วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ลิงกินข้าวโพด

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

คุณประภาส


เคยสงสัยว่าเวลาเกิดกระแสอะไรขึ้นมาสักเรื่อง ไม่ว่าจะแฟชั่น นักร้องหรือรายการทีวีนี่มันมาจากอะไร แล้วกระแสสร้างได้มั้ย แล้วทำไมเราถึงต้องตกไปอยู่ในกระแสทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ชอบแต่แรก

ไวท์เม้าส์
=========================================
สวัสดีพี่ประภาส

เลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว สนามกรุงเทพเที่ยวนี้สนุก แถวบ้านมีทั้งรูปนายกรูปคุณอภิสิทธิ์รูปคุณชูวิทย์ขึ้นประชันกัน มีคนชอบพูดว่าคนกรุงเทพฯเอาใจยาก ขี้เบื่อ ชอบของใหม่
พี่ประภาสคิดเหมือนเขามั้ย แต่เลือกตั้งในกรุงเทพฯทุกครั้งก็มีอะไรให้เซอร์ไพรส์อยู่เสมอ คนชนะมักได้คะแนนถล่มทลาย หรือว่ามันเป็นเทรนด์ คนกรุงเทพฯรับสื่อง่ายกระจายสื่อเร็วจะตาย ถ้าจะมีอะไรพลิกผันในอาทิตย์สุดท้ายได้ก็มักเกิดที่กรุงเทพฯ ถามคนแถวนี้แม้แต่พ่อค้ารถเข็นก็รู้สึกว่าเขาจะเลือกพรรคกันมากขึ้น ไม่รู้จะมีการแพ้ชนะกันถล่มทลายอีกมั้ย คุยเรื่องเลือกตั้งบ้างสิครับพี่

สมานมิตร

=========================================
สี่สิบปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ไปที่เกาะโคชิมา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเกาะที่มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก เพื่อทำการวิจัยอะไรบางอย่าง
และการวิจัยครั้งนั้นก็ได้ผลมาสนับสนุนทฤษฎีทางสังคมทฤษฎีหนึ่ง
วันนี้เรามาคุยกันเรื่องทฤษฎีไม้กระดก
ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Critical Mass ในหนังสือวิชาการบางเล่มแปลว่าตรงตัวว่า มวลวิกฤติ ฟังทะแม่งพิลึก ฟังแล้วคิดไปถึงอะตอมและความเร็วแสงนั่น
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า อย่างไรเสียการทดลองก็คงต้องกินเวลานานเป็นแน่ พวกเขาจึงเลือกที่จะทำการทดลองบนเกาะ เพราะต้องการควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับฝูงลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคน
เกือบหกปี กว่าผลจะออกมา
การทดลองเริ่มอย่างนี้ครับ นักวิทยาศาสตร์นำเม็ดข้าวโพดหวานไปหว่านไว้บนพื้นทราย ใครที่เคยไปเขาสามมุขหรือลพบุรีก็คงจะนึกออกว่า ลิงกับข้าวโพดนี่มันเข้ากันไปแพ้ลิงกับกล้วยเลย เจอของโปรดอย่างนี้ ฝูงลิงก็พากันมาเก็บเม็ดข้าวโพดกินกันอย่างเอร็ดอร่อย
จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่นักวิทยาศาสตร์จะหว่านเม็ดข้าวโพดไว้บริเวณที่มีทรายเท่านั้น เพื่ออะไรรู้ไหมครับ
ก็เพื่อให้เม็ดข้าวโพดเปรอะเปื้อนทรายละเอียด เวลาจะกินแต่ละทีก็ต้องคอยเอามือปัดออก หรือไม่ก็ต้องคอยบ้วนทรายออก หลังจากที่เอาเม็ดข้าวโพดใส่ปากไปแล้ว
แล้วก็มีลิงอยู่ตัวหนึ่งอายุประมาณขวบกว่าที่ไม่ทำอย่างตัวอื่นเขา นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อมันว่า โอมิ แปลว่าอะไรผมก็ไม่สันทัดเสียด้วย
เจ้าโอมิมันฉลาดกว่าลิงตัวอื่น พอมันเก็บเม็ดข้าวโพดที่เปื้อนทรายได้ มันก็นำไปล้างน้ำที่ลำธารใกล้ๆ ก่อนแล้วจึงนำมากิน ไม่ต้องบ้วนไม่ต้องปัด
นักวิทยาศาสตร์ยังคงจับตาดูพฤติกรรมของลิงทั้งฝูงต่อไปว่าจะมีลิงตัวไหนเอาอย่างเจ้าโอมิบ้าง แล้วพวกเขาก็เริ่มเห็นพี่น้องของเจ้าโอมิ แม่ของเจ้าโอมิและเพื่อนลิงตัวน้อยๆบางตัวเริ่มทำตามอย่าง

เวลาผ่านไปหลายเดือน

มีลิงเพิ่มเพียงวันละตัวสองตัวเท่านั้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างข้าวโพด แล้วก็ไม่ใช่ว่าลิงทั้งฝูงจะไม่เห็นวิธีที่โอมิกับเพื่อนๆ ทำนะครับ เห็นครับแต่ไม่ทำตาม โดยเฉพาะกับลิงหนุ่มๆ หรือลิงที่มีอายุมากสักหน่อยนี่ไม่ยอมเปลี่ยนเลย
การทดลองดำเนินไปอย่างนี้อยู่เป็นปี นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเอาเม็ดข้าวโพดไปหว่านไว้บริเวณที่มีทรายทุกวันไม่มีขาด ฝูงลิงก็ยังคงมาเก็บข้าวโพดกินอย่างสม่ำเสมอ และถ้ามองด้วยสายตาก็สามารถแบ่งลิงออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ล้างเม็ดข้าวโพด กับกลุ่มที่ไม่ล้าง แม้ปริมาณลิงที่ล้างข้าวโพดจะเพิ่มจำนวนขึ้นจนเริ่มใกล้เคียงกับพวกที่ไม่ล้าง แต่ลิงที่เหลือก็ยังสมัครใจที่จะกินข้าวโพดด้วยวิธีเดิมๆ

แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจก็เกิดขึ้น

มันเกิดขึ้นภายในวันเดียว โดยไม่รู้จะอธิบายด้วยตรรกะง่ายๆ อย่างไรดี เช้าวันนั้นมีลิงวัยรุ่นตัวหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมไปล้างเม็ดข้าวโพดอย่างเจ้าโอมิเข้า แล้วบ่ายวันนั้นลิงทั้งฝูงก็เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างเม็ดข้าวโพดกันหมด
นักวิทยาศาสตร์สงสัยทันทีว่าเจ้าลิงตัวที่เปลี่ยนพฤติกรรมในเช้านั้น มันมีความสำคัญขนาดไหนกัน หลังจากที่ดูจากบันทึกและตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่ามันก็เป็นแค่ลิงธรรมดาตัวหนึ่ง ไม่ได้เป็นจ่าฝูงหรือเป็นลิงที่แข็งแรงดุร้ายกว่าตัวอื่นอย่างใด
แล้วทำไมฝูงลิงจึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปหมด

เจ้าของทฤษฎีนี้มีคำอธิบายครับ ลองฟังเขาดู

เมื่อในสังคมเกิดภาวะมวลวิกฤติ(Critical Mass) และเกิดจำนวนวิกฤติ (Critical Number) ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไรของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสังคม สังคมก็จะเริ่มยอมรับในพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และก็จะเกิดการตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในกลุ่มที่เหลือทั้งหมด

ฟังดูยากๆ นะครับ

ให้ผมนึกตามง่ายๆ ผมก็คงนึกถึงไม้กระดกที่เด็กๆ เขาเล่นกัน เวลาที่ฝั่งหนึ่งมีจำนวนเด็กมากกว่าจนมีน้ำหนักมากกว่าอีกฝั่ง ฝั่งที่น้อยกว่านอกจากจะกระดกลอยสูงแล้ว บางครั้งเราก็อาจจะเห็นเด็กฝั่งที่น้อยไหลมาสู่ฝั่งที่มาก จนกลายเป็นมาอยู่ฝั่งเดียวกันได้

ผมว่าพวกเราก็คงจะเคยเจอสภาพเช่นนี้ เพื่อนฝูงหกเจ็ดคนหาร้านอาหารจะไปกินกัน แรกๆ ก็ถกเถียงว่าร้านเจ๊อ้อยบ้าง ร้านอาโกบ้าง เถียงกันอยู่สักพักแล้วก็มีคนหนึ่งที่ไม่ได้คิดว่าจะไปกินร้านไหนเลยพูดขึ้นว่าไปกินเจ๊อ้อยดีกว่า จู่ๆ ทุกคนก็กลายเป็นเปลี่ยนมาเทใจให้กับร้านเจ๊อ้อยกันหมด

แล้วผมก็ตั้งคำถามครับ น้ำหนักสุดท้ายที่ย้ายข้างนี่ ผมชักอยากรู้ว่ามันจำเป็นต้องหนักกว่าอีกข้างหนึ่งไหม

ทฤษฎีนี้ตอบว่า ไม่เกี่ยวกับการเอียงข้าง น่าสนใจนะครับประโยคนี้

เขาเน้นไปที่จำนวนหนึ่งที่วิกฤต และไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นสัดส่วนเท่าไรของสมาชิกทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมากกว่าครึ่งด้วย

ถ้านึกภาพเป็นไม้กระดกอีกที ก็คงต้องเสริมเข้าไปว่า หากมีเด็กคนหนึ่งในฝั่งหนึ่งเกิดอยากเปลี่ยนข้าง เด็กที่เหลือทั้งหมดก็จะไหลตามไปอยู่อีกข้างหนึ่งทันที

ตอนที่แฟชั่นเสื้อคับออกมาใหม่ๆ ผมก็เห็นผู้คนออกมาวิจารณ์ทำนองเสียๆ หายๆ ดูไม่ออกเลยครับว่ามันจะมานิยมใส่กันทั้งประเทศอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร แต่รู้อย่างหนึ่งว่ามันใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะนิยมกันแพร่หลาย เพราะช่วงแรกๆ นี่ดูพิกลจริงๆ ผู้หญิงใส่คับน่ะไม่เท่าไรหรอก แต่ผู้ชายนี่สิผมว่าดูแปลกๆ

ใครจำได้บ้างครับว่าลิงตัวที่เปลี่ยนข้างมาใส่เสื้อคับคือใคร แล้วมันเกิดขึ้นตอนไหน

ไม่น่าเชื่อว่ามันสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ภายในช่วงเวลาสั้นๆ

การเลือกตั้งนี่ก็เหมือนกันครับ

นักวิเคราะห์การเลือกตั้งเขาก็รู้ทฤษฎีนี้ครับ เขาถึงว่าสัปดาห์สุดท้ายก็สามารถเปลี่ยนคะแนนมวลชนได้

ดังที่เราเคยได้เห็นมาแล้ว


ประภาส ชลศรานนท์

ที่มาของบทความ - มติชน วันอาทิตย์ หน้า 17 จากเวป Thaimung.com

ไม่มีความคิดเห็น: