วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เจ็ดวิธีตีหิน

"เจ็ดวิธีตีหิน" คาถาฝึกคิดจาก "ประภาส"




ความ คิดสร้างสรรค์ที่มีที่อย่างไร ใครรู้บ้าง จากประสบการณ์ของคุณประภาส ชลศรานนท์ โดยผ่านการมองไปที่คนอื่นๆ ที่คนต่างประเทศและคนไทย




สรกล - อีกคนหนึ่งที่เราเรียนเชิญมาวันนี้ ไม่ต้องบรรยายว่าเขาเป็นใคร จะขอเอ่ยชื่อเฉยๆ คุณประภาส ชลศรานนท์ ครับ (ปรบมือ) หลายคน ก็รู้จักกันในฐานะนักแต่งเพลง แล้วก็คนรู้จักในฐานะนักเขียนหลายเล่มมากชุด คุยกับประภาส หลายคนรู้จักรายการของ เวิร์คพอยท์ เวิร์คพอยท์มีหลายรายการมากเลย อยากรู้ไหมครับว่า รายการแบบนี้คิดเริ่มต้นจากอะไร อยากรู้ที่มาของรายการไหนบ้าง ชิงร้อยชิงล้าน คุณพระช่วย พี่อยากเล่าเรื่องไหน

ประภาส - คืองี้นะครับ เรื่องที่ผู้ฟังถามมาที่มาของรายการเนี่ย เผอิญเดี๋ยวผมจะเล่าในเรื่องที่เราจะเล่ามันจะสอดคล้องพอดี จะพูดถึงรายการคุณพระช่วยด้วย ดีไหมครับ

ตอน ที่ตุ้มเชิญให้มาบรรยาย ก็ไม่ได้เตรียมอะไรมาก บอกไว้ว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่เคยพูดที่ทีซีดีซี น่าจะเป็นประโยชน์ ให้มาพูดอีกครั้งหนึ่ง ก็เอาตัวหนังสือขึ้นจอคล้ายๆ กัน เพียงแต่ครั้งนั้นเขาเก็บค่าฟัง แต่ครั้งนี้ฟรี ผมว่าเป็นโอกาสที่ดี โดยเฉพาะนักเรียนที่มาฟัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ที่ผมคิดเองว่ามีที่มาอะไร อย่างไร โดยผ่านประสบการณ์ของผมเอง โดยผ่านการมองไปที่คนอื่นๆ ที่คนต่างประเทศและคนไทย

ผมตั้งชื่อนั้นว่า "เจ็ดวิธีตีหิน"

ฝึกคิดแบบ

"เป๊ะๆ กะๆ คละๆ"

จริงๆ คำนี้มันต่อจากที่ตุ้มเคยเขียนคอลัมน์ครั้งหนึ่งว่า ประกายไฟ ซึ่งผมคิดเรื่องนี้ขึ้นมาว่า เวลาคนเรามีความคิดสร้างสรรค์เหมือนมีประกายไฟเกิดขึ้น สิ่งที่จะทำให้เกิดต่อขึ้นเป็นจริงให้ได้ ให้มันสำเร็จ คิดต่อไปได้คือ เชื้อเพลิง ผมก็คิดว่าประกายไฟคือปิ๊งแรก หรือปิ๊งที่เกิดจากอะไรขึ้นมา แล้วก็ใช้ เชื้อเพลิงจุดต่อ ผมมองเป็นพวกความรู้ที่เรามีอยู่ ประสบการณ์ ที่เรามีอยู่ เป็นเชื้อเพลิง

สรกล - ไอ้ตรงแว้บต้องฝึกไหม หรือมันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของแต่ละคน

ประภาส - ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินะ แต่ว่า ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกใช้ไปเรื่อยๆ ฝึกมองไปเรื่อยๆ ผมว่าฝึกได้

สรกล - จำได้ว่าตอนนี้ ที่เวิร์คพอยท์มีคลินิกประภาส

ประภาส - ก็คล้ายๆ อย่างนี้

สรกล - คือจะสอนว่า มีวิธีการคิดอย่างไรบ้าง

ประภาส - รวมทั้งเรื่องที่จะเล่าให้ฟังก็เคยอยู่ในเวิร์คพอยท์ ผมเริ่มอย่างนี้ ผมมองความคิดคนออกเป็นสามอย่าง ลองดูซิว่าคิดเหมือนกันหรือเปล่า มนุษย์เราคิดอยู่สามอย่างเท่านั้นเอง คือ แบบแรก ผมเรียกว่าคิดแบบเป๊ะๆ ถือว่าเป็นภาษาวิชาการนะครับ คือ เวลาเราพูดถึงเราให้เงินเขา 100 บาท ซื้อของ 50 บาท ทอนเงิน 50 บาท บวกลบง่ายๆ เราจะเดินทางไปไหนตัวเลขมันบอกอยู่ในไมล์ในรถ มันเป็นตัวเลขจริงๆ ตุ้มเป็นผู้ชาย ผมเป็นผู้ชาย

สรกล - เป็นความคิดแบบเป๊ะๆ เห็นชัดเจนว่าเป็นอะไร

ประภาส - แบบที่สอง ผมคิดว่าเป็นความคิดแบบกะๆ คืออยู่ในชีวิตปัจจุบัน เรารินน้ำไม่มีใครรินน้ำกี่ซีซี หรือ ตักข้าวกี่เมล็ด หรือไปเที่ยวหัวหิน เอาเงินไปประมาณหนึ่ง ไม่มีใครมา บอกว่าเอาเงินไป 4,280.90 บาท เป็นความคิดแบบประมาณที่เราใช้อยู่

สรกล - เป๊ะๆ กะๆ แล้วอีกอัน อะไรพี่

ประภาส - แบบคละๆ คือ ความคิดแบบมีทางเลือก ผมคิดว่าอันนี้เป็นความคิดแบบมีสร้างสรรค์ คือ สองอันแรกเป็นความคิดปกติ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนมีความคิดว่า เที่ยงนี้เราจะไปกินก๋วยเตี๋ยว หรือกินข้าวดี มันเกิดครีเอทีฟไอเดียขึ้นมาแล้ว

สรกล - มันเป็นทางเลือก สร้างทางเลือกขึ้นมา

ประภาส - ครับ ความคิดแบบครีเอทีฟเริ่มเกิดขึ้นแล้วครับ หรือเปลี่ยนเป็นเอาหินตกลงมาจากข้างบนโดนมันก็เกิดเป็นครีเอทีฟได้เรื่อยๆ เป็นความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เราถึงได้มีชักโครกที่พัฒนาจากส้วมหลุม จนถึงมีน้ำฉีด มีลมเป่า คือสร้างทางเลือกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็ไปถึงดวงจันทร์ ถึงดาวอังคาร จากความคิดแบบคละๆ

1.ทำลายกรอบลวงตา

สรกล - นี่คือสามวิธีคิด

ประภาส - ผมคิดว่ามนุษย์มีอยู่เท่านี้เอง ผมมองไปแบบนั้น คิดเอง ผมเลยมองไปถึงเรื่อง 7 วิธีตีหิน ซึ่งเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นแบบทางเลือกหมดเลย

อัน แรกเลย วิธีตีหินที่ใช้อยู่อันแรก คือ เรื่องใหญ่สุด คือเรื่องของการทำลายกรอบลวงตา มีประโยคหนึ่งที่พูดกันบ่อยคือ ให้คิดนอกกรอบ ซึ่งถูกต้องครับ แต่ผมตีความอย่างนี้ครับ เวลาเราแก้ปัญหา เราแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมว่ามนุษย์ต้องมีกรอบ จะแต่งเพลงให้ใครร้องก็ต้องมีกรอบ หนังโฆษณายาว 30 วินาที เวลา 30 วินาทีคือกรอบ จะต้องออกภายในวันพรุ่งนี้เช้า งบประมาณในการทำบ้านหลังหนึ่งเท่านี้ นี่คือกรอบ

แต่ เราไปมองกรอบมันเองว่ามีกรอบแค่ไหน เช่น การทำรายการทีวีรายการหนึ่ง 30 นาที 2 รายการต่อกัน เราคิดว่ามันเป็น กรอบ มันอาจเป็นรายการหนึ่งชั่วโมงก็ได้ครับ เรามักจะไปสร้างกรอบมันเอง ผมคิดอย่างนั้น

2.คิดย้อนศร

สรกล - นั่นคือเรื่องแรก คิดนอกกรอบ

ประภาส -ไปวิธีที่สอง คือ คิดย้อนศร ง่ายๆ เวลาที่คนมองว่าโลกแบน ก็มองว่าโลกกลม มองย้อนกลับไปเลย ความคิดนี้เกิดขึ้นไม่ว่ากาลิเลโอจะมองว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ คือ คิดย้อนไป หรือแม้แต่สำนวนที่ว่า กินเหล้าอย่าให้เหล้ากินเรา

เพลง "รักเป็นดั่งต้นไม้" มีที่มาจากการย้อนศร ผมฟังเพลงอีกอันหนึ่งว่าดังแก้วบางที่เขาทุบทิ้ง แต่ผมมองว่าไม่ใช่ ความรักไม่ใช่แก้วบางแน่ แตกแล้วต้องงอกขึ้นมาได้ เติบโตได้

"ต้น ชบากับคนตาบอด" เพลงนี้มาจากการมองย้อนศร มีกลอนเขียนว่า คนตาบอดคงไม่มีทางเห็นความงามของต้นไม้ น่าสงสารจังเลย ผมก็มองย้อนกลับไปว่าไม่จริง เขาเห็นความงามด้วยวิธีอื่น คือวิธีมองกลับ หรือคนที่เขาเอาอู่ไปหารถ ทำธุรกิจอย่างหนึ่งเอาโรงหนังไปไว้ในห้าง หรือเอาห้างไปไว้ในโรงหนัง คือการมองย้อนกลับ เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง หรือเรื่องฮิตเรื่องหนึ่งของการตลาด

สรกล - ผมมีตัวอย่างในเชิงธุรกิจ สมัยก่อนมักจะสร้างโรงหนังแล้วมีตึกแถวรอบ คือจะสร้างโรงหนังก่อนแล้วสร้างตึกแถวรอบโรงหนัง โรงหนังจะมีคนมา ตึกแถวจะมีคน โรงหนังจะเป็นแม่เหล็ก พอวันหนึ่งโรงหนังอยู่ในห้าง สักพักหนึ่งเมเจอร์คิดอีกแบบนั้นคือห้างเป็นแม่เหล็กแล้วคนจะไปดูโรงหนัง แต่คิดย้อนกลับไปสู่อดีตจะไม่ใช่ตึกแถวแล้ว แต่เป็นเมเจอร์ รัชโยธิน เป็นโรงหนังอยู่แล้วก็ขายช็อปต่างๆ เป็นการหารายได้ เป็นวิธีคิดอย่างที่พี่จิกพูด

ประภาส - อีกตัวอย่างหนึ่ง ผมว่าอันนี้เป็นการคิดย้อนศรของ อ.บัณฑิต จุฬาสัย ปกติคนสร้างบ้านหรือสร้างตึกจะสร้างขึ้นมาก่อน เวลาต่อเติมจะสร้างต่อขึ้นไปชั้นบน อาจารย์บัณฑิตสร้างบ้านทำข้างล่างโล่งแล้วทำบ้านข้างบนก่อน แกบอกว่าถ้าจะต่อเติมให้ต่อเติมข้างล่าง มันจะไม่รบกวนความเป็นอยู่ บ้านแกเป็นบ้านสามชั้นเสาสูงๆ มีบันไดขึ้นไป แกบอกว่าถ้าจะขยายครอบครัวจะสร้างลงมาเรื่อยๆ เป็นวิธีคิดย้อนศรที่มันดี

3.หนามยอกเอาหนามบ่ง

สรกล - ไปวิธีที่สาม

ประภาส - หนามยอกเอาหนามบ่ง ผมว่ามันคล้ายๆ กับการทำของไร้ค่าให้มีค่า คือ แบบว่าผมกำกับละครให้พงศ์พัฒน์เล่นเรื่องแรกคือเทวดาตกสวรรค์ ตอนนี้ก็ถ่ายอยู่ เขาเป็นพระเอกที่ผู้ช่วยผู้กำกับต้องเดินมา บอกว่าพี่เทกไหม ไอ้อ๊อฟมันแคะขี้มูกอีกแล้ว พี่เทกไหม ไอ้อ๊อฟมันเกาตูดอีกแล้ว คือเขาเป็นพระเอกที่อยู่ไม่สุข ดูเหมือนว่ามันจะมีปัญหาในการถ่ายทำ พอเขาพูดแบบนี้ ผมเลยพูดบอกว่า อ๊อฟ อยากแคะแคะไป อยากเกาเกาไป เพราะว่าแคแร็กเตอร์ตัวนี้พี่จะให้เป็นอย่างนี้ แล้วก็ได้ผลนะ เขาได้ ชิงรางวัลดารายอดเยี่ยมจากการแคะขื้มูก

สรกล - คือแทนที่จะเปลี่ยนแคแร็กเตอร์เขา ก็เอาแคแร็กเตอร์ของเขามาขาย

ประภาส - อย่างรูปการ์ตูนที่ผมเอามาให้ดู คือ เขาเอาหินมาสร้างเป็นเครื่องป้องกันหิน หรือที่ญี่ปุ่นมีอยู่เมืองหนึ่งน้ำท่วมใหญ่ แล้วปีนั้นไม่มีกระสอบทราย น้ำท่วมเยอะมาก ทรายไม่พอ ถามว่าที่ญี่ปุ่นเอาอะไรแทนทราย ก็คือเอาน้ำใส่ถุงแล้วกันเป็นกระสอบทรายแทน คือหนามยอกเอาหนามบ่ง

4.เรื่องเล็กรอบตัว

ประภาส - วิธีที่สี่ คือ หยิบจากเรื่องเล็กๆ รอบตัวเรานี่แหละ เช่น เพลง "เพราะอะไร" ซึ่งเพลงนี้หลายคนคงรู้จัก เพลงนี้เกิดจากประโยคสั้นๆ ที่ผมไปถามลูกที่เขายังเล็กๆ อยู่ว่า "รักพ่อไหม" "รักแม่ไหม" "รักเพราะอะไร"

และเขาก็ตอบแบบเด็กๆ ว่า "ไม่รู้"

ผม รู้สึกว่าประโยคนี้มันเอาไปทำอะไรต่อได้ คิดว่ามันเป็นสิ่งเล็กๆ ที่เอามาทำอะไรได้ เหมือนกับสิ่งประดิษฐ์มากมายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบยาปฏิชีวนะที่มีคนทิ้งเชื้อราไว้ว่ามันฆ่าอะไรได้ แล้วมีคนเห็นจึงนำมาใช้

อย่าง เรื่องรายการแฟนพันธุ์แท้ที่บ้าบอล ผมมีเพื่อน 2 คนที่บ้าบอลมาก เขาคุยกันว่า ลิเวอร์พูลที่ชนะในปีนั้น เตะด้วยขาข้าง ไหน ? ผมคิดว่ามันจะรู้ไปทำไมวะ ทำไมมันรู้ละเอียดขนาดนี้ ? จึงคิดที่จะทำรายการที่ให้คนดูรู้สึกว่ามันจะรู้ไปทำไมวะ ? คิดว่ามันน่าจะไม่เลว อย่างเช่นเอาหน้าคนมาถามคน มันจึงเกิดเป็นรายการเกมทศกัณฐ์

5.จับคู่ผสมพันธุ์

ประภาส - เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก็นำต้มยำมาผสมกับก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง ซึ่งเป็นความคิดแบบคละๆ โพส-โมเดิร์นก็นำมารวมกัน แม้กระทั่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่ข้างล่างเป็นยุโรป

เคย ได้ยินไอศกรีมมะม่วงน้ำปลาหวานไหม ? ผมได้ไปเจอที่เซ็นทรัลเวิลด์ เขาได้เอามะม่วงดิบมาทำเป็นไอศกรีมแล้วมี ท็อปปิ้งเป็นน้ำปลาหวานโรยด้วยกุ้งแห้ง ผมว่ามันเป็นครีเอทีฟไอเดีย หรืออย่างทำฟันไปด้วย นวดเท้าไปด้วย ซึ่งมีแล้วที่ญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นธุรกิจใหม่ มีเพื่อนผม คนหนึ่งชื่อตุ้ม เขาคิดเหมือนกันว่า เขาจะ ทำนวดบุฟเฟต์ จะกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่ห้ามลุกไปเยี่ยวนะ

6.สมมตินะสมมุติ

ประภาส - ผมใช้บ่อยในงานเพลงและงานเขียน สมมติว่าถ้าโลกนี้มีเราสองคน ก็เกิดเป็นชื่อเพลงนี้ ถ้า...(คิดต่อ) เป็นตัว จุดประกายไฟที่ดีมาก ถ้าอย่างนี้แล้วจะ เป็นอย่างไร ? หรือถ้าจะจับคนที่ฉลาดมากๆ ไปขังไว้ที่ห้องสมุดคืนหนึ่ง รุ่งเช้ามันจะตอบคำถามได้ไหม ? อันนี้ก็กลายมาเป็นรายการ อัจฉริยะข้ามคืน

หรือ ถ้าดอกทานตะวันที่หันหน้าไปหาพระอาทิตย์เป็นธรรมเนียมนี้ ถ้ามีเปลวไฟดวงหนึ่งเกิดขึ้น แล้วจะเป็นอย่างไร ? จึงกลายมาเป็นเพลง ไม้ขีดไฟกับ ดอกทานตะวัน หรือแม้แต่เรื่องที่ว่าถ้าจะร้องเพลงไปด้วย ขับรถไปด้วยจะได้ไหม ? ถ้ามีวิทยุในรถยนต์จะเป็นอย่างไร ? ทำได้ไหม ? ซึ่งสมัยนั้นเป็นเรื่องใหญ่และไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะคนจะไม่มีสมาธิในการ ขับรถ และต่อมามีบริษัทซื้อความคิดนี้ไปทำได้

สรกล - วอล์กแมนของโซนี่ ก็เกิดจากเช่นนี้เหมือนกัน คิดว่าถ้าจะให้วิทยุเครื่องใหญ่ๆ เป็นเครื่องเล็กจะทำอย่างไร ? และใส่หูฟังได้ อันนี้จึงเป็นจุดพลิกของโซนี่ ซึ่งมาจากสมมตินะ...สมมุติ

7.ขีดไปก่อน เขียนไปก่อน

ประภาส - ไม่มีไอเดียเลย โดยเราขีดไปก่อน เขียนไปก่อน ผมเคยเขียน "ฯลฯ" เห็นว่ามันสวยดี จึงเป็นที่มาของหนังสือ ชื่อไปยาลใหญ่ และกลายเป็นชื่อเพลงต่อมาอีกมากมาย ผมคิดว่าเรามีประกายไฟอยู่ก็จริง แต่ก่อนนั้นเราต้องมีเชื้อไฟอยู่ด้วย ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เราคิดอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรไปจุดไฟให้มันติด แต่เกิดจากการเขียนด้วยมือ

หรือ รายการ คุณพระช่วย ก็มาจากคำว่า โอ้มายก๊อด หรือเพลงเจ้าภาพจงเจริญ ตอนผมแต่งผมไม่ได้แต่งเพลงนี้ แต่ผมแต่งเพลง ขอให้เจ้าหนี้จงเจริญ แล้วตอนหลังมาแก้ใหม่จากเชื้อที่มีอยู่ในตัว

ผม มองว่าทั้ง 7 อันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เรายังหนีความเคยชินไม่ได้ ผมว่าความเคยชินเป็นตัวทำให้ประกายไฟไม่ติด เพราะความเคยชินคิดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ อย่างอาจารย์สิงห์พูดว่า "เอาของเก่ามาใช้จะดีหรือ ?" บ้านผมเอาเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่ามาทำบ้านใหม่ ผมจึงโดนคำถามเยอะมากเลยว่า "ไม่กลัวผีเหรอ ?" ซึ่งมันเป็นความคิดเดิมๆ ที่ถ้าเอาบ้านเก่ามาทำจะมีผี ผมจึงตอบไปว่า

"ถ้ามีผีมันจะไม่หลอกผมหรอก เพราะ ผีป่ามันจะไปหลอกคนที่เอาไม้ใหม่ๆ มาทำมากกว่า"

สรกล - ใน 7 ข้อใช้อันไหนมากที่สุด ?

ประภาส - อันที่ 1 ทำลายกรอบลวงตา เวลาที่ติดอะไรมากๆ ก็ขยายกรอบแล้วมองกลับไปอีกทีหนึ่ง

สรกล - มองเด็กรุ่นใหม่อย่างไร หรืออยากฝากอะไรไหม ?

ประภาส - เด็กรุ่นใหม่มีข้อได้เปรียบเรื่องเทคโนโลยี อยากได้อะไร ? อยากรู้อะไร ? ก็เสิร์ชเอา มีเครื่องไม้เครื่องมือในการแต่งเพลงเยอะ ซึ่งมันเป็นข้อดีนะ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดข้อเสียด้วย คนเริ่มคล้ายกันหมด อยู่ที่ในกรอบของกูเกิล ดังนั้นเด็กจึงต้องการประกายไฟที่เยอะๆ ที่จะคิดอะไรที่แตกต่างออกไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราคิดว่าอันนี้มันเวิร์กมันชิน อะไรๆ ก็จะออกมาคล้ายกันหมด






แหล่ง : ประชาชาติธุรกิจ (www.matichon.co.th/prachachart)

ไม่มีความคิดเห็น: