วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ราคาของกระดาษแผ่นนั้น

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ทราบกันอยู่แล้วใช่ไหมครับว่า ปริญญาบัตรนั้นถือกำเนิดจากวุฒิบัตรของสมาคมช่างฝีมือ มอบสิทธิในการรับจ้างทำงานฝีมือหรือถ้าเป็นถึง Master ก็อาจรับนักเรียนมาสอนให้เป็นช่างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรง
คนที่ได้วุฒิบัตรจากสมาคมช่างฝีมือต้องพิสูจน์ความสามารถตัวเองมากกว่าคนที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย เช่นถ้าเป็นช่างห่วยแตก นายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ สามารถตรวจสอบและประเมินงานของลูกน้องได้ง่ายย่อมไล่ออก ส่วนถ้ามีวุฒิบัตรถึงตั้งตัวเป็นครูได้ ฝีมือไม่ดีและสอนไม่ได้เรื่อง ลูกค้าก็หนี แรงงานก็หนีไปเรียนที่อื่นหมด กิจการย่อมเจ๊งไปเป็นธรรมดา
นี่แหละครับคือ QA และการตรวจสอบจากภายนอกที่มีประสิทธิภาพจริง ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเรียกร้องอยู่เวลานี้
ส่วนปริญญาด๊อกเตอร์นั้น ไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือช่างฝีมือโดยตรง เพราะเป็นวุฒิบัตรทางด้านวิชาการหรือความคิดความอ่าน โดยเฉพาะทางด้านปรัชญาและเทววิทยา ส่วนใหญ่ของคนที่เรียนมักเป็นคนที่ยังชีพด้วยการให้คนอื่นเลี้ยง เช่นพระ หรือลูกหลานเจ้าที่ดินรายใหญ่ เพราะไม่ต้องทำอาชีพอะไรอยู่แล้ว
ครั้นภายหลัง เมื่อระบบอุตสาหกรรมนิยมครอบงำมหาวิทยาลัยจนมืดมิด ปริญญาบัตรจึงเปลี่ยนจากวุฒิบัตรมากลายเป็นใบขับขี่
หมายความว่ารับรองความสามารถของทุกคนที่ได้ปริญญาใบเดียวกันให้เหมือนกันหมดเหมือนใบขับขี่ คือขับรถในท้องถนนได้เท่ากัน
ทั้งนี้ เพราะอุตสาหกรรมต้องการเกณฑ์คนเข้าทำงานโดยสะดวก จึงผลักภาระการกลั่นกรองคนให้มหาวิทยาลัยทำ
ระบบตรวจสอบจากภายนอกจึงอ่อนล้าลงไป เพราะระบบอุตสาหกรรมต้องการเพียงความรู้เฉพาะด้านแคบๆ ซึ่งทุกคนย่อมสามารถเรียนรู้จากการฝึกอบรมในระหว่างปฏิบัติงานได้อยู่แล้ว
ปริญญาบัตรจึงกลายเป็นกระดาษศักดิ์สิทธิ์ เพราะเปิดโอกาสให้แก่ชีวิตของแต่ละบุคคลกว้างขึ้นในทุกทาง เนื่องจากไม่มีใครตรวจสอบคุณค่าที่แท้จริงของมัน แม้แต่เอาไปเปรียบกับใบขับขี่ ก็ยังสู้ใบขับขี่ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยผู้ถือใบขับขี่ก็ได้ผ่านการสอบขับรถจริงบนถนนมาแล้ว ในขณะที่ผู้ถือปริญญาบัตรอาจยังไม่เคยเข้าไปนั่งในรถยนต์เลย
ระบบปริญญาบัตรซึ่งโดยตัวของมันเองก็ขาดๆ เกินๆ อยู่แล้วนี้แหละ เมื่อนำไปใช้ในเมืองไทยยิ่งเลอะเทอะมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ
ประการแรก รัฐโดยสำนักงาน ก.พ.กระโดดเข้ามาช่วยรับรองใบขับขี่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ
ฟังดูเหมือนมีเหตุผลดี เพราะสมัยก่อนนี้รัฐเป็นผู้จ้างผู้จบปริญญามากที่สุด ก็ชอบที่จะเป็นผู้ประเมินว่าหลักสูตรไหนผลิตคนที่ได้มาตรฐานออกมาบ้างแต่ ก.พ.มีกึ๋นพอจะประเมินได้หรือครับ โดยไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น ก.พ. ประเด็นที่ผมต้องการจะชี้ให้เห็นก็คือหน่วยงานแห่งเดียว ซึ่งใช้ความสามารถของคนอย่างค่อนข้างจำกัด ย่อมไม่มีความสามารถจะประเมินสัมฤทธิผลทางการศึกษาได้จริง จะเห็นได้ว่าแม้แต่วิธีประเมินของ ก.พ.ก็ใช้วิธีที่ง่ายเกินไป คือประเมินตัวหลักสูตร ไม่ใช่ประสิทธิผลของผู้จบหลักสูตร ผลก็คือเสนอตัวหลักสูตรให้ ก.พ.พอใจ จนได้รับคำรับรอง หลังจากนั้นก็ตัวใครตัวมัน
แต่ในปัจจุบัน ผู้จ้างงานรายใหญ่ของเหล่าผู้ถือปริญญาไม่ใช่ราชการแล้ว ระบบประเมินของ ก.พ.ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วนั้นยิ่งผิดยุคผิดสมัยเข้าไปใหญ่ ผมไม่ได้หมายความว่าฉะนั้นสมาคมอุตสาหกรรมไทย หรือหอการค้าไทยจึงควรออกมาตรฐานของตนเองสำหรับรับรองปริญญาบัตร อันนั้นก็ไม่เลวนัก แต่ไม่พอครับ
จะให้ดีกว่าคือเลิกรับรองปริญญาบัตรกันไปเลยไม่ดีกว่าหรือ อยากจ้างใครก็วัดความสามารถกันด้วยวิธีอื่นที่ได้ผลกว่า เดี๋ยวนี้มีคนคิดวิธีวัดความสามารถกันหลายชั้นหลายเชิงด้วยเทคนิควิธีที่บริษัทห้างร้านหรือหน่วยราชการอาจทำได้เอง
ผมไม่เชื่อนักหรอกครับว่าเทคนิควิธีอย่างนี้จะมีประสิทธิภาพสูงส่งนัก แต่ก็ดีกว่าวางใจไว้กับปริญญาบัตรไม่ใช่หรือครับ ที่สำคัญกว่าเทคนิควิธีการวัดก็คือหน่วยงานทั้งหลายมีระยะเวลาสำหรับการทดลองงานทั้งนั้น ทำไมไม่ใช้ช่วงเวลานี้สำหรับการเรียนรู้คนที่ตัวรับเข้ามาอย่างเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพล่ะครับ
การเลิกรับรองปริญญาบัตรจะทำให้ผู้เรียนและผู้สอนให้ความสำคัญแก่ความรู้และการเรียนรู้มากขึ้น ไม่มีใครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อเอาแต่กระดาษแผ่นเดียวอีก แต่ต้องหาความรู้อย่างจริงจังเพื่ออนาคตของตัวเอง หรืออย่างน้อยเพื่อเอาไปตอบปัญหาชีวิตของตัวเองจริงๆ
อันที่จริงในหลายสังคมนั้น การรับรองปริญญาบัตรเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด หมายความว่ามีองค์กรทางสังคมหลากหลายที่กระโดดลงมาประเมินปริญญาบัตรของหลักสูตรต่างๆ และของมหาวิทยาลัยต่างๆ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินดังกล่าว บางทีเขาจัดละเอียดลงไปถึงศาสตร์แต่ละศาสตร์ด้วยซ้ำ วงการที่ใช้งานจากผู้ถือปริญญาก็ยังอาจประเมินและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอีกด้วยว่า จะรับคนทำงานด้านนั้นด้านนี้ต้องเลือกจากมหาวิทยาลัยอะไร
ถ้าสังคมไม่ทำเอง ปล่อยให้รัฐทำ รัฐก็จะทำแบบรวมศูนย์ คือมีมาตรฐานเดียว หยาบ และไม่ค่อยบ่งบอกอะไรมากนักเหมือนใบขับขี่
ความเลอะเทอะของระบบปริญญาบัตรเมื่อนำมาใช้ในเมืองไทย ประการที่สองก็คือ ในทุกสังคมนั้น การศึกษาคือการลงทุนเพื่อการเลื่อนสถานภาพทั้งนั้น แต่ในเมืองไทยเราค่อนข้างจะปิดไม่ให้ระบบที่จะเลื่อนสถานภาพเปิดกว้างแก่คนทั่วไป ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นเครื่องมืออย่างดีของคนชั้นนำที่จะหวงแหนสถานภาพอันสูงของตนไว้ให้แก่บุตรหลาน
ความศักดิ์สิทธิ์ของปริญญาบัตรในเมืองไทยจึงยิ่งมีสูงกว่าสังคมอื่นๆ อีกหลายสังคม เพราะตัวปริญญาบัตรเองก็หมายถึงสถานภาพที่สูงอยู่แล้ว ทั้งยังส่อว่าผู้ถือปริญญาบัตรน่าจะสืบทอดสถานภาพที่สูงของครอบครัวและพรรคพวกเส้นสายกว้างขวางอีกด้วย
ราคามันถึงแพงไงครับ อย่าว่าแต่มหาวิทยาลัยนอกที่เข้ามาหลอกคนไทยเลยที่ขายปริญญาบัตรกันในราคาเป็นแสน
มหาวิทยาลัยของรัฐเองก็ตั้งราคาปริญญาบัตรไว้สูงเหมือนกัน เป็นหลายแสนในระดับปริญญาตรีบางหลักสูตร และเป็นหลายๆ แสนในระดับหลังปริญญาตรี
เพียงแต่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้หลอกใคร เพราะ ก.พ.รับรองจริงๆ ส่วน ก.พ.จะหลอกใครหรือไม่ ผมไม่ทราบ
ฉะนั้น ผมอยากเดาว่า สมมุติว่าปราบปรามมหาวิทยาลัย "เถื่อน" ที่เข้ามาเปิดหลักสูตรปริญญาในเมืองไทยลงได้ราบคาบในครั้งนี้ ในเวลาอีกไม่กี่ปี ก็จะมีคนแอบเข้ามาทำอย่างเดียวกันอีก เพียงแต่ทำได้แนบเนียนกว่า เพราะมีปัจจัยดังที่กล่าวแล้วซึ่งทำให้เมืองไทยเป็นตลาดสินค้าปริญญาที่น่าจะทำกำไรได้ง่าย และมากที่สุด

http://www.reocities.com/midfirst2001/newpage22.html

ไม่มีความคิดเห็น: