วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

ชอล์กแท่งเดียว

ชอล์กแท่งเดียว

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์


(จดหมายจากผู้อ่าน)

ถึงคุณประภาส

ขอ แสดงความชื่นชมไปยังรายการคุณพระช่วย ที่นำเรื่องไทยๆ มาเสนอ ดูครั้งใดก็รู้สึกรักและภูมิใจในความเป็นไทยทุกครั้ง แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ให้เด็กมาแสดงดนตรีแข่งขันกัน แล้วให้คณะกรรมการตัดสินว่าใครแสดงเก่งกว่าใคร เป็นส่วนของรายการที่ดิฉันรู้สึกว่าไม่แสดงออกถึงความเป็นไทย

ขอ อนุญาตมองต่างมุม แม้ว่าเพื่อนหลายคนของดิฉันที่ดูรายการนี้เช่นกันจะบอกว่าชอบช่วงนี้ ดิฉันมีความรู้สึกว่าดนตรีไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน ดนตรีไม่ใช่กีฬาที่จะวัดกันได้ด้วยความเร็วหรือพละกำลังว่าใครมีแรงหรือร่าง กายที่เหนือกว่า ดนตรีเป็นเรื่องของความกลมกลืน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของความเป็นไทย ดิฉันคิดว่าบรรพบุรุษของเราไม่เคยมีสังคมที่มีการแข่งขัน การแข่งขันเป็นเรื่องของชาวตะวันตกมากกว่า คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อและแบ่งปันมาช้านาน ดิฉันชื่นชมที่รายการนำเยาวชนมาเล่นดนตรีไทย เพราะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยสนใจดนตรีมากขึ้น แต่ให้มาแสดงร่วมกันน่าจะแสดงความเป็นไทยได้ดีกว่าให้มาแข่งขันกันเพื่อมี ผู้แพ้ผู้ชนะ

กาญจนา แก้วท่อน

---------------------------------------------------------

พี่จิกตอบ....

ต้องยอมรับว่าเป็นความเห็นแบบที่ผมไม่เคยได้ยินและไม่นึกว่าจะได้ยินมาก่อน

ฟัง ประโยคข้างบนแล้วอย่ามองเป็นว่าการดูแคลนหรือประชดประชันนะครับ ผมสนใจความเห็นที่คุณกาญจนาแสดงออกมาอย่างยิ่ง เพียงแต่ผมไม่เคยคิดมุมนี้มาก่อน ก็เลยแปลกใจ แต่น่าสนใจครับ

ประเด็น แรก "เรื่องสังคมไทยของบรรพบุรุษเราไม่ใช่สังคมของการแข่งขัน แต่เป็นสังคมของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากกว่า" คุณกาญจนาตั้งกระทู้ไว้อย่างนี้

จริงหรือเปล่าผมไม่ขอฟันธง ไม่ว่าจะธงคัดค้านหรือธงสนับสนุน

ถ้า จะค้านจริงๆ ผมก็คงต้องยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมาเล่าถึงการแย่งชิง บัลลังก์ของกษัตริย์ในช่วงเวลาหนึ่งในสมัยอยุธยา นึกออกไหมครับราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุโขทัย ยอมกันเสียที่ไหน สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์กันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในช่วงนั้น หนังเรื่องสุริโยไทที่ท่านมุ้ยสร้าง ก็จับประเด็นการแก่งแย่งกันของญาติโกโหติกามาเป็นแก่นของหนัง

ครั้น จะบอกว่าการแข่งขันมีเฉพาะชนชั้นปกครองก็คงไม่ถูกนัก เพราะระดับไพร่พลก็ต้องมีคัดตัวเพื่อมารับใช้เจ้านาย มีการเฟ้นหาหัวหมู่ นายกอง จนมาถึงระดับแม่ทัพ

ที่ใดก็ตามที่มีการคัดเลือก ที่นั่นย่อมมีการแข่งขัน

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็มองเห็นว่าการแข่งขันคือการคัดเลือก และการคัดเลือกก็คือการอยู่รอด

ที่ ผมบอกว่าจะไม่ฟันธงค้านคุณกาญจนาทั้งหมดก็เพราะประโยคที่คุณกาญจนาบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคมเอื้อเฟื้อ อันนี้ผมเห็นด้วยยิ่งกว่าเห็นด้วย น้ำปลา มะนาว กระเทียม ใครมีใครขาดเราก็แบ่งกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด คนไทยหวงที่ไหนเรื่องกินเรื่องอยู่

แต่ ผมว่าการเอื้อเฟื้อมันเป็นคนละเรื่องกันกับการแข่งขัน นอกจากนั้น มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันด้วย ที่สำคัญมันสามารถอยู่ร่วมกันได้

เด็กชายบีกำลังจะเข้าห้องสอบเพื่อคัดเลือก ดันลืมเอาดินสอมา เด็กชายซีเอาดินสอมาจากบ้านหลายแท่ง ก็เลยแบ่งให้เด็กชายบีไปหนึ่งแท่ง

ธง ชัยกำลังจะเดินทางไปแข่งกอล์ฟเพื่อเทิร์นโปร ซึ่งปีนี้รับจำนวนน้อย ระหว่างออกรถก็มองเห็นถาวรเพื่อนนักกอล์ฟที่กำลังจะไปเทิร์นโปรเช่นกันยืน โบกรถแท็กซี่อยู่ ธงชัยจึงแวะรับถาวรเดินทางไปด้วยกัน

วงดนตรีโมเดิร์นดิ๊กชนะประกวดวงดนตรีร็อคให้สัมภาษณ์ว่า นี่ถ้าวงนาโนไม่ให้ยืมสายเสียบแอมป์กีตาร์ วงเขาก็คงไม่ได้ประกวด

ฯลฯ

การแข่งขันมันเป็นเรื่องของเกณฑ์ของกติกา แต่ความอารีนี่มันเป็นเรื่องของใจ ไม่มีเกณฑ์ใดๆ มาบังคับ แล้วคนไทยก็เป็นอย่างที่คุณกาญจนาว่า คือเราโอบอ้อมอารีกันมาช้านาน

แต่ขอเติมอีกประโยคด้วยว่า หากต้องแข่งเราก็แข่งเต็มที่

ส่วนเรื่องที่คุณกาญจนาท้วงว่า ดนตรีไม่น่าจะต้องมาแข่งกัน น่าจะร่วมมือกัน อันนี้ผมก็คงต้องใช้ประโยคเดียวกันว่า "การแข่งขันและการร่วมมือมันอยู่ด้วยกันได้"

สังเกต ดีๆ สิครับ ในช่วงคุณพระประชัน ที่เด็กๆ ลูกหลานไทยมาประชันดนตรีกันนั้น หลายครั้งเขาต้องร่วมเล่นเพลงเดียวกันในเวลาเดียวกัน เล่นพร้อมกันบ้าง ผลัดกันเล่นบ้าง โยนไปมาหยอกล้อบ้าง นี่แหละครับที่ผมว่าคือการร่วมมือ

เพลงแต่ละเพลงมันมีชีพจรของมันอยู่ ใครขืนไม่ร่วมมือ เล่นนอกชีพจร เพลงก็พัง ให้กรรมการฟังเขาก็ฟังออกว่าใครทำพัง

ถ้าคุณกาญจนาได้ดูหนังเรื่องโหมโรงของคุณอิทธิสุนทร ก็คงจะนึกออกว่า ทั้งศรและขุนอินต้องเล่นเพลงต่อเนื่องกัน

นั่นคือต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน คือ ทั้งร่วมมือ ทั้งแข่งขัน

ผม เคยไปดูการบันทึกเทปรายการคุณพระช่วยอยู่บ้าง นอกจากฉากที่สวยแบบขลังๆ แล้ว ผมยังชอบบรรยากาศอยู่สองอย่างในช่วงคุณพระประชันนี้ อย่างแรกเป็นเรื่องน่าแปลกที่ผมเห็นเด็กที่มาประชันมักแสดงฝีมือได้ดีกว่า ตอนซ้อม เป็นไปได้ไหมครับที่การแข่งขันเกิดส่งผล อะไรสักอย่างกับความสามารถของเขา เหมือนกับว่ามันได้รีดเอาความสามารถสุดยอดออกมาจนหมดเมื่อต้องเผชิญกับคู่ แข่ง

โอลิมปิคก็เคยรีดความสามารถสุดยอดของสาวไทยคนหนึ่งในการยกน้ำหนักจนโลกทึ่งมาแล้ว

แม้ จะมีผู้แพ้ผู้ชนะ มีน้ำตามีรอยยิ้ม และมีความกดดัน แต่การแข่งขันก็มักสร้างสิ่งที่นึกไม่ถึงให้กับมวลมนุษย์มาตลอด ผมคิดอย่างนั้นนะครับ

ถ้าไม่มีการประชัน ศรจะค้นพบทางระนาดของตัวเองไหม

ถ้าไม่มีพีจีเอทัวร์ เราจะได้เห็นยอดมนุษย์อย่างไทเกอร์ วู้ดส์ ไหม

เปเล่ ซีดาน มาราโดน่า คันโตน่า จะแสดงความสามารถสุดยอดออกมาไหม

ฯลฯ

บรรยากาศ อีกอันที่ผมชอบในช่วงคุณพระประชันก็คือ ช่วงที่ครูบาอาจารย์ที่มาเป็นกรรมการนั่งฟังเด็กๆ ที่มาประชันอย่างใจจดใจจ่อ แล้วก็จับชอล์กขึ้นเขียนคำติติงหรือคำชมเชยบนกระดานดำ เพื่อที่จะได้บอกกล่าวแก่เด็กๆ หลังจากจบการประชัน ผมนั่งดูอยู่ในโรงถ่ายตอนบันทึกเทปทีไร ผมก็แอบมองภาพนั้นด้วยความชื่นใจทุกครั้ง

รอยชอล์กที่อยู่บนกระดาน คือสัญลักษณ์แห่งความโอบอ้อมอารีของคนเป็นครูอย่างแท้จริง

พูดถึงชอล์ก มีเรื่องราวของชอล์กแท่งหนึ่งจะเล่าให้ฟังครับ

ปี พ.ศ.2455 ชาร์ลส์ ชวาป ได้เข้ามาบริหารบริษัทผลิตเหล็กกล้าคาร์เนกี้ในอเมริกา ในขณะที่บริษัทอยู่ในสภาพย่ำแย่ การผลิตตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะปริมาณการหลอมเหล็กกล้าที่ได้น้อยลงจนไม่ได้ดุลกับค่าใช้จ่าย ฐานะของบริษัทจึงเริ่มง่อนแง่น

เย็นวันหนึ่ง ชวาปเดินเข้าไปในโรงงานเพื่อพูดคุยกับหัวหน้าคนงานถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

" ผมพูดไปไม่รู้กี่ครั้ง คนงานใช้แรงงานก็อย่างนี้แหละครับ เรื่อยๆ เอื่อยๆ คิดไม่เป็น ถึงขั้นด่าพ่อด่าแม่ผมก็ทำมาแล้ว ก็ไม่เห็นพวกเขาจะขยันขึ้นเลย" หัวหน้าคนงานตอบชวาป

ในตอนนั้นเป็น เวลาที่คนงานกะกลางวันกำลังจะเลิกงาน และคนงานกะกลางคืนกำลังจะเข้าเวรแทน ชวาปเอ่ยปากขอชอล์กแท่งหนึ่งจากหัวหน้าคนงาน "วันนี้พวกคุณหลอมเหล็กได้เท่าไร"

"6 ตัน" หัวหน้าคนงานตอบ

ชวาปเอาชอล์กเขียนตัวเลข 6 ขนาดใหญ่ลงไปที่พื้น แล้วเดินกลับไป

ขณะที่หัวหน้าคนงานกำลังยืนงงอยู่ คนงานกะกลางคืนก็เริ่มทยอยกันมาเข้าเวร หลายคนสงสัยในเลข 6 ที่อยู่บนพื้น "มันคืออะไร"

" คุณชวาปเข้ามาถามว่าวันนี้หลอมเหล็กได้กี่ตัน อั๊วก็บอกไปว่า 6 ตัน คุณชวาปแกก็เลยเขียนเลข 6 ไว้ตรงนี้" หัวหน้าคนงานตอบพลางเกาหัวด้วยความงง

วันรุ่งขึ้นชวาปกลับไปที่โรงงาน เขาพบว่าเลข 6 ที่เขาเขียนไว้ที่พื้นได้ถูกคนงานกะกลางคืนลบออกไป และพวกเขาก็เขียนเลข 7 ลงแทนที่

เมื่อ คนงานกะกลางวันเดินทางมาเข้าเวร และเห็นเลข 7 อยู่บนพื้น พวกเขาก็รู้แล้วว่าคนงานกะกลางคืนหลอมเหล็กได้มากกว่าพวกเขา เย็นวันนั้น เลข 8 ก็ถูกเขียนทับเลข 7 ที่ถูกลบไปอีก

ไม่ถึงเดือน โรงงานเหล็กกล้าคาร์เนกี้ก็สามารถหลอมเหล็กได้วันละถึง 20 ตัน และเพียงผ่านไปไม่ถึงปี บริษัทก็กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจเหล็กกล้าของอเมริกา เงินเดือนและสวัสดิการของคนงานดีขึ้นจนบริษัทอื่นต้องอิจฉา

ชอล์กแท่งเดียวแท้ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: