วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

สื่อ

"สื่อ"
(ตัดตอนมาบางส่วน)

เพิ่งได้ไปเดินซื้อ ของตามห้างสรรพสินค้ามา เวลาไปเดินซื้อของคนเดียวนั้นพอึงเวลาอาหารเที่ยง ผมมักจะไปเร่หาร้านอาหารที่ไม่เคยเข้าไปกิน เวลากินข้าวคนเดียวนี่อยากชิมครับ

ล่าสุดผมเพิ่งเข้าไปในร้านอาหาร ญี่ปุ่นที่ขายแต่บะหมี่เพียงอย่างเดียว เคยเห็นใช่ไหมครับ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นร้านอาหารที่ไปซื้อชื่อหรือซื้อสิทธิ์มาจากญี่ปุ่นโน่น เลย ชื่ออาหารที่อยู่ในเมนูทุกชื่อล้วนแล้วแต่เป็นชื่อญี่ปุ่นและปรุงด้วยบะหมี่ เป็นหลัก

ร้านอาหารแบบนี้ที่ญี่ปุ่นมีเยอะครับ จะว่าไปมันก็คือร้านก๋วยเตี๋ยวของบ้านเราดีๆ นี่เอง เพียงแค่ตบแต่งร้านให้สวยและเน้นว่ามีบะหมี่หลายสิบอย่างในร้านเท่านั้น แปลกนะครับเวลาเห็นชื่อบะหมี่มาเรียงกันเป็นทิวแถวอย่างนั้น มันทำให้รู้สึกว่ามันน่าจะอร่อยเป็นพิเศษกว่าร้านอาหารทั่วๆ ไป

นี่ก็ถือเป็นการทำหิบห่อที่น่าสนใจอย่างหนึ่งครับ มันทำลูกค้าให้ความเชื่อว่านี่คือร้านที่มีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ

ระหว่าง ที่นั่งรออาหารที่สั่งไว้ ผมฆ่าเวลาด้วยการอ่านเมนูที่เขาวางอยู่บนโต๊ะแต่เนื่องจากคนในร้านวันนั้น ค่อนข้างเยอะ ทำให้คนที่เข้ามากินอาหารทุกคนต้องรอนานขึ้น มีเวลามากมายอย่างนั้นผมเลยอ่านตัวหนังสือในเมนูทุกแผ่นอย่างละเอียด แล้วก็เลยได้ตัวอย่างของการทำสื่ออีกอย่างหนึ่งมาฝากกัน

ลองอ่านกันดูครับ มีเวลาผมเลยลอกใส่กระดาษรองจานมา ชื่อร้านของเขาผมตัดออกนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมมาโฆษณาให้ร้านเขาไป

ในเมนูอาหาร้านจำไม่ผิดน่าจะอยู่ที่หลังปกเมนู เขียนไว้ดังนี้ครับ

การ ปรุงมิโซะราเมน หรือโชยุราเมน เพื่อให้ได้รสชาติตามแบบฉบับของ(ชื่อร้าน) ต้องเริ่มจาก 'ผักที่สด' และไฟที่แรง ชาวจีนมีวิธีการปรุงอาหารที่เรียกว่า 'เปา' ซึ่งทำโดยการผัดเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรักษารสชาติดั้งเดิมของผักไม่ให้สูญเสียไป

การปรุงราเมนก็ทำตามขั้นตอนเช่นนั้นทุกประการ

สิ่ง จำเป็นในการปรุงลักษณะนี้คือ 'การใช้กระทะ' การผัดให้เสร็จอย่างรวดเร็วด้วยการใช้กระทะอย่างมีทักษะ ตั้งแต่การส่ายกระทะ การกลับผัก รวมไปถึงการจัดลงภาชนะล้วนเป็นศิลปะการปรุงอาหารที่ต้องใช้ความชำนาญอย่าง สูง

อ่านแค่นี้ผมก็รู้สึกหิวแล้วครับ ทั้งๆ ที่สั่งอาหารอย่างอื่นไปแล้ว แต่พอได้อ่าน 'สื่อ' ที่เขาทิ้งไว้ให้เราเห็นบนโต๊ะก็รู้สึกอยากจะสั่งอาหารที่ชื่อว่าราเมนมากิน ดูสักชามสองชาม

ต้องเรียกว่าเป็นการใช้สื่อที่ถูกกาลเทศะอย่างยิ่ง

คน นั่งรออาหารนั้นย่อมมีเวลาเหลือเฟือ การแนะนำอาหารโดยใช้พรรณนาโวหารที่มองเห็นภาพอย่างนี้ มันทำให้คนที่จะมากินรู้สึกดีต่ออาหารที่จะกิน

ผมยังจำเหตุการณ์ ที่ทำให้ผมกินชีส(เนยแข็งรสเค็มๆ) ครั้งแรกในชีวิตได้เลย ยอมรับครับว่ามันเริ่มจาก 'สื่อ' ที่ดีก่อน โดยปกติผมเป็นคนไม่ชอบอาหารฝรั่ง เด็กบ้านนอกส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ทุกคนครับ ความที่ลิ้นมันเคยอยู่กับกะปิน้ำปลามาแต่เล็ก

คนที่ทำให้ผมกินชีสเป็นครั้งแรกคือแอร์โฮสเตสของสายการบินไทยครับ

หลัง อาหารมื้อหนึ่งบนเครื่องบิน เธอเข็นรเข็นมาเสิร์ฟของหวาน เธอถามผมว่าจะรับชีสไหม ผมก็ส่ายหน้าไปพร้อมกับบอกเธอว่าผมกินไม่เป็นหรอกเนยกลิ่นแปลกๆ อย่างนี้ เธอก็บอกผมว่าลองดูไหม ผมก็ได้แต่ส่ายหน้ายิ้ม แล้วเธอก็บอกอีกว่าทานกับกล้วยหอมอร่อยมากนะคะ ผมชักหูผึ่งเพราะได้ยินคำว่ากล้วยที่ตัวเองชอบ

แล้วเธอก็บอกอีกว่า "ทานกับกล้วยนี่มันเข้ากันมากค่ะ รสหวานของกล้วยจะทำให้ชีสที่เค็มๆ กลมกล่อมขึ้น ลองดูสิคะ"

แหม ก็เธอ 'สื่อ' มาดีขนาดนี้ ผมก็เลยซัดไปเสียสองชิ้นกับกล้วยอีกสองลูกทั้งๆ ปากก็ว่าอิ่มแล้ว และก็เลยกลายเป็นคนชอบกินกล้วยกับชีสมาแต่นั้น

ผม เรียกคำแนะนำของนางฟ้าของผมคนนั้นว่าเป็น 'สื่อ' ที่ดีอย่างหนึ่ง คำพูดที่สวยงามจริงใจ ทำให้ 'ของ' ที่เธอแนะนำให้กินดูน่ากินยิ่งขึ้น คงคล้ายๆ กับหัวหน้าบริกรในร้านอาหารฝรั่งเวลาแนะนำอาหารนั่นอย่างไรครับ

"หอยนี้มาจากญี่ปุ่นนะครับตรงที่ๆ กระแสน้ำอุ่นกับกระแสน้ำเย็นมาเจอกันจะทำให้หอยตัวอวบกว่า หวานกว่า ทานหอยต้องทานฤดูนี้ครับ"

" เราทอดตับห่านกับเนยจากซูริกครับ เนยจากซูริกละลายช้ากว่า เสิร์ฟพร้อมเม็ดมะม่วงหิมพานต์หมักไวน์ หรือจะเปลี่ยนเป็นมันบดคลุกกับยี่หร่าราดด้วยเหล้ารัมก็ได้ หอมมากครับ"

" เปลี่ยนเป็นปลาเท้าส์ไหมครับ เราลอกหนังออกหมดแล้วทาน้ำมันมะกอกก่อนแล้วปิ้งด้วยไฟที่อ่อนมากๆ ทานกับขนมปังชิ้นเล็กๆ อบใหม่ๆ จากเตาเดี๋ยวนี้เลย"

ถามว่าสื่อ หรือคำโฆษณาเหล่านี้พูดเกินจริงไปหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่เลยครับ แต่มันมาูถูกเวลาูถูกสถานที่ ใช้คำที่กลั่นกรองอย่างสวยงาม และที่สำคัญ 'สื่อ' ออกมาด้วยความจริงใจ

อันที่จริงป้าแก้วที่ขายแกงอยู่แถว บ้านผมนี่จะว่าไปก็มีฝีมือไม่แพ้พ่อครัวตามโรงแรมคนไหนในโลกเหมือนกัน ใครลองได้ชิมแกงและน้ำพริกของแก ร้อยทั้งร้อยต้องมีการสั่งข้าวเพิ่มอีกจาน เมืองไทยเรามีของดีเยอะครับ เราขาดการโฆษณาและขาดสื่อที่ดี หรือพูดอีกทีก็คือเราขาดหีบห่อที่จะห่อของๆ เราให้มีค่ามากขึ้นนั่นเอง

เรา มีนักศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์จบมาปีหนึ่งเป็นพันๆ คน เห็นทีรัฐบาลจะต้องใช้พวกเขาให้เป็นประโยชน์ ห่อของดีของไทยให้คนทั้งโลกเห็นเสียแล้ว

อย่าแปลกใจ้าไปกินข้าวแกงคราวหน้าแล้วเห็นเมนูอย่างนี้วางบนโต๊ะ

ข้าว คลุกกะปิ เสิร์ฟพร้อมกุ้งแห้งตัวโตจากชุมพร มะม่วงดิบฝาน ไข่เจียวหั่นเส้นบางวางบนจานพร้อมหัวหอมสดหั่นซอย หัวหอมเป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพที่ดี ถ้าชอบเผ็ดให้ขบพริกขี้หนูเม็ดกลมเล็กๆ ตามไปด้วย จะทำให้รสของกุ้งแห้งและหัวหอมกลมกล่อมขึ้น

การคลุกกะปิ เป็นศิลปะการปรุงอาหารที่มีมาแต่สมัยที่รัตนโกสินทร์ตอนต้น เคล็ดสำคัญในการคลุกอยู่ที่การเผากะปิก่อนคลุก เพื่อให้เนื้อกะปิแตกตัวมีกลิ่นหอม ยิ่งเผาด้วยการห่อใบตอง กะปิจะยิ่งหอมชวนกิน บางพื้นที่ใส่กะปิลงไปในกระบอกไม้ไผ่แล้วจึงเผา ซึ่งเรียกว่า 'กะปิหลาม' กะปิที่ใช้ต้องเป็นกะปิดีที่ทำจากกุ้งเคยน้ำลึกเท่านั้น

หิวกันบ้างหรือยังครับ

ไม่มีความคิดเห็น: