วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ในห้องเรียนศิลปะ

ในห้องเรียนศิลปะ

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

อาทิตย์ก่อนเขียนเรื่องนักเรียนศิลปะสองคนที่ชื่อสุดเวหาและแค่คืบไป
มีท่านผู้อ่านหลายท่านอ่านแล้วเกิดรำลึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนอยู่
และได้กรุณาเขียนมาให้เล่าให้ฟังกัน
มีแง่มุมน่าสนใจหลายมุม ลองอ่านดูสิครับ

พี่ประภาส
อ่านแล้วคิดถึงอดีตครับ
ช่วงเวลารอยต่อที่จะเรียนรู้จังหวะชีวิตนั้นเป็นเวลาที่คนที่ผ่านมาแล้วเข้าใจถึงความสำคัญกันทั้งนั้น
สุดเวหาทำให้ผมเห็นภาพตัวเองเมื่อครั้งเรียนศิลปะปีแรก
ในภาคเรียนที่สองของปีแรกนั้นทุกคนในชั้นเรียนเริ่มรับรู้กันแล้วว่าใครมีฝีมือทางด้านไหน
ซึ่งนับดูแล้วก็ไม่เกินห้าคนที่งานจะดูดีสม่ำเสมอในทุกแขนง
แต่ในวิชาวาดเขียนนั้นมีอยู่สองคนที่ได้คะแนนเท่าๆ กันเสมอ

โรงเรียนศิลปะที่ผมเข้าไปเรียนนั้นเป็นโรงเรียนเล็กๆ
แบ่งเป็นสองภาควิชาคือวิจิตรศิลป์และศิลปะประยุกต์
วิจิตรศิลป์นั้นมีเด็กนักเรียนเพียงสองห้อง
ส่วนศิลปะประยุกต์นั้นมีสี่ห้อง ห้องนักเรียนชายสามและนักเรียนหญิงหนึ่ง
นักเรียนในชั้นส่วนมากเป็นเด็กที่เคยผ่านการเรียนสายวิชาอื่นจากโรงเรียนอื่นๆ มาแล้ว
ระดับอายุเฉลี่ยนักเรียนในชั้นปวช.หนึ่งนั้นที่จริงควรเป็นนักศึกษาที่ใกล้จะรับปริญญากันแล้ว
มีเพียงสี่ห้าคนเท่านั้นที่เพิ่งจบชั้นมัธยมสามนับรวมตัวผมซึ่งอายุน้อยที่สุดในชั้นเข้าไปด้วย

ความที่ยังเด็กผมนั้นค่อนข้างจะลำพองในงานวาดภาพเหมือนของตัวเองพอสมควร
แต่ก็รู้สึกขัดใจที่มีเพื่อนร่วมชั้นอีกคนมีคะแนนเท่าๆ กัน
ต้องยอมรับว่าผมนั้นเคยอยู่ในภาวะอารมณ์เช่นสุดเวหามาก่อน
นึกดูแล้วก็เป็นเรื่องน่าอายพอควรที่คนรักความงามรักศิลปะอันควรจะมีจิตชื่นชมในความงามของศิลปะที่ผู้อื่นสร้าง
กลับมีจิตริษยาต่องานศิลปะของผู้อื่น

ครั้งหนึ่งในการวาดภาพคนเหมือนครึ่งตัวที่มีหญิงสาวผมยาวมาเป็นแบบ
ครูประจำวิชาที่ไว้วางใจให้ผมเป็นผู้รวบรวมงานของเพื่อนๆ
ที่วาดเสร็จแล้วนำไปให้ที่ห้องพักครูในปลายชั่วโมงนั้น

หลักจากเพื่อนทุกคนนำงานมาวางรวมกันไว้แล้ว
ผมที่อยู่ลำพังในห้องนำภาพวาดของผม
และเพื่อนอีกคนมาวางเทียบกัน
ยืนมองภาพทั้งสองอยู่ครู่จิตด้่านมืดก็ครอบครองสติสัมปชัญญะของผม

อารมณ์ชั่ว...วูบ ผมหยิบยางลบแท่งจากกระเป๋าเสื้อ
ตวัดลงไปในภาพเขียนของเพื่อนเป็นทางทแยงจากมุมล่างข้างซ้ายขึ้นไปยังมุมขวาด้านบนสามสี่ครั้ง

แล้วยัดภาพเขียนของเพื่อนเข้าไปรวมในกองก่อนหอบงานทั้งหมดไปส่งครูด้วยใจที่เต้นระรัว

เวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์
ครูนำงานเก่ามาให้ห้องยกขึ้นมาถือให้ทุกคนดูทีละชิ้น
วิจารณ์ว่าชิ้นไหนเป็นอย่างไร ควรแก้ไขตรงไหน
ก่อนเรียกเจ้าของงานเดินออกไปรับกลับมา

ทุกคนนั่งฟังด้วยความตั้งจคงมีผมเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตกใจและเครียด
ผมลืมเรื่องนี้ไปสนิท สมองผมจินตนาการไปต่างๆ
ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ครูยกภาพนั้นขึ้นมา
ท้องไส้ผมปั่นป่วน ชีพจรผมเต้นเร็ว
หน้าผากชื้นด้วยเหงื่อซึม
ถ้าครูถามเพื่อนผมว่าเธอลบภาพวาดตัวเองแบบนี้ทำไม
เพื่อนผมต้องบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนทำ
แล้วเหตุการณ์ทุกอย่างจะฟ้องตัวมันเองว่าใครกันที่มีโอกาสจะทำแบบนั้นได้
และคำถามว่าทำไมก็จะเกิดขึ้นมา

ฝันร้ายในความเป็นจริง ภาพนั้นถูกยกขึ้นมาแล้ว
ผมนั่งก้มหน้าหลับตาเตรียบรับผลแห่งริษยากรรมของตนเอง
"นายวัฒนายืนขึ้นสิ" ครูเรียกชื่อเพื่อนของผมแต่ผมสะดุ้ง
แล้วผมก็ได้ฟังสิ่งที่เหนือความคาดฝันของผม

"ครูอยากให้พวกเราปรบมือให้วัฒนาหน่อย"

เสียงปรบมือดังเร้าใจผมให้เต้นเร็วขึ้นไปอีก
ผมงงไปหมดแล้ว เกิดอะไรขึ้น
ภาพนั้นถูกผมทิ้งรอยลลไปแล้วนี่นา นี่มันอะไรกัน ผมค่อยๆ
เอนหลังพิงพนักเงยหน้ามอง

ภาพลายเส้นที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าทำให้ผมน้ำตาคลอ
มันเอ่ออกมาพร้อมคำบรรยายจากครู

เธอรู้ไหมครูสอนวาดเขียนมาสิบกว่าปี
นี่เป็นภาพแรกที่ครูให้หนึ่งร้อยคะแนนเต็ม
ครูประทับใจในวิธีสร้างงานของเธอมากวัฒนา
ต่อไปในอนาคตครูเชื่อว่าเธอจะสร้างงานศิลปะที่ดีและเป็นศิลปินคุณภาพของประเทศต่อไป"

"ทุกคนดูที่ภาพวาดนี้นะ เห็นรอยยางลบไหม
เป็นเทคนิคที่พวกเธออาจนำไปเป้นประโยชน์ได้ต่อไป"
ผมมองภาพวาดนั้นด้วยดวงตาที่ชุ่มน้ำ

ภาพที่ผมเห็นนั้นไม่มีรอยยางลบเลย
ผมเห็นภาพหญิงสาวผมยาวคนหนึ่งกับประกายลำแสงที่สัมผัสเส้นผมและบางส่วนของใบหน้าเธอ
ทำให้ภาพวาดมีมิติและงามอย่างประหลาด
ลำแสงสีขาวส่องพาดผ่านเธอ
ทแยงจากมุมบนขวาทาบทาลงมายังมุมล่างข้างซ้าย

ผมมองมือของตัวเอง มองภาพวาดนั้น แล้วผมจึงเข้าใจ
สองมือของผมนั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อทำลายศิลปะเลย
แล้วผมก็ก้าวข้ามความริษยามาได้

ผมไม่เปรียบเทียบความงามของสองสิ่งในโลกนี้อีกเลย
ทุกสิ่งล้วนงามในวิถีของตน

ขอนลอย

สวัสดีค่ะคุณประภาส

ดิฉันอ่านที่คุณเขียนเรื่องการดวลพู่กันระหว่างคนสร้างงานศิลปะสองคน
แล้วก็พาให้คิดถึงครูสอนศิลปะท่านหนึ่ง อาจารย์เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบค่ะ

บุพาวาสนาส่งให้ดิฉันได้เรียนศิลปะกับท่านเมื่อ 30 ปีกว่ามาแล้ว
ตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์พิเศษสอนศิลปะให้ที่โรงเรียน

ท่านเป็นอาจารย์ในดวงใจพวกเราหลายคน
ไม่ว่าจะเป็นเด็กวิทย์หรือเด็กศิลป์
เพราะท่านไม่ได้สอนเทคนิคการวาดภาพ
ไม่ได้ให้ท่องประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่สอนให้เรารู้จักคิด
รู้จักสร้าง เราใช้จินตนาการกันคุ้มจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันจำติดมาสอนลูกสอนหลานจนเดี๋ยวนี้คือ
ขนมครกอาจารย์เปรื่อง
วันหนึ่งอาจารย์เดินเข้าห้องมาแล้วถามว่า
"เตาหนมครกสวยไหมวะ" เอาละสิ พวกเรามองหน้ากันเลิ่กลั่ก
เตาหนมครกเหรอ หน้าตาเป็นไง หนมครกเป็นไงยังนึกไม่ออกเลย
ไม่ได้ตื่นเช้าไปตลาดมาตั้งหลายปีแล้ว
(พวกเราเป็นเด็กสามย่านแต่นิยมเพ่นพ่านอยู่แถวสยามสแควร์ค่ะ)

ก็เกิดการระดมสมองกันว่า เตรขนมครกหน้าตาเป็นยังไง
มันกลมๆ มีหลุม มีฝาปิดเหมือนกระโจมอินเดียนแดง
มีเตาถ่านอยู่ข้างล่าง รูปเตาขนมครกปรากฏขึ้นเต็มกระดาน
ด้านน ด้านข้าง ปิดฝา ไม่ปิดฝา เป็นลายเส้น เป็นแรเงา
เราสนุกสร้างเตาขนมครกกันใหม่
ในที่สุดก็ไม่ได้คำตอบหรอกว่าเตาขนมครกนั้นสวยไหม
แต่เราเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์
เรียนที่จะเห็นมากกว่าที่ตามอง
เรียนที่จะขยายความธรรมดาให้เป็นฝันบรรเจิดได้
ขนมครกอาจารย์เปรื่องนั้นอร่อยกว่าที่ตลาดมากนัก

ชูมาน

หน้า 17

ไม่มีความคิดเห็น: