วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไม้บรรทัด

ไม้บรรทัด หยิบยกมาจากหนังสือชุด คุยกับประภาส ลำดับที่ ๑ หน้าที่่ ๓๐

โดย Prapas Cholsaranon ณ วันที่ 11 มกราคม 2011 เวลา 23:10 น.

สวัสดีครับคุณอาประภาส

ผมเพิ่งได้อ่านมติชนอาทิตย์สุขสรรค์ พอได้อ่านคอลัมน์ของคุณอารู้สึกกับตัวเองว่าใช่เลย เพราะหัวข้อที่คุณอาเอามาเขียนมันก็เคยอยู่่ในใจผม และก็เคยเป็นหัวข้อสนทนาในกลุ่มเหมือนกันครับ ถึงแม้ผมอ่านแล้วมันจะรู้สึกงง ? แต่ก็ดูคุณอาอธิบายได้ชัดเจนดี มีการยกตัวอย่างให้เข้าใจ ผมอ่านแล้วรู้สึกได้อีกมุมมองหนึ่งเลยครับ เข้าเรื่องเลยนะครับ

ผมได้อ่านคอลัมน์ของคุณอาแล้ว พอดีมันต่อเนื่องกับหัวข้อที่ผมกำลังสงสัยอยู่ ผมมีเพื่อนอยู่สองคนครับ คนหนึ่งเรียนได้ดีในระดับเดียวกับผม อีกคนเรียนไม่ค่อยเก่งแต่พอถึงตอนที่จะต้องสอบเรียนต่อ คุณอาเชื่อไหมครับ ! ไอ้เพื่อนผมที่เรียนไม่ค่อยเก่งกลับสอบติด ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่ได้อ่านหนังสือ แต่เพื่อนผมอีกคนกลับสอบไม่ติด

อันนี้ละครับปัญหาที่ทำให้ผมถามในใจตัวเองว่า ทำไมมันเป็นแบบนี้ คุณอาคิดว่า การสอบนี้เป็นการวัดผลที่ดีที่สุดแล้วหรือครับที่จะให้คนคนหนึ่งได้เข้าไปศึกษาต่อ

ตามความคิดผมไม่เห็นด้วย บางคนที่สอบติด ผมถามว่า เขาเตรียมตัวอย่างไรบ้างในการสอบ บางคนก็บอกว่า ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย บางคนก็ไม่อ่านหนังสือก็ยังสอบติด ผมคุยหัวข้อนี้กับเพื่อนผมบางคน เขาก็เห็นด้วยกับผมครับ ผมคิดว่า การสอบเนี่ยวัดคนไม่ได้หรอกครับ

ประชุม ภูแบ่ง

ถ้าคุณประชุมคิดว่าการสอบวัดคนไม่ได้ ผมจะต่อให้อีกสามสี่ประโยคตามน้ำไปด้วย

การได้เข้าเรียนในสถาบันที่สมัครสอบ ก็วัดคนไม่ได้

การจบจากสถาบัน ก็วัดคนไม่ได้

การได้เข้าทำงาน ก็วัดคนไม่ได้

ทำงานแล้วประสบความสำเร็จ มีเงินมีทอง ก็วัดอะไรไม่ได้

จะวัดได้หรือวัดไม่ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่า ไม้บรรทัดที่เราใช้วัดเป็นมาตราอะไรต่างหากเล่า

ถ้ามาตราของคุณเป็นหน้าตาเป็นชื่อเสียงก็วัดอย่างหนึ่ง มาตราเป็นเงินทอง เป็นความสะดวกสบายในชีิวิตก็วัดอย่างหนึ่ง

หรือมาตราเป็นความดี ความสงบสุข ก็วัดอีกอย่างหนึ่ง วัดได้ทั้งนั้น

ถ้ามีการคัดเลือก อย่างไรเสียก็ต้องวัด

แล้วถ้าคุณสมัครไปให้เขาคัดเลือก คุณก็ต้องยอมรับไม้บรรทัดของเขา

ธรรมชาติก็มีไม้บรรทัด ธรรมชาติแต่ละแห่งมีไม้บรรทัดที่แตกต่างกันออกไป สัตว์และพืชต่างๆ ทุกวันนี้ก็ผ่านการคัดเลือกของธรรมชาติมาแล้ว เราจะมางอแงได้อย่างไร กบลิ้นสั้นไม่ควรสูญพันธุ์ กบลิ้นยาวไม่น่าถูกคัดเลือกให้มีวิวัฒนาการต่อไป

คุณอาจจะเถึยงอีกว่า ก็นี่แหละจะเข้าประเด็นพอดี คนอ่านหนังสือน่าจะได้เข้าเรียน คนไม่อ่านหนังสือไม่น่าจะได้เข้าเรียน

ตอนที่เปิดจดหมายคุณอ่าน ผมนึกคำตอบที่จะตอบไว้สองข้อ

ข้อแรก ผมจะตอบว่า ถ้าทีมลิเวอร์พูลแข่งกับทีมแมนฯยู แล้วสมมติว่า ลิเวอร์พูลชนะ ๒-๐ แมนฯยูเลยบอกว่า การแพ้ชนะกันไม่น่าวัดที่การทำประตู น่าจะวัดที่ว่าใครวิ่งมากกว่ากัน ลิเวอร์พูลได้ยินดังนั้นเลยบอกว่า ถ้างั้นเราน่าจะวัดที่ว่า ใครที่โหม่งลูกได้มากกว่ากัน แมนฯยูเลยเสริมว่า แพ้ชนะวัดกันที่ใครได้ทุ่มมากกว่ากันดีกว่า ลิเวอร์พูลก็เถียงกลับมาว่า มาดูที่ใครสไลด์ลูกบอลได้มากกว่ากันไม่ดีกว่าหรือ ดูมีลีลากว่า คลาสสิกกว่า

เถียงกันไม่นานก็ชกกัน

สงครามของมนุษยชาติก็เกิดจากไม้บรรทัดคนละอันทั้งนั้น

ข้อสอง ผมจะถามคุณกลับว่า คุณแน่ใจนะครับว่า เพื่อนคุณที่สอบได้เขาไม่ได้อ่านหนังสือเลย

สมัยที่ผมกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ใครๆ ที่มาเห็นผมต่างก็พูดกันทั้งนั้นว่า ผมจะไปสอบเข้าได้อย่างไร วันๆ เอาแต่เล่นกีตาร์ ผมก็ยอมรับละครับว่า วันๆ เอาแต่เล่นกีตาร์จริง ๆ แต่วัน ๆ ผมก็เอาแต่อ่านหนังสือไปด้วยเหมือนกัน ใครจะไปเห็นตอนที่ผมอ่านหนังสือเล่า

อย่าเพิ่งปักใจกับสิ่งที่จับได้เพียงตา

หรือว่า สมมติว่าเพื่อนคุณเขาไม่ได้อ่านหนังสือจริงๆ แล้วบังเอิญกาคำตอบมั่ว ๆ ไปถูก อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าแมนฯยูเตะลูกส่งให้เพื่อนแล้วบังเอิญไปโดนลิเวอร์พูลเข้าประตูไป ถ้วยชนะเลิศก็ต้องยกให้แมนฯยู

มนุษย์เราถ้าอยู่ร่วมกันมากกว่า ๑ คน อย่างไรเสียก็ต้องมีไม้บรรทัดละครับ

ไม้บรรทัดของผมนี้มีองศาความอ่อนแก่ตั้งแต่มารยาท ทัศนคติ ระเบียบ กฎหมู่ กฎหมาย รวมไปถึงรัฐธรรมนูญนั่นเลย ถ้าวันหนึ่งไม้บรรทัดมันคนละมาตรากัน เราก็มีสิทธิที่จะเลิกใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกัน เราจะได้ไม่ชกกัน

สมชายกับสมศักดิ์ จึงเลิกคบกันได้

สมศรีกับวิชัย จึงหย่ากันได้

แกรนด์เอ็กซ์ก็แตกวงกันไป

ศุ บุญเลี้ยง ก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย

ลุงมีย้ายเข้าไปอยู่ในป่า

ดร.บุญชัย ก็เลยย้ายไปอยู่อเมริกา

วันหนึ่งข้างหน้าถ้าความสามารถของเทคโนโลยีมันถึง อาจจะมีใครย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่นก็ได้ ถ้าเขาไม่ยอมรับบรรทัดฐานของโลกนี้

มติชน หน้า ๑๔ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๑


ไม่มีความคิดเห็น: