วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560

กล้าที่จะถูกเกลียด

“กล้าที่จะถูกเกลียด” เป็นหนังสือโดยชาวญี่ปุ่น 2 คนที่ศึกษาหลักจิตวิทยาของอัลเฟรด แอดเลอร์
หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ว่า “คนเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และโลกใบนี้ก็เรียบง่ายจนไม่ว่าใครก็สามารถมีความสุขได้”
วันนี้ผมนำ 5 ข้อคิดที่ไม่ธรรมดา จากหนังสือเล่มนี้มาฝากกัน
ใครอ่านแล้วชอบ ตามไปอุดหนุนหนังสือจาก สำนักพิมพ์วีเลิร์น ได้เลยนะครับ

1. ไม่มีใครที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้
ไม่ว่าอยู่ในช่วงเวลาไหน สภาพแวดล้อมแบบไหน คนเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เสมอ
ที่คุณเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะคุณตัดสินใจว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงต่างหาก
ถึงจะไม่พอใจหลายอย่าง แต่คนเราก็เลือกที่จะอยู่กับ ตัวตนในแบบที่เป็นอยู่ เพราะมันช่วยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายและอุ่นใจกว่า

คำตอบของการเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ ตัดสินใจเลิกใช้ชีวิตในแบบที่เป็นอยู่
ตราบใดที่คุณผูกติดกับคำว่า “ถ้า” เช่น “ถ้าฉันทำแบบนี้” คุณก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

2. คุณรู้สึกทุกข์ เพราะคุณเลือกที่จะมีความทุกข์เอง
คุณไม่ได้ทุกข์เพราะสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย คุณไม่ได้ทุกข์เพราะเจอสิ่งที่ไม่ดี
คุณรู้สึกทุกข์ เพราะคุณตัดสินใจว่า ความทุกข์ส่งผลดีต่อตัวคุณ
เพราะความทุกข์ให้ประโยชน์กับคุณบางอย่าง

เคยเจอคนที่ชอบพร่ำบ่น หรือมีอะไรต้องมาระบาย มาปรับทุกข์ไหมครับ
เคยเจอคนที่ทุกข์แล้วเก็บตัว ไม่ยอมพูดคุยกับใครไหมครับ
คนประเภทนี้รู้สึกต่ำต้อย จนต้องใช้ความทุกข์เป็นเครื่องมือ ให้ตัวเองเป็น “คนพิเศษ”
มันคือการเอาความทุกข์ของตัวเองมาใช้เป็นอาวุธเพื่อควบคุมคนอื่น

แต่อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่คุณยังเอาความทุกข์มาเป็นอาวุธเพื่อทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษ
คนคนนั้นก็จำเป็นต้องพึ่งพาความทุกข์ไปตลอดกาล

3. อิสรภาพคือการถูกคนอื่นเกลียด
คนเราทุกคนล้วนอยากได้การยอมรับจากผู้อื่น
แต่ยิ่งเราแสวงหาการยอมรับเท่าไร เราก็ยิ่งถูกพันธนาการมากขึ้นเท่านั้น

การใช้ชีวิตเพื่อเติมเต็มความคาดหวัง หรือฝากชีวิตของตัวเองไว้กับคนอื่น
คือการโกหกตัวเองและคนรอบข้างไปวันๆ
ความกล้าที่จะมีความสุข ต้องอาศัยความกล้าที่จะถูกเกลียด
ตราบใดที่คุณยังไม่เลิกสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ ยังกลัวที่จะถูกเกลียด ยังอยากได้การยอมรับ
คุณก็ไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่ตนเองปรารถนาได้

4. คุณไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก
คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตราวกับว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก
คนแบบนี้จะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าคนอื่นคิดกับตัวเองอย่างไร
มองว่าตัวเองเป็นอย่างไร หรือจะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้มากแค่ไหน
คนแบบนี้ดูเผินๆเหมือนเขากำลังคิดถึงคนอื่นอยู่
แต่แท้จริงแล้วพวกเขากำลังมองแต่ตัวเอง ใส่ใจแต่ตัวเอง และไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนอื่นเลย

จริงๆแล้วคุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น
และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องก้าวไปสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยตัวเอง
ไม่ใช่คิดว่า “คนคนนี้จะให้อะไรกับเราได้บ้าง”
แต่ต้องคิดว่า “เราจะให้อะไรกับคนคนนี้ได้บ้าง”

 5. การช่วยเหลือคนอื่นคือการทำเพื่อตัวเอง
นิยามของความสุข ในหนังสือเล่มนี้ คือ “การรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือคนอื่น”
ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้คุณช่วยคนอื่นได้อย่างไร้เงื่อนไข
ถ้าคุณช่วยคนอื่นเพราะอยากได้การยอมรับ คุณก็จะไม่เป็นอิสระ
การช่วยเหลือคนอื่นจึงไม่ใช่การอุทิศตนจนถึงขั้นละทิ้งตัวเอง
แต่เป็นการทำเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่างมาก

ถ้าเราช่วยเหลือผู้อื่นจากใจจริง จะได้รับการยอมรับหรือไม่ ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป
เพราะเรารู้สึกได้เองว่า “ฉันมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อใครสักคน”
และนั่นแหละครับ คือความสุขที่แท้จริง

• สุขทุกข์ใจเราเลือกเอง เราทุกคนล้วนอยู่ในโลกที่ตัวเองปั้นแต่งขึ้นด้วยการตีความของเราเอง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า “โลกเป็นอย่างไร” แต่อยู่ที่ว่า “ใจเราเป็นอย่างไรต่างหาก” หากเรามองโลกผ่านแว่นดำก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นทุกอย่างดำมืดหมด สิ่งที่ควรต้องทำคือแค่ถอดแว่นออกและมองโลกตามสภาพความเป็นจริง ทุกคนสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ อ่านแล้วนึกถึงเนื้อเพลง “ร่มสีเทา” ของวัชราวลี โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “อย่าไปยึด อย่าไปถือ อย่าไปเอามากอดไว้ ก็จะไม่เสียใจ ตลอดชีวิตต้องผ่านการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใครจะทุกข์จะสุขแค่ไหน ก็อยู่ที่จะมอง”

• ไม่มีเหตุการณ์ใดในอดีตเป็นสาเหตุของความสำเร็จหรือความล้มเหลวในปัจจุบัน บางคนชอบคร่ำครวญว่าชีวิตเราเป็นทุกข์เพราะพ่อแม่ทอดทิ้ง เราไม่สามารถมีความสุขได้เพราะโดนคนรอบตัวกลั่นแกล้ง หรือเราไม่สามารถมีความรักที่สมหวังเพราะเราโดนแฟนเก่าหักอก เราไม่รวยเพราะเรียนมาไม่สูง แอดเลอร์บอกว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “มีสิ่งใดเกิดขึ้น” แต่อยู่ที่ว่าเรา “ให้ความหมายกับสิ่งนั้นอย่างไร” เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ เพราะฉะนั้นหากเรายังเชื่อว่าอดีตคือตัวกำหนดชีวิตเราในปัจจุบัน ชีวิตเราก็จะถูกพันธนาการไว้จนไม่อาจมีความสุขในวันข้างหน้า แต่ความจริงก็คือเราไม่ได้เป็นเหยื่อของการกระทำใด ๆ ในอดีตเพราะเราทุกคนสามารถกำหนดชะตากรรมตัวเองในปัจจุบันได้และเปลี่ยนแปลงตนเองได้เสมอ
• ไม่สำคัญว่าคุณได้อะไรมาบ้าง สิ่งสำคัญคือคุณจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์อย่างไร บางคน “รักตัวเองไม่ลง” เพราะมองเห็นแต่ข้อเสียของตัวเอง เช่น เรียนไม่เก่ง หน้าตาไม่ดี รูปร่างไม่ดี มนุษย์สัมพันธ์ไม่ดี มองโลกในแง่ร้าย ขี้หวาดระแวง ฯลฯ นักปรัชญาบอกว่า ความรู้สึกต่ำต้อยเป็นสิ่งที่เราคิดไปเองและไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นเพียง “ความรู้สึกส่วนตัวที่เราปั้นแต่งขึ้นเอง” โลกเรานั้นไม่เท่าเทียมดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ทุกคนย่อมมีความต่างกันอยู่แล้ว สิ่งสำคัญไม่ใช่การเปรียบเทียบทำให้ต้องการอยากกลายเป็นคนอื่นหรืออยู่เหนือคนอื่น แต่คือการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นภายใต้พื้นฐานที่เรามีอยู่เพื่อให้ก้าวไปไกลกว่าจุดที่เรากำลังยืนในปัจจุบัน สิ่งที่เลวร้ายก็คือ หลายคนขาดความกล้าที่จะก้าวเดิน มัวแต่คิดว่า “อย่างเราคงไม่มีปัญหาหรอก” “ถึงพยายามไปก็เท่านั้น” แล้วยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำอะไรด้วยซ้ำ
• คนเราเลือกที่จะทุกข์เพราะต้องการบรรลุเป้าหมายบางอย่าง หนังสือเล่มนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจบอกว่าคนเราไม่ได้ทุกข์เพราะสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายหรือเพราะเจอสิ่งที่ไม่ดี แต่เราเลือกที่จะทุกข์เพราะเราตัดสินใจว่า ความทุกข์ส่งผลดีหรือให้ประโยชน์บางอย่างต่อเรา อย่างเช่น บางคนชอบพร่ำบ่นความทุกข์ในอดีตราวกับเป็นเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจ  คนประเภทนี้รู้สึกต่ำต้อย จนต้องใช้ความทุกข์เป็นเครื่องมือ ให้ตัวเองเป็น “คนพิเศษ” เพราะมันคือการเอาความทุกข์ของตัวเองมาใช้เป็นอาวุธเพื่อควบคุมคนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังเอาความทุกข์มาเป็นอาวุธเพื่อทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษ คนคนนั้นก็จำเป็นต้องพึ่งพาความทุกข์ไปตลอดกาล ตัวอย่างเช่น เด็กที่ชอบเก็บตัวไม่ออกจากห้องเป็นแรมปีที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮิคิโคโมริ ( ひきこもり) นั้นไม่ได้เป็นเพราะเขามีความทุกข์แต่เป็นเพราะเขาซ่อนตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง คือ ต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง เพราะทันทีที่เขาออกจากห้องเขาจะกลายเป็นคนธรรมดาทันที
• ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ คนเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด แต่บางคนกลับเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะการยึดติดกับความเคยชินแบบเก่า ๆ ทำให้อุ่นใจกว่า อย่างน้อยเราก็คาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ถึงจะไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่นักแต่ก็เลือกที่จะอยู่กับ “ตัวตนแบบที่เป็นอยู่” เพราะมันช่วยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายและอุ่นใจกว่าเช่น บางคนอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่ลงมือทำโดยหาข้ออ้างต่างๆนาๆ เช่น ไม่มีเวลา เงินทุนไม่พอ อายุมากแล้ว ฯลฯ คือหาเหตุผลที่ทำให้ทำไม่ได้มาอ้าง หรือบางคนมีความสัมพันธ์ไม่ดีกับพ่อแม่โดยอ้างว่า เพราะโดนพ่อแม่ตีดุด่าตอนเด็ก แต่จริงๆแล้วนั่นเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่อยากจะปรับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นต่างหาก
• สิ่งที่ควบคุมได้มีเพียงเรื่องของตัวเอง นักปรัชญาบอกว่า ความทุกข์ใจทั้งหมดเกิดจาก “ความสัมพันธ์กับผู้คน” ประเด็นนี้ตรงกับหนังสือเล่มโปรดของดิฉันชื่อว่า “ความสุขไม่ได้หาย แค่หาให้เจอ” กล่าวไว้ว่า ในโลกนี้มีเพียง 3 เรื่อง คือ เรื่องของเรา เรื่องของเขา และเรื่องของสวรรค์ แต่คนเรามักลืมไปทำให้คอยไปคิดก้าวก่ายเรื่องของคนอื่นหรือไม่ให้คนอื่นเข้ามาก้าวก่ายเรื่องของเรา อยากให้คนนั้นทำแบบที่เราอยากให้ทำ หรือไม่พอใจที่คนโน้นมาทำแบบนี้กับเรา ทำให้โกรธเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เช่น ทำไมฝนถึงตก ทำไมรถจึงติด ทำไมเจ้านายถึงจู้จี้ ฯลฯ หรือบางคนกังวลว่าถ้าเราทำแบบนั้นแล้วคนอื่นจะคิดอย่างไร วิตกว่าคนอื่นจะมองเราไม่ดี โดยลืมไปว่าในโลกนี้มีเพียงเรื่องเดียวที่เราควบคุมได้คือ “เรื่องของเรา” ตราบใดที่เรายังไม่เลิกสนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ ยังกลัวที่จะถูกคนอื่นเกลียด ทำตามความคาดหวังของคนอื่น หรือยังอยากได้การยอมรับจากคนอื่นมากเท่าไร ก็จะถูกพันธนาการไว้มากเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจที่พิสูจน์ได้ก็คือ ถึงแม้เราสามารถควบคุมได้แค่ตัวเราเอง แต่หากเราเปลี่ยนแปลงตนเอง สิ่งรอบตัวเราก็จะเปลี่ยนตามเช่นกัน
•  การช่วยเหลือคนอื่นคือคุณค่าของชีวิต เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก ดังนั้นแทนที่จะคิดว่า “คนๆนี้จะให้อะไรเราได้บ้าง” มาเป็น “เราจะให้อะไรคนอื่นได้บ้าง” นิยามความสุขในหนังสือเล่มนี้ที่ดิฉันชอบมากก็คือ “การได้ช่วยเหลือคนอื่นอย่างไร้เงื่อนไข” ซึ่งไม่ใช่การช่วยเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เพราะถ้าเราช่วยเหลือผู้อื่นจากใจจริง การได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป การช่วยเหลือจะสามารถสร้างความรู้สึกได้ว่า “ฉันมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อใครสักคน” และนั่นก็คือความสุขที่แท้จริงค่ะ การดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าก็คือการเดินตามดวงดาวนำทางแห่งการช่วยเหลือผู้คน
สุดท้ายหนังสือสรุปว่าภารกิจชีวิตมนุษย์มีเป้าหมายสองอย่างคือ หนึ่งคือการพึ่งพาตัวเองได้โดยรู้สึกได้ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะยืนบนลำแข้งตัวเอง และสองคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคมโดยสามารถรู้สึกถึงความเป็นมิตร
ที่สำคัญที่อิงหลักพุทธศาสนามาเลยก็คือ ชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวเอง คือชีวิตที่เลิกมองอดีตและอนาคต แต่เน้น “การทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในขณะนี้” และ “ทำวินาทีนี้ให้ดีที่สุด” ค่ะ อย่าลืมนะคะว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ดังนั้นเราสามารถเลือกที่จะมีความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้เลย
พิชชารัศมิ์ได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับผู้อ่านทางเฟซบุ้กเพจ “Life Inspired by พิชชารัศมิ์” ฝากติดตามด้วยนะคะ
เรื่องโดย : พิชชารัศมิ์ www.marumura.com
ทักทายพูดคุยกับพิชชารัศมิ์ ได้ที่ >>> Life Inspired by พิชชารัศมิ์

ไม่มีความคิดเห็น: