วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ครูไหวลายมือหวัด

คอลัมน์ คุยกับประภาส
โดย ประภาส ชลศรานนท์

เรียนคุณประภาส

ดิฉันทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย ในแผนกมีผู้ช่วยสามคน หัวหน้าชอบมานินทาผู้ช่วยอีกสองคนให้ดิฉันฟังบ่อยที่สุด คือชอบพูดตำหนิผู้ช่วยอีกสองคนให้ฟังอยู่เรื่อยๆ
รู้สึกว่าหัวหน้าทำตัวไม่น่านับถือ คอยแต่มองเห็นข้อเสียของคนอื่น ข้อเสียของตัวเองกลับมองไม่เห็น เวลาทำงานดิฉันคิดว่าหัวหน้าใช้เวลาให้องค์กรไม่เท่าไหร่ แต่ใช้เวลากับการนินทาคนอื่นมากกว่า หลายครั้งดิฉันนึกขำ ที่หัวหน้ามาสอนให้ดิฉันหัดวางตัวให้เป็นผู้ใหญ่ เช่นไม่ควรเอาเรื่องของเพื่อนร่วมงานมาพูดให้อีกคนหนึ่งฟัง แล้วก็ตำหนิผู้ช่วยอีกคนว่าชอบพูดเรื่องคนอื่น ระหว่างที่พูดหัวหน้าคงลืมว่าตัวเองก็กำลังพูดถึงคนอื่น
เจอหัวหน้าอย่างนี้ ดิฉันควรทำตัวยังไงดีคะ เพื่อนๆ ชอบยุให้ดิฉันผสมโรงไปด้วยเลย
Gift Box

"เข้มงวดต่อผู้อื่น แต่ละเลยตัวเอง คือโรคประจำตัวของผู้คนส่วนใหญ่"
ประโยคข้างต้นนี้ กว่อไท้ นักเขียนชาวจีนเคยกล่าวไว้
ถ้าให้เทียบภาษิตไทยแบบชาวบ้านๆ ก็น่าจะตรงกับประโยคนี้ที่สุด "ตดคนอื่นเหม็นเบื่อเราเหลือทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร" ผมเห็นครั้งแรกตอนเพิ่งอ่านหนังสือออกใหม่ๆ เขียนติดไว้หลังรถบรรทุก
มีเรื่องที่ไม่น่าสงสัยเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยมาตลอด ไม่รู้มีใครเป็นอย่างผมบ้าง
เวลาคนเราดูหนังดูละคร ไม่ว่าใครก็ตามก็ต้องเข้าข้างพระเอกนางเอกทุกคน ยิ่งตอนผู้ร้ายจะมาทำอะไรพระเอกเราก็มักจะเอาใจช่วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเงียบๆ หรือทำร้ายเอาซึ่งๆ หน้า คนดูบางคนถึงกับออกอาการเชียร์ส่งเสียงออกมาเลย นักแสดงบทร้ายๆ หลายคนในโทรทัศน์ถึงกับถูกเกลียดชังจากแม่ค้าในชีวิตจริง
ในหนังในละครพระเอกนางเอกมักเป็นคนดีเป็นคนเสียสละ ทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควรตามครรลองคลองธรรม ส่วนผู้ร้ายนางอิจฉาก็จะเห็นแก่ตัวกันไปต่างๆ นานา
แล้วผมสงสัยอะไรหรือครับ ท่านผู้อ่านบางท่านก็คงเริ่มสงสัยผม
ผมสงสัยว่าในเมื่อคนเราทุกคนชื่นชอบสิ่งที่พระเอกนางเอกทำ และชิงชังความเห็นแก่ตัวที่ผู้ร้ายแสดงออกมา แต่ทำไมสังคมเรายังมีคนเห็นแก่ตัวอยู่ หนักกว่านั้นผู้ร้ายก็มีอยู่มากมายจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานกันอย่างหนัก
ตรงนี้น่าสนใจนะครับ เพราะแม้แต่ในคุก นักโทษที่ต้องโทษด้วยคดีปล้นจี้ หรือเอาให้ร้ายแรงถึงคดีฆ่าคนตายก็เถอะ ถึงตอนเวลาดูละครโทรทัศน์ที่เขาฉายให้ดูในคุกนี่ พวกเขาก็เชียร์พระเอกนะครับ พวกผู้ร้ายหรือนางอิจฉานี่ถูกนักโทษด่าเอาเสียๆ หายๆ ทั้งนั้น ผมเคยถามพัศดีมาแล้ว
หรือเพราะคนเราชอบที่จะมองเห็นความผิดของคนอื่น โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็ทำอยู่
คนที่บวชเป็นพระสงฆ์ ซึ่งต้องเรียกได้ว่าผ่านการฝึกพิจารณาตัวตนค่อนข้างมากก็ยังพลาดมองไม่เห็นความผิดของตัวเอง ดังที่เราเคยเห็นบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์
มีนิทานเซนเรื่องหนึ่งที่ตีหน้าผากเราให้หัวแล่นได้ดีเหลือเกินกับกรณีนี้
ในนิกายเซน มีการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า การเข้าสมาธิเงียบ วิธีการนั้นแสนง่าย นั่นคือให้นักบวชที่จะฝึกมานั่งในห้องเดียวกันแล้วก็ตั้งใจกันว่าจะไม่พูดอะไรเลยจนกว่าจะออกจากห้อง ต่อให้ข้ามวันข้ามคืนก็จะปิดปากสงัดอยู่อย่างนั้น
นิทานเรื่องนี้เริ่มเล่าว่า มีพระ 4 รูปกำลังจะนั่งสมาธิเงียบกัน
ทั้งสี่รูปมีเพียงรูปเดียวที่เป็นพระบวชใหม่ ส่วนอีก 3 รูปล้วนเป็นพระแก่พรรษา เมื่อเป็นดังนั้น พระบวชใหม่ที่อายุน้อยที่สุดจึงได้รับหน้าที่ให้ดูแลตะเกียงที่จุดไว้ในห้องทำสมาธิ
พระทั้งสี่รูปนั่งขัดสมาธิล้อมวงรอบตะเกียงดวงนั้น แม้จะมีลมพัดผ่านเป็นพักๆ แต่ความเงียบก็ปกคลุมห้องนั้นนานแสนนาน
ไม่มีเสียงใครเอ่ยออกมาเลย ทุกรูปเคร่งครัดในการทำสมาธิอย่างมาก
ค่อนคืนผ่านไป น้ำมันในตะเกียงเริ่มเหลือน้อยลง พระบวชใหม่คอยหรี่ตาดูอยู่ตลอดว่า น้ำมันตะเกียงจะมีพอเพียงจนถึงเช้าหรือไม่
ระหว่างที่กำลังลังเลว่าจะเดินไปเอาน้ำมันตะเกียงมาเติมใหม่ดีไหม ก็มีลมพัดกรรโชกเข้ามาจนทำให้เปลวไฟหรี่ลงจนเกือบดับ พระบวชใหม่เห็นเข้าก็ร้อนใจ แต่ไม่รู้จะทำฉันใดเพราะหากพูดอะไรออกไปก็เหมือนตัวเองทำผิดในห้องทำสมาธิ
แล้วลมก็พัดในห้องอีก เปลวไฟสั่นไหวไปตามแรงลม
จิตของพระบวชใหม่กลับไหวกว่า
"แย่แล้ว ตะเกียงจะดับแล้ว" พระบวชใหม่อุทานเสียงหลง
เสียงนั้นทำลายความเงียบไปทันที พระอีกรูปหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ใกล้พระบวชใหม่ลืมตาขึ้น แล้วก็เอ่ยปากตำหนิพระน้องใหม่
"ท่านไม่รู้หรือว่าเรากำลังทำสมาธิเงียบอยู่ ท่านส่งเสียงอย่างนี้หลุดสมาธิหมด" พระอาวุโสที่นั่งข้างพระบวชใหม่พูดขึ้นทั้งที่ตายังหลับ
พระบวชใหม่ได้ยินดังนั้นก็ก้มหน้านิ่งไม่พูดอะไร พระอาวุโสที่เพิ่งตำหนิพระบวชใหม่ไป ก็ลืมตาขึ้นแล้วก็เริ่มตำหนิต่อทำนองว่าถ้าจิตยังไม่นิ่งพอที่จะเข้ามาในห้องนี้ก็ไม่ควรเข้ามา ตำหนิไปยังไม่ครบประโยคดี พระอาวุโสที่นั่งถัดไปอีกที่หนึ่งก็ส่งเสียงขึ้น
"ท่านเองก็ส่งเสียงเอะอะอยู่" น้ำเสียงนั้นบ่งบอกถึงความไม่พอใจ "มัวแต่ว่าคนอื่น ตัวก็ทำเสียเอง แย่จริงๆ"
ถึงตอนนี้พระทั้งสามรูปต่างก็ถกเถียงกันเพื่อบอกเล่าเหตุผลที่ตัวเองต้องส่งเสียงออกมา พระบวชใหม่อ้างว่าตัวเองกลัวตะเกียงจะดับซึ่งจะทำให้สิงสาราสัตว์แถวนั้นเข้ามาในห้องได้ถ้าในห้องไม่มีแสงสว่าง พระรูปที่สองก็อ้างว่าที่เอ่ยปากพูดออกมาก็เพราะต้องการตักเตือนพระบวชใหม่ให้รู้จักระเบียบของการทำสมาธิเงียบ ส่วนพระรูปที่สามก็อ้างว่าหากไม่เอ่ยปากพูดอะไรออกมา พระรูปที่สองก็คงไม่รู้ตัวและก็คงส่งเสียงต่อไปอีกนาน
ระหว่างที่ถกเถียงกันอยู่นั้น พระรูปที่สี่ที่เป็นพระอาวุโสที่สุดกลับนิ่งเงียบไม่พูดอะไร
ครั้นเวลาผ่านไป พระทั้ง 3 รูปที่ถกเถียงกันว่าใครเป็นคนผิดที่ส่งเสียงในห้องทำสมาธิก็เริ่มเงียบเสียงลงด้วยความเหนื่อยหน่ายใจของทุกรูป หลังจากนั้นไม่นานพระทั้ง 3 รูปก็หลับตาลงเพื่อทำสมาธิต่อ ความสงัดค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในห้องอีกครั้ง
และตอนนี้นี่เอง พระรูปที่สี่จึงค่อยๆ ลืมตาแล้วก็เอ่ยปากขึ้น
"มีแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่ไม่เอ่ยปากพูดเลยในห้องทำสมาธิ" พระผู้อาวุโสกล่าวด้วยความภูมิใจ
นิทานเซนเรื่องนี้ก็จบลงดื้อๆ อย่างนี้
พระทั้งสี่รูปใครผิดบ้างผมคงไม่ต้องสาธยายเพิ่ม เพราะหากมาอธิบายเหตุผลว่าอะไรเป็นอะไรก็ย่อมไม่ใช่วิถีเซน
ผมขึ้นชื่อเรื่องว่า ครูไหวลายมือหวัด เพราะผมเคยชอบชื่อหนังสืออยู่เรื่องหนึ่งที่เคยโด่งดังมากเมื่อราวเกือบยี่สิบปีก่อน เรื่องครูไหวใจร้าย คงเคยได้ยินกันนะครับได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกคุณจินตหรานางเอกในดวงใจของผมนี่แหละเป็นผู้แสดงเป็นครูไหว ในใบปิดโฆษณานี่คุณจินตหราเกล้าผมมวยใส่แว่นเสียจนดูเจ้าระเบียบไปเลย
วันนี้ขออนุญาตยืมครูไหวมาจบบทความนี้สักหน่อย เป็นฉากสั้นๆ เองครับ นึกถึงหน้าคุณจินตหราเกล้าผมมวยไว้ก็ได้ครับ จะได้สนุกขึ้น
เด็กชายสุธีนักเรียนหัวขี้เลื่อยของครูไหว กำลังเดินตัวลีบถือสมุดการบ้านเข้ามาหาครูไหว หน้าเด็กชายสุธีหากนึกไม่ออกก็นึกถึงหน้าของผมก็แล้วกัน
"มีอะไรหรือนายสุธี" ครูไหวส่งเสียงขึ้นก่อนที่เด็กชายสุธีจะเดินมาถึงโต๊ะด้วยซ้ำ
"มีอะไรจะถามครูหน่อยครับ" เด็กชายสุธีพูดเสียงสั่น
ครูไหวขยับแว่น "เธอนี่หัวทึบจริงๆ ไม่เข้าใจการบ้านอีกละสิ"
เด็กชายสุธีกางสมุดการบ้านลงบนโต๊ะครูไหว "ตรงนี้ครับครู"
"อะไรหรือ" ครูไหวขยับแว่นมองลงที่สมุด
เด็กชายสุธีชี้ไปตรงตัวหนังสือที่เขียนด้วยปากกาสีแดงใต้การบ้านที่เขาทำมา ครูไหวจำได้ว่าเป็นลายมือตัวเอง
"ผมอ่านไม่ออกครับ ไม่รู้ครูเขียนว่าอย่างไร" สุธีก้มหน้า
"อะไรกันจ้ะแค่นี้ก็อ่านไม่ออก" ครูไหวเลิกแว่นขึ้นอีก "ครูเขียนว่าทีหลังอย่าเขียนลายมือหวัดนัก มันอ่านไม่ออก"

บางทีเราทุกคนก็อาจลืมไปได้ว่าตัวเองก็ทำตัวเป็นครูไหวลายมือหวัดอยู่ คุณ Gift Box ก็เหมือนกันนะครับ ลองนึกดูดีๆ ยิ่งประโยคที่คุณบอกว่า "เพื่อนๆ ชอบยุให้ดิฉันผสมโรงไปด้วยเลย" นั่นแสดงว่าคุณก็คงเอาเรื่องของหัวหน้าคุณไปตำหนิให้คนอื่นฟังอยู่บ่อยๆ เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: