกวัน
วางดินสอและสมุดไว้บนโต๊ะตลอดเวลา ถ้าอยากเขียน
พิงกีต้าร์ไว้ข้างๆเตียง ถ้าอยากฝึกทุกวัน ฯลฯ

คุณ โรเบิร์ตเล่าให้ฟังถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีสมาธิดูหนังสือ ในที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง เมื่อเธอเปลี่ยนโคมไฟตั้งโต๊ะที่มีแสงสว่างมากขึ้น และที่สำคัญเธอเลื่อนโต๊ะให้ออกห่างจากเตียงนอนมากขี้น
อันนี้ ไม่เลวนะครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มักถูกแรงดึงดูดจากเตียง ดูดให้ให้ไปเอนหลังบ่อยๆเวลาเขียนหนังสือ ทั้งๆที่เตียงของผมก็ไม่ได้ทำจากแท่งแม่เหล็กอะไรเลย

วิธีที่สอง กำกับพฤติกรรมตัวเอง
เพื่อน ผู้หญิงของผมหลายคนใช้การชั่งน้ำหนักตัวเองเป็นประจำเพื่อควบคุมน้ำหนัก ผมก็ใช้วิธีคล้ายๆกันอย่างนี้ครับ ทุกครั้งที่ซื้อกางเกงตัวใหม่ ผมจะไม่ยอมเพิ่มขนาดเอว เมื่อไรที่รู้สึกว่ากางเกงคับ ผมก็จะระวังการกินอาหารมากขึ้น
ไม่ได้กลัวว่าจะมีหุ่นไม่ดีหรอกครับ ผมไม่ชอบอ้วนมากกว่า อ้วนทีไรเจ้าตัวขี้เกียจติดผมแจไม่ยอมห่างเลย
บท ความของ ดร.โรเบิร์ตยังบอกอีกว่า การกำกับพฤติกรรมตัวเองจะช่วยแก้นิสัยไม่ดีให้หายได้ อย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนชอบพูดคำว่า "แบบว่า" มากเกินไป ให้ใช้วิธีนับว่าวันหนึ่งๆคุณพูดคำนี้กี่ครั้ง หรือฉีกกระดาษใส่กระเป๋าทุกครั้งที่พูด หรือใช้เครื่องนับอย่างที่เขาใช้นับคนในรถก็ได้ เขาบอกว่าวิธีนี้ทำให้คุณหายจากลักษณะนิสัยที่คุณไม่ชอบได้โดยใช้เวลาไม่นาน ด้วย
ผมว่าไม่เลวเลยนะครับวิธีนี้ มันเป็นวิธีทางจิดวิทยาโดยแท้ ลองคิดดูสิครับ คนเรามัวแต่จะคอยนับว่าเราจะพูดคำว่า "แบบว่า" วันละกี่ครั้ง ผมว่าเราจะหยุดพูดไปเองโดยอัตโนมัติ
เรื่องการกำกับพฤติกรรมตัวเองนั้น ผมเคยเห็นบางคนเพิ่มการลงโทษและให้รางวัลตัวเองเข้าไปด้วย ผมเห็นว่ายิ่งได้ผลชะงัดขึ้นครับ
สมมติ ว่าคุณชอบกินไอศกรีม คุณอาจจะสัญญากับตัวเองว่า ถ้าอ่านหนังสือสอบเล่มนี้จบเมื่อไร คุณจะได้ให้รางวัลกับตัวเองด้วยไอศกรีมชามใหญ่ หรือสมมติว่าคุณชอบเล่นคอมพิวเตอร์ คุณอาจตกลงกับตัวเองว่า ถ้ารายงานส่งครูฉบับนี้ไม่เสร็จตามกำหนด คุณอาจจะลงโทษตัวเองด้วยการงดเล่นคอมพิวเตอร์ ๑ เดือน เป็นต้น

การให้รางวัลและการลงโทษตัวเองเป็นเทคนิคทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ทางจิตวิทยาถือว่ามนุษย์เราถ้ามีแรงกดดันเล็กๆน่อยๆจะทำให้เรามีแรงขับที่จะ ทำในสิ่งนั้นๆได้เต็มศักยภาพมากขึ้น

วิธีที่สาม สร้างข้อผูกพัน
คน เรานี่ก็แปลก เวลาที่เรามีเงื่อนไขกับใคร เราจะรู้สึกเกรงใจในเงื่อนไขนั้นมากกว่าไม่มีเงื่อนไข อาจเป็นเพราะธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงพยายามที่จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนอื่นให้ได้ดีที่สุด
การสร้างข้อผูกพันหรือเงื่อนไขกับคนอื่น จึงเป็นการบังคับให้เราทำตามวัตถุประสงค์ของตัวเองไปโดยปริยาย
ตัวอย่าง เช่น ถ้าเราอยากออกกำลังกายก็ให้ชวน ให้นัดเพื่อนไปด้วย ถ้าเราขี้เกียจแล้วจะไป ก็จะเกิดความกลัวว่าเพื่อนจะว่าหรือโกรธเอาได้ ทีนี้เราก็ได้ไปออกกำลังกายบ่อยๆ เพราะจะพยายามรักษาเงื่อนไขนั้นไว้
ดร. โรเบิร์ตยืนยันเลยนะครับว่า การวิจัยในช่วงหลายปีมานี้ วิธีนี้ค่อนข้างทำให้การบังคับตัวเองได้ผล นักวิจัยอื่นๆที่สถาบันโพลีเทคนิคในเวอร์จิเนียร์เพิ่มเติมให้อีกว่า คนไข้ที่ให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรกับหมอ มักจะกินยาตามที่สั่งไว้ครบถ้วนกว่าคนไข้ที่ไม่ได้เขียนสัญญา
นี่คงเป็นเพราะ "เจ้าตัวรับผิดชอบ" ของมนุษย์ที่ผมพูดไว้ตอนต้นๆเป็นแน่ ที่ทำให้มนุษย์เราเกรงใจที่จะไม่กล้าผิดสัญญา
อ่าน งานวิจัยของคุณโรเบิร์ตชิ้นนี้แล้วได้ข้อสรุปว่า บางทีเราอาจทำสิ่งต่างๆให้ลุล่วงดังตั้งใจได้ด้วยการฝึกฝน หลายครั้งในหน้านี้ผมเคยเขียนถึง "แรงใจ" ในการที่จะมุมานะทำการสิ่งใดของมนุษย์เรา แต่วันนี้เรากำลังพูดถึง "แรงฝึก" เพียงคำเดียว
หาก "แรงใจ" เป็นเชื้อเพลิงอันพิสุทธิ์ "แรงฝึก" น่าจะเป็นออกซิเจนให้การสันดาปนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คัดลอกมาจาก "กบเหลาดินสอ"
ประภาส ชลศรานนท์

ไม่มีความคิดเห็น: