วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คุยกับประภาส : คิดนอกกรอบ - 27 มิ.ย. 2547

คอลัมน์ คุยกับประภาส : คิดนอกกรอบ - 27 มิ.ย. 2547



คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์


เรียน คุณประภาส


ได้ อ่านเรื่องคณิตศาสตร์อธิบายธรรม จึงอยากขอร่วมวงด้วยครับ ราวสามร้อยปีก่อนพระเยซูประสูติ อาร์คีมีดิส แห่งไซราคิวส์ ซิซิลี คนเดียวกับที่แก้ผ้าร้องยูเรก้าแหละครับ ได้เพียรหาค่า โดยอาศัยการประมาณพื้นที่ของวงกลม เขาได้สร้างรูปหกเหลี่ยมด้านเท่าสองรูป รูปเล็กบรรจุในวงกลม รูปใหญ่มีวงกลมบรรจุอยู่ภายใน แบบแบบสนิท

โดย การนี้ พื้นที่ของวงกลมจะมากกว่าหกเหลี่ยมด้านเท่ารูปเล็ก แต่น้อยกว่าหกเหลี่ยมด้านเท่ารูปใหญ่(พื้นที่รูปเหลี่ยมด้านเท่าสามารถคำนวณ ได้ครับ) พอเพิ่มเป็นแปดเหลี่ยม พื้นที่รูปเหลี่ยมข้างในจะมากขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าพื้นที่วงกลม ขณะที่พื้นที่รูปเหลี่ยมด้านนอกก็จะเล็กลงแต่ก็ยังมากกว่าพื้นที่วงกลม ทำให้ประมาณพื้นที่วงกลมได้แม่นยิ่งขึ้น(ซึ่งทำให้ประมาณค่าได้เป็นแนวคิดใน การประมาณพื้นที่แบบนี้ถือว่าเป็นแนวคิดของแคลคูลัส ต้องรอกว่าสองพันปีทีเดียวกว่านิวตันจะทำให้เป็นระบบ) ยิ่งเพิ่มเหลี่ยมให้มากขึ้น จากหกเป็นแปด เป็นสิบ จนเป็นอนันต์เหลี่ยมด้านเท่า รูปเหลี่ยมก็จะกลายเป็นวงกลม มันแปลกนะครับ จากรูปเหลี่ยมที่มีจำนวนเหลี่ยมมากมายมหาศาลสุดคะเน กลับกลายเป็นวงกลม รูปเรขาคณิตที่ไม่มีเหลี่ยมมีมุมเลย

หัวข้อธรรมวันนี้ขอเสนอ "สูงสุดคืนสู่สามัญ" ครับ


จิณดิษฐ์


==========================================


ทุกวันนี้กระแสความนิยม "คิดนอกกรอบ" ค่อนข้างจะไหลเชี่ยวขึ้นทุกที แม้แต่โฆษณาทางโทรทัศน์ สินค้าที่มีเป้าทางการตลาดเป็นคนรุ่นใหม่ก็มักนำเอาเรื่องนี้มาเป็นจุดขาย

ดารา วัยรุ่นหลายคนพูดให้เข้าหูบ่อยๆ ว่าสมัยนี้ต้องคิดนอกกรอบถึงจะทันสมัย ซึ่งถ้าผมนั่งอยู่ใกล้ๆ ก็คงอดคันปากถามไม่ได้หรอกครับว่า มันเป็นอย่างไรหรือไอ้ความคิดนอกกรอบนี่

หนักที่สุดก็เห็นจะเป็นคำ ถามที่นักข่าวรุ่นกระเตาะท่านหนึ่งถามผมว่า ในฐานะที่ผมเป็นหัวขบวนของคนคิดนอกกรอบ รู้สึกอย่างไรกับการเรียนการสอนในบ้านเราทุกวันนี้

ผมฟังแล้วผมก็อึ้งไป

ไม่ ได้อึ้งในส่วนของคำถามนะครับ ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้วเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้มันต้องพูดกันยาวเป็นสิบๆ หน้ากระดาษถึงจะไล่เรียงเหตุผลกันครบ แต่ถ้าจำเป็นต้องให้พูดเอาความรู้สึกสั้นๆ ตรงนั้นจริงๆ ก็คงพอกล้อมแกล้มไหว แต่ที่ผมอึ้งก็คือผมดันถูกมอบหมายให้เป็นหัวขบวนของคนคิดนอกกรอบไปไม่ทันรู้ ตัว

ว่ากันตามสัตย์จริง ผมไม่ค่อยชอบคำคำนี้สักเท่าไรด้วยซ้ำ

จดหมาย ของคุณจิณดิษฐ์เขียนมาคุยเรื่องคณิตธรรม ที่โยงต่อจากเรื่องคณิตศาสตร์อธิบายธรรมของอาทิตย์ก่อน ซึ่งก็ได้โยงมาจากเรื่องของแม่เภาสอนลูกสาวมองโลกในตอนแม่เภามาเยี่ยมอีก อาทิตย์หนึ่ง

ผมอ่านจดหมายของคุณจิณดิษฐ์แล้วผมก็ไพล่คิดไปถึง เรื่องคิดนอกกรอบเสียอย่างนั้น ความคิดของคนนี่มันแตกไปได้เรื่อยๆ ไม่แพ้รากผักบุ้งเหมือนกันนะครับ

ประเด็นของจิณดิษฐ์น่าสนใจครับ ไม่นำมาลงไว้ให้อ่านกัน ผมเกรงจะหาโอกาสมาลงทีหลังลำบาก เข้าใจคิดดีครับ คงต้องขอขอบคุณไว้ตรงนี้อย่างสูง

กลับมาที่หัวเรื่องที่ผมขึ้นไว้เป็นชื่อตอนวันนี้ต่อครับ

ทำไมผมถึงไม่ชอบคำว่า "คิดนอกกรอบ"

สิ่ง ที่เราน่าจะเข้าใจตรงกันก่อนก็คือ "ความคิด" ในประโยคที่ว่านี้คืออะไรก่อน สำหรับผมแล้วความคิดสร้างสรรค์ทุกอย่างในโลกนี้คือการแก้ เห็นด้วยไหมครับ

สิ่ง ประดิษฐ์จำนวนมากมายมหาศาลของนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทฤษฎีสำคัญต่างๆ แม้จะพูดไกลไปถึงดวงดาวและจักรวาลก็ค้นหาเพื่อแก้โจทย์ที่ถูกตั้งเอาไว้ใน อดีต

เทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ ถูกค้นคิดเพื่อแก้ไขให้การก่อสร้างแข็งแรงขึ้น ประหยัดขึ้น รวดเร็วขึ้น

อาหารจานใหม่ๆ ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อแก้เรื่องสุขภาพ หรือแก้เรื่องความเบื่อหน่ายในรสชาติ

นิยาย ทั้งประเทืองปัญญาและอารมณ์ ภาพยนตร์ร้อยแปดรูปแบบ ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้เรื่องความคิดหรือศรัทธาที่เห็นต่าง ไม่ก็เพื่อแก้ความติดขัดทางอารมณ์

ผมขอแสดงความเห็นไว้ตรงนี้ว่า "ความคิด" ที่จะแก้ปัญหาจำต้องมี "กรอบ"

แล้วกรอบคืออะไร

กติกา งบประมาณ แนวความคิด ระยะเวลา ลมฟ้าอากาศ ฯลฯ เหล่านี้เป็นกรอบทั้งนั้นแหละครับ แม้แต่รัฐธรรมนูญก็จะต้องถือเป็นกรอบอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาระดับชาติ

หลายครั้ง "กรอบ" ทำให้ผมคิดออก

ยก ตัวอย่างง่ายๆ สักอัน เพลงโฆษณาที่ฉายทางโทรทัศน์ เขากำหนดให้มีความยาวแค่ 30 วินาที ระยะเวลาอันนี้นี่แหละคือกรอบ มันสั้นจนนักแต่งเพลงทุกคนบ่นว่ามันทำงานยาก เพลงต้องจบในเวลาที่กำหนดนับเป็นวินาที บางคนทำไปสักประเดี๋ยวก็บอกว่ามันสั้นไปขออีก 5 วินาทีได้ไหม

นั่นหมายความว่าเรากำลังรื้อกรอบนั่นเอง

ที่ ผมบอกว่ากรอบทำให้คิดออก ก็เพราะความที่มันสั้นมาก เราจึงต้องหาคำที่กะทัดรัด ได้ใจความเร็ว แล้วมันก็เลยทำให้คำบางคำที่เราไม่เคยนึกถึงโผล่ออกมา

เด็กนักเรียนชายคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ทำไมนักเรียนชายจึงต้องตัดผมรองทรง การตัดผมรองทรงไม่ทำให้เขาเรียนดีขึ้น

อย่างนี้ผมเรียกว่าคิดนอกกรอบ

กรอบในเรื่องนี้คือระเบียบวินัยการแต่งกายของโรงเรียน

แน่ นอนครับผมสั้นมันไม่ทำให้ใครเรียนดีขึ้น แต่ในเรื่องนี้ไม่ได้พูดเรื่องเรียนดีหรือเรียนไม่ดี โรงเรียนกำลังพูดถึงเรื่องวินัยที่จะให้เด็กๆ เรียนรู้ เราเอาเรื่องเรียนดีไปอ้างนั่นก็คือเรากำลังไม่ได้คิดอยู่ในกรอบนั่นเอง คนแบบนี้มีเยอะนะครับในสังคม ท่านผู้อ่านบางท่านก็คงจะเคยพบ

ความคิดนอกกรอบคงไม่ดีแน่ถ้าจะมีพระสงฆ์บางรูปบอกว่า ไม่เห็นต้องห่มจีวรเหลืองเลย เพราะห่มจีวรไม่เห็นทำให้เข้าใจในโลกุตรธรรมสักที

กรอบ จึงยังเป็นสิ่งสำคัญในทุกๆ สถานที่ๆ มีมนุษย์มากกว่า 1 คน มาอยู่ร่วมกัน โรงเรียนฝรั่งอาจไม่มีวินัยเรื่องการแต่งตัวของนักเรียน แต่อย่าลืมว่าเขาก็มีกรอบเรื่องอื่นๆ ที่บ้านเราไม่มี

อีกคำถาม หนึ่งที่ผมได้ยินมากับหูไม่กี่วันมานี้ ก็คือ ทำไมพวกถาปัดจึงชอบคิดนอกกรอบ ผมเดาเอาว่าที่ถามมาอย่างนั้นก็เพราะคงเห็นนิสิตสถาปัตย์จัดแสดงละครที่ไม่ เกี่ยวกับวิชาที่เรียน หรือไม่ก็อาจจะดูจากบุคลิกภาพส่วนตัวที่ดูแปลกๆ ของคนที่เรียนคณะนี้

บอกให้ก็ได้ครับ อันที่จริงแล้วคนพวกนี้เป็นมนุษย์กลุ่มที่ต้องคิดแบบมีกรอบอย่างแท้จริง

การ จะออกแบบอาคารสักหลังหนึ่งนี่ สถาปนิกมีกรอบความคิดเต็มไปหมดเลยครับ ไหนจะเรื่องดินฟ้าอากาศ ทิศทางลม งบประมาณ แนวความคิดทางศิลปะ สัดส่วนและตำแหน่งของพื้นที่ใช้สอย ลักษณะของวัสดุก่อสร้าง ความปลอดภัยทางโครงสร้าง ฯลฯ (นักคิดสร้างสรรค์หลายวงการที่ผมรู้จัก อย่างคุณดลชัยนักคิดโฆษณา คุณเก้งจิระนักสร้างหนัง หรือคุณหนุ่มเมืองจันท์นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ คนพวกนี้ล้วนคิดทุกอย่างแบบเคารพกรอบแทบทั้งสิ้น)

หรือไอ้ที่เรา หลงเข้าใจว่าแบบนั้นแบบนี้คือการคิดนอกกรอบ คนโน้นคนนี้คือคนที่คิดนอกกรอบนั้น ที่แท้ทุกๆ อย่างมันยังอยู่ในกรอบอยู่เลย

กลับมาที่จดหมายของคุณจิณดิษฐ์อีกที

อา คีมีดิสพยายามหาพื้นที่ของวงกลม โดยการเขียนรูปหลายเหลี่ยมจำนวนสองรูปต่างขนาดกัน รูปหนึ่งใส่ลงไปในวงกลม และอีกรูปหนึ่งครอบอยู่นอกวงกลม แล้วก็หาพื้นที่ของรูปหลายเหลี่ยมของทั้งสองรูปก่อน จึงค่อยหาพื้นที่วงกลม

น่าทึ่งที่อาร์คีมีดิสไม่ได้มองแค่ในกรอบของวงกลม

หรือเพราะเขามองเลยออกมานอกเส้นรอบวง ทำให้เขาคิดออก

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ถามว่าอาร์คีมีดิสคิดนอกกรอบหรือไม่

ก่อน จะตอบคำถามนี้ผมมีปัญหาๆ หนึ่งให้ได้ไขกัน มีจุดเก้าจุดดังรูปข้างล่าง บางคนอาจจะเคยได้เล่นเกมอย่างนี้มาบ้างแล้ว ลองดูครับใครที่ยังไม่เคยเล่น

กติกามีอยู่ว่า ให้ลากตรงเส้นสี่เส้นผ่านจุดเก้าจุดโดยไม่ยกปากกาเลย อาทิตย์หน้าเราจะมาคุยเรื่องคิดนอกกรอบตอนต่อครับ


ประภาส ชลศรานนท์

----------------------------------------------------------------------------------------------------------
คิดนอกกรอบ ผมไม่ชอบคำนี้เท่าใดนัก
เพราะงานสร้างสรรค์มักเกิดจากความคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ที่อาศัยกรอบและความเป็นไปได้ ไม่ว่างานใดก็ตามแต่มักจะต้องอ้างอิงกรอบไว้เสมอ เพียงแต่บางครั้งเราอาจจะสร้างกรอบลวงตาเราไว้ทำให้ไม่สามารถตีโจทย์ให้แตกเพราะเราลืมมองให้ครบทุกด้านว่าจริงๆ แล้วสามารถทำได้โดยเราคิดไม่ถึง

ไม่มีความคิดเห็น: