(ไอ้หนุ่ม)หลังตู้เย็น
หนุ่ม นามธรรม, ผู้ชายธรรมดา(ที่ไม่)ธรรมดา, นายทุนน้อย, หนุ่มสมองไหล, แฟมิลี่แมน, ขอชื่อประภาสถึงชาติหน้าตอนบ่าย, จุดยืน, ผู้ชายหัวใจกระดาษ, ผู้ชายช่างคิด, คำถามที่ตอบไม่ได้, หันกลับไปมองไปยาลใหญ่
ชื่อทั้งหมดข้างต้นเป็นหัวข้อชื่อเรื่องของบทสัมภาษณ์ผู้ชายคนเดียวกัน จากนิตยสารชั้นนำในเมืองไทยตลอดช่วงเวลากว่า 22 ปี (พ.ศ. 2526-2547) ของชายชื่อ ประภาส ชลศรานนท์ ด้วย 11 บทความในยี่สิบกว่าปีดังกล่าว จากความถี่ชนิดปีเว้นปีอาจทำให้เกิดความฉงนไปถึงขั้นที่มีคำถามเควสชั่นมาร์คลอยไปลอยมาบนศรีษะของใครหลายคนได้ว่า คนชื่อประภาส นี้เป็นใคร
(สำหรับผู้ไม่เคยรู้จักใครเลยแม้แต่สุธี-ควรอ่านตั้งแต่หมายเลข 1) หรือชื่อนี้น่าสนใจตรงไหน(แสดงว่าพอจะรู้จักสุธีบ้างนิดหน่อย ควรข้ามไปอ่านที่หมายเลข 2) หรือเคยได้ยินกิติศัพท์มานานแล้ว (สำหรับแฟนพันธุ์แท้สุธี ข้ามไปอ่านหมายเลข 3 ได้เลย)
ซึ่งบทสัมภาษณ์ต่างๆถูกนำมารวบรวมไว้ในพอกเก๊ตบุคชื่อแปลกหูว่า ‘หลังตู้เย็น’ และ แน่นอนว่าไม่มีคำอธิบายตัวตนของประภาสใดๆจะดีเท่าการตอบคำถามสัมภาษณ์ทั้ง หลาย ภายใต้หัวข้อเรื่องที่น่าสนใจในชีวิตของเขาในแต่ละวาระ ตามลำดับของเหตุการณ์ของช่วงวัย ต่อไปนี้
1
หนุ่มนามธรรม (โดยปลาร้าหอม, นิตยสารเปรียว, 2526) “ ผมเป็นคนไม่ชอบบอกอะไรตรงๆชอบบอกอ้อมๆอย่างเวลาบอกรักผูหญิงงี้ อ้อมซะไกลเลย ผมว่าดีไม่ดีเขาอาจจะไม่รู้เลยมั้ง จนเดี๋ยวนี้เขาก็คงไม่รู้ เป็นพี่ พี่จะรู้มั๊ย บอกว่าจับปูดำขยำปูมา จับปูม้าแล้วคว้าปูทะเล พี่จะรู้มั๊ยว่าบอกรัก...”
นายทุนน้อย (โดยพิมพ์สี, นิตยสารแพรว, 2531) “ สำหรับนิตยสารไปยาลใหญ่ ถ้าพูดถึงกำไรนี่เราไม่เคยคิดเรื่องกำไรเลยนะครับ เสียกันไปคนละไม่ใช่น้อยแล้วเหมือนกัน ทำเพลงวงเฉลียงได้กำไรมาก็ลงไป ทะลึ่งทำกัน มีคนเขาบอกถ้าผ่านหกเล่มได้จะอยู่ได้ นี่รู้สึกจะไม่ใช่อย่างนั้น สงสัยอาจต้องเดือดร้อนจุ้ย(ศุ บุญเลี้ยง)ให้ขายนามาทำหนังสือ แล้ว”
แฟมิลี่แมน (โดยมนธิรา, นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์, 2535) “ เวลาเห็นผู้หญิงก็สวยดีนะ รูปร่างดี ไม่ได้เป็นพระอิฐพระปูนหรอก แต่ว่าเราไปจีบเขาเพื่ออะไรล่ะ เรามีเมียแล้ว แล้วจะทำไปทำไม ผมว่าไม่เห็นมีประโยชน์เลย ทำไปเพื่ออะไร มันจะมีแต่ความทุกข์ เราก็ทุกข์ ผู้หญิงที่เราไปจีบเขาก็ทุกข์ ภรรยาเราเองก็ทุกข์ ”
2
ขอชื่อประภาสถึงชาติหน้าตอนบ่าย (โดยนิตยสารวาไรตี้, 2538) “ผมว่าไม่มีเด็กคนไหนหรอกที่ฝันว่าโตขึ้นจะเป็นวิศวกรโครงการหรือศูนย์หน้าทีมชาติ มีแต่อยากเป็นหมอ เป็นทหาร ตัวผมไม่เคยฝันเป็นนักเขียนนะ เขียนเลย แล้วก็ไม่รู้สึกว่าต้องพยายามด้วยมันเป็นธรรมชาติ ”
จุดยืน (โดยทิพากร บุญอ่ำและวรพจน์ พันธุ์พงศ์,นิตยสาร GM , 2542) “ ผมเป็นคนมีอัตตาสูงครับ ถ้าอยู่ในบทบาทที่ต้องรักษาอัตตา ผมมีสูงมากแต่ผมเป็นคนเคารพกติกามากเช่นกัน เตะฟุตบอลผมไม่ใช้มือแน่ๆ ถ้ากติกาบอกว่าต้องขาย ผมต้องทำให้ขายให้ได้ ถ้าผมตกปากรับคำแล้วนะ ”
ผู้ใหญ่หัวใจกระดาษ (โดยมติชนรายสัปดาห์, 2543) “ ความสุขของคนอยู่ข้างหลังคือ เมื่อเสร็จงาน ผมยังนั่งรถเมล์อยู่ บางครั้งเพื่อเห็นอะไรบางอย่าง ผมชอบเดินเข้าไปที่หนึ่งแล้วคนอาจจะจำได้บางคน แต่ไม่ใช่คนหันมาทั้งร้านแล้วก็ทำอะไรไม่ได้อีกเลย ”
3
ผู้ชายช่างคิด (โดยศิริน พาเว, นิตยสารแพรว, 2545) “ ผมชอบงานที่มีการต่อยอดทางความคิด ไม่ชอบให้จบที่งานหนึ่งหรือคนหนึ่ง ถ้ามีโอกาสทำอะไรให้คนใหม่บ้าง ก็อยากฝึกให้ เขาช่างคิด ช่างตั้งคำถาม หรือสร้างงานไปกระตุ้นอะไรบางอย่างของพวกเขา รู้ไหมครับ การค้นพบครั้งสำคัญของโลกนี้ล้วนมาจากการตั้งคำถามทั้งนั้น ”
คำถามที่ตอบไม่ได้ (โดยTalk A Tive, นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์, 2543) “ ปัญหาที่ผมเลี่ยงไม่ตอบ ช่วงแรกๆปัญหารักมีส่งมามากที่สุด แต่ จะไปตอบได้อย่างไรเรื่องของหัวใจเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ รองลงมาก็เรื่องความใฝ่ฝัน อยากเป็นนั่นเป็นนี่ทำอย่างไรดี แล้วก็ถามเรื่องความคิด ”
หันกลับไปมองไปยาลใหญ่ (โดยวชิรา, นิตยสารอะเดย์, 2547) “ ก็เป็นหนังสือธรรมดาเล่มหนึ่งที่คนคิดตื้นๆทางธุรกิจมาทำด้วยกัน คิดตื้นๆทางธุรกิจก็จริง แต่คิดลึกๆ ทางประเทืองปัญญาและอารมณ์ มองอีกมุมก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำค้างไว้เหมือนมันยังไม่เสร็จดีแล้วให้คนไปคิดกันต่อทำกันต่อ มันก็มองได้หลายมุม ”
4
อาจสรุปรวมสั้นๆได้ถึงผลงานของชายหนุ่มมากความสามารถคนนี้ว่า มีงานหลากหลายแนวทาง ได้แก่ แวดวงดนตรี เช่นเป็นหัวเรือใหญ่ของวง เฉลียง พร้อมสร้างงานเพลงศิลปินมากมาย หรือในวงการโทรทัศน์ จากละครฮิตทั่วเมืองกับ ‘เทวดาตกสวรรค์’ บวกเกมส์โชว์มากสีสันอย่าง เกมทศกัณฐ์ เกมแฟนพันธ์แท้ ฯลฯ และในแวดวงหนังสือ เคยเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารแนวใหม่ไปยาลใหญ่ จนปัจจุบันเป็นเจ้าของคอลัมน์ยอดฮิต ‘คุยกับประภาส’
สิ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากการอ่านพอกเก็ตบุคเล่มนี้ก็คือ แนวทางเรื่องของข้อคิด วิธีคิดแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ ที่ชวนให้แตกต่างจากเดิม เหมือนเป็นการเปิดประตูไปสู่โลกแห่งจินตนาการแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โภชน์ผลของความเป็นจริงให้มากที่สุด โดยประภาสยังได้พยากรณ์ถึงคนหนุ่ม-สาวในอนาคตที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากว่าจะคล้ายกันไปหมดจนแยกไม่ออก เพราะมีเครื่องทุ่นแรงเยอะและหาง่าย ฉะนั้นจึงต้องพยายามดิ้นรนขับเขี้ยวกันอย่างรุนแรงเพื่อให้ตนเองลอยเด่นออกจากภาพที่เหมือนกันไปหมด หรืออาจจะกล่าวสั้นว่าต้องเป็นคนที่ คิด-เป็น-เห็น-ต่าง จากผู้อื่น
ตัวอย่างง่ายๆในที่นี้คือ ชื่อของพอกเก็ตบุค ‘หลังตู้เย็น’ เล่มนี้ที่สะดุดหูและตาอย่างมาก ชวนให้เกิดความสงสัยไปต่างๆนาๆ จนเริ่มถึงบางอ้อ(ทางความคิด)ก็เมื่อประภาสเฉลยว่ามันเป็นการมองในวิธีคิดของเขาเองที่ว่า
“ สมมุติมีตู้เย็นอยู่อันหนึ่ง นักเขียนที่เขียนเกี่ยวกับเทคนิคทางอิเล็กทรอนิกส์เขาจะเปิดตู้ไขออกมาดู ข้างในแล้วบอกว่าวงจรมันเป็นอย่างไร นักเขียนที่เขียนเรื่องเพื่อชีวิตเขาอาจจะว่าตู้เย็นเนี่ยทำให้ประเทศชาติล่มจม แบ่งระดับคนจนคนรวย นักอนุรักษ์อาจจะพูดถึงเรื่องสารที่รั่วมาจากคอมเพรสเซอร์ในตู้เย็นทำลายชั้นบรรยากาศโลก แต่ผมเองอาจจะจับตู้เย็นเอียงลงแล้วแอบไปดูข้างหลัง มองในมุมที่ว่าตู้เย็นมันเอียงแล้วมันเป็นอย่างไร... ”
ผู้เขียนเลยอยากทดลองคิดให้แตกต่างดูบ้าง กับ การนำเสนอบทความนี้ ด้วยวิธีข้างต้นซึ่งแบ่งให้เลือกอ่านบทความตามระดับผู้ที่รู้จักประภาสต่างๆ (คล้ายการทำแบบสอบถามไหมครับ?) เพื่อความสั้นและรวดเร็วในการอ่านท่ามกลางทะเลตัวอักษรทุกวันนี้ ส่วนอีกประการหนึ่งคือการตั้งชื่อบทความนี้ ผู้เขียนอยากให้ได้ใจความรวมทั้งหมดและเน้นให้เกิดการสะดุดตาบ้างจะได้เกิดการเอาไปคิดต่อกันเอาเอง ถึงที่มาของคำว่า....‘(ไอ้หนุ่ม)หลังตู้เย็น’ (พลอยให้นึกถึงว่าถ้าเป็น ‘ไอ้หนุ่มหน้าตู้เย็น’ จะมีหุ่นและรูปร่างเป็นยังไงนะ...)
ใครที่ยังไม่เคยลองเอียงตู้เย็นแล้วแอบไปมองดูข้างหลัง เพื่อหามุมมองที่สามารถ คิด-เป็น-เห็น-ต่าง แล้วค่อยๆปล่อยให้จินตนาการได้ทำงานกันบ้าง.(ละก็)...ลุยกันได้เลย...
จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=118527
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น