วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทำงานเพื่ออะไร - 6 มี.ค. 2548

ทำงานเพื่ออะไร - 6 มี.ค. 2548


คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์


ถึงพี่ประภาส


เคยถูกถามนะ ว่าทำงานกันไปเพื่ออะไร อาจจะเป็นคำถามง่ายๆไร้สาระนะ แต่หนูก็คิดเหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อเงินหรือเปล่า เพื่อตัวเอง หรือเพื่อคนอื่น เพราะแต่ละวันเราก็ต้องทำอะไรที่เหมือนๆเดิมทุกวัน แต่งตัวตอนเช้า รถติด ตอกบัตร อยู่ที่ทำงานบางทีก็เบื่อ บางทีก็ขยัน เป็นหยั่งงี้ทุกวัน ... อยากได้ความคิดเห็น หรือคำตอบดีๆจากคำถามที่ว่า..ทำงานไปเพื่ออะไร?


สลิด


==========================================


พี่ประภาส


เวลามีใครถามผมว่า ทำงานไปเพื่ออะไร ผมก็ตอบทุกครั้งว่า ทำงานเพื่อเงิน พี่ว่าผิดไหม


มนุษย์งานมนุษย์เงิน


=========================================


วันนี้ผมมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟังสองเรื่อง เรื่องแรกคือทฤษฎีของมาสโลว์ เรื่องที่สองคือเรื่องเล่าจากหอไอเฟล

เรื่องแรกนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวความคิดทางจิตวิทยาของชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ที่อาจจะมีภาษาที่ฟังดูยากๆไปสักหน่อย แต่ผมขอรับปากว่าจะพยายามช่วยอธิบายในภาษาของผมให้ดีที่สุด อ่านถึงตรงนี้ถ้าใครอยากข้ามไปอ่านเรื่องเล่าจากหอไอเฟลเลย ผมก็คงจะไม่คิดน้อยใจอันใด เพราะไม่ว่าใครก็ย่อมอยากอ่านอะไรที่สนุกและเข้าใจง่ายๆ

ถามว่ามันเกี่ยวอะไรกันไหมสองเรื่องนี้ มันไม่เนื่องกันโดยตรงหรอกครับ แค่คล้ายๆข้าวเหนียวกับทุเรียนแค่นั้น

เรื่องแรกครับ

อับราฮัม เอช. มาสโลว์(พ.ศ.2451-2513) เจ้าของทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพและทฤษฎีจิตวิทยามนุษยนิยม ได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์เป็นผู้ไม่หยุดนิ่ง"

ประโยคนี้แปลว่าอะไร มันแปลว่า “มนุษย์นั้นมีความต้องการไม่สิ้นสุดใช่ไหม”

ประโยคที่สองที่ผมแปลนี่ มาสโลว์ก็พูดไว้ก่อนแล้ว ฟังดูก็ไม่น่าเร้าใจอะไรเท่าไรนะครับ เราๆท่านๆก็ฟังคำสอนทางพุทธที่มีความหมายประมาณนี้มาเยอะแยะแล้ว

ต่อไปก็เป็นประโยคที่สามครับ มาสโลว์บอกว่า “ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรม”

ฝรั่งนั้นชอบอธิบายอะไรทำนองนี้เสมอ ฟังอย่างไรก็รู้ว่าเป็นภาษาฝรั่ง แต่ยอมรับนะครับว่าฟังแล้วเข้าใจได้ดี ผมชอบเรียกการอธิบายแบบนี้ว่าการอธิบายแบบคณิตศาสตร์ คือมันฟังแล้วเห็นภาพเหมือนสมการสองข้าง เหมือนอนุกรมของตัวเลข

ต่อไปก็เป็นประโยคที่สี่ของมาสโลว์
ประโยคนี้สำคัญที่สุดเพราะมาสโลว์ได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าแห่งทฤษฎีทางจิตวิทยาสายมนุษยนิยมก็ด้วยประโยคนี้แหละครับ

“ความต้องการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับขั้น”

มาสโลว์แบ่งลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้นคือ
ขั้นที่1.ความต้องการทางกาย ความต้องการขั้นพื้นฐานนี้ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่มี สัตว์โลกอื่นๆก็มีครับ เมื่อหิว เมื่อกระหาย ก็ต้องการอาหารและน้ำ เมื่อหายใจไม่ออกก็ต้องการอากาศ หนาวขึ้นมาก็ต้องการเสื้อผ้า หรือถ้าฮอร์โมนมันพุ่งพล่านขึ้นมาก็ต้องการเพศตรงข้าม รวมไปถึงเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องการยารักษา

ขั้นที่2.ความต้องการความปลอดภัย หลังจากตอบสนองขั้นแรกได้แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มคิดเผื่อไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือเริ่มกลัวถูกทำร้าย กลัวอาหารไม่พอ กลัวหนาวเกินไปกลัวร้อนเกินไป ดังนั้นการตอบสนองด้วยการสร้างที่พักอาศัยและการกักตุนอาหารไว้จึงเกิดขึ้น การมีไร่นาปลูกผักเผื่อเหลือเอาไว้ หรือการเลี้ยงสัตว์ไว้มากมาย การมีอาวุธไว้ป้องกันตนเองก็เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นนี้ทั้งนั้น

ถึงตรงนี้ขออนุญาตหมายเหตุไว้สักหน่อย น่าทึ่งนะครับที่อยู่ๆมนุษย์ก็คิดค้น “เงิน” ขึ้นมา มันเป็นสิ่งสมมุติที่สามารถเอามาแลกเปลี่ยนสิ่งของเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งสองขั้นข้างบนได้อย่างดี

ขั้นที่3.ความต้องการทางสัมพันธภาพ ความต้องการขั้นนี้เริ่มไม่ค่อยเกี่ยวโดยตรงกับร่างกายแล้ว แต่เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวอะไรก็ตามย่อมต้องกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการอยู่เพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องการความรักและมิตรภาพเพื่อผูกสัมพันธภาพไว้

เพื่อน คู่รัก ครอบครัว ชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ในอีกขั้นหนึ่ง

มีข้อคิดบางประการเกี่ยวกับ “เงิน” ที่ผมพูดไว้ในข้อที่แล้ว พอมาถึงขั้นนี้เราอาจเห็นได้ว่าเงินชักจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นนี้ได้ครบถ้วนแล้ว บางคนอาจจะบอกว่าเขาเคยใช้เงินซื้อเพื่อนหรือคนรักได้ แต่เชื่อผมเถิด ถ้ามันจะซื้อได้จริงๆมันก็คงได้แค่เพียงผิวเผินชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ลองดูขั้นต่อไปเรื่อยๆสิครับว่า เงินซื้อได้หมดไหม

ขั้นที่4.ความต้องการยอมรับนับถือ ในขั้นนี้ มาสโลว์ยังแบ่งเป็นสองแบบ แบบแรกคือปรารถนาการนับถือตนเอง ต้องการมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความความสำเร็จโดนไม่ต้องพี่งพาอาศัยผู้อื่น ฟังๆดูแล้วมนุษย์นี่ช่างเรื่องมากดีแท้ๆพวกหมูหมากาไก่คงไม่มีหรอกครับความปรารถนาที่จะนับถือตนเอง

ส่วนแบบที่สองคือ ปรารถนาได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น แปลง่ายๆก็คือพวกเกียรติยศชื่อเสียงนั่นแหละครับ

มาถึงขั้นนี้แล้วมองดูผ่านๆ บางคนอาจจะบอกว่าเงินก็ยังน่าจะมีอำนาจที่จะซื้อได้อยู่นะไอ้เกียรติ ยศ และสรรเสริญนี่ ไม่รู้สิครับผมว่าสังคมเขารู้นะครับว่าอันไหนซื้ออันไหนไม่ซื้อ ที่สำคัญหากซื้อมาได้จริงมันก็แค่หลอกคนอื่นได้ คนเรามันหลอกตัวเองได้ที่ไหนกัน สุดท้ายแล้วในใจลึกๆก็ยังคงขาดการยอมรับนับถือตัวเอง และเมื่อขาดการยอมรับนับถือตนเองมนุษย์ก็เริ่มไม่มีความสุขแล้ว

หมายเหตุมาถึงเรื่องเงินอีกครั้ง สังเกตุเห็นไหมครับว่าขั้นความต้องการยิ่งสูงขึ้น เงินก็ยิ่งหมดความหมายไปเรื่อยๆ ลองอ่านขั้นสุดท้ายของความต้องการของมนุษย์ดูสิครับ

5.ความต้องการในอุดมคติแห่งตน ภาษาฝรั่งที่มาสโลว์ว่าไว้คือ SELF ACTUALIZATION NEED แปลกันไว้หลายสำนักเสียด้วย สำนักหนึ่งแปลว่า คือความต้องการความสำเร็จตามความนึกคิดของตนเอง อีกสำนักหนึ่งแปลว่า ความต้องการความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์

ขออนุญาตอธิบายดังนี้ดีกว่า

สิ่งที่คานธีทำในประเทศอินเดียจนคนทั้งโลกต้องหันมามอง สิ่งที่แม่ชีเทเรซ่าทำจนโลกต้องค้อมหัว ความรู้ที่เปรียบดั่งกุญแจไขจักรวาลที่ไอน์สไตน์ค้นพบ การช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้ได้อยู่ในธรรมชาติอย่างอิสระของคุณสืบ นาคะเสถียร หรือแม้แต่การทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยของอาสาสมัครในวิกฤติการณ์สึนามิ ฯลฯ มนุษย์เหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อสนองความต้องการทั้งสี่ขั้นต้นนั่นเลยเลย

อุดมคติเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขานึกถึง

เงินไม่มีค่าอันใดเลยสำหรับความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์

………….

เรื่องที่สอง เรื่องเล่าจากหอไอเฟล เรื่องนี้สั้นๆและเบาๆครับ
ระหว่างที่กำลังสร้างหอไอเฟลที่กรุงปารีสอยู่นั้น มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกทำสกู๊ปสัมภาษณ์คนงานที่กำลังก่อสร้างหอฯ เพื่อนำมาลงหนังสือพิมพ์ให้เห็นถึงบรรยากาศการก่อสร้าง แต่ละคนก็ให้ความเห็นและบอกเล่าความรู้สึกแตกต่างกันออกไป

มีอยู่สามคนที่มีการนำมาอ้างถึงในปัจจุบัน เมื่อมีการพูดคุยกันว่าคนเรานั้นทำงานเพื่ออะไร

คนแรกให้สัมภาษณ์ว่า “ก็ทำงานไปวันๆ พอยาไส้ ถึงเวลาเลิกงาน ถ้าได้เหล้าสักเป๊กสองเป๊กแก้ปวดเนื้อปวดตัวก็พอใจแล้ว”

คนที่สองให้สัมภาษณ์ว่า “ครอบครัวของผมห้าปากห้าท้องต้องอาศัยรายได้จากงานนี้ ผมทำงานด้วยความตั้งใจอย่างสูง หัวหน้าคงมองเห็นความขยันของผมแล้ว ผมคิดอย่างนั้น และอีกไม่นานบริษัทก็คงขยับหน้าที่การงานผมให้สูงขึ้น”

คนที่สามให้สัมภาษณ์ว่า “ผมกำลังสร้างหอเหล็กที่สูงที่สุดที่โลกนี้เคยมีมา เมื่องานนี้สำเร็จคนทั้งโลกจะต้องได้ยินชื่อและเดินทางมาดูมัน ผมภาคภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในวิศวกรรมอันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้ นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับผมและวงศ์ตระกูล”

คนหนึ่งทำเพื่อทน
คนหนึ่งทำเพื่อทำ
คนหนึ่งทำเพื่อธรรม



ประภาส ชลศรานนท์

ไม่มีความคิดเห็น: