วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

เดอะมัสท์

Oct 9, '05 11:41 AM
for everyone
Category:Music
Genre: Other
Artist:กฤชยศ เลิศประไพ
กฤชยศ เลิศประไพ - เดอะมัสท์

ประมาณปลายปี 2533 มีผู้ชายคนหนึ่งนั่ง แทะเล็บรอผู้ชายอีกคนหนึ่งอยู่ในบ่ายวันเสาร์อันร้อนผ่าว ณ ซอย 39 ( สุขุมวิท)
"นั่นไง! มาแล้ว" ชายคนที่นั่งรอคิดในใจ ว่าแล้วก็พุ่งตัวเข้าไปกล่าวสวัสดีผู้ชายอีกคนที่เพิ่งก้าวเท้าเข้ามา สิ้นสุดเสียทีการรอคอย
"สวัสดีครับพี่ดี้ พี่ไม่รู้จักผมหรอก แต่ผมรู้จักพี่ เอาเป็นว่าเห็นมีคนบอกที่นี่มีการเปิดเวิร์คช็อปเขียนเพลง ผมขอถือโอกาสเรียนด้วยคนนะครับ"
เจอรถสิบล้อไม่ติดทะเบียนชนเข้าให้ชายผู้มาใหม่ถึงกับพยักหน้าหงึกหงัก
"อ๊ะ ถ้างั้นก็ตามมา" ว่าแล้วก็กดลิฟท์ขึ้นไปชั้น 4 อันเป็นที่หมายสำคัญ ในห้องนั้นมีคนนั่งอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว ซัก 30 คน หญิงชายเห็นจะได้ ผู้ชายอาวุโสหันมาถามผู้ชายที่อ่อนวัยกว่า
"เราชื่ออะไรล่ะ?" "มัชครับ..มัช" ว่าแล้วผู้ชายผู้รับคำตอบกลับไปก็หันไปบอกทุกคนในห้อง "เอ้า พวกเรานี่เพื่อนใหม่จะมาเรียนด้วยชื่อมัชนะ ไงก็ทำความรู้จักกันเอาเองนะ เราไปนั่งกับเพื่อนล่ะกัน ดูเค้าก่อนนะว่าที่นี่ทำอะไรกันบ้าง"
...นั่นไม่อาจเรียกว่าเป็นกุศโลบายใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงลูกซื่อที่ถือดีนับตัวเองตั้งแต่นั้นมาว่าเป็นลูกศิษย์นักแต่งเพลง ที่ชื่อ "นิติพงษ์ ห่อนาค"..โอ้พระเจ้าฝันไปหรือนี่!?!

ตัดภาพกลับมาเป็นภาพสี พอกันทีภาพขาว-ดำ ผมชื่อ กฤชยศ เลิศประไพ ผู้ชายไม่เอาถ่านคนหนึ่ง ณ วันนั้น (จนถึงวันนี้ ถ่าน ยังเป็นสิ่งของชนิดเดิมชนิดนึงที่ผม ไม่เอา)
...ผมถูกเจี๊ยบ วรรธนา ขอร้องแกมบังคับ (อย่างหลังดูจะมีน้ำหนักมากกว่า) ให้ช่วยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ วิถีการเขียนเพลงของผม
"ใครจะไปอยากรู้ล่ะจ๊ะ?" ผมถามเธอตรงๆ ว่าแล้วเธอก็ชักแม่น้ำคงคา ยมุนา สินธุ ฮวงโห แยงซีเกียง อะเมซอน ไทกริส-ยูเฟติส ฯลฯ (อ้าว...เกิน 5 แล้วนี่หว่า) มาอ้าง.. ผมเริ่มใจอ่อน ด้วยความอ่อนใจต่อทิฐิมานะของเธอ ผมวางหูโทรศัพท์ไป นึกในใจ "เอ้ ..กูหลุดปากรับคำอะไรไปรึเปล่า? อืม ไม่น่า"
...ผมวางหูโทรศัพท์อีกครั้ง หลังจากวางหูโทรศัพท์ครั้งแรกไปได้ไม่ถึงอาทิตย์ "สงสัยต้องทำให้เค้าแล้วว่ะ"
หลังจากใส่บาตรตอนเช้า ผมเลยมานั่งจ่อมพิมพ์คอมฯง่วนอยู่นี่ไง "แล้วจะเริ่มตรงไหนล่ะเนี่ย? ..ซวยแล้น!!!"

ถ้าผมทำให้บางคน ที่อ่านข้อความมาถึงตรงนี้เริ่มไม่แน่ใจ "คุณเปลี่ยนใจยังทันครับ...เชื่อผม เพราะผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะ ไรมาสื่อสารให้คุณๆรับรู้อยู่เหมือนกัน" ส่วนคนที่ใจเร็วด่วนได้ เห็นผู้ชายของขึ้น ชอบเห็นของคนอื่นเป็นของเรา หรือเหมาว่าตัวเองเป็นประเภทคนดีผีคุ้ม คนถูกรุมก็ช่วยมุง (ฮุย! เล! ฮุย!) งั้นตามมาเราคอเดียวกัน ผมมีอะไรบางอย่างจะเล่าสู่กันฟังเล่นๆ
ผมเคยใช้ห้องน้ำสยามเซ็นเตอร์สมัยก่อนยังไม่ไฟไหม้ และปรับปรุงโฉมใหม่ซะเรี่ยมจนแทบจำไม่ได้เป็นที่เขียนเพลงๆนึง ผมมีเวลา 2 อาทิตย์ในการรับผิดชอบดูแลเพลงเพลงนั้นให้เสร็จเรียบร้อยแต่คนที่ทำทำนองใช้ เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์กับอีก 5 วันไปซะแล้ว เมโลดี้ก็แปร่งๆ หม่นๆ ถ้าจะใส่คำ ก็จะได้ก็ประมาณ "ควรมิควร จะดีมั๊ยหนอ? พอมั๊ยพอ? จะรอเค้ามั๊ย?" สุดท้ายท่ามกลางอวลกลิ่นไม้นานาพรรณผมก็ได้กองทิชชู่ 1 ขยุ่มมาเรียบเรียงใส่กระดาษส่งเป็นงาน ภายในเย็นวันนั้น "ผ่าน" วู่!....ผมเป่าปากอย่างโล่งใจ ผมได้เสาวลักษณ์ ลีละบุตรมาร้องเพลงนี้ให้ เพลงที่ว่าคือเพลงละครเรื่อง "ล่า"

วิยะดา โกมารกุล ณ นคร ผมชอบเสียงเธอจัง ฝันไว้เล่นๆว่า ถ้ามีโอกาสอยากเขียนเพลงให้เธอร้องซักเพลง แล้วโอกาสผมก็มาถึง "เติมฝัน" เพลงละครอีกเรื่องหนึ่งจากเรื่อง "เคหาสน์ดาว" ทำให้ฝันของผมเป็นจริง
"เพลงนี้ขึ้นเหมือนเพลงพี่ที่ร้องเมื่อวานเลย" ธงไชย แมคอินไตย กล่าวหลังจากที่ชะโงกหน้ามาดูกระดาษที่ผมเขียนและนั่งกินอาหารบนโต๊ะเดียว กับที่ผมกำลังง่วนเขียนท่อนพิเศษของเพลง "รักเธอคนเดียว"ของ แอน นันทนา บุญ-หลง อยู่ เพราะระหว่างนั้นชั้นบน พี่เต๋อ กับ ปอนด์ กำลังคุมแอนร้องเนื้อเพลงเท่าที่มีอยู่ ผมคงมีเวลาไม่มากนักที่เขีนท่อนที่เหลือให้เสร็จ เพื่อขึ้นไปส่งให้ทันเวลา ก่อนที่จะทำการร้องท่อนที่ว่า

ผมรู้ว่าพี่เบิร์ดคงหมายถึงเพลงเธอผู้ไม่แพ้ เพราะขึ้นด้วยคำว่า ..ในชีวิต..เหมือนกัน เหมือนฟ้าแกล้งพี่เบิร์ดชวนผมคุยกินข้าวตามอัธยาศัยที่ดีของแก แต่หารู้ไม่ ว่าตอนนั้นผมต้องการสมาธิแบบสุดชีวิตเพราะไฟกำลังลนก้นผมจนร้อนระอุเต็มที่ แล้ว ผมแทบจะกล่าวกับพี่เบิร์ดในตอนนั้นว่า "พี่ครับ พี่เดินไปเลยครับพี่ซอยสุทธิพรเนี่ย ทั้งซอยเค้าอยากรู้จัก อยากคุยกับพี่กันทุกคนเลยอ่ะ ..แต่ไม่ใช่ผมตอนนี้ครับ!!!" เวลาได้ทำหน้าที่ของมัน เพลงนั้นเสร็จทันการณ์ ผมนึกขำตัวเอง ระคนผิดในใจ "พี่เบิร์ดครับ ผมขอโทษที่คิดไม่ค่อยดีกับพี่ในตอนนั้น ฮ่า ฮ่า ฮ่า"
ถ้าโลกเบี้ยวมีเพลงแบบ "ให้เธอ" ของพี่โต๊ะจะเป็นยังไง? อืมม คิดไปคิดมาผมก็ลองจับกีต้าร์ขึ้นมา ฮึมๆ ฮัมๆ ทำนองเล่นๆ ด้วยคอร์ดง่ายๆไม่กี่คอร์ด มันเริ่มจากประโยค "ก็ยังรักคนๆหนึ่ง และก็ก็ยังซึ้งกับคนๆ นั้น.." ผมมักจะได้ยินอยู่เสมอๆ ว่าเพลงสมัยนี้ไม่ค่อยสัมผัสกันซักเท่าไหร่? ถ้าใครเคยอ่านเนื้อหรือฟังเพลงนี้ ก็เห็นจะจริง เพราะมีท่อนนึงที่ผมไม่สามารถหาสัมผัสได้ นั่นคือท่อน "ถึงไม่ได้เป็นคนแรกของเธอแค่ได้เป็นคนสุดท้ายก็เอา" แต่นอกนั้นถ้าว่ากันตามฉันทลักษณ์ ผมยืนยันว่า เพลงตลกๆ

เพลงนี้มีสัมผัสครบทุกวรรคทุกตอนครับ จริง แล้วเพลงนี้มันเกิดจาก ผมหมั่นไส้เพลงๆนึง อ้อ ความจริงหลายเพลงเชียวล่ะที่เขียนไว้ เล่นตามแค้มป์ไฟน่ารักๆเข้าว่า แต่หาสัมผัสไม่ได้เท่าไหร่ ก็เลยเขียนประชดมันซะอย่างงั้นเอง แล้วหาคำที่ไม่น่าจะลงไปได้ ในเพลงอย่างคำว่าโลกาภิวัตน์ ที่ชอบพูดกัน นักในช่วงนั้น แถ-ลงไปจนได้ จริงๆผมตั้งชื่อมันไว้ว่า "รักนี้ไม่มีสาขา" แต่ด้วยกระแส คำว่า โลกาภิวัตน์ มันแรง เค้าเลยไปเปลี่ยนชื่อเป็น "รักโลกภิวัตน์" แทน

"อยากจะมีเธอ" เป็นอีกเพลงทีผมอยากพูดถึง ผมชอบเพลงนี้นะ ผมว่าพี่ป้อม เกริกศักดิ์ แกร้องแล้วได้อารมณ์ดีจังชอบ ไม่มีอะไรพูดถึงมาก แต่แค่อยากพูดถึง
ผมชอบเพลง "เรานั้นยังรักกัน" ที่พี่ ปุ๊ อัญชล ีร้องไว้ ผมใช้เวลาในการฟังเมโลดี้ นานมาก คิดอยู่นานวาจะเขียนเรื่องอะไรดี แล้วก็มาคิดเรื่องที่ว่าพี่ปุ๊หายไปนานแล้วเค้ากลับมา เค้าอาจจะไม่แน่ใจว่าเค้าจะได้รับ การตอบรับจากคนฟังมากน้อยแค่ไหน แต่ผลตอบรับของ Cross road คือบทพิสูจน์ได้ดี ผมเลยเขียนเพลงนี้ให้คิดได้ 2 ชั้น เสมือนว่าพี่ปุ๊พูดกับแฟนเพลงที่หายไป กับอีกนัยหนึ่ง ก็เหมือนคนที่ไม่แน่ใจกับความรัก แล้วสุดท้ายก็รับรู้ว่าที่แท้ทุกอย่างที่ตัวเองคิด มันอาจจะผิดไปก็ได้เลยกลับมาขออภัยที่ไม่กล้ายอมรับความจริงในความรักของอีก คนที่มีให้

จริงๆแล้วให้ผมมานั่งนึกว่าตัวเองทำอะไรมาบ้างผมนึกไม่ออกหรอก มีเทคนิคพิเศษแนะนำ ผมก็ไม่มีหรอก ลำพังเอาตัวรอดไปวันๆมาได้นี่ก็บุญหัวแล้วล่ะ อิ อิ
แต่ที่ชอบเล่นเป็นประจำเวลานึกอะไรไม่ออกมักจะหาอะไรมาเป็นโจทย์ซักตัว อาทิเช่น
"ฝนตกหยิมๆยายฉิมเก็บเห็ด" ถ้ายายฉิมไม่เก็บเห็ดจะทำอะไรได้บ้าง? อาจจะเป็น
"ฝนตกหยิมๆยายฉิม เก็บศพ","ฝนตกหยิมๆยายฉิมปล่อยแก่","ฝนตกหยิมๆยายฉิมอวบอัด" ฯลฯ มันอาจดูไร้สาระ แต่มันจะได้ประโยชน์ตรงที่ว่า คำว่า เก็บเห็ด มันเป็นเสียงวรรณยุกต์เสียงเอก 2 ตัวติดกัน ถ้าเราหาคำที่มีความหมาย 2 พยางค์ มาแทนได้ ก็ถือว่า เป็นการซ้อมหาคำมาในการเขียนเพลงไปในตัวจะได้ไม่ตัน

ยกตัวอย่าง คำที่เปลี่ยนมาแล้วแต่น้ำหนักเสียงของคำยังเท่าเดิม อย่าง พลเอกการุณ เก่งระดมยิง อาจจะเป็น พลเอกการุณ เก่งประมาณนึง หรือ พลเอกเชรษฐา ฐานะจาโร ก็เป็น พลเอกเชรษฐา ฐานะปานกลาง,พลเอกเชรษฐา ฐานะโอเค เป็นต้น
คำที่หามาต้องได้ความหมายด้วยนะไม่งั้น ได้น้ำหนักคำ แต่ไม่รู้เรื่อง ก็ถือว่าไม่ผ่าน
ลองเอาไปเล่นดูก็แล้วกัน อีกอย่างผมชอบทำงานภายใต้ความกดดัน เพลงที่ผมเขียนผมต้องชอบก่อน ฮิตไม่ฮิตก็เรื่องของมัน แต่มันต้องมีคำแปลกๆ หรือไม่ก็พยายามสรรหาคำมาเขียนเป็นเรื่องให้ได้ ผมเป็นพวกสำบัดสำนวนไม่ค่อยเป็นพวกคอนเส็ปท์นัก

อีกอย่างเป็นพวกคิดช้า ทำช้า (นี่อุตส่าห์ยอมด่าตัวเองแล้วนะ จะได้ไม่มีใครมาแอบด่าในใจให้ได้ยิน พอดีเป็นคนขี้ระแวงน่ะ อิอิ)


sumokeng wrote on Oct 9, '05, edited on Oct 9, '05
ReviewReviewReview

กฤชยศ เลิศประไพ (เดอะ มัสท์)

ชื่อจริง
กฤชยศ เลิศประไพ (ชื่อเล่น "มัสท์")
วันเกิด วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2511

ราศี พิจิก
ครอบครัว เป็นชาวปากน้ำ สมุทรปราการ มีพี่น้อง 3 คน ตัวเขาเป็นคนกลาง

การศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ เอกโฆษณา
งานอดิเรก เล่นอินเตอร์เน็ต, ดูหนัง, อ่านหนังสือ
เครื่องดนตรีที่ถนัด กีตาร์
แนวเพลงโปรด ร็อค
ศิลปินที่ชื่นชอบ เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์, เฉลียง, ดิ อินโนเซนต์, Nirvana, The Bettles , Pink Floyd
ประสบการณ์ ทาง ด้านดนตรี เริ่มต้นจากการเป็นนักแต่งเพลง และโคโปรดิวเซอร์กับแกรมมี่ อยู่ประมาณ 5 ปี ก่อนแหวกม่าน ก้าวเดินมาหน้าไมค์ ในฐานะศิลปินเดี่ยว
รางวัล ที่เคยได้รับ ปี 2543 รางวัลสีสันอะวอร์ดส สาขาเพลงร็อคยอดเยี่ยม จากเพลง "ไม่ลองไม่รู้", รางวัล ส.ย.ช. เพลงเพื่อเยาวชน จากเพลง "ถนนดวงดาว" ศิลปิน "ศักดา พัทธสีมา"
แนวเพลง อัลเทอร์เนทีฟ ร็อค
สังกัด อาร์พีจี

ด้วยความมุ่งมั่นแรงกล้า ว่าจะทำงานเพลง ทำให้เขาหันหลัง ให้กับงานโฆษณา หลังจากทำงานอยู่ที่วายุพักตร์ เอเจนซี่ เฮ้าส์ 2 ปี

"มัส ท์" จับกีตาร์ตั้งแต่เรียนอยู่ประมาณ ม.3 - ม.4 หลังเรียนจบ และทำงาน เขาใช้เวลาว่างวันอาทิตย์ ไปเรียนกีตาร์คลาสสิก ที่ศศิลิยะ จากนั้นมีโอกาสได้เข้าเวิร์คช็อป เรียนเขียนเพลงกับ "ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค" ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเอง 6 เดือน จึงได้เป็นหนึ่งใน ทีมเขียนเพลงของแกรมมี่ ก่อนจะก้าวมาเป็นโคโปรดิวเซอร์ ให้กับศิลปินมากหน้าหลายตา อย่างเช่น เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, สวอน, อ่ำ-อัมรินทร์ (ชุดแรก) นอกจากนี้ ยังแต่งเพลงประกอบละครเรื่อง "ล่า" ให้กับค่ายเอ็กแซ็กท์

ทำงานกับแกรมมี่ได้ 5 ปี กฤชยศตัดสิน ใจลาออก เพื่อเดินตาม ความฝันของตัวเอง อัลบั้มชุดแรกของเขา "เดอะมัสท์" ออกมา ปลายปี 2538 ซึ่งแม้จะเป็นเทปใต้ดิน ไม่มีการโปรโมชั่น ไม่มีโปสเตอร์ หรือแม้กระทั่งพริ้นท์แอด แต่ก็ประสบความสำเร็จ เกินคาด

ต้นปี 2540 เขามีผลงาน "อัศวินม้าไม้" สังกัดโอ้ มายด์ ก็อด มิวสิค ความฝันเขายังไม่จบสิ้น เป้าหมายของเขาอยากทำเพลงไทย ให้เป็นที่ยอมรับของสากล เหมือนวง X-Japan ที่สามารถนำ เพลงญี่ปุ่นเผยแพร่ไปทั่วโลก

หลังจากนั้นเขากลับไปทำหน้าที่คนเขียน เพลงให้กับ อาร์พีจี อย่างเต็มตัว มีผลงานเด่นๆอย่างเช่นเพลง "เขาลืม" (ปาล์มมี่), "ธีรภัทร์" (ตุ้ย ธีรภัทร์), "สวรรค์ไม่มีคำตอบ" (มิสเตอร์ทีม), "ตัวเปล่า" (ปีเตอร์ คอร์ป) ฯลฯ

มีนาคม 2545 มัสท์ออกอัลบั้มหมายเลข 3 ภายใต้สังกัด อาร์พีจี ใช้ชื่ออัลบั้ม MARATHON MAN ที่เจ้าตัวตั้งใจให้เป็น เหมือนการดูหนังหนึ่งเรื่อง เพลงแต่ละเพลงจะเหมือน สถานการณ์ต่างๆในหนัง แต่ละเพลงมีรายละเอียดดนตรี ที่ต่างกันออกไป งานในอัลบั้มนี้แสดงถึงบทบาทการเป็น คนเขียนเพลง จากสำนวนที่สื่อออกมา รวมถึงมุมมองที่ต่างออกไป เหมือนกับการเล่าเรื่องในแต่ละฉากให้คนฟังคล้อยตามไปด้วย
sumokeng wrote on Oct 9, '05
ReviewReviewReview
กฎการเขียนเพลงของ เดอะมัส (กฤชยศ เลิศประไพ) จากค่าย RPG

การเขียนเพลงมีกฎ 6 ข้อ
1. ศิลปินคือใคร?

2. ทำนองเพลง ฟังแล้วอารมณ์เป็นลบหรือบวก
- อกหัก เหงา เศร้า ฟูมฟาย คิดถึง+ สมหวัง ให้กำลังใจ

3. โครงเรื่อง

4. การสื่อสาร ความน่าสนใจในการพูด

ก. แบบสามเหลี่ยม(ปิรามิด) ปล่อยให้มือพาไป ไม่ได้คิดเอาไว้ก่อน เขียนไปเลย
ไม่มีโครง เรื่อง ไม่มีทิศทาง เขียนไปเรื่อยๆ การเขียนแบบนี้จะคุมเรื่องไม่ได้ แต่จะได้ความสด

ข. แบบนาฬิกาทราย จะเริ่มเขียนจากท่อน HOOK เป็นหลักแล้วไล่ขึ้นบน ลงล่าง เริ่มจาก แรงๆ แล้วส่วนอื่นๆ จะคลี่คลายไปเอง

ค. แบบสามเหลี่ยม(กางเกงใน)เป็นการคิดจากท้ายประโยคขึ้นไปข้างบน

ง. แบบว่าว คิดจากบนและล่าง แล้วค่อยไล่ไปตรงกลาง

5. ความประทับใจ จะต้องหาประโยคบางประโยคที่จะให้คนฟังประทับใจกับประโยคนั้น

6. ให้ได้ถ้าเราเขียนจนคล่องแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้หลักนี้อีกต่อไปก็ได้แต่ช่วงแรกๆ ก็ต้องยึดหลักเอาไว้ก่อนเหมือนพวกนางงามที่หัดเดินโดยวางหนังสือไว้บนหัว หรือว่าการเดิน
ข้ามไม้ที่วางพาดไว้ตามท้องร่องเดินไปครั้งแรกๆ อาจจะพลาดตกลงไปได้แต่พอเดินบ่อยขึ้นๆ ก็เกิดความชำนาญตอนข้ามไปอาจจะไม่ได้คิดถึงไม้เสียด้วยซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น: