...การทำลายเสรีภาพของบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นการลดทอนบุคคลนั้น ให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นมนุษย์ไปเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง...
คุณผู้อ่านที่รัก,
ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre, 2448-2523) เป็นนักคิดนักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นความคิดปรัชญาเอกซิสเตนเชียลลิสม์ ซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพของมนุษย์ จนเป็นต้นเค้าของเรื่องราวการยืนหยัดเพื่อเสรีภาพของผู้คนทั่วโลกจนถึง ปัจจุบัน
ซาร์ตร์ เชื่อว่าสภาวะของมนุษย์ทุกคนล้วนเริ่มต้นจากความว่างเปล่า เมื่อมีชีวิตอุบัติขึ้นบนโลกแล้ว สิ่งที่มนุษย์มีเป็นสิ่งแรกคือเสรีภาพ ชีวิตหลังจากนั้น จะเป็นอย่างไร มีความหมายหรือไม่ ล้วนเกิดจากเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตของคนๆนั้น
มนุษย์มีความแตกต่างกับวัตถุสิ่งของอื่นในโลก วัตถุสิ่งของไม่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากสิ่งที่เป็น อยู่ แต่มนุษย์สามารถจัดการให้ตัวเองเป็น หรือไม่เป็นอะไรได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกจะเป็น(หรือไม่เป็น)ของตนเอง
ซาร์ตร์พูดว่า เสรีภาพเป็นพื้นฐานของมนุษย์ "มนุษย์คือเสรีภาพ" ความเป็นมนุษย์และเสรีภาพเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าปราศจากเสรีภาพแล้ว มนุษย์ก็ไม่ต่างจากก้อนหินที่อยู่ในโลก ดังนั้นการทำลายเสรีภาพของบุคคลหนึ่งบุคคลใด จึงเท่ากับเป็นการลดทอนบุคคลนั้น ให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นมนุษย์ไปเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง
เสรีภาพมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเราจะตระหนักในเสรีภาพหรือไม่ก็ตาม
เสรีภาพมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการตัดสินใจ และมนุษย์ทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการเลือกตัดสินใจในเรื่องของตัวเอง เวลาที่เราเกิดเรื่องยุ่งยากใจ เราอาจขอคำชี้แนะจากผู้อื่นที่มีประสบการณ์มากกว่า เราอาจขอความเห็นจากคนรอบข้างมากมายหลายคน แต่ที่สุดแล้วเราจะถูกทิ้งให้ต้องเลือกตัดสินใจตามลำพังเสมอ
ไม่ มีทางใดที่เราจะหลีกเลี่ยงการตัดสินใจได้เลย การไม่ตัดสินใจหรือไม่สนใจที่จะตัดสินใจ ก็คือการเลือกตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ตัดสินใจ
นอกจากเชิดชูเสรีภาพแล้ว ซาร์ตร์ยังย้ำให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ เพราะความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเริ่มจากความว่างเปล่า เสรีภาพในการดำรงชีวิตได้สร้างตัวตนของเราขึ้นมา และการกระทำต่างๆของมนุษย์ล้วนเกิดจากการตัดสินใจของตัวเองทั้งสิ้น (ขอยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ -- การเชื่อฟังและทำตามคำพ่อแม่ ซาร์ตร์ถือว่า เราตัดสินใจที่จะเชื่อฟังและทำตาม เรามีเสรีภาพที่จะปั้นแต่งชีวิตเราเองโดยไม่ยอมเชื่อฟังก็ได้) ดังนั้นมนุษย์จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อเรื่องราวของตนเอง ได้เลย
การ กล่าวอ้างว่า ชีวิตมนุษย์เป็นทาสอารมณ์ความรู้สึกและสิ่งแวดล้อมต่างๆ หรือเป็นเรื่องของ"พรหมลิขิต" หรือ"ดวงดาว"ต่างๆนั้น เป็นการกล่าวแก้ตัวของคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเอง และต้องการให้สิ่งอื่นมาทำหน้าที่รับผิดชอบแทน ฯ
------
เป็นผู้นำแนวคิดเอกซิสเตนเชียลลิสม์ - Existentialism ถ้าสนใจเพิ่มเติมขอแนะนำให้ลองอ่าน "ปรัชญาชีวิตของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์" เรียบเรียงโดย พินิจ รัตนกุล 216 หน้า สำนักพิมพ์สามัญชน
ก่อนจบขอยกเอาความตอนที่กล่าวถึง เสรีภาพกับวรรณกรรมสักหน่อย..
ซาร์ตร์ เขียนไว้ว่า.. การเขียนหนังสือเป็นงานประเภทหนึ่งของมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อผู้อื่น ดังนั้นจึงต้องเป็นงานที่มีความรับผิดชอบเจืออยู่ด้วย ผู้เขียนไม่ควรคิดว่าผลงานตนจะผ่านสายตาผู้อื่นเป็นจำนวนน้อย เพราะความคิดเช่นนี้จะทำให้ผู้เขียนไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเขียน ฯ