วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

"เรื่องราวบนแผ่นไม้"

คุยกับประภาส มติชนหน้า 14 ประจำวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2543
"เรื่องราวบนแผ่นไม้"

วันนี้ต้องขออนุญาตผ่านผู้อ่านเขียนถึงเรื่องราวที่ค่อนข้างอยู่ในแวดวง ใกล้ตัวสักวัน อย่าว่าผมเลยนะครับ สัปดาห์ที่ผ่านมานี่ใจมันยังไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไหร่

เรื่อง "คอนเสิร์ตเฉลียง เรื่องราวบนแผ่นไม้" ครับ

คนที่ไม่รู้จักเฉลียง หรือรู้จักห่างๆ ก็ขอให้คิดเสียว่าฟังผมเล่าเรื่องส่วนตัวเพลินๆ สักวันก็แล้วกัน คอนเสิร์ตเพิ่งแสดงจบไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่หอประชุมธรรมศาสตร์ เป็นคอนเสิร์ตสั่งลาของเฉลียง ถือเป็นการรวมตัวกันครั้งสุดท้ายของคนดนตรีกลุ่มนี้ครบทุกคนอย่างแท้จริงก็ ได้

น้ำตาซึกกันถ้วนทั่วทั้งหอประชุมครับงานนี้ รวมทั้งตัวผมเองด้วย โดยเฉพาะในรอบสุดท้าย

คนเรานี้ก็แปลกนะครับ จะว่ารู้จักกันเป็นการส่วนตัวก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นญาติโกโหติกาก็ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ แต่ความที่ผูกพันทางเสียงเพลงทางตัวหนังสือกันมาแสนนาน พอรู้ว่าจะไม่มีภาพอย่างนี้ให้เห็นอีก ก็เกิดอาการใจหายขึ้นมากะทันหันทั้งคนดูคนเล่น

ไม่มีใครตั้งตัวเพื่อจะเศร้ามาก่อนเลยครับ ด้วยความสัตย์จริง

น้องคนหนึ่งถามผมว่า ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ทั้งๆ ที่นักร้องนักดนตรีเฉลียงก็ไม่ใช่ขวัญใจวัยรุ่นอะไร คนดูส่วนใหญ่ก็เลยวัยรุ่นมาแล้ว และเวลานี้เองก็ไม่ใช่เวลาที่เฉลียงและเพลงเฉลียงอยู่ในกระแสนิยมแต่อย่างใด

ทำไมอยู่ดีๆ จึงรู้สึกอาลัยขึ้นมาอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่เฉลียงทุกคนก็หยุดบทบาททางดนตรีในนาม "เฉลียง" ไปตั้งนานแล้ว และเกือบทุกคนก็ยังมีงานดนตรีในชื่ออื่นๆ อยู่ไม่เคยขาดช่วง

ผมบอกน้องคนนั้นไปว่า น่าจะเป็นเพราะ "แรง" ที่ผู้คนส่งให้กันในหอประชุมมันเยอะมาก ใครอยู่ในนั้นอย่างไรก็ต้องรับได้

"แรง" ที่ผมว่านั้นผมไม่ได้หมายความถึง "แรง" เหมือนอย่างที่เราใช้ยกของหรือผลักประตูนะครับ

มันเป็น "แรง" ที่มนุษย์ส่งผ่านให้กัน โดยส่งผ่านทางไหนก็ได้ ผมมักจะพบ "แรง" พวกนี้อยู่เสมอในโรงละครในหอประชุมหรือในสนามกีฬา

คงเคยนะครับเวลาที่เราไปฟังนักพูดบางคน หรือวงออร์เคสตร้าบางวงเล่น แรงที่พวกเขาส่งมาหาคนดูมันมีพลังให้เรารู้สึกอะไรมากมาย ทีนี้พอความรู้สึกของเราถ้ามันมีมากพอ มันจะส่งกลับไปบนเวทีโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องปรบมือ ไม่ต้องส่งเสียงอันใดก็ได้ แต่เชื่อไหมครับว่าคนบนเวทีก็สามารถรับ "แรง" นี้ได้

สมัยที่ผมเล่นละครเวที รอบที่คนเล่นจะแสดงได้ดีเป็นพิเศษมักจะเป็นรอบที่คนดูมีปฏิกิริยากับละคร นั้นมากกว่ารอบอื่น "แรง" ที่ว่าแบบนี้คนที่รักกันหรือเกลียดกันก็สัมผัสมันได้โดยไม่ต้องออกปาก หรือทำหน้าตาให้เห็นเลย จริงไหมครับ

มีปรากฏการณ์เล็กๆ ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งมีคนเคยถามผมอยู่เหมือนกัน แล้วผมก็เอาเรื่อง "แรง" นี้แหละครับอธิบายเขาไป คำถามเขาถามว่าทำไมเวลามีคนแอบมองเราแล้วเราถึงรู้ได้ทั้งๆ ที่เราก็มองไม่เห็น ผมก็เลยบอกเขาไปว่า คนแอบมองเราเขาไม่ได้มองเปล่าๆ นี่ครับ เขาส่งความรู้สึกอะไรบางอย่างมาด้วย

เคยแอบมองใครสักคนไหมครับ "แรง" ที่ส่งไปโดยไม่รู้ตัวจะทำให้คนที่ถูกเราแอบมองรู้สึกได้ และหันกลับมามองเรา

และด้วย "แรง" อันนี้นี่เองที่ทำให้คนทั้งหอประชุมธรรมศาสตร์มีความรู้สึกร่วมกันอย่างไม่ คาดคิดมาก่อน ท่านผู้อ่านที่ไปดูคอนเสิร์ตจะนึกออกว่า ทั้งๆ ที่ก็เพิ่งหัวเราะมาอย่างหนักกับนิทานในคอนเสิร์ตอยู่เลยนี่นา ทำไมมาน้ำตาซึมตอนจบ

ในคอนเสิร์ตนี้ผมพบผู้คนมากมายทั้งแฟนเพลงและคนรู้จัก มีคำถามหลายคำถามถามผมขณะที่ทักทายกัน ขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังครับ มีคนหนึ่งถามผมว่า ผมตั้งใจเขียนเพลง "เรื่องราวบนแผ่นไม้" ให้คนฟังร้องไห้หรือ

พูดไม่ออกตอบไม่ได้เลยครับในตอนนั้น รู้สึกตัวเองเหมือนเป็นจำเลยอย่างไรไม่รู้ ผมว่าเรื่องอย่างนี้ต่อให้ตั้งใจให้เป็นยังทำยากเลยครับ

เพลงทุกเพลงที่เขียนผมรู้สึกอย่างไรผมก็เขียนไปอย่างนั้นครับ

แต่ถ้ามันไปแตะบางส่วนของจิตใจของใครเข้า ก็ขอให้รู้ไว้เลยว่า ก่อนหน้านั้นมันได้อาบด้วยจิตใจผมจนชุ่มโชกแล้ว

อย่างที่ผมบอกไปที่ไหนสักแห่ง วันนี้ที่ผมกลับมาฟังเพลงเฉลียง บางอารมณ์ผมก็ไม่รู้สึกเลยว่าเป็นเพลงที่ผมเขียนหรือเป็นเพลงที่เพื่อนๆ ของผมร้องบรรเลงกัน บางวินาทีผมกลับรู้สึกว่า "ปรากฏการณ์เฉลียง" ไม่ได้ถูกสร้างโดยผมหรือเพื่อนนักดนตรีของผมบนเวทีทั้งเจ็ดคนเลย มันถูกสร้างโดยคนหลายคนอีกมากมาย โดยเฉพาะคนฟัง คนฟังนั้นแหละครับคือ "แรง" อันยิ่งใหญ่ สิ่งที่คนสร้างนั้นมันใหญ่กว่าคนเยอะ

อีกคำถามหนึ่งถามผมว่า ทำไมเฉลียงถึงเพิ่งมาสั่งลากันตอนนี้ ตั้งใจจะสร้างกระแสหรือเปล่า คำถามนี้ผมไม่ได้ยินด้วยตัวเองนะครับ มีคนนำมาเล่าอีกทีหนึ่ง

ก็คงต้องตอบว่าไม่รู้จะสร้างไปทำไมไอ้กระแสนี่ เทปก็เลิกออกมาขายตามแผงตั้งนานแล้ว สร้างไปก็ไม่เห็นจะก่อประโยชน์อันใด ทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติครับ ถ้าตั้งใจหรือวางแผนก็คงจัดคอนเสิร์ตสั่งลาไปตั้งแต่พวกเขาเลิกวงใหม่ๆ แล้ว ทุกอย่างมันลอยไปตามลมไม่ได้วางแผน ไม่ได้ตั้งใจ

ลอยไปตามลมเหมือนขนนกที่ลอยละลิ่วในฉากแรกของหนังเรื่อง ฟอเรสกั๊มพ์ นั่นแหละครับ

คำถามต่อมา คนถามเพิ่งมาดูคอนเสิร์ตของเฉลียงเป็นครั้งแรก เขาถามว่าทำไมเขาจึงรู้สึกอาลัยอาวรณ์เหมือนคนที่รู้จักกันมาแสนนาน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเขาก็เพียงแค่ฟังเพลงของเฉลียงมานานแล้วเท่านั้นเอง ผมไม่ได้ตอบเขาในตอนนั้นเลย แต่จะตอบในตอนนี้ว่า ผมว่านี่ไม่ใช่คำถามครับ มันน่าจะถูกนับเป็นคำตอบเลยด้วยซ้ำว่า คนเรานั้นอาจรู้สึกผูกพันกับตัวหนังสือหรือเสียงดนตรีได้มากมาย

ผมนั้นอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสอยู่หลายเล่มทั้งงานเขียนของท่าน ทั้งการตีความปริศนาธรรมของท่าน ทั้งบทสนทนาธรรมของท่าน

ผมจะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าอยู่ใกล้ชิดท่าน ใกล้ชิดเหมือนตัวเองเป็นเด็กวัดที่วิ่งเล่นอยู่ใต้กุฏิท่าน ได้ยินเสียงท่านสั่งสอนผู้คนบนกุฏิอยู่เนืองๆ

ในชีวิตผมไม่เคยพบท่านแม้แต่ครั้งเดียว แต่วันที่หนังสือพิมพ์พาดหัวว่าท่านพุทธทาสละสังขารแล้ว ผมร้องไห้เป็นเผาเต่าเลยครับ

อีกคำถามหนึ่งถามว่า จนคอนเสิร์ตสุดท้ายแล้วทำไมผมไม่ขึ้นเวทีไปร่วมร้องเพลงกับเฉลียงสักที ผมบอกเขาไปว่า ผมเริ่มต้น "เฉลียง" ด้วยการเป็นคนเบื้องหลัง ถึงวันสุดท้ายผมก็ยังอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่จะว่าไปแล้วในเหตุผลที่ลึกที่สุดของผมที่อยากจะบอกก็คือ ผมอยากเห็น "เฉลียง" แสดงจนวินาทีสุดท้ายของคอนเสิร์ตนี้เหมือนที่ผมเห็นมาตั้งแต่วันแรกผมคิดว่า ผมเป็นคนดูของเฉลียงจริงๆ ก็เท่านั้นเอง

แต่ในที่สุดผมก็ต้องขึ้นไปบนเวทีในรอบสุดท้ายของการแสดง ผมถูกนิติพงษ์ เรียกขึ้นไปบนเวทีตอนที่คอนเสิร์ตเลิกแล้ว แต่เนื่องจากคนดูยังไม่ยอมออกจากหอประชุม

นิติพงษ์เรียกผมเหมือนที่เขาเคยเรียกไปร่วมวงเหล้าตอนเป็นน้องใหม่ สถาปัตย์ด้วยกัน มันกันเองมากต่อหน้าสาธารณชน มากเสียจนผมคิดถึงอดีตอันหอมหวาน

มีคำถามหนึ่งถามผมหลังจากนั้นว่าผมคิดอะไรอยู่หรือตอนมองกลับมาที่คนดู

ผมคงจะไปแสดงท่าทางอะไรออกไปสักอย่างเป็นแน่ในตอนนั้น ถึงได้มีคำถามนี้เกิดขึ้นมา ความจริงผมรู้สึกอะไรอยู่อย่างหนึ่งจริงๆ ตอนที่มองมาที่คนดู แต่ไม่ได้พูดออกมาในเวลานั้น ผมเห็นอะไรรู้ไหมครับ

ผมมองเห็นเด็กน้อยสารภีของผมซึ่งโตเป็นคุณครูสารภีแล้วยืนปะปนอยู่กลุ่ม คนดู ผมรู้ว่าเธอและเพื่อนของเธอจะใช้แรงของพวกเธอช่วยกันดูแลประเทศของผมประเทศ ของพวกเธอต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: