การอ่านนิทานภาพให้ลูกฟัง ถือเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเจ้าตัวน้อยทางอ้อม
พัฒนาการด้านใดบ้าง "ปองกมล" อธิบายไว้ในคอลัมน์ "Bookstart" นิตยสาร "Mother & Care" ฉบับพ.ย.ดังนี้
1.ด้านภาษา ถ้าเป็นเด็กวัยขวบปีแรก การที่เด็กได้ฟังนิทานจะเป็นการสะสม "คลังคำศัพท์" ในสมองโดยไม่รู้ตัว ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการพูด ส่วนเด็กวัยอนุบาลขึ้นไปจะมีพัฒนาการทางภาษา ใช้ภาษาสละสลวย อ่านหนังสือเร็วและแตกฉานกว่าเด็กที่ไม่เคยผ่านการฟังนิทานมาก่อน
2.จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญในการส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ดี จะมาจากการที่พ่อแม่อ่านไป ถามไป เช่น ถ้าเป็นแบบนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าเนื้อหาของเรื่องเปลี่ยนไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นเขา (เด็ก) จะแก้สถานการณ์อย่างไร ฯลฯ
3.รสนิยมด้านศิลปะและความงาม นิทานภาพสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่จะมีภาพประกอบสวยงาม ใช้โทนสีอบอุ่น องค์ประกอบภาพงดงามลงตัว การที่เด็กได้ดูภาพ ได้ฟัง ได้อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบสวยงามเป็นประจำจะทำให้ซึมซับเรื่องของ สุนทรียะและความงามโดยไม่รู้ตัว หากส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมศิลปะก็จะเป็นการส่งเสริมทักษะด้านศิลปะให้เด็ก
4.บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ การเปิดหนังสือทีละหน้าๆ สำหรับเด็กวัยสองขวบปีแรก เป็นการบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็ก ถ้าหมั่นหากิจกรรมต่อยอดจากนิทานก็จะยิ่งทำให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (นิ้วมือ) และมัดใหญ่มากขึ้น
5.การคิดวิเคราะห์/คิดเชื่อมโยง ทักษะข้อนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากว่าในระหว่างที่เล่านิทานไม่ได้ตั้งคำถามให้เด็กคิด หรือให้เด็กแต่งตอนจบขึ้นมาใหม่ก็ได้
6.ทักษะด้านคณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์ ทักษะสองอย่างนี้อยู่ที่การทำกิจกรรมเป็นหลัก อย่างเช่น ถ้าชวนเจ้าตัวเล็กทำขนมไข่เหมือนกุริกุระ การชั่ง ตวง วัด หรือให้เด็กนับชิ้นขนมที่ทำเสร็จเป็นการฝึกทักษะคณิตศาสตร์ ตอนทอดแป้งให้เด็กสังเกตความร้อนที่ทำให้ขนมสุกเป็นการสอนวิทยาศาสตร์
7.ทักษะการสังเกต นิทานภาพสำหรับเด็กส่วนใหญ่มักจะมีภาพสัตว์ตัวเล็กๆ แอบอยู่มุมใดมุมหนึ่งของหนังสือ ลองทำเป็นเกมเล่นแข่งขันกันหาสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ดู
8.ฝึกความจำ แกล้งอ่านผิด อ่านข้าม อ่านเพี้ยน เด็กจะทักขึ้นมาทันที หรือว่าเปลี่ยนให้เด็กลองเล่าเรื่องดูบ้าง แล้วเราจะได้เห็นความมหัศจรรย์ความจำของเด็ก
อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้ลองอ่านนิทานให้เจ้าตัวเล็กฟังทุกคืนก่อนนอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น