วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

ทั้งงานทั้งเล่นล้วนเป็นอันเดียว - 13 มี.ค. 2548

ทั้งงานทั้งเล่นล้วนเป็นอันเดียว - 13 มี.ค. 2548

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์


ประภาสน้องรัก

ผม ได้อ่านบทความของประภาสเป็นระยะๆ ได้ประโยชน์และมุมมองต่อสภาพการณ์ต่างๆ รวมไปถึงทัศนคติที่ดีดีในเชิงบวก ทั้งของประภาสเองและของผู้อ่านที่ส่งมาลงในคอลัมน์คุยกับประภาส

เช้า วันอาทิตย์นี้ได้อ่านเรื่อง "ทำงานเพื่ออะไร" ในคอลัมน์ของประภาส บทความนี้ก็ชวนให้สะกิด สะท้อนความคิดบางประเด็นที่อยู่ในใจ และที่น่าประหลาดใจ จะโดยบังเอิญหรือเป็นการเลือกสรรของกองบรรณาธิการ ประเด็นเรื่องทำงานเพื่ออะไรนี่ บทความในคอลัมน์ของประภาส เชื่อมโยงกับประเด็นของหมอวิธาน ในคอลัมน์ "จับจิตด้วยใจ" ในมติชนฉบับเดียวกัน

ประเด็นที่ผมอยากขอเชื่อมโยงคือ คนเราทุกวันนี้แยกเรื่องงานเป็นงาน เล่นเป็นเล่น เที่ยวเป็นเที่ยวอย่างเด็ดขาด

เรา คงคุ้นเคยกับความคิดที่มักจะได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า เรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว นั้นเราต้องจัดการแยกออกจากกัน โดยเฉพาะในเรื่องการใช้เวลา เวลางานหมด ก็ต้องจบงาน เวลาวันหยุดเวลาพักผ่อนต้องไม่คิดเรื่องงาน เมื่อมองจากมุมของการใช้เวลา ก็น่าจะสอดคล้องถูกต้องดี เหมือนเวลาเข้าห้องน้ำย่อมทำกิจกรรมต่างจากเวลาที่เราเข้าห้องครัว

แต่ เป็นเพราะเราตอกย้ำ อาการแยกแยะระหว่างงานกับส่วนตัวออกจากกันจนสิ้นเชิงหรือเปล่า มันเลยทำให้เรารู้สึกแปลกแยกแตกต่างจากตัวงานกับตัวตนของเรา เรารู้สึกว่าตัวเราถูกผ่าออกเป็นชิ้นๆ ชิ้นหนึ่งทำหน้าที่อย่างหนึ่ง อีกชิ้นทำหน้าที่อีกอย่างเหมือนเครื่องจักรกล

ลองหยุดคิดดูสักนิด ว่าเราสามารถแยกตัวตนความรู้สึกนึกคิด ชีวิตของเราได้หมดจดเด็ดขาดได้เช่นนั้นจริงๆ หรือ

ตัวตนของเราที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำงานอยู่ที่ทำงาน ไม่ว่าเราจะทำด้วย

ความ รู้สึก ด้วยความคาดหวังใดๆ กับตัวตนของเราที่กำลังสรวลเสเฮฮากับเพื่อนฝูง หรือนั่งนอนทอดสายตาบนกราบเรือสำราญ แท้จริงแล้วเป็นตัวเป็นตนของคนคนเดียวกันมิใช่หรือ

ในช่วงเวลาส่วน ตัวยามพักผ่อน ตัวตนของเราเลือกที่จะเปิดรับความรู้สึกที่สุขสบายผ่อนคลาย จากสภาพแวดล้อมที่น่าพึงพอใจรอบตัวเรา ในยามเวลาทำงานตัวตนของเรายังสามารถเลือกที่จะทำงานที่เรารับผิดชอบที่เร่ง รัด ด้วยอาการผ่อนคลาย แม้จะไม่เหมือนกับยามพักผ่อนแต่คล้ายคลึงได้ ถ้าเราเลือกจะมอบอาการที่ว่านั้นให้ตัวเรา

ในประสบการณ์ที่ได้ทำ งานกับคนจำนวนมากมาเกือบยี่สิบปี ผมสังเกตเห็นคนที่เราทำงานด้วย รวมทั้งตัวเราเองว่าคนที่สามารถรับมือกับภาวะการทำงานแม้ในภาวะถูกกดดัน อย่างใจจดใจจ่อด้วยอาการผ่อนคลาย สามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายมากกว่า และยังสามารถรักษาอารมณ์อันดีให้กับตัวเอง พร้อมกับรักษาสัมพันธภาพกับคนรอบข้างได้อย่างปกติ

อาการจดจ่ออย่าง ผ่อนคลายที่ว่านี้ไม่ใช่ผ่อนหย่อนจนทำอะไรก็ได้ ไม่ใส่ใจ เรื่อยๆ เฉื่อยๆ แต่เป็นอาการผ่อนคลายโดยยังมีความกระตือรือร้นต่อสิ่งที่เราต้องทำอยู่ตรง หน้า ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสารกองโตหรือ ทิวทัศน์ทะเลสุดขอบฟ้า

ผม เห็นว่าทักษะที่สามารถนำตัวตนของเราให้จดจ่อกับกิจกรรมที่เราต้องทำอยู่ตรง หน้าอย่างกระตือรือร้น และยังผ่อนคลายไปพร้อมๆ กันนี้แหละ เป็นทักษะที่จะเชื่อมโยงชีวิตการงานกับชีวิตส่วนตัว ให้ไม่แปลกแยกจากกันเด็ดขาดอย่างที่หมอวิธานชี้

แต่ทักษะที่ว่านี้ ก็เหมือนทักษะอื่นๆ เหมือนการขี่จักรยาน ขับรถ วาดรูป ร้องเพลง คือต้องฝึกฝนจนคุ้นชินจนชำนาญ ทดลองทำบ่อยๆ และสังเกตการณ์ที่เกิดกับตัวเอง ว่าเราเป็นสุข เราพอใจจนเป็นปกติไหม

และบางทีทักษะที่ว่านี้กระมัง เมื่อเราทำจนเชี่ยวชาญแล้ว เราอาจจะ (อาจจะเท่านั้นนะ) พบว่าเราทำงานเพื่ออะไร

สุดท้ายนี้ก็ขอแบ่งปันมุมมองของผมกับประภาสไว้เท่านี้ ขออวยพรให้ประภาสสร้างสรรค์งานคิดงานเขียนดีๆ ให้ผู้คนได้สะกิดความคิดต่อไป


สมพล ชัยสิริโรจน์

=========================================
ผมโชคดีที่ได้รับจดหมายดีๆ อย่างนี้อยู่เสมอ

ต้อง ขอขอบพระคุณพี่สมพลรุ่นพี่ที่น่ารักตลอดกาล อุตส่าห์สละเวลาแบ่งปันความคิดดีๆ มายังพื้นที่ตรงนี้ ผมชอบความคิดเกี่ยวกับการทำงานและการพักผ่อนในแง่มุมของพี่สมพลมาก

ขยาย ความสำหรับท่านผู้อ่านสักหน่อย พี่สมพลเป็นรุ่นพี่ชาวจุฬาฯของผมครับ ท่านเรียนคณะอักษรศาสตร์ แก่กว่าผมรุ่นหนึ่ง ความทรงจำอันงดงามที่ยังแปะติดอยู่ในหัวใจแม้จะผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็คือ เมื่อครั้งผมและเพื่อนๆ ชาวสถาปัตย์ไปร่วมเล่นละครของคณะอักษรฯ

ถ้า จำไม่ผิด ครั้งนั้นผมกำลังเรียนอยู่ปี 2 ได้ยินข่าวการคัดเลือกนักแสดงละครของอาจารย์สดใส พันธุมโกมล เรื่องคนดีที่เสฉวน ด้วยกิตติศัพท์ของอาจารย์สดใส ผมและเพื่อนๆ จึงไปสมัครเล่นละครกันเกือบสิบคนได้ โชคดีที่เป็นละครที่ต้องใช้ตัวแสดงค่อนข้างมาก พวกเราจึงได้รับเลือกให้เล่นกันเกือบทุกคน เป็นตัวประกอบบ้างตัวเอกบ้าง

นับเป็นประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ครับ ละครครั้งนั้น

ได้ เห็นนักแสดงที่เก่งกาจอย่างครูแอ๋ว อรชุมา เห็นแกแสดงอยู่ใกล้ๆ เลยครับ ได้รู้จักกับท่านอาจารย์คณิต คุณาวุฒิ ผู้ออกแบบฉากละคร นับเป็นฉากที่ดูแปลกตาและสวยงามอย่างที่เด็กหนุ่มอย่างผมไม่เคยเห็นเหมือน กัน และก็ได้เจอฝรั่งชาวเยอรมันท่านหนึ่งมาทำเพลงประกอบละคร เห็นตอนนั้นผมยังงงเลยครับว่า ฝรั่งบ้าอะไรตีระนาดเป็นไฟเลย ฝรั่งคนนี้แกชื่อบรู๊ซ ใช่ครับ บรู๊ซ แก็สตันแห่งวงฟองน้ำอันลือลั่นทุกวันนี้นั่นแหละ

มานึกดูแล้ว ได้ไปเล่นละครเรื่องนั้นก็เหมือนได้ไปเรียนหนังสืออีกวิชาหนึ่ง สุดยอดครูบาอาจารย์ตั้งหลายท่านมาร่วมงานกัน แล้วก็มีพวกลิงทะโมนอย่างพวกผมไปเต้นแร้งเต้นกาอยู่บนเวที รู้กาละเทศะบ้างไม่รู้บ้างตามแต่แรงหนุ่มจะพาไป ผมไม่รู้หรอกครับว่าใครได้อะไรติดตัวกลับมาบ้าง แต่สำหรับผมแล้ว ผมยกให้ละครเรื่องนั้นเป็นมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งของผมเลยทีเดียว

นอก จากนี้แล้วผมยังได้รู้จักกับสาวๆ ชาวอักษรฯรุ่นเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าในคราวนั้นอาจจะมีเรื่องเกี้ยวพาราสีตามประสาสาวหนุ่มอยู่บ้าง แต่ทุกวันนี้พวกเราก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันอีกกลุ่มหนึ่ง เหมือนเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน เจอกันเมื่อไรคุณลุงคุณป้าสองคณะนี้ก็ได้รำลึกความหลังกันอย่างไม่รู้เบื่อ

ถึงตอนที่ต้องเล่าเกี่ยวกับประเด็นวันนี้แล้วละครับ ผมก็มัวแต่ลมหวนจนเพลิน

ตอน ที่ไปเล่นละครเรื่องคนดีที่เฉสวนนั้น เป็นช่วงที่พวกผมต้องทำแบบในวิชาสถาปัตย์ส่งอาจารย์ที่คณะ หรือที่พวกเราเรียกกันว่าโปรเจ็คต์ งานเขียนแบบนี่ต้องใช้เวลานานนะครับ บางชิ้นก็เป็นอาทิตย์ๆ เหมือนกัน อาจารย์สดใสท่านเห็นใจเกรงว่านักแสดงชาวสถาปัตย์จะเสียการเรียนเพราะต้องมา เล่นละครในวันเสาร์อาทิตย์ถึงวันละสองรอบ ท่านจึงเปิดห้องในอาคารโรงละครให้พวกผมนอนพักและทำโปรเจ็คต์อยู่ในนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางจากบ้าน

ความทรงจำอันสวยงามของละครเรื่องนี้ มันไหลยาวมาถึงเรื่องได้ไปทำโปรเจ็คต์สถาปัตย์ที่ตึกอักษรฯด้วยครับ

แล้ว อาจารย์ก็มอบหมายให้รุ่นพี่อักษรฯสองคนมาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลพวกผม ไม่ว่าจะขนมขบเคี้ยว ชากาแฟ ยากันยุง ที่หลับที่นอน หรือแม้กระทั่งคอยปลุกให้พวกผมตื่นไปทันเรียน พี่สองคนนี้ทั้งนั้นแหละครับ พี่คนหนึ่งชื่อพี่เล็ก ในวงการโฆษณาและวงการภาพยนตร์ทุกวันนี้ต้องรู้จักเธอเป็นอย่างดี คุณบุรณี รัชชัยบุณย์ ผู้กำกับหญิงมากฝีมือ ส่วนอีกท่านหนึ่งก็คือเจ้าของจดหมายฉบับข้างบนนั่นแหละครับ พี่สมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ

ต้อง ขอกราบขอบพระคุณพี่ทั้งสองไว้ตรงนี้อีกที คิดดูสิครับท่านผู้อ่าน ผมนั่งหลับคาโต๊ะเขียนแบบอยู่ ก็ได้พี่สมพลนี่แหละครับมาปลุกให้ไปนอนในมุ้ง นึกกลับไปแล้วก็พบว่าชีวิตช่วงนั้นสนุกดีแท้ แม้จะดูยุ่งๆ เพราะต้องทำงานไปพร้อมๆ กันสองอย่าง แต่ก็ไม่ได้เคร่งเครียดอะไรกับมันทั้งสองอย่าง ทำไปอย่างสบายๆ โปรเจ็คต์นั้นผมจำได้ว่าผมได้คะแนนดีเสียด้วย ที่จำได้ก็เพราะนานๆ ผมจะได้คะแนนดีกะเขาสักทีหนึ่ง

หรือเป็นเพราะผมไม่ได้แยกตัวว่ากำลังทำโปรเจ็คต์ส่งอาจารย์อันหนึ่ง และกำลังเล่นละครอยู่อีกอันหนึ่ง

หรือ เป็นเพราะผมคิดว่าทั้งสองอันล้วนเป็นตัวตนเราโดยไม่ได้แยกแยะอะไร ผมทำมันไปด้วยความกระตือรือร้น และผ่อนคลายพร้อมๆ กันอย่างที่พี่สมพลพูด

ฮีโร่ของผมนี่เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด ไอน์สไตน์เคยเล่าไว้ว่า เขาคิดเรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพออกตอนที่นั่งทอดหุ่ยอยู่บนเนินเขา

งานกับเล่นเป็นอันเดียวกันอย่างแท้จริง

ประภาส ชลศรานนท์


ที่มาของบทความ - มติชน วันอาทิตย์ หน้า 17

ไม่มีความคิดเห็น: