วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สัปปุริสธรรม 7

คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 7 )

ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เกิดสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี , ธรรมของผู้ดี

  1. ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ ( ธัมมัญญุตา) คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอัน นั้นๆ เป็นต้น
  2. ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น
  3. ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
  4. ความรู้จักประมาณ ( มัตตัญญุตา) คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
  5. ความรู้จักกาล ( กาลัญญุตา) คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือ ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลาให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
  6. ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
  7. ความรู้จักบุคคล ( ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่คบ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น

ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ 9 แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ (ท่านแสดงไว้เฉพาะข้อหลัก 5 ข้อ คือ ข้อ 1 , 2 , 4 , 5 , 6) จึงทรงยังธรรมจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี

ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 8)

  1. ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ ( สทฺธมฺมสมนฺนาคโต)
    • ก. มีศรัทธา
    • ข. มีหิริ
    • ค. มีโอตตัปปะ
    • ง. เป็นพหูสูต
    • จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว
    • ฉ. มีสติมั่นคง
    • ช. มีปัญญา
  2. ภักดีสัตบุรษ (สปฺปุริสภตฺตี ) คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย
  3. คิดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสจินฺตี) คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
  4. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสมนฺตี ) คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียดตนและผู้อื่น
  5. พูดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสวาโจ) คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต 4
  6. ทำอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสกมฺมนฺโต) คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต 3
  7. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทิฏฺฐี ) คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
  8. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทานํ เทติ ) คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่นให้โดยอื้อเฟื้อทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: