วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ก็แค่รู้สึกตัว

การปฏิบัติธรรมบางครั้งกลับไม่ใช่เรื่องยาก ก็แค่ฟังธรรมบ้าง ฟังการตอบปัญหาที่ผู้อื่นถามบ้าง ฟังไปนานเข้าจิตก็เกิดความรู้สึกตัวสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี มีสติสัมปชัญญะอยู่เนืองๆ จิตใจผ่องใส หน้าตาก็ผ่องใส จนจิตเขาทำหน้าที่ของเขาเอง แค่คอยรู้ไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง แท้จริงสติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นมาก็เพราะเราต้องไม่คิดมาก คือไม่คิดว่า การปฏิบัติธรรมคืออะไร จะลงมือทำได้อย่างไร และทำแล้วจะมีผลอย่างไร ให้ตามรู้ความรู้สึกเรื่อยไป แล้วก็สังเกตจิตใจตนเองเสมอๆ จิตเขารู้สึกอย่างไรก็รู้ไปตามนั้น แล้วก็เห็นว่าความรู้สึกทั้งหลายเป็นเพียง อะไรบางอย่าง (นาม) ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ใช่ตัวเราและบังคับไม่ได้ ให้เห็นอยู่เพียงเท่านี้เองโดยไม่หลงเข้าไปแทรกแซงหรือแก้ไขอาการของจิต แล้วความทุกข์ทางใจที่เคยมีเป็นภูเขาเลากาก็ค่อยสลายตัวไป จิตใจมีความอิ่มเอิบเบิกบานในธรรมเพราะสามารถปล่อยวางความรู้สึกต่างๆ ลงได้เป็นลำดับ ในขณะที่ผู้คิดมาก ถามมาก ฟังธรรมมาหลายปีก็ยังปฏิบัติไม่เป็น เพราะไม่ได้ลงมือปฏิบัติคือไม่ลงมือตามรู้กายตามรู้ใจเสียที บุคคลเหล่านี้จะรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมช่างเป็นเรื่องยากเย็นเสียเหลือเกิน ตรงกับที่หลวงปู่ดูลย์ท่านกล่าวว่า ยากสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติ คือยากสำหรับนักคิดนักถามและนักเพ่งนักจ้อง แต่ไม่ยากสำหรับนักตามรู้กายและนักตามรู้ใจ

การตามรู้จิตใจของตนเองเป็นเรื่องเรียบง่าย ไม่มีขั้นตอนหรือวิธีการใดๆ เป็นพิเศษเลย เพียงแค่ให้รู้ความรู้สึกเข้าไปตรงๆ คือจิตใจมีความรู้สึกอย่างไรก็รู้ไปตามนั้น เช่นจิตรู้สึกมีความสุขก็รู้ จิตรู้สึกมีความทุกข์ก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ จิตมีโลภะคือรู้สึกโลภ/ใคร่/รัก/หวง/ห่วงก็รู้ จิตมีโทสะคือรู้สึกโกรธ/หงุดหงิด/ขุ่นข้องหมองใจ/เกลียด/กลัว/กังวล/อิจฉา/พยาบาทก็รู้ จิตมีโมหะคือฟุ้งซ่านหรือซึมเซาก็รู้ จิตสงบปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานก็รู้ ตัวความรู้สึกทั้งหลายนั่นแหละคือธรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า นามธรรม ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อเห็นนามธรรม นามธรรมก็แสดงธรรมให้ดู คือเขาจะแสดงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปให้ได้เห็น เมื่อเห็นมากเข้าจิตใจก็จะเริ่มปล่อยวางความรู้สึกต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวเราหรือของเราลงได้ คือความสุขเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินดี ความทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่หลงยินร้าย กุศลเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินดี และอกุศลเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินร้าย จิตใจเข้าถึงความเป็นกลางในสิ่งทั้งปวง ตรงกับที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลางจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง (อนึ่งเมื่อหัดตามรู้นามธรรมอย่างนี้ก็จะพลอยรู้จักและตามรู้รูปธรรมคือกายได้ด้วย เพราะกายกับจิตเป็นของคู่กัน เมื่อรู้กายได้ก็รู้จิตได้ และเมื่อรู้จิตได้ก็รู้กายได้ กายกับใจหรือรูปกับนามนี่แหละคือธรรมะที่ต้องตามรู้เขา คือกายอยู่ในอาการอย่างไรก็รู้ว่ารูปอยู่ในอาการอย่างนั้น)

ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ได้ปฏิบัติต่างก็รู้จักความรู้สึกทางใจด้วยกันทั้งนั้น ความแตกต่างระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ไม่ปฏิบัติมีไม่มากคือ ผู้ไม่ปฏิบัติมีความรู้สึกใดๆ ขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็รู้ตามหลังนานๆ เช่นโกรธไปเมื่อวานมาวันนี้เพิ่งนึกได้ว่าเมื่อวานนี้โกรธ เป็นต้น ส่วนผู้ปฏิบัติเมื่อมีความรู้สึกอย่างไรเกิดขึ้นในจิตใจ ก็รู้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีความรู้สึกอย่างอื่นมาคั่นเสียก่อน เช่นพอโกรธก็ตามรู้ได้ว่าจิตก่อนหน้าที่จะรู้ทันนี้กำลังโกรธอยู่ หลักของการปฏิบัติมีอยู่เพียงแค่ว่า จิตใจมีความรู้สึกอย่างไรก็ตามรู้ไปตามนั้นเท่านั้น โดยไม่ต้องทำอะไรก่อนจะรู้ ระหว่างรู้ และรู้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไปอีก เช่นไม่ต้องดักดูไว้ก่อนว่าเมื่อไรจะโกรธ ไม่ต้องพยายามห้ามหรือป้องกันไม่ให้โกรธ และเมื่อโกรธแล้วก็ไม่ต้องอยากและพยายามทำให้หายโกรธเร็วๆ เพียงรู้ว่านามธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้นก็พอแล้ว สำหรับอารมณ์ในฝ่ายที่น่าพอใจ ก็ไม่ต้องอยากให้เกิดขึ้น ไม่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องพยายามรักษาเอาไว้ ให้ตามรู้ไปตามความเป็นจริงเช่นเดียวกับอารมณ์ที่ไม่น่าพึงใจนั่นเอง

อย่าพยายามไปบังคับจิตให้หยุดคิด หน้าที่ของเราคือทำสติตามรู้ความคิดไปทำสติตามรู้ไป ความคิดนั่นแหละคือเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ ความคิดเป็นฐานที่ตั้งอันมั่นคงของสติ ตราบใดที่จิตยังมีความคิด สติยังมีความระลึก สิ่งที่เราจะพึงได้จากการภาวนาคือความที่สติมีพลังแก่กล้าขึ้นจนเป็นมหาสติ เป็นสติที่มีฐานที่ตั้งอย่างมั่นคง แล้วกลายเป็นสติพละ เป็นสติที่มีพละกำลังอันเข้มแข็ง กลายเป็นสตินทรีย์ สติเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง เมื่อเป็นสติพละ เป็นสตินทรีย์ เมื่อสติตัวนี้เพิ่งพลังแก่กล้าขึ้น จึงกลายเป็นสติวินโย จิตของเราจะมีสติเป็นผู้นำ แม้จะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม จิตจะมีความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตกระทบอารมณ์อันใดขึ้นมา สติตัวนี้จะออกไปรับและพิจารณาให้เกิดรู้เหตุรู้ผลขึ้นมา เมื่อรู้เหตุรู้ผลแล้วจิตมันก็จะปล่อยวางไปเอง

เรื่องมันไม่ยากแต่ทำจริงๆ แล้วยากอยู่ แต่ถ้าทำได้แล้วมันก็จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ก็แค่รู้ื ดูมันไปเรื่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น: