วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

THE FIFTH DIMENSION AND THE BEGINNING OF EVERYTHING

จักรวาลทั้งหมดเริ่มต้นมาจากที่ไหนกัน 
ถ้าสมมติว่าคุณเชื่อเรื่องทฤษฎี’บิกแบง’ว่าจักรวาลเริ่มต้นมาจากการระเบิดครั้งใหญ่ท่ามกลางความว่างเปล่า คุณก็คงได้คำตอบที่สบายใจไปแล้ว แม้ว่ามันจะฟังดูแล้วละม้ายคล้ายคลึงกับอุดมคติทางคริสต์ศาสนาไปซักนิดที่ว่าด้วยแสงสว่างแวบแรกแล้วทุกอย่างก็ถูกก่อกำเนิดขึ้น แต่ก็ดูเหมือนเป็นคำตอบที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายยังพอใจที่จะเริ่มต้นความคิดในกำเนิดของจักรวาลในแบบนั้น แม้ว่ายังจะตอบไม่ได้ชัดเจนว่าแล้วไอ้ที่ระเบิดตูมแรกนั้น มันเอาอะไรที่ไหนมาระเบิดกัน 
และก็ยังไม่มีคำอธิบายเรื่องกำเนิดของจักรวาลอื่นใดที่ฟังแล้วจะพอยอมรับได้นอกไปจากทฤษฎี’บิกแบง’นี้
ในกระบวนหาคำตอบทางความคิดใดๆ เวลาที่เราหาคำตอบใดไม่ได้นั้น บางทีก็เป็นเพราะเรายังไม่ได้อาศัยอยู่ในบริบทที่ถูกต้อง เราเคยเชื่อว่าโลกแบนอยู่นับพันปี และในบริบทของ’โลกแบน’นั้น การเดินทางของเราจึงหยุดอยู่ที่ขอบของโลก และคำตอบสำหรับการอธิบายทุกๆปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ก็ถูกอธิบายมาจากกรอบความคิดทางบริบทที่ว่า’โลกแบน’ และไม่น่าเชื่อว่าเราเพิ่งจะได้ข้อสรุปว่า’โลกกลม’เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เอง และในบริบทของโลกที่กลมนั้น พาให้เราหาคำตอบได้ชัดเจนสำหรับสิ่งต่างๆในโลกเราได้มากขึ้นอีกหลายร้อยหลายพันอย่าง
ในโลกของวิทยาศาสตร์ ‘หลังนิวตัน (Post-Newtonian Paradigm)’ บริบทของวิทยาศาตร์สมัยใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงบริบทของความจริงที่เราอาศัยอยู่อีกครั้ง เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory) ทำให้เราเริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ปริภูมิ (space)’และ’เวลา (time)’ ที่แตกต่างออกไป เราเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่เวลาจะบิดเบี้ยวไปใน space แม้ว่าจะยังคงรักษาความเร็วไว้คงที่ตลอดกาล ทฤษฎีโกลาหล (Chaos Theory) เริ่มทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่ดูเหมือนจะไร้ระเบียบในธรรมชาติกลับยึดโยงกันด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ที่พิสูจน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ หรือแม้กระทั่งทฤษฎีซับซ้อน (Complexity Theory) ที่นำเอารายละเอียดทั้งหมดของสิ่งที่เราสังเกตุโดยไม่ละเว้นรายละเอียดใดๆเข้ามาทำนายหรือสร้างระบบที่ซับซ้อน (Complex System) ที่เข้าใกล้ธรรมชาติและมนุษย์มากที่สุด เครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆที่ใช้ในการค้นหาความจริงก็มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ ที่ทำการศึกษาองค์ประกอบที่เล็กลงไปกว่าระดับของอะตอมได้มากขึ้น และค้นพบองค์ประกอบของอนุภาคใหม่ๆมากมายที่อาจจะกำเนิดมาพร้อมกับจักรวาลเสียด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และค่อยๆเปลี่ยนบริบททางความคิดเราไปทีละน้อย แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานบางอย่างที่ยังไม่ทำให้เรามองเห็นภาพที่ทะลุทะลวงออกไปได้สำหรับปัญหาที่เรามีให้กับคำตอบที่ว่า จักรวาลเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร และเราก็ยังพอใจในคำตอบที่เรามีแค่นั้น
ถ้ามองจากมุมหนึ่ง เราก็ยังคงพอใจที่จะอาศัยอยู่ในโลกที่แบน ตราบที่เรายังให้คำตอบกับบางสิ่งได้ในวิธีที่เราสบายใจ
ถ้าเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่วันแรกที่มีสรรพสิ่งเกิดขึ้นในโลก มีความเชื่ออยู่หนึ่งเดียวสำหรับเราที่ไม่เคยเปลี่ยน เป็นบริบทที่ตายตัวสำหรับเราและเราไม่เคยคิดที่จะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมัน เป็นบริบทที่เราอาศัยอยู่ในมันแบบที่เราไม่เคยสงสัยเกี่ยวกับมัน เรามองไม่เห็นมัน แต่มันอยู่ในทุกๆสรรพสิ่ง ทุกๆทฤษฎี ทุกๆความคิด ตลอดทุกขณะ
บริบทนั้นคือ ‘เวลา’
สำหรับผู้คนโดยส่วนใหญ่ เวลาเป็นคุณสมบัติเชิงเส้นที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ เราอธิบายเวลาในทางนามธรรมว่าเป็นอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต และนับในเชิงของปริมาณในหน่วยของวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน และ ปี เป็นความจริงที่ตายตัวและเป็นสากล เราคิดว่าเวลาเป็นปริมาณที่ตายตัวเมื่อเทียบกับความเร็วของแสง หรือจำนวนครั้งของการคายประจุของอนุภาค และนั้นคือเวลาในโลกของเราในปัจจุบัน
โลกที่ยังแบนราบราวกับเหรียญที่มีหน้าเดียว
มนุษย์อยู่ในมุมมองที่เคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งไปช้าๆมาตั้งแต่เริ่มต้นของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวผ่านขอบฟ้าไปจากรุ่งเช้าไปถึงยามเย็น เป็นเครื่องหมายที่ทำให้เห็นเวลาที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านไปในแต่ละวัน เรามองเห็นเข็มบนเครื่องมือบอกเวลาเช่นนาฬิกา เดินทางโดยปลายเข็มชี้บอกบนตัวเลขที่เคลื่อนไปเป็นเส้นโค้งผ่านไปบนหน้าปัทม์ ไม่ว่าเราจะมีความเข้าใจเวลาสำหรับตัวเรามากน้อยหรือสลับซับซ้อนเท่าไร เวลาสำหรับเราก็ยังเคลื่อนตัวบนระนาบเดียวใน 2 มิติ จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเสมอ 
ราวกับเรากำลังยืนอยู่บนโลกแบนที่กว้างใหญ่ไพศาล
ในมิติของการคิดที่สลับซับซ้อน เรามักจะแทนค่าความคิดที่สลับซับซ้อนด้วยรูปทรง 3 มิติเพื่อแก้ปัญหาในเชิงปรัชญา หรือความคิดในทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งมีให้เห็นได้บ่อยครั้งในทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นที่น่าแปลกที่โครงสร้างของเวลากลับเป็นสิ่งที่ตายตัวในฐานะคุณสมบัติที่เป็น 2 มิติ ไม่เคยมีบทสนทนาใดเลยที่ผมค้นพบว่ามีการนำเสนอโครงสร้างของเวลาในแบบอื่น มีหลายครั้งที่เวลาทำงานร่วมกับมิติของปริภูมิในที่ว่างของอวกาศ และทำงานสอดคล้องกับการบิดเบี้ยวของปริภูมิเหล่านั้น แต่ก็ยังไม่เคยมีบทสนทนาใดที่นำเสนอแนวคิดของเวลาในฐานะปริภูมิเสียเอง
ในวิธีคิดแบบสร้างสรรค์เชิงสถาปัตยกรรม เราถูกฝึกให้ก้าวข้ามกรอบความคิดของเหตุผลบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้เกิดการค้นพบใหม่ๆในสามมิติที่จะนำพาเหตุผลตามมาได้ในภายหลัง ถ้าเราเอากระบวนวิธีคิดแบบสถาปัตยกรรมมาใช้เพื่อหาโครงสร้างหรือปริภูมิของเวลา หน้าตาของเวลาในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง บริบทของเวลาที่มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนขึ้นจะทำให้เราค้นพบคำตอบบางอย่างที่เรายังไม่ชัดเจนกับมันได้อย่างไรบ้าง และนั่นคือความคิดที่ทำให้ตื่นเต้นและน่าสนใจเหลือเกิน
ถ้าเพียงแค่เรามองเห็นเวลาเป็นทรงกลมขนาดมหึมา เหมือนลูกบอลลูกใหญ่ที่กลมดิกอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ ประสบการณ์ของเราที่เสมือนกับเวลาเดินทางผ่านเราไปเป็นเส้นตรงนั้น ก็เปรียบเสมือนกับข้อจำกัดของมดตัวหนึ่งที่เดินไปบนผิวของลูกบอลนั้น ถ้าลูกบอลนั้นใหญ่พอ มดตัวนั้นแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันกำลังเดินอยู่บนผิวโค้งของทรงกลม เขาก็จะมีประสบการณ์ว่ากำลังเคลื่อนที่ผ่านไปบนเส้นตรง 2 มิติที่ประกอบไปด้วยอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และแน่นอน มดตัวนั้นสามารถเดินเลี้ยวไปทางใดก็ได้บนผิวลูกบอลนั้น เขาก็จะยังมีประสบการณ์ในลักษณะสามจุดของการอ้างอิง(อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ที่ไม่แตกต่างกัน ไม่มีทางใดเลยที่มดตัวเล็กๆบนพื้นผิวของลูกบอลยักษ์ลูกนี้จะมีทางมองเห็นลูกบอลว่ามันเป็นทรงกลม อาจจะมีโอกาสอยู่บ้างถ้าเขาสามารถเดินทางรอบลูกบอลได้นานและเร็วพอที่จะเห็นความโค้งของผิวลูกบอลนั้น หรือแม้กระทั่งกลับมายืนที่จุดเดิมเมื่อครบรอบของวงกลม แต่ก็โชคร้ายที่สภาพทางชีววิทยาของมดนั้นไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะพิสูจน์สิ่งนั้น
ถ้าโครงสร้างทางปริภูมิของจักรวาลทั้งหมดถูกสร้างอยู่บนโครงสร้างของเวลา และเวลาเองก็มีโครงสร้างทางปริภูมิเป็น 3 มิติเช่นกัน มันก็อาจจะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของจักรวาล รวมทั้งกำเนิดของจักรวาลได้ในบริบทที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในบริบทของเวลาที่เป็นทรงกลมนี้ ตอบคำถามในกำเนิดของจักรวาลในความสลับซับซ้อนที่มากขึ้น จุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งและจุดจบของสรรพสิ่งเกิดขึ้นในขณะเดียวกันเช่นเดียวกับที่อดีต ปัจจุบัน อนาคต ล้วนคงอยู่พร้อมกันทั้งหมดบนผิวทรงกลมนั้น มันแค่ข้อจำกัดของการรับรู้ของมนุษย์เท่านั้นที่ทำให้เราเห็นมันเป็นเส้นตรง นี่คือความหมายในนัยยะของมิติที่ 5 ที่มีนักวิทยาศาสตร์ปรัชญาเมธีหลายคนพูดถึงกัน 
และการหากำเนิดของจักรวาลก็ไม่ต่างอะไรกับการหาคำตอบว่าทรงกลมที่กลมเกลี้ยงสมบูรณ์แบบนี้มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหนกัน
ลองนึกภาพหยดน้ำที่กลมเกลี้ยงที่ลอยอยู่ในอวกาศที่ปราศจากแรงโน้มถ่วง ให้เราบอกว่าหยดน้ำหยดนี้บนผิวน้ำนั้นจุดไหนเป็นจุดเริ่มต้นของหยดน้ำทั้งหมด นั่น น่าจะยากพอกันและมีสาระพอกันในความพยายามที่จะหาคำตอบว่าจักรวาลเริ่มต้นมาจากไหน ในข้อจำกัดของการรับรู้สำหรับการเป็นของมนุษย์ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้ให้เครื่องมือที่มากพอที่จะทำให้มนุษย์มองเห็นหรือพิสูจน์ความจริงของสรรพสิ่งได้ทั้งหมด เสมือนกับมดตัวเล็กๆที่อยู่บนผิวลูกบอลลูกนั้น มีเพียงสิ่งเดียวที่ไปไกลกว่าข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์ก็คือความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ มันอาจจะเป็นเวลาอีกนานแสนนานและเราต้องเดินทางออกไปอีกไกลโพ้นในจักรวาลกว่าที่เราจะได้ข้อพิสูจน์สำหรับแนวคิดของเวลาที่มีโครงสร้างแบบปริภูมิสามมิติทรงกลมนี้ ค้นพบมิติที่ 5 สำหรับสรรพสิ่ง และพามนุษย์ชาติก้าวข้ามไปอยู่อีกที่หนึ่งของความจริงที่ค้นพบว่าโลกนี้กลมและไม่ได้แบนอย่างที่คิด และพาเราก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลาไปได้ในที่สุด
และถ้ามันเป็นจริงได้ ก็ขอให้จำไว้ว่า ทุกอย่างเริ่มต้นจากความไร้เหตุผล และวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ในแบบสถาปัตยกรรมแค่นั้นเอง

https://duangritbunnag.com/2015/09/22/the-fifth-dimension-and-the-beginning-of-everything/

ไม่มีความคิดเห็น: