สุธี พนาวร
คง เห็นบริษัทหลายๆ แห่งเขาทำกิจกรรมไคเซ็นกันแล้วได้ดิบได้ดี ลองไปทำดูบ้างก็ไม่เห็นจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงกันมากเท่าไร บางคนไปถามเพื่อนในองค์กรอื่น หลายคนอาจจะเคยทำมาแล้วแต่ “ไม่เวิร์ค” ก็เป็นได้
แล้วอะไรเป็นตัวตัดสินว่าองค์กรแบบไหนจึงนำไคเซ็นไปใช้ได้ผล
คำตอบไม่ได้อยู่ที่ใครนำไปใช้ แต่อยู่ที่นำไปใช้อย่างไรมากกว่า
วิถีไคเซ็นเองมีกฎเหล็กอยู่ 3 ประการที่ต้องยึดถือปฏิบัติ มิเช่นนั้นก็คว้าน้ำเหลวอย่างแน่นอน
1. ลงมือทำ ไม่รอช้า
ใครๆ ก็รู้ว่าไคเซ็นมีความจำเป็น ใครๆ ก็คิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามา เป็นสามัญสำนึกที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ใครคิดว่าที่เป็นอยู่ดีแล้ว นั่นแหละมีปัญหา แต่แล้วคนส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า
“ทำทันทีไม่ได้”....
“ทำไม่ได้สักที”....
“ไว้มาลงมือทำกัน”....
"ไม่เป็นทำกันต่อเนื่องเลย"....
ก็ ในเมื่อมันต้องทำ แล้วทำไมไม่ลงมือทำ หรือทำไมทำไม่ได้ ให้ใครฟังก็รู้ว่ามันขัดแย้งกัน สิ่งที่เข้าใจผิดกันโดยทั่วไปสรุปออกมาได้ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
“ไคเซ็นเป็นเรื่องที่ต้องใช้คนมาก ยุ่งยาก”
“ไคเซ็นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมาก”
“ไคเซ็นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ประจำ”
ก็เลยไม่ได้ทำอะไรสักที กว่าจะตั้งทีมขึ้นมา กว่าจะหา Kaizen Champion ขึ้นมาได้ ก็ไม่ได้ลงมือทำสักที
แต่ คนที่ประสบความสำเร็จกับไคเซ็น ทำให้งานของตัวเองสบายขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น ได้ผลงานดีขึ้น กลับคิดตรงกันข้ามว่า ไคเซ็นเป็นเรื่องที่
“ทำกี่คนก็ได้”
“ไม่มีค่าใช้จ่ายมากมาย”
“เป็นเรื่องของงานที่ทำอยู่ทุกวัน”
และเป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ ไม่รอช้า
ถ้า ขจัดความเข้าใจผิดเหล่านี้ไปได้แล้ว ไคเซ็นก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องยากหรือใช้เงินอย่างที่ใครเขาคิดกันเลยแม้แต่น้อย พอลงมือทำจนเป็นนิสัยแล้ว ต่อไปมันก็เกิดขึ้นทุกๆ วันต่อเนื่องกันไปโดยอัตโนมัติ
แม้ว่าผลของไคเซ็นอาจจะมองแทบไม่เห็น ในระยะสั้น บางอย่างดูเหมือนแทบจะไม่มีความแตกต่างเลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การปรับปรุงสะสมไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งกลับมาเทียบกับตอนก่อนลงมืออีกทีก็จะเห็นความแตกต่างอันยิ่ง ใหญ่ โดยที่ไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าได้ลงแรงหรือลงทุนอะไรไป
2. ใช้ “ภาษาในชีวิตประจำวัน”
ไคเซ็นไม่ใช่โครงการอันยิ่งใหญ่อะไรเลย ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ตรงกันข้าม ไคเซ็นเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนแปลงวิธีการทีละเล็กทีละน้อย
การ เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ๆ นั้น ภาษาอังกฤษเขาจะเรียกว่า Innovation หรือนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติ ซึ่งคงจะเป็นที่ประจักษ์กันแล้ว ว่าการปฏิรูปการเมืองของเราทำให้เราต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ขนาดไหน และเมื่อเราเกิดความผิดพลาดไป หรือปรับตัวไม่ได้ ทำตามไม่เป็น ก็ต้องเกิดความสูญเสีย เจ็บปวดกัน แล้วกว่าจะแก้ไขกันก็ใช้เวลานาน ใช้กำลังความพยายามอย่างมาก และไม่รู้จะแก้ไขได้ด้วยหรือเปล่าด้วยซ้ำ
การเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างมากๆ นั้นจึงต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตรองให้ดีก่อนจึงตัดสินใจลงมือได้
แต่ ไคเซ็นนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องเล็กๆ ค่อยๆ ทำ มีผลกับการทำงานเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ถ้าจะผิดพลาดอะไรไปบ้างก็เป็นเรื่องเล็กๆ แก้ไขได้ง่ายๆ ผลกระทบไม่รุนแรง
แค่ทำตามหลักการทั้ง 3 ข้อของไคเซ็นที่ให้
“เลิก”
“ลด”
“เปลี่ยน”
ใน การทำงานในแต่ละวันเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่เข้าใจยากๆ หรือวิธีการที่ต้องเรียนรู้อะไรมากมาย ก่อนอื่นเอามันง่ายๆ ก่อน
และถ้าจะไคเซ็นสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันของเรา ก็ควรจะใช้คำพูดง่ายๆ ที่เป็นภาษาในชีวิตประจำวันจะดีที่สุด
3. ทำให้ “สิ่งที่รู้กัน” เป็น “สิ่งที่รู้กัน”
สิ่ง ที่ผมเอามาเขียนในหนังสือไคเซ็นนั้น เป็นเรื่องที่ใครๆ เขาก็รู้กันอย่างถ่องแท้แล้ว ไม่มีอะไรใหม่เลย แล้วทำไมเอาเรื่องที่เขา “รู้กันมาตั้งนานแล้วละลุง” มาเขียนเป็นหนังสือขายให้คนซื้อไปอ่านอีกล่ะ
ก็เพราะว่า สิ่ง ที่เขารู้กันมาตั้งนานแล้ว อาจจะรู้กันมานานเกินไปจนคนทั้งหลายไม่เข้าใจ จึงทำให้การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ อย่างไคเซ็นไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างที่มันควรจะเป็น
สิ่งที่ผมนำมาเขียนจึงเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้กัน ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีอะไรแปลกประหลาด และไม่มีอะไรใหม่
ไค เซ็นเองก็เป็นการทำให้ “สิ่งที่รู้กัน” เป็น “ที่รู้กัน” เท่านั้นเอง และ บริษัทที่เขาประสบความสำเร็จทั้งหลาย นำไคเซ็นไปใช้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนได้ ก็เพราะนำเอาสิ่งที่ใครๆ ก็รู้กันมาทำให้กลายเป็นสามัญสำนึกที่ทุกคนรู้กันและนำไปปฏิบัติกันเหมือน ไม่มีอะไรพิเศษ
ลองไปดูองค์กรที่ใช้กิจกรรมไคเซ็นเป็นอาวุธอย่างโตโย ต้าหรืออื่นๆ เขาไม่ได้มีอะไรพิเศษหรือประหลาดกว่าคนอื่นเลย ไม่ได้มีมนุษย์พิเศษไปกว่าใคร เขาแค่ทำสิ่งที่ใครๆ เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ให้เป็นไปอย่างปกติ ทุกวันๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุด ไม่ย่อท้อ จนเกิดความยั่งยืน
หลายคนอาจจะเห็นตัวอย่างที่ผมยกมา เป็นเรื่องธรรมดาๆ ในใจอาจจะคิดว่า “แค่นี้เองน่ะหรือ ไม่เห็นมีอะไรแปลก” ก็แค่นั้นแหละครับ ถ้าสามารถทำได้สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ยั่งยืน ใครๆ ก็ประสบความสำเร็จได้ ถ้าแค่นี้ทำไม่ได้ เรื่องยากๆ อะไรจะไปทำได้
ความลับของไคเซ็นก็มีอยู่เท่านี้เอง
วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ไคเซ็น
ไคเซ็น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น