วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มเทคโนโลยีการศึกษาในอนาคต

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของชาติฉบับแรกของประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา มีสาระสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษาของชาติทั้งในส่วนที่เป็นความมุ่งหมาย หลักการของการจัดการศึกษา สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา ระบบการศึกษา แนวทางจัดการศึกษาการบริหารและจัดการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ.2542)
สำหรับการกำหนดรูปแบบของการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
1. สภาพการเรียนการสอนในระบบ (Fonmal Education) หมายถึง การที่เทคโนโลยีการศึกษามีส่วนสนับสนุนการเรียนการสอนในระบบ ในชั้นเรียนที่มีหลักสูตรเฉพาะ มีกรอบการเรียนที่ชัดเจนนักเรียน นักศึกษาต้องเข้าเรียนตามเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ โดยครูจะนำเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสมเข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนในชั้นเรียน ทำให้การเรียนการสอนในระบบเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
2. สภาพการเรียนการสอนนอกระบบ (Informal Education) หมายถึง การที่เทคโนโลยีการศึกษามีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนนอกระบบ คือการเรียนการสอนที่มีหลักสูตรเฉพาะกลุ่มหรือหลักสูตรที่มีกรอบการเรียนค่อนข้างกว้างขวาง โดยไม่กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถและโอกาสของผู้เรียนที่จะอำนวย การเรียนการสอนประเภทนี้ ผู้สร้างหลักสูตรจำเป็นต้องคัดเลือกเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสมมาช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสื่ออุปกรณ์ ซึ่งได้แก่ดาวเทียม โทรทัศน์เพื่อการศึกษา วิทยุเพื่อการศึกษา สื่อวัสดุ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์หรือแม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ ที่ครู หรือผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ จะกำหนดขึ้น
3. สภาพการเรียนการสอนตามอัธยาศัย (Nonformal Education) หมายถึง การที่เทคโนโลยีการศึกษามีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนตามอัธยาศัย เป็นการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลกลุ่ม ต่างๆ ที่มีความจำกัดบางอย่าง แต่บางครั้งมีความต้องการได้รับความรู้ เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามจัดโอกาสให้กับบุคคลเหล่านี้ โดยใช้เทคโนโลยีการศึกษาเข้ามาช่วยสนับสนุนให้การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากรูปแบบของการจัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าวได้สะท้อนความตื่นตัวที่จะปฏิรูปการศึกษาโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตที่เน้นให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้วางเป้าหมายในการสร้างให้คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข เป็นเป็นทรัพยากรบุคคลที่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน (รุ่ง แก้วแดง.2543) ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดการศึกษาโดยภาพรวมพอได้ดังนี้
1. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดกิจกรรมและพัฒนาการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นจะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพื่อนำความรู้และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไปใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมได้
2. การจัดระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ให้มีแหล่งความรู้ที่หลากหลาย สำหรับการค้นคว้าหาความรู้ทุก ๆ ด้านที่ผู้เรียนต้องการและเหมาะสมกับผู้เรียน จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้พัฒนาตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง
3. การปรับกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นให้ครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและชี้แนะให้ผู้เรียนทำการศึกษาค้นคว้าคิด ตัดสินใจด้วยตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายการเรียนรู้เป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกันครูต้องเป็นต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรมและจะต้องปลูกฝังทั้งในชั่วโมงเรียนและกิจกรรมการฝึกปฏิบัติ
4.ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยโดยการประสานกับชุมชนและท้องถิ่นในการพัฒนาการเรียนการสอนตามอัธยาศัยเน้นการค้นคว้าและทักษะการสืบค้นสารสนเทศ ให้ผู้เรียนใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสื่อสารข้อมูลทางไกลผ่านระบบเครือข่ายได้ รวมทั้งประเมินผลจากการนำมาใช้มากกว่าการจดจำเนื้อหา
นอกจากนั้นจากพระราชบัญญัติการศึกษา ปี พ.ศ. 2542 ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า กฎหมายให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเน้นการศึกษารายบุคคล มวลชน และผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย พระราชบัญญัติการศึกษาจะเป็นผู้ชี้อนาคตในการจัดการศึกษา ซึ่งแน่นอนการนำเทคโนโลยีการศึกษาย่อมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ น่าจะกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีการศึกษาในอนาคตจะผูกติดกับพระราชบัญญัติการคึกษา และนับวันจะมีบทบาทยิ่งขึ้น ดังจะพบว่าพระราชบัญญัติการศึกษาให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีการศึกษา โดยกำหนดไว้ในหมวดที่ 9 ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาระบุไว้ 7 มาตรา ดังนี้
มาตรา 63 รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น
มาตรา 64 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่น วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งรัด พัฒนาขีดความสามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
มาตรา 65 ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการผลิต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ
มาตรา 67 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย
มาตรา 68 ให้มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจากเงินอุดหนุนของรัฐ ค่าสัมปทาน และผลกำไร ที่ได้จากการดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กร ประชาคม รวมทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อพัฒนาคนและสังคม หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการผลิต การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นไปตามกำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 69 รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบาย แผน ส่งเสริม และประสานการวิจัย การพัฒนา และการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพ และประสิทธิภาพของการผลิต และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางต่อการเรียนการสอนในปัจจุบันและจะมีบทบาทต่อการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้นในอนาคตก็คือ การนำระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเรียนการสอน เมื่อไม่นานมานี้ครูได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แต่เพียงผู้เดียวในห้องเรียน แต่ปัจจุบันเรามีการสอนโดยใช้โทรทัศน์ หรือวิทยุกระจายเสียง ระบบไมโครเวฟ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยดำเนินงานตามที่กำหนดเป็นกฎหมายการศึกษาของชาติ ทั้งนี้ “เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา” จะเป็นศาสตร์สำคัญแขนงหนึ่งของการปฏิรูปที่จะช่วยปรับปรุง พัฒนา และยกระดับมาตรฐานการศึกษาของชาติให้บังเกิดคุณภาพและประสิทธิภาพได้ การปฏิรูปการศึกษาโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญของการปรับเปลี่ยนต้องส่งผลโดยตรงไปสู่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ในการจัดการศึกษาต้องตระหนักและช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานให้ก้าวสู่เป้าหมายโดยรวมได้ในอนาคต โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

เอกสารประกอบการค้นคว้า กระทรวงศึกษาธิการ คำชี้แจงประกอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โรงพิมพ์กรมการศาสนา กรุงเทพฯ .2542 รุ่ง แก้วแดง .อ้างถึงในรายงานสรุปการสัมมนายุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ .มีนาคม 2543

ไม่มีความคิดเห็น: