วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ที่มาของการรับน้องใหม่

ระพี สาคริก
ขณะ นี้มีข่าวเป็นครั้งคราวว่าพิธีรับน้องใหม่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกระจายไปอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาการบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ บางครั้งถึงขั้นสูญเสียชีวิตเป็นช่วงๆ หลัง ติดตามการเปลี่ยนแปลงมาแล้วจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้หวนกลับไปค้นหาความจริงจากจุดเริ่มต้นและสิ่งที่เป็นมาแล้ว กว่าจะมาถึงช่วงนี้ หลัง กลุ่มทหารและพลเรือนซึ่งส่วนใหญ่ถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนเมืองนอกกลับมา ได้มีการรวมตัวกันอย่างลับๆ ทำการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2475 โดยอ้างว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ระหว่างนั้นผู้เขียนเรื่องนี้มีอายุได้สิบขวบ แต่ก็ยังจำได้ดีว่า มีกระแสเสียงจากกลุ่มปฏิวัติหลายคนที่อ้างว่า เมืองนอกเขาเป็นประชาธิปไตยกันแล้ว แต่ทำไมเมืองไทยยังล้าหลังอยู่ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ประเทศไทยเปิดเสรีภาพในการติดต่อกับต่างประเทศ โดยที่ขาดการมองเห็นผลสะท้อนซึ่งกลับมากระทบวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทย การมองเห็นด้านเดียวยิ่งเป็นด้านนอกด้วย มีผลทำให้ขาดการมองเห็นความจริงจากรากฐานตนเอง จึงทำให้ขาดการรู้เท่าทัน มีผลอำนวยให้อิทธิพลจากด้านนอกซึ่งมีพลังเหนือกว่า เริ่มเริ่มหลั่งไหลเข้ามากลบกลืนรากฐานความเป็นไทแก่ตนเองของคนไทยให้เริ่ม เห็นแววตกต่ำมากขึ้น ในด้านการจัดการศึกษา โดยเฉพาะสายเกษตรซึ่งให้โอกาสคนท้องถิ่นสัมผัสพื้นดินอันเป็นถิ่นเกิดของตน ซึ่งย่อมมีผลปลูกฝังความรักพื้นดินให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ช่วงนั้นเริ่มมีการส่งนักเรียนที่คัดหัวกะทิจากการเรียนในระบบ อย่างที่เรียกกันว่า นักเรียนทุน ก.. ไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เท่าที่จำได้ เราส่งนักเรียนซึ่งมีผลการเรียนระดับยอดดังกล่าวไปเรียนเกษตรต่อยอดระดับ ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองลอสแบนยอส ในประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาถือครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์เอาไว้ทั้งหมดและมีการถ่าย ทอดรูปแบบเทคโนโลยีจากประเทศที่เป็นนายเข้ามาครอบงำ ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นไปตามแนวคิดและระบบอเมริกัน นอกจากนั้นในด้านกิจกรรม นักศึกษาก็ได้มีการถ่ายทอดความคิดในการประกอบพิธีรับน้องใหม่เข้ามาไว้ที่นั่นด้วย โดยที่เชื่อว่าน่าจะมีผลทำให้เกิดควมรักความผูกพันและความสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ช่วงปี พ.. 2482 – 83 ได้ มีการรวบรวมโรงเรียนเกษตรกรรมของไทยซึ่งครั้งนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนดังกล่าวซึ่งอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศ เข้าไปไว้ที่ศูนย์รวมซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในบริเวณหมู่บ้านห้วยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ระหว่างช่วงนั้นพอดี ประกอบกับตัวเองมีนิสัยค้นหาความจริงย้อนไปสู่อดีต จึงทำให้มีผลรวบรวมข้อมูลเข้าไว้ในความทรงจำ ระหว่างโรงเรียนเกษตรที่แม่โจ้ได้มีการปรับหลักสูตรยกระดับขึ้นมาเป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาลัย มีครูอาจารย์ที่แบ่งออกเป็น 2 พวก จากความรู้สึกอันเป็นธรรมชาติของคนขณะนั้น โดยที่พวกหนึ่งจบจากโรงเรียนประถมกสิกรรมภายในประเทศ ถูกเรียกว่าครู ส่วนอีกพวหนึ่งคือผู้สำเร็จปริญญาตรีกลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์ถูกเรียกว่า อาจารย์ นับเป็นการปลูกฝังความคิดแบบแบ่งชนชั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเงินและสถานะ หากเป็นเรื่องของการแบ่งแยกระดับประกาศนียบัตรออกจากกัน ช่วงนั้นพิธีรับน้องใหม่เกิดขึ้นที่โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้แห่งเดียว ส่วนที่อื่นยังไม่ปรากฏ ทราบว่ากิจกรรมดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่มีครูอาจารย์ผู้สำเร็จการศึกษาจากฟิลิปปินส์ นำเข้ามาใช้ที่นั่น ดังจะพบได้ว่า หลังพิธีรับน้องใหม่ผ่านพ้นไปแล้วมีนักเรียนที่เข้าไปเรียนปีแรกบางคน นำความไปปรับทุกข์กับอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่จบมาจากเมืองนอก จะได้รับคำตอบกลับมาว่า ปีหน้าก็คงถึงทีเธอบ้างไม่ต้องเสียอกเสียใจอะไรไป นอกจากนั้น ยังพบด้วยว่า ระหว่างพิธีเวลากลางคืน มีอาจารย์บางคนมาเฝ้าดูอย่างลับๆ ในความมืดอีกด้วย เตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นโรงเรียนเตรียมของวิทยาลัยที่บางเขน ระบบการจัดการศึกษาครั้งนั้น หลังจบจากแม่โจ้หลังมีการคัดคนจากผลการเรียนในห้องเพื่อส่งมาเรียนต่อที่ บางเขน ดังนั้นที่บางเขนจึงไม่มีพิธีรับน้องเช่นทุกวันนี้ จนกระทั่งเวลาผ่านพ้นมาอีกช่วงหนึ่ง วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังคงรับนักเรียนเตรียมจากแม่โจ้ต่อมาอีก ถัดมาอีกช่วงหนึ่ง ได้มีการปรับแนวคิดและโครงสร้างสายเกษตรใหม่ โดยที่ผู้บริหารยุคนั้นเห็นว่า ภาคปฏิบัติมีความสำคัญน้อยกว่าการเรียนในห้อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงเปิดรับนักเรียนทั่วไปโดยตรง หลังจากนั้นมาจึงมีพิธีรับน้องใหม่เกิดขึ้นที่บางเขน ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากแม่โจ้และบางเขนได้แยกตัวออกจากกันอย่างเด็ดขาดแล้ว ต่อจากนั้นมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ผลิตคนออกไปอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มต้นจากสายเกษตรก่อน นอกจากนั้นภายในมหาวิทยาลัยเองได้มีการขยายพื้นฐานการจัดการกว้างขวางออกไปสู่สาขาวิชาอื่นๆ แต่ความคิดหลายคนที่มองมหาวิทยาลัยนี้ติดอยู่กับชื่อและรูปแบบการเกษตรที่เน้นเทคโนโลยีแทนการมองเห็นความจริงของชีวิตคน จึงทำให้พื้นฐานแนวคิดคนจำนวนมากรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปลี่ยนไป เป็นมหาวิทยาลัยทั่วไป โดยไม่ได้เน้นการเกษตรเช่นแต่ก่อน ถึงขนาดเกิดปฏิกิริยารุนแรงให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยด้วย การกระจายความคิดแต่รากฐานยึดติด ซึ่งแทรกซึมอยู่ในพื้นฐานคนในสังคมไทย มีผลทำให้พิธีรับน้องใหม่ กระจายไปสู่สถาบันต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะยึดติดรูปแบบที่ฝังลึกอยู่ในรากฐานจิตใจคนไทยมีผลทำให้สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น มักทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกับอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาแฝงอยู่ในรากฐานจิตใจอย่างลึกซึ้งได้แก่ภาวะยึดติดรูปแบบซึ่งแฝงอยู่ในพื้นฐานอย่างแก้ได้ยาก มีผลทำให้เหตุการณ์ต่างๆ บานปลายออกไปอย่างรวดเร็วอีกทั้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด น่าจะทำให้มองเห็นความจริงได้ว่าสภาพที่เกิดขึ้นกับพิธีรับน้องใหม่ คงไม่เพียงแต่เกี่ยวกับพิธีการนี้เท่านั้น หากเกิดขึ้นในสังคมไทยกับพิธีกรรมต่างๆ ทุกรูปแบบ

ดังนั้น เมื่อปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับกระบวนการจัดการศึกษาซึ่งถือว่าน่าจะเป็นพื้นฐานการแก้ปัญหาสังคมได้ทุกเรื่อง เราจึงหวังได้ยากว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สังคมไทยุคปัจจุบัน น่าจะไกลกับความหวังในการแก้ไขปัญหาให้เห็นได้ชัดเจนออกไปได้ทุกขณะ จนกว่าสังคมทั้งหมดจะได้รับผลกระทบทำให้รู้สึกเจ็บปวดจากทุกๆ เรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะไปถึงจุดอันเป็นที่สุดของการปรับเปลี่ยน

23 กันยายน 2545

ไม่มีความคิดเห็น: