สถาปัตย์สอนสั้นๆ ได้สามอย่างครับ
(ซึ่งคิดว่าจริงๆ แล้วมีเป็นร้อยๆ เลยทีเดียว)
หนึ่ง: สอนให้ฝัน
ผมยังจำข้อสอบข้อหนึ่งสมัยที่ผมสอบเข้าคณะสถาปัตย์ได้
เขาให้เนื้อเพลง 'เรือนแพ' มา แล้วให้นักเรียนอ่านเนื้อเพลงทั้งหมด
แล้ว 'วาดภาพ' ในเพลงที่เห็น เป็นการทดสอบจินตนาการ
หลังจากสอบเข้าไปได้เรียนในคณะนี้เราก็ยังต้องใช้จินตนาการอยู่ตลอดเวลา
ทุกครั้งเราต้องเริ่มต้นจากกระดาษเปล่า จากความไม่มีอะไรเสมอ
แล้วทุกคนก็ต้องสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากความว่างเปล่า
และสิ่งต่างๆ นั้นก็ต้องเป็น 'แบบ' ใหม่ที่ไม่ได้ลอกเลียนใครที่ไหนมา
ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องจินตนาการถึงสิ่งนั้นก่อนที่จะลงมือเขียน (วาด) มันลงไป
ในความว่างเปล่า ทุกโครงการจึงเริ่มต้นด้วยความว่างเปล่า
และจบลงด้วยความฝันที่เป็นตัวเป็นตนบนหน้ากระดาษ
ความสำคัญของความฝันทั้งหลายก็คือ มันไม่มีคำตอบที่ถูกเตรียมไว้รอตรวจ
เราจึงฝันไปได้มากมาย และยังได้เห็นความฝันจากจินตนาการของเพื่อนของเราด้วย
โจทย์เดียวกันจึงมีผลลัพธ์ออกมาได้แตกต่างหลากหลายถึงสองร้อยแบบ
(เท่าจำนวนเพื่อนในชั้นปีเดียวกันสองร้อยคน) ไม่เพียงนักเรียนสถาปัตย์ที่สนุก
ผมว่าอาจารย์คณะนี้ก็น่าสนุกตอนตรวจแบบ เพราะคำตอบนั้นไม่เคยซ้ำกันเลย
'เรือนแพ' ที่ถูกฝันขึ้นจากเพลงเดียวกันจึงมี 'เรือนแพ' ในฝันนับพันๆ เรือน
สอง: สอนให้คิด
สถาปัตย์สอนให้ออกแบบ และหนึ่งมุมของการออกแบบคือการแก้ปัญหา
สถาปัตย์ไม่ได้สอนให้สื่ออารมณ์ข้างในของผู้ออกแบบออกมาเหมือนศิลปิน
ถ้ากำลังโกรธ เราคงไม่สามารถตวัดเส้นฉวัดเฉวียนรุนแรงให้เป็นรูปตึกได้
เพราะมันมีสิ่งที่ต้องคิดคำนึงถึงมากมายในการลากเส้นแต่ละเส้น
การออกแบบเป็นการคิดถึงผู้ใช้งานมากกว่าตัวเอง นักออกแบบที่ดีคือคนที่
สามารถผสมการใช้งานที่ดีเข้ากับสไตล์หรือลายเซ็นหรือความเป็นตัวเอง
หากทั้งสองสิ่งสมดุล ผลลัพธ์น่าจะเป็นอาคาร, ผลิตภัณฑ์ หรือผลงานที่ลงตัว
การสอนให้คิดนั้นเป็นการกระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เสมอ
เพราะทุกวันย่อมมีปัญหาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาให้ออกแบบ
นักออกแบบที่ดีจึงเป็นนักสังเกตที่ดีด้วย ต้องสังเกตเพื่อที่จะมองหาข้อดีข้อเสีย
มาใช้ในการออกแบบของตัวเอง ซึ่งการสังเกตก็คือการมองผู้ใช้งาน
ลองดูว่าเขามีปัญหาอะไรไหม เขาสุขใจกับอะไรบ้าง
แถมการถูกบังคับให้คิดแทบทุกวันนั้นก็ยังทำให้นักเรียนสถาปัตย์
สนใจความคิดของคนอื่น ต้องไปตามหาความคิดคนอื่นมาอ่าน
เพื่อนำมาบันดาลใจตัวเองในการสร้างงานออกแบบ เพราะก่อนที่จะคิด
เราก็ต้องมี 'แนวความคิด' หรือ Concept ก่อน
ก่อนที่จะสร้างแนวความคิดของตัวเองได้ เราก็ต้องศึกษาแนวความคิดหลายๆ แบบ
ซึ่งจะว่าไปแล้ว แนวความคิดที่ใช้ในการออกแบบนั้นก็ไม่ต่างจากปรัชญา
หรือแนวความคิดต่างๆ ในสังคมซึ่งเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมและช่วงเวลานั้นๆ
ซึ่งความคิดคนเราก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เมื่อได้รับแนวความคิดที่หลากหลาย
ก็ยิ่งทำให้คิดได้กว้างและสนุกขึ้น
สาม: สอนให้ทำ
สถาปัตย์บังคับให้ลงมือทำ เมื่อฝันเสร็จ เมื่อคิดแล้ว หากไม่ลงมือทำก็ไม่รู้ผลลัพธ์
ไม่มีอะไรจับต้องได้ นักเรียนสถาปัตย์จึงต้องลงมือเขียนแบบ ประกอบโมเดล
หรือสร้างตัวงานขึ้นในคอมพิวเตอร์เพื่อให้เห็นภาพว่าหน้าตาจริงๆ เมื่อใช้งานจริงๆ
จะเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงส่วนไหนที่ต้องแก้ไขอีกหรือเปล่า ซึ่งขั้นตอนนี้นั้น
ไม่ใช่การลงมือทำเพียงครั้งเดียว การเขียนแบบต้องมีการแก้ไขแบบ ปรับปรุง พัฒนา
จนกว่าแบบจะมีช่วงโหว่น้อยที่สุด ขั้นตอนตรงนี้ยังฝึกให้เป็นคนรับฟังความคิดเห็น
ของคนอื่น เป็นคนรอบคอบ ละเอียดอ่อน และอาจจะคิดเยอะ คิดเล็กคิดน้อย (ฮ่าฮ่า)
แถมยังทำให้กลายร่างเป็นคนที่มีความอดทน สามารถแก้ไขแบบเดิมๆ ได้หลายเดือน
สุดท้าย ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยเรามั่นใจได้ว่า
สิ่งที่เราเคยฝันเอาไว้มันจะกลายเป็นความจริง และด้วยความที่ต้องตระหนักถึงข้อนี้
ทำให้ทุกขั้นตอนในการออกแบบ เราจะต้องตั้งใจให้ดีที่สุด เพราะเราไม่ได้กำลังฝัน
ไม่ได้กำลังสร้างสรรค์บางอย่างขึ้นในหัว ลอยๆ ล่องหนอยู่ในอากาศ แต่สุดท้ายแล้ว
ตึกหลังนี้จะมีคนเข้าไปใช้ บ้านหลังนี้จะมีคนเข้าไปอยู่ เก้าอี้ตัวนี้จะมีคนมานั่ง
โปสเตอร์แผ่นนี้จะถูกนำไปติดไว้ที่ข้างกำแพงในเมือง เราจึงต้องตั้งใจทำฝันให้สวย
เพื่อที่จะได้สร้างโลกแห่งความจริงที่สวยงามขึ้นมา
สถาปัตย์ไม่ได้สอนให้ออกแบบโลก แต่สอนให้ออกแบบสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมา
เป็นสังคม เป็นโลกที่เราอาศัยอยู่ ถ้าแต่ละหน่วยย่อยๆ ที่เราออกแบบสวยงาม
และใช้การได้ดี โลกใบนี้ก็น่าจะสวยงามและมีความสุขมากขึ้น
หากให้ตอบสั้นๆ แบบ Less is more. อาจจะพอตอบได้ว่า
"สถาปัตย์สอนให้ฝันถึงโลกใบนั้น แล้วลงมือสร้างมันให้เป็นจริงครับ"
ยิ้มกว้างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น