วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สุดแต่ใจของเธอ

เพลง สุดแต่ใจของเธอ
ฤทธิพร อินสว่าง ร้องคู่กับ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

สุดแต่ใจของเธอ จะมีให้กัน มากน้อยเพียงไหน...
ไม่เคยเรียกร้อง เกินกว่าที่ใจ ของเธอรู้สึก...
แต่ส่วนลึกของฉัน ที่มีให้เธอ มากมายเอ่อท้น ...
หากใจของเธอ ไม่เคยต้องการ ไม่สำคัญไม่เป็นไร...
สักวันหนึ่งเธอคงรู้ รู้และเข้าใจในตัวฉัน...
ในวันที่เธอได้พบ ได้รักใครสักคน...
สุดแต่ใจของเธอ จะมีให้กัน มากน้อยเพียงไหน...
แต่ใจของฉัน ให้เธอทั้งใจ ให้เธอ ได้ทุกอย่าง...
แต่ใจของฉัน ให้เธอทั้งใจ ให้เธอ ได้ทุกอย่าง
-----------------------------------
เคยฟังเค้าเล่ากันว่า
ผู้หญิงลืมยาก
แต่ผู้ชายแย่กว่า
เพราะพวกมันไม่เคยลืม
โดยเพราะคนที่มันรัก
ทำอะไรให้ได้ มันก็จะพยายาม ไม่รู้เป็นยังไง ก็คนมันรักไปแล้วนี่เนอะ
ห้ามกันยาก แต่ไม่แนะนำให้ห้าม
เพราะใจมันไม่ค่อยฟังเหตุผล

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

... เขียนให้เธอ ...

หากวันใดที่ท้องฟ้าดูสดใส ละอองฝนโปรยชื่นใจ เล่นแสงกับสายลม
ปล่อยดวงใจเดินทางไปชื่นชม เก็บเอาความสุขสมเพื่อมาขีดเขียน
หากคืนใดที่ท้องฟ้ามืดสลัว เมฆดำทะมึนน่ากลัว ไร้เดือนและดารา
ปล่อยดวงใจเดินทางไปค้นหา เพื่อเอามาแต่งเติมให้เป็นถ้อยคำ
* เขียนดวงดาวให้สุกสกาวบนฟากฟ้า เขียนต้นหญ้าให้ขึ้นตามทางรกร้างไกลไกล
ขุนเขา ทะเล กว้างใหญ่ มหานครใดใด หาใช่แรงผลักดันฉัน
** เพราะเธอนั่นไงคือเหตุผลที่ทำให้ฉันเขียน เป็นเพราะเธอส่ง ส่งใจมาให้กัน
แทนกระดาษดินสอ ด้วยรักที่คงมั่น ให้ฉันเขียนเป็นถ้อยคำถึงเธอ
ในคืนวันที่ฉันค้นหาความหมาย ว่าความรักคืออะไร ใยมีรักไว้ให้กัน
ปล่อยดวงใจเดินทางไปทุกฝัน จะได้เอาคำตอบนั้นมาเขียนให้เธอ
(*) (**)
(ให้ฉันเขียนเป็นถ้อยคำให้เธอ ให้ฉันเขียนเป็นบทเพลงของเธอ) ...
http://www.prapas.com/write4u.m4a
http://www.prapas.com/

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551

งมงาย

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์
งมงาย จาก นสพ. มติชนคอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

สวัสดีค่ะคุณประภาส

แปลกใจว่าศาสนาของคนตะวันตก เขาพูดถึงพระเจ้า พูดถึงการสร้างโลก สร้างมนุษย์ จนบางครั้งดิฉันก็รู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อได้ ฟังดูแล้วเหมือนงมงาย แต่คนตะวันตกเขากลับไม่งมงายเท่าคนไทย ศาสนาพุทธของไทยเราสอนให้รู้จักเหตุและผล สอนให้รู้จักอนัตตา ศาสนาพุทธไม่มีพระเจ้า ไม่มีเทพเจ้า สอนแต่ปรัชญาชีวิต แต่ทำไมชาวพุทธในบ้านเรากลับงมงายกว่า ทั้งเรื่องแทงหวยจากวันมรณภาพของพระสงฆ์ เดินสายตามศาลต่างๆ เพื่อขอโชคลาภ ทรงเจ้า หมอผี เต็มไปหมดในสังคมไทยเรา
คุณประภาสว่าคนตะวันตกเขาเชื่อในศาสนาของเขาจริงๆ หรือเปล่า เหมือนกับคนไทยเรามีศาสนาพุทธไว้โก้ๆ ว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล เพราะดูๆ ไปคนไทยเราก็ทำเหมือนกับว่าไม่เชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ฝรั่งเขาเชื่อจริงๆ หรือว่ามีพระเจ้า มีเรือโนอาห์จริง ?

อารยา

หมู่นี้ได้ยินคำว่า "อนัตตา" บ่อยเหลือเกินครับ
บ่อยจนดูราวกับว่าผู้คนในยุคนี้เต็มไปด้วย "อัตตา" กันเต็มกำลัง หรือไม่ก็มีกันจนล้น และอยากจะสลายให้กลายเป็น "สุญตา" กันเสียให้หมด
วันก่อนได้ยินชาวพุทธสายวิปัสสนาสองท่านนั่งคุยกันเกี่ยวกับเรื่องอนัตตา ท่านหนึ่งตั้งปุจฉากับอีกท่านหนึ่งว่า การนั่งวิปัสสนาเพื่อพิจารณาโลกและตัวเองเพื่อปรารถนา "อนัตตา" นั้นเป็นกิเลสไหม อีกท่านหนึ่งตอบว่า ความปรารถนานั้นแม้แต่ "ความว่าง" ก็เป็นกิเลส
สูงที่สุดแล้ว แม้แต่ "พระนิพพาน" ก็ต้องไม่ปรารถนา ท่านว่าอย่างนั้น
ศาสนาของเราเป็นอย่างนี้ละครับ
ในความเห็นของผม ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการถกเถียง เป็นเรื่องของการพินิจพิเคราะห์ ฯลฯ ลองนึกภาพตามผม ย้อนกลับไปสมัยพุทธกาลตอนที่ศาสนาพุทธจะก่อกำเนิดดูก็ได้ เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช แล้วก็เสาะหาอาจารย์และลัทธิต่างๆ อยู่ตั้งหลายท่าน กว่าที่พระองค์จะนั่งลงแล้วใช้ "ทางสายกลาง" ค้นพบศาสนาด้วยพระองค์เอง พระองค์ต้องผ่าน "การพิจารณา" ผู้คนและตัวเองไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร
จากนั้นพระองค์ก็เสด็จออกโปรดสัตว์ สั่งสอนผู้คนให้ค้นพบความจริงด้วยตัวของตัวเอง
จริงๆ นะครับ พระองค์สอนให้ค้นพบเอง ไม่ให้เชื่อใคร แม้แต่ตัวพระองค์ผู้เป็นครู
อย่างนี้จะไม่ให้เรียกว่าเป็น "ศาสนาแห่งการพิจารณา" ได้อย่างไร จริงไหมครับ
ที่ใดก็ตามเมื่อมีการพิจารณา ที่นั่นก็ต้องมีการ "ถกเถียง" ตามมาเป็นธรรมดา เราจึงได้เห็นตำนานของ ปุจฉาและวิสัชนา เต็มไปหมดในศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นสาขานิกายใด
ผมพูดอย่างนี้เหมือนจะบอกว่าแล้วศาสนาของคนตะวันตกเป็นอีกอย่าง
ผมเห็นเป็นอย่างนี้ครับ ผมเห็นว่าศาสนาของชาวตะวันตกเป็นศาสนาแห่งการ "ศรัทธา" มากกว่า "การพิจารณา"
ชาวคริสต์ไม่นิยมมาตั้งคำถามกันว่า พระเจ้ามีจริงไหม ไม่เคยพยายามใช้วิทยาศาสตร์ที่ตัวเองถนัดพิสูจน์ข้อความในคำสอนของพระคริสต์ ชาวตะวันตกศรัทธาพระเจ้า ก็ด้วย "ศรัทธา" ตัวเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการ "พิจารณา"
แต่ "ศรัทธา" ตัวเดียวนี่แหละครับแข็งแรงดีนัก
นึกตามผม กลับไปในประวัติศาสตร์ของพวกฝรั่งดูก็ได้ครับ ต่อให้ฉลาดหลักแหลมอย่างกาลิเลโอ ที่เที่ยวสงสัยอะไรเต็มไปหมดที่ปราชญ์ในอดีตเคยกล่าวไว้ จากนั้นก็ทำการพิสูจน์มันเสียจนผู้มีอำนาจในยุคนั้นเกิดการไม่พอใจ
แต่เชื่อไหมครับว่ากาลิเลโอกลับเป็นชาวคริสต์ที่ดี ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ และไม่เคยตั้งคำถามว่าพระเจ้ามีจริงไหม หรือทำไมเราต้องเชื่อพระเจ้า สิ่งเดียวที่เขาแตะต้องศาสนาก็คือ เขากล่าวบางประโยคทางวิทยาศาสตร์ที่ขัดต่อข้อความในพระคัมภีร์
แต่ถึงกระนั้นผมก็เชื่อว่า เขา "ศรัทธา" ในพระเจ้า
และที่น่าสนใจก็คือ มันเป็นการศรัทธาโดยไม่ต้องการ "การพิจารณา" ไม่ต้องการ "ข้อสมมติฐาน" และไม่ต้องการ "การพิสูจน์" ใดๆ ในแนวทางวิทยาศาสตร์ที่เขาเป็นผู้บุกเบิก ยิ่งกว่านั้นกาลิเลโอยังเคยกล่าวไว้เลยว่าวิทยาศาสตร์คือของขวัญที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์
ผมมองเห็นคนตะวันตกเขานับถือศาสนาของเขาอย่างนี้
ศรัทธาใน "สิ่งเดียว" นั่นคือพระเจ้า และไม่งมงายในเรื่องอื่นๆ เลย
ศาสนาของคนตะวันตกเป็นศาสนาที่เกิดในทะเลทราย ซึ่งอันนี้ต่างจากศาสนาของคนตะวันออกที่เกิดในดินแดนกสิกรรม
ชนเผ่าในทะเลทรายดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน นึกภาพออกนะครับว่าทะเลทรายนั้นเป็นดินแดนที่กันดารเพียงใด การเดินทางผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจหมายถึงการเดินทางสู่ความตายได้ ศาสนาที่เกิดขึ้นที่นั่นไม่ว่าจะเป็นศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนอิสลาม จึงต้องการ "พระเจ้าเพียงองค์เดียว" ที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพื่อให้คนในศาสนิกชนทุกคนปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด
"ปัจเจกนิยม" จึงเกิดขึ้นกับผู้คนในศาสนาของพวกเขา พวกเขาต้องการ "ผู้ชี้นำ" ที่ยิ่งใหญ่ นำพาผู้คนให้พ้นภัย
ฟังดูยากๆ นะครับเรื่องศาสนานี่ แต่คิดดูแล้วน่าคิดต่อไปเรื่อยๆ ว่าหรือเป็นด้วยเหตุนี้ที่ทำให้พวกฝรั่งมีความเป็นปัจเจกบุคคลมาถึงทุกวันนี้ ไม่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝรั่งให้ความสำคัญกับ "ผู้ยิ่งใหญ่" อย่างมาก และก็มีความมุ่งมาดในชีวิตที่จะเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่" ให้จงได้
และความทะเยอทะยานอันนี้นี่แหละ ทำให้ฝรั่งครองโลกมาหลายร้อยปีแล้ว
ถ้าคนตะวันตกให้ความสำคัญกับผู้ชี้นำผู้ยิ่งใหญ่ แล้วคนตะวันออกคิดอย่างไร
ผมมองว่าพวกเราอยู่กับธรรมชาติที่ค่อนข้างเป็นใจ ไม่ต้องต่อสู้กับความแร้นแค้นมากนัก ทุกปีเพียงแค่ขอพรจากเทพประจำฤดูก็เพียงพอแล้ว
ลองนึกไปถึงผู้คนในภูมิภาคนี้ก็คงจะนึกออก ผมว่าพวกเรามีเทพเจ้ามากมาย และเกือบทั้งหมดเป็นเทพเจ้าจากธรรมชาติแทบทั้งสิ้น
เจ้าป่าเจ้าเขา พระแม่โพสพ แม่คงคา พระพิรุณ พระอัคคี ฯลฯ
หรือเป็นเพราะคนตะวันออกอยู่กับธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดม จึงนึกถึง "บุญคุณ" แห่งธรรมชาติตลอดเวลา
ที่ผมต้องกล่าวเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะอยากให้คุณอารยาลองนึกดูว่าก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาที่ดินแดนแห่งนี้ เรานับถืออะไรกันอยู่ แม้แต่ในอินเดีย ดินแดนที่ก่อกำเนิดศาสนาพุทธนั้นความเชื่อส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร
ฮินดูและลัทธิไหว้เจ้าของจีนนั้นหากรวมกันก็นับได้ว่ามีเทพเจ้านับล้านองค์ และเทพเจ้านับล้านองค์ที่ว่าก็ล้วนคือทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมชาติ
ความเชื่อทางฮินดูนั้นฝังรากอยู่ในไทยเราไม่น้อย เพราะพิธีพราหมณ์เป็นพิธีคู่บ้านคู่เมือง และคู่พระมหากษัตริย์มาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีแล้ว
ความเชื่อเหล่านี้อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนศาสนาพุทธจะเข้ามาเสียอีก
ระยะเวลาเพียงเจ็ดแปดร้อยปีเท่านั้นที่แนวคิดของพระพุทธเจ้าปักหลักปักฐานอยู่ในอาณาจักรนี้ มีการผสมผสานของพุทธ, ฮินดู และการไหว้ผีสางแบบคนพื้นถิ่นจนกลายเป็นศาสนาพุทธแบบไทยๆ ที่คุณอารยาเห็นอยู่
เอาเข้าจริงๆ แล้ว ที่คุณอารยามองว่าสังคมพุทธเราทำไมถึงให้ความสำคัญกับปาฏิหาริย์ ทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธก็ไม่เคยพูดถึงพระเจ้า แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีพระเจ้านับล้านๆ องค์อยู่ในความเชื่อมาช้านาน
น่าคิดต่อนะครับ เรามีศาสนาประจำชาติที่มีแนวความคิดเรื่อง "การพิจารณา" เป็นแก่น แต่เราก็มีความเชื่อในเรื่องบุญคุณแห่งธรรมชาติ เทพเจ้าแห่งธรรมชาติ ที่ฝังลึกไม่แพ้กัน
แล้วผมก็เชื่อว่าตัวคุณอารยาเองก็คงต้องเคยยกมือไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา พระพิฆเนศ หรืออย่างน้อยสุดก็คงต้องเคยลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคา
ถามว่าสิ่งเหล่านี้คือความงมงายไหม
คนเรามองเรื่องนี้ที่เจตนาว่าไหมครับ ถ้าหากมีหญิงชราคนหนึ่งยกมือไหว้ศาลหลักเมืองแล้วก็พึมพำอธิษฐานขอให้ถูกหวยสักงวดเพื่อจะได้ปลดหนี้สินเสียที กับหญิงชราอีกคนหนึ่งยกมือไหว้ท้องฟ้าขณะที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤต แล้วก็พึมพำอธิษฐานว่าขอพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองประเทศชาติด้วย
คุณอารยาจะมองหญิงชราสองคนนั้นอย่างไร
คนแรกงมงาย หรืองมงายทั้งสองคน
หรือไม่มีใครงมงายเลย
หน้า 17