วิถีแห่ง Zen
วิถีแห่ง Zen
- จุดมุ่งหมายของเซน คือการทำให้เราตระหนักว่าไม่มีตัวตน
- ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้ เหมือนดอกบัวเกิดในโคลนตม แต่ไม่ติดโคลนตมฉันนั้น
- ชีวิตนี้แสนสั้น เราย่อมไม่อาจที่จะใช้ชีวิตที่มีเวลาอยู่นี้ ไปในการขบคิดใคร่ครวญเรื่องทางอภิปรัชญา อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะอภิปรัชญาไม่อาจนำไปสู่สัจจะอันยิ่งใหญ่ได้เลย
- ชีวิตของเราจะสูญเปล่าไป หากเราหลีกหนีการใช้ชีวิตตามความจริง เมื่อไปอยู่ในโลกแห่งความคิดอันล้ำลึกแล้ว เราก็จะเป็นเพียงวิญญาณพเนจร หากยังวุ่นวายอยู่ด้วยความคิดว่ามีหรือไม่มี ชีวิตก็จะสูญเปล่าไปเสีย
- ให้ดูทุกข์ และความไม่มีทุกข์ ที่มีอยู่ในใจ จึงจะเข้าถึงธรรมที่ปราศจากทุกข์ได้
- ปาฏิหาริย์ที่แท้ อยู่ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ นี่เอง ให้กิจวัตรประจำวันดำเนินไปตามครรลองของมันอย่างเป็นธรรมชาติ ชีวิตคุณมีอยู่เพียงขณะเดียว อดีตก็ละไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ก็แต่ในขณะปัจจุบันเท่านั้น
- เดี๋ยวนี้ คือสิ่งที่เรา เป็น มันไม่สามารถจะเป็น เป้าหมาย หรือ ภาวะ ที่เราจะต้อง มุ่ง ไปให้ถึง เดี๋ยวนี้ คือการกระทำ หรือ ความเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก่อนที่ ความคิด จะปิดบังมันไว้เสีย
- ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกัน เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง ในการที่จะไปรื้อหาความผิด
- ทุกๆ ครั้งที่มีการเตือนตนเองให้ถ่อมตน อัตตาของตนก็จะขยายทั้งแง่ขอบเขตและกำลัง ความถ่อมตนที่แท้จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้นึกถึงความถ่อมตน วิปัสสนานั้นไม่ใช่การให้ความสำคัญแก่ตนเอง หรือการปฏิเสธละทิ้งตนเอง
- มันจะมีประโยชน์อะไร ที่จะมานั่งอภิปรายกันว่า ต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้อย่างไร ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั่นแหละ จะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร
- ยึดมั่นคราใดเป็นทุกข์ครานั้น การปฏิบัติทุกอย่างต้องมาลงที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดหรือเรื่องใดที่ปฏิบัติแล้ว ยิ่งทำให้เกิดยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้น ถือว่าผิดแล้ว
- การตรัสรู้ธรรมหรือไม่ หาได้อยู่ที่การปฏิบัติเข้มงวด หรือเคร่งครัดเป็นเวลานานไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ต่างหาก
- ระหว่าง รู้ กับ ทำ นั้นช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกิน
- ไม่มีอะไรจะต้องลุถึง เพียงแต่ลืมตาตื่นเท่านั้นสิ่งๆ นั้นก็จะปรากฏแก่เธอ
- คนพาล ย่อมหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ภายนอก แต่ไม่หลีกเลี่ยงความคิดปรุงแต่ง คนฉลาดย่อมหลีกเลี่ยงความคิดปรุงแต่ง แต่ไม่หลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ภายนอก
- อะไรเกิดขึ้นที่จิตก็ให้รู้ไป ไม่ต้องไปแบ่งแยกให้ค่าว่า อันนี้ถูก อันนี้ผิด ถ้าหลุดพ้นจากการให้ค่าพวกนี้ได้ ก็จะเข้าใจจิต
- สิ่งที่ตาเธอเห็นอยู่นั่นแหละคือความจริง (ปรมัตถ์) ธรรมทั้งปวงก็คือปรมัตถ์ เธอจะต้องหาอะไรอีกเล่า
- เหตุแห่งความทุกข์ และความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในชีวิต ล้วนเกิดจากจิตที่เต็มไปด้วยอัตตา
- ล่องลอยไปตามกระแส ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงปล่อยให้จิตใจเป็นอิสระอยู่ ด้วยความเป็นกลาง ด้วยการรับรู้สิ่งที่กระทำอยู่นั้น นี่เป็นสิ่งสูงสุด
- การเปิดใจรับผัสสะและความคิดอย่างเต็มที่ ด้วยดวงจิตที่ตระหนักรู้ เป็นสิ่งเดียวกับธรรมชาติเดิมแท้.
- บุญกุศลที่ทำด้วยความยึดมั่น ย่อมนำความเพลิดเพลินยินดีมาให้ แต่ก็เหมือนกับการยิงลูกศรขึ้นไปในอากาศ เมื่อหมดแรงมันก็ตกลงมาที่พื้นอีก
- ความสงบในความเงียบหาใช่ความสงบที่แท้ จริงไม่ เมื่อท่านสามารถทำใจให้สงบได้ ท่ามกลางกิจกรรมต่างๆ นั่นจึงเป็นสภาวะสงบที่แท้จริงของธรรมชาติ เฉกเช่นเดียวกับความสุขจากความสะดวกสบาย ย่อมไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง หากแต่เมื่อท่านสามารถมีความสุข ท่ามกลางความยากลำบาก นั่นแหละคือท่านได้เข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของจิตแล้ว
- ความจริงสูงสุดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดง ได้ด้วยคำพูด "ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด" เมื่อคำพูดและความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดังเดิมก็พลันปรากฎ
- การฝึกฝนในทางธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกได้ (ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง) ในความคิดปรุงแต่งใดๆก็ตาม จะมีความรู้สึกที่มีตัวตนประสมอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก บุคคลควรปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่ง และจะต้องเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นเอง การปฎิบัติธรรมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้
- ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ใหม่ ประสบการณ์ของความตื่น ความรู้สึกตัวถึงเอกภาพอันแบ่งแยกมิได้ของสรรพสิ่งทั้งมวล การเห็นแจ้งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะภายในของตน เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า ได้อะไรมาใหม่ เพียงแต่เป็นการรู้แจ้งบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเท่านั้น ปัญหามีเพียงว่าที่เราไม่ได้รู้สึกตัวถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง ในภาวะของความตื่น เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติในส่วนลึกลับอันแอบเร้นลับปรากฎตัวขึ้นแทนที่และผู้กระทำจะกระทำ สิ่งต่างๆอย่างปราศจากตัวตนและอย่างเป็นกันเอง
- "ฉันไปด้วยมือที่ว่างเปล่า และดูนั่น มีจอบอยู่ในมือของฉัน ฉันเดินไป แต่กระนั้นฉันก็กำลังขี่ไปบนหลังของวัวตัวหนึ่ง เมื่อฉันข้ามสะพาน โอ น้ำไม่ได้ไหล สะพานต่างหากที่ไหล "
- หนทางอันยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากอะไร สำหรับบุคคลผู้ไม่มีความรู้สึกเปรียบเทียบ
- เมื่อรักและชังไม่มีอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างก็แจ่มแจ้งและเปิดเผยตัวเองออก
- ถ้าเธอปราถนาจะเห็นความจริง จงอย่ายึดถือความเห็นที่คล้อยตามหรือขัดแย้ง
- เมื่อเธอพยายามหยุดการกระทำ เพื่อจะได้ถึงความหยุดนิ่ง ความพยายามของเธอนั่นแหละ ที่ทำให้เธอเต็มไปด้วยการกระทำ
- การปฎิเสธความจริงของสรรพสิ่ง เป็นการพลาดไปจากความจริงนั้น การยืนยันถึงความว่างของสรรพสิ่ง ก็เป็นการพลาดไปจากความจริงนั้น
- ยิ่งเธอพูดคิดมากเท่าใด เธอยิ่งห่างไกลจากความจริงมากเท่านั้น จงหยุดการพูดและการคิด และจะไม่มีสิ่งใดที่เธอจะไม่รู้
- การกลับคืนสู่รากเหง้าคือการค้นพบความหมาย แต่การเดินตามสิ่งปรากฎภายนอก เป็นการพลาดไปจากต้นตอ
- ในช่วงขณะแห่งความแจ้งภายใน มีการข้ามพ้นสิ่งภายนอกและความว่าง
- อย่าได้ค้นหาสัจธรรม ให้เพียงแต่หยุดถือความเห็นต่างๆเท่านั้น เมื่อปราศจากความคิดแบ่งแยก จิตก็ไม่มี
- เมื่อความคิดหายไป ตัวที่ทำหน้าที่คิดก็หายไป เช่นเดียวกับเมื่อจิตหายไป วัตถุก็หายไปด้วย สิ่งทั้งหลายมีอยู่เพราะว่ามีตัวรับรู้ จิตมีอยู่ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่
- ถ้าดวงตาไม่เคยหลับใหล ความฝันทั้งหมดก็หยุดลงโดยธรรมชาติ
- ถ้าจิตไม่สร้างความแบ่งแยก สรรพสิ่งทั้งหลายก็เป็นเช่นที่มันเป็น อันมีสาระดั้งเดิมแต่เพียงอย่างเดียว
- ชั่วขณะแห่งความเห็นแจ้ง เราเป็นอิสระจากเครื่องจองจำ ไม่มีสิ่งใดมายึดเกาะเรา และเราก็ไม่ยึดเกาะต่อสิ่งใด ทุกสิ่งว่าง ชัดเจน และแจ่มแจ้งในตัวของมันเอง โดยที่จิตไม่ต้องใช้พลกำลังแต่อย่างใด ณ ที่นี้ ความคิด ความรู้สึก ความรู้และจินตนาการ ไร้คุณค่าโดยสิ้นเชิง
- การเดินตามแบแผนและติดในกฎเกณฑ์ เป็นการผูกมัดตัวเองโดยไม่ต้องมีเชือก
- การกระทำเพียงแค่รวมจิตเป็นหนึ่ง และบังคับมันให้สงบลง เป็นลัทธินิยมความนิ่งเฉยและเป็นเซนที่ผิด
- การยึดถือความคิดของตนเอง และลืมโลกที่ปรากฎอยู่ตามสภาพของมัน เป็นการตกลงไปสู่หลุมที่ลึก
- ความรู้สึกยึดมั่นที่ว่าตนจะต้องรู้ทุกอย่าง และไม่ยอมให้สิ่งใดมาหลอกลวง เป็นการตกลงไปสู่หลุมที่ลึก
- ความรู้สึกยึดมั่นที่ว่าตนต้องรู้ทุกอย่าง และไม่ยอมให้สิ่งใดมาหลอกลวง เป็นการใส่โซ่ตรวนให้กับตัวเอง
- การคิดถึงความดีและความชั่ว เป็นการติดอยู่ในสวรรค์หรือนรก
- เธอจะต้องมานะพยายามอย่างถึงที่สุด ในอันที่จะบรรลุถึงการตรัสรู้ของเธอในชีวิตนี้ และจะต้องไม่ผลัดมันออกไปวันแล้ววันเล่า ด้วยการก้าวข้ามพ้นโลกทั้งสาม
- "อย่ายึดเอาข้อสรุปใดเป็นคำตอบ"
- "เราต้องไม่เข้าจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยอารมณ์"
- "หากไม่ดูจิตก็จะไม่เห็นจิต จะไม่รู้จักตัวเอง"
- "ในเซนไม่มีหญิงไม่มีชาย มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ"
- "ต้องเท่าเทียมกันในใจของเรา ไม่มีใครมาทำให้ใจของเรากระเพื่อมได้"
- "เพราะไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ พอความคิดเกิดขึ้นก็ตั้งตัวไม่ติด พลัดตกลงไปในกระแสแห่งความคิด"
- "คนที่รอบรู้ที่สุด จะบอกว่าเขาไม่รู้อะไรเลย" ความรู้ที่แท้คือเมื่อรู้ก็รู้ว่ารู้ เมื่อไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้ นี่แหละคือความรู้ที่แท้ละ
- ปล่อยให้สภาพที่เป็นแล้ว มีแล้ว ได้ทำงานตามชาติของมันเอง
- ทุกก้าวย่างของความรู้ตัวล้วนๆ โดยไม่เพ่งเล็งจำเพาะคือการภาวนา
- วิปัสสนา แปลว่าความเห็นแจ้ง เป็นการแลเห็นความจริงอย่างที่มันเป็น ตามธรรมชาติที่แท้จริงของกายและใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น