วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561

5 Stages of Grief

เป็นทฤษฎีความเศร้า 5 ขั้น
ที่ Dr. Elsabeth Kubler-Ross เป็นผู้เขียนไว้
อยู่ในหนังสือชื่อ “On Death and Dying”
5 ขั้นของความเศร้านี้มีอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ
ขั้นที่หนึ่ง ช่วงปฏิเสธ (Denial)
ช่วงนี้ พูดง่ายๆ คือเราเพิ่งเผชิญกับการสูญเสีย บางทีเป็นข่าวร้าย
คนที่เรารักผูกพันเสียชีวิต หรืออกหัก คนรักทิ้ง รู้ว่าตัวเองป่วยร้ายแรง
หรือผิดหวังแบบไม่ได้เตรียมใจ เช่น โดนไล่ออกจากงาน โดนโกงหมดตัว
ภาวะการยอมรับความจริงในช่วงเวลานี้จะอ่อนแอ
เราจะยังไม่อยากยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริง และปฏิเสธมัน
มันไม่จริงใช่ไหม ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ หรือมีคนมาบอกเรา
เราก็ยังไม่อยากจะเชื่อ บางคนเป็นชั่วขณะ แต่บางคนอาจจะใช้เวลาซักพัก
ถึงจะรับรู้ได้ว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ
ขั้นที่สอง ช่วงขุ่นเคืองใจ (Anger)
หรือจะเรียกว่าโกรธ โมโห ไม่พอใจก็ได้ เป็นช่วงที่เราอยากโทษนั่นโทษนี่
มีความคิดหมุนวนในหัว บางคนรู้สึกว่าไม่ใช่ความผิดตัวเอง
เป็นความผิดคนอื่น อยากด่า อยากระบาย ถ้ามีคู่กรณีก็อยากโต้ตอบ
อยากทำอะไรเพื่อให้มีทางออกของอารมณ์
บางคนผ่านช่วงแรกมาแล้ว รับรู้ว่ามันเกิดขึ้นจริง พอซักพักเริ่มโกรธ�ทำไมถึงต้องเป็นเรา ทำไมทำอย่างนี้กับเรา ชั้นทำไม่ดีตรงไหน
ช่วงนี้อารมณ์ความรู้สึกจะมากกว่าเหตุผล เป็นช่วงที่ต้องระวัง
เพราะบางทีเผลอพูดหรือทำอะไรไปแบบไม่สนใจผลที่จะตามมา
และหลายครั้งต้องมาเสียใจทีหลัง หลังจากควบคุมอารมณ์ได้แล้วก็มี
ขั้นที่สาม ช่วงคิดต่อรอง (Bargaining)
ส่วนใหญ่เป็นการคิดต่อรองอยู่ภายในใจของตัวเอง
จะเป็นช่วงที่เราสร้างทางเขาวงกตขึ้นมาในใจตัวเอง และหลงทางอยู่ในนั้น
เพราะเราจะใช้เวลาไปกับการคิดว่า ถ้าเกิดเราทำอย่างนั้นล่ะ
ถ้าย้อนเวลาไปได้ล่ะ ถ้าเขากลับมาล่ะ ถ้าวันนั้นไม่เกิดอย่างนั้นขึ้น
ถ้าเขาไม่ทำอย่างนี้ ถ้าเรายอมเปลี่ยนตัวเองล่ะ
เป็นช่วงที่จินตนาการสำคัญกว่าความรู้จริงๆ
เราจะติดอยู่ในจินตนาการของคำว่า ถ้า...แล้ว วนไปมา
ประโยคที่เราคุยกับเพื่อน หรือปรึกษาใครก็มักจะมีแต่เรื่องนี้
คือถ้า...แล้ว มันจะเป็นยังไง แล้วก็เก็บกลับมาคิดวนซ้ำๆ ไป
เป็นช่วงที่ชีวิตเราไม่ไปไหน อยู่ในทางวกวนที่เราสร้างขึ้นมา
ขั้นที่สี่ ช่วงซึมเศร้า (Depression)
หลังจากโกรธและพยายามต่อรองแล้ว มันจะมาถึงช่วงที่เรารู้สึกหมดหวัง
รู้ว่าเรื่องที่แอบหวังไว้มันคงไม่ทางเกิดขึ้นแล้ว
ช่วงนี้ความเศร้าจะถาโถมหนัก เป็นช่วงที่รู้สึกหดหู่
ช่วงนี้บางคนอาจจะมีความคิดว่าไม่อยากอยู่ต่อไป
หรือไม่ก็ไม่อยากทำอะไร จม ดิ่ง หล่นจากที่สูง
บางความรู้สึกก็อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากให้ใครมายุ่ง
ปล่อยชั้นไว้คนเดียว บางคนก็ฟูมฟาย
แต่ละคนอาจจะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน
แต่โดยรวมแล้วจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน คือรู้สึกว่างเปล่า
แต่ความซึมเศร้าช่วงนี้ เป็นคนละส่วนกันกับอาการโรคซึมเศร้านะครับ
เป็นความเศร้าที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกหลังการสูญเสียหรือผิดหวัง
แต่ถ้าใครปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความรู้สึกนี้ไปนานๆ
ก็อาจจะมีผลต่อสภาวะจิตใจได้เหมือนกัน
ช่วงนี้จะมีความคิดลบเกิดขึ้นต่างๆ นานา
เป็นช่วงที่เราไม่ควรอยู่คนเดียวมากเกินไป และอย่าทำตัวว่าง
หาเพื่อน หาที่ปรึกษาคุย หากิจกรรมทำ จะช่วยได้
และสุดท้ายขั้นที่ห้า ยอมรับความจริง (Acceptance)
เป็นช่วงที่เหมือนผ่านบททดสอบทางความรู้สึกมาหมดแล้ว
จิตใจ ความคิดเริ่มปรับตัวได้ ความรู้สึกเริ่มบรรเทา
เริ่มยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้ และอยู่กับความจริง
มันอาจจะไม่โอเคทุกอย่าง แต่มันคิดได้ มันเข้าใจ มันยอมรับ
ทำให้ชีวิตมันมีประตู มีทางไป มีทางออก
ห้าขั้นของความเศร้านี้ เป็นเรื่องทั่วไป ที่ใครๆ ก็เคยเจอ
มากน้อยแตกต่างกัน และเรื่องที่มีผลต่อเรามากน้อยก็ต่างเรื่องกัน
บางคนผ่านแต่ละช่วงแบบสั้นๆ บางคนใช้เวลานาน
บางคนผ่านช่วงหนึ่งแล้วอาจจะวนกลับไปกลับมาอีก
บางคนก็ผ่านแล้วผ่านเลย ยอมรับมันได้ เรียนรู้จากมัน
แต่อยากบอกว่า ความคิดที่ว่าทำยังไงถึงจะข้ามความเศร้าไปได้
มันไม่มีจริง ตราบใดที่คนเรามีความจำและความรู้สึก
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงได้ คือ เราก้าวผ่านความเศร้านั้นไปแบบเข้าใจ
เข้าใจตัวเอง เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น เข้าใจชีวิต เข้าใจความผิดหวัง
และบางทีอาจจะต้องเข้าใจคนที่ทำร้ายเรา คนที่ทำให้เราเสียใจ
คนที่ทำให้เราผิดหวัง เข้าใจและให้อภัย
แล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เรื่อยๆ ครับ
ทุกๆ เรื่องที่เราพบ
ทุกๆ เรื่องที่เราเจอ
ทุกๆ เรื่องที่เราผ่านมา
มันจะพาเราไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไป
วันนี้แย่ พรุ่งนี้จะแย่น้อยลง
วันนี้อ่อนแอ พรุ่งนี้จะเข้มแข็งขึ้น
ชีวิตเราเติบโตขึ้นทุกวันครับ
(ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเวบนี้ครับ https://bit.ly/2yfujuz)

ไม่มีความคิดเห็น: