วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ภาษาไทย

คอลัมน์ คุยกับประภาส
โดย ประภาส ชลศรานนท์
คุณประภาส
ฟังเด็กๆ พูดภาษาไทยทุกวันนี้แล้วอ่อนใจ มีแต่คำแสลงเต็มไปหมด ถึงไม่ได้สอนภาษาไทย แต่ด้วยความเป็นครูก็อดไม่ได้ที่จะพูด นักเรียนที่สนิทก็แซวกลับว่าทำไมครูเชยจัง ไม่รู้จักภาษาวัยรุ่น ส่วนคนที่พูดไทยคำอังกฤษคำก็บอกเตือนไป เขาก็ว่าแม้แต่ชื่อครูเองยังเป็นภาษาบาลีสันสกฤต ไม่ใช่ภาษาไทย
ชักวางตัวไม่ถูกกับ "ภาษาไทย"แล้วสิคุณ จะปรึกษาครูภาษาไทยก็อายอยู่ อยากให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยมากๆ คุณประภาสมีอะไรแนะนำบ้าง
ครูวิทยาศาสตร์
ภาษาคืออะไร
ผมอ่านจดหมายของคุณครูแล้วผมก็เกิดคำถาม
แต่ก่อนอื่นต้องขอตอบคุณครูก่อนนะครับ เดี๋ยวคุณครูจะไม่สบายใจเรื่องชื่อคุณครูที่ไม่ได้เป็นภาษาไทยแต่เป็นภาษาสันสกฤตว่า ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาที่มีที่มาจากภาษาอื่น
ไม่แต่ภาษาไทยหรอกครับ ภาษาแทบทุกภาษาล้วนได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น ดัดแปลงบ้าง เอามาผสมผสานกันบ้าง แทบทั้งนั้น
ถึงขนาดให้จัดกลุ่มภาษาทั้งหมดในโลก นักภาษาศาสตร์เขาก็แบ่งได้ชัดๆ เหลือไม่กี่กลุ่ม หลายคำยังผันยังแปรไปไม่ไกลจากภาษาเดิมเท่าไรด้วยซ้ำ
เอาตัวอย่างเลขเจ็ดก็ได้ครับ สันสกฤตเขียน สัปต บาลีเขียนว่าสัตตะ ละตินเรียก septo อิตาลีคล้ายๆ กันคือ setto ฝรั่งเศสเรียก sept อังกฤษก็ seven ส่วนสเปนกับโปรตุเกสคล้ายๆ กันคือ sieta และ seta
เลขสองของไทยยิ่งชัด ยี่ ออกเสียงไม่ผิดอะไรกับ หยี ของจีน คนไทยบอกยี่สิบ คนจีนฟังรู้เรื่องแล้วร้องอ๋อยี่จั๊บนั่นเอง ส่วนโทก็คล้าย two และ ทวิ ก็แทบจะเหมือน twin ยังกับเป็นภาษาเดียวกัน
สังเกตให้ดีๆ จะเห็นได้ว่าตัวอย่างข้างบนล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสียงแทบทั้งหมด นักภาษาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงให้คำจำกัดความของภาษาว่าคือ เสียงที่สื่อความหมาย
แล้วภาษาที่ไม่ใช้เสียงเล่าไม่นับเป็นภาษาหรือ
ผมลองนึกไปเรื่อยๆ นะครับ ภาษาธงในกองทัพสมัยโบราณ ภาษาควันของอินเดียแดง หรือภาษาใบ้ของคนหูพิการ
แต่สำหรับนักภาษาศาสตร์ คำว่าภาษาก็คือภาษาพูดเท่านั้น เพราะภาษาที่แท้จริงก็คือภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน นักภาษาศาสตร์มองภาษาเขียนเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่นำมาใช้แทนภาษาพูด
ตรงนี้น่าสนใจนะครับ ภาษาเขียนคือสัญลักษณ์ ภาษาพูดต่างหากคือ ภาษาที่แท้จริง ถ้าอย่างนั้นภาษาควันก็เป็นสัญลักษณ์ ภาษาธงก็เป็นสัญลักษณ์เช่นกัน และคงรวมไปถึงภาษาใบ้ด้วย นึกตามไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าภาษาที่เป็นสัญลักษณ์มีขึ้นมาเพื่อรับใช้ภาษาพูดนั่นเอง
นึกต่อไปอีกก็ยิ่งเห็นว่า ส่วนที่มันเติบโตเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่งก็คือ ภาษาพูด ที่นักภาษาศาสตร์ให้ความสำคัญมากที่สุดนั่นเอง
รวมไปถึงปรากฏการณ์ที่คุณครูกำลังประสบอยู่ด้วย
มองย้อนกลับไปเมื่อตอนกำเนิดภาษา มนุษย์ก็คงจะสร้างภาษาจากการเลียนเสียง
ไม่ว่าจะเป็นเสียงธรรมชาติ เช่นคำว่าหวิวก็คงมาจากเสียงลม คำว่าเปรี้ยงก็คงจะเป็นเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า หรือชื่อสัตว์ก็คงมาจากเสียงร้องของพวกมัน เช่น แพะ อึ่งอ่าง อีกา ตุ๊กแก ฯลฯ รวมไปถึงการเลียนเสียงเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฯลฯ
เสียงเด็กร้องก็ต้องถือเป็นกำเนิดของภาษาทางหนึ่ง ดูเอาจากคำว่าพ่อก็แล้วกัน แทบจะทุกภาษาล้วนมาจากเสียงของเด็กทารก อังกฤษเรียก papa จีนเรียก อาปา อาเป ป๊า ป๋า ฯลฯ มาลายูเรียก ป๊ะ แม้แต่ภาษาทมิฬก็เรียกพ่อว่า อัปปะ
ส่วนคำที่ไม่ได้นำมาจากเสียงใดๆ ในธรรมชาติ ก็คงเกิดจากการมาตกลงร่วมกันในกลุ่มสังคมว่าสิ่งนี้จะเรียกว่าอะไร กิริยานี้จะเรียกว่าอะไร แล้วก็เรียกต่อๆ กันไป
จุดนี้แหละครับคือจุดสำคัญของการเติบโตทางภาษา
ผมใช้คำว่า "ตกลงร่วมกันในกลุ่ม" ฟังดูมันง่ายๆ นะครับ อันที่จริงความหมายมันค่อนข้างครอบคลุม ผมจะลองอธิบายให้ดีกว่านี้ดู ยกตัวอย่างคำว่า แมงมุม จินตนาการไปพร้อมๆ กันเลยครับ สมมุติมีคนโบราณสองคนเห็นแมง (แมลง) ตัวหนึ่งถักใยอยู่ตรงมุมหลังคา คนหนึ่งเรียกแมงตัวนั้นว่าแมงมุมเพราะมันอยู่ตรงมุม ส่วนอีกคนหนึ่งเรียกว่าแมงหลังคาเพราะมันอยู่ตรงหลังคา
แล้วสุดท้ายผู้คนจะเรียกแมงตัวนี้ว่าอะไร
มันก็อยู่ที่การยอมรับแล้วละครับว่า เขาเรียกอะไรถนัดปากกว่า ได้ความหมายกว่า ตรงนี้แหละครับคือ "การตกลงร่วมกันในกลุ่ม"
คำทั้งหลายทั้งปวงที่เราใช้กันอยู่จนกลายเป็นภาษาประจำชาติของแต่ละท้องถิ่นก็ถือกำเนิดมาจากการยอมรับร่วมกันในกลุ่มทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำนาม คำกิริยา คำวิเศษณ์ รวมไปการรวมเป็นประโยคก็เกิดขึ้นจากการใช้ การใช้ซ้ำๆ แล้วก็เกิดการยอมรับของผู้คนในสังคม
แม้แต่คำใหม่ๆ ที่ถูกประดิษฐ์จากราชบัณฑิตฯอย่าง นวัตกรรม โลกาภิวัตน์ วิสัยทัศน์ ฯลฯ ก็กลายเป็นภาษาก็ต่อเมื่อเกิด "การตกลงร่วมกันในกลุ่ม" คือนิยมใช้กันแล้วนั่นเอง
ในทางกลับกัน หากมีคนพยายามคิดคำใหม่ขึ้นมา ตัวอย่างเช่นคำว่า คณิตกร เพื่อจะมาแทนภาษาฝรั่งว่า computer แต่ถ้าขาด "การตกลงร่วมกันในกลุ่ม" ภาษาเหล่านั้นก็ต้องเป็นหมันไป
ฟังดูตลกนะครับ คณิตกร แปลได้ตรงเสียด้วย มีจริงๆ นะครับ ผมไม่ได้ตั้งขึ้นเองเล่นๆ เลย ใครชอบก็ลองใช้กันดู
ภาษาวัยรุ่นหรือภาษาแสลงที่พูดกันอยู่ก็เข้าข่ายนี้ คำไหนใช้ได้ถูกใจก็ใช้ต่อๆ กันไป ถือเป็นการตกลงร่วมกันในกลุ่มอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคำว่า เด็กแนว ชิลชิล ชะนี บุ่ย ลั่กกั่ก ตุ้มเม้ง ฯลฯ หรืออะไรที่มันพิลึกพิลั่นจนทำให้คุณครูเวียนหัว แต่ถ้ามันถูกยอมรับจากกลุ่มสังคม และกลุ่มนั้นเติบโตใหญ่ขึ้นๆ จนถึงระดับประเทศ มันก็จะกลายเป็นภาษาไป
อย่างเช่นคำว่า แรด ทึ่ง เริด มีไฟ ตกรถ ก็ล้วนเป็นภาษาที่เกิดมาไม่นานนัก
แต่ในทางกลับกัน ภาษาใหม่ๆ แผลงๆ แบบนี้หลายคำเคยได้รับความนิยมเพียงช่วงเดียวแล้วก็ตายไปก็มี จำคำพวกนี้ได้ไหมครับ เด็กฮาร์ท อร่อยเหาะ มะกัน สมัยผมเด็กๆ นี่พูดกันทั้งเมือง เดี๋ยวนี้ใครพูดก็คงโดนโห่ พจนานุกรมฉบับไหนๆ ก็ไม่มีบันทึกไว้
ภาษา มันก็เหมือนกับลูกนั่นแหละครับ เขาก็ต้องเติบโตของเขาไป ขึ้นชื่อว่าลูกแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องควบคุมบ้าง สั่งสอนบ้าง ปล่อยให้คิดเองบ้าง หรือบางทีเขาก็ค้นพบวิถีทางของเขาเอง ดีบ้างไม่ดีบ้าง กว่าจะเติบโตเป็นคนๆ หนึ่งก็ย่อมต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง
และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกเรา เราต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลงในตัวเขา นั่นคือเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงในภาษาของเราครับคุณครู ส่วนจะเฆี่ยนตี สั่งสอนหรือปล่อยปละละเลยก็ต้องมาว่ากันไปทีละเรื่อง
ไม่ต้องอะไรมากหรอกครับ แค่คำว่า ภาษา ที่อยู่ในหัวข้อของวันนี้ ยังมีที่มาและการเติบโตอย่างที่บางทีคุณครูเองก็อาจนึกไม่ถึง ลองดูสิครับ
อย่างแรก คำว่า "ภาษาไทย" ไม่ใช่คำไทยแท้ เพราะคำว่า ภาษาไม่ใช่คำไทย
เดิมเป็นคำสันสกฤต มาจากรากศัพท์ว่า "ภาษ" แปลว่าพูด ถ้าเป็นบาลีต้องใช้ว่า "ภาสา"
ทีนี้ลองดูประโยคต่อไปนี้สิครับ
"เดินภาษาอะไร ชนโน่นชนนี่อยู่เรื่อย"
ความหมายเริ่มงอกเงยขึ้นมาจากเดิมอีก ไม่ใช่แค่แปลว่าพูดแล้ว
"งกๆ เงิ่นๆ ตามประสาคนแก่"
ประโยคที่สองนี่ ความหมายคล้ายประโยคที่หนึ่ง แต่เปลี่ยนจากคำว่า "ภาสา" ไปเป็น "ประสา" แล้ว ลองดูประโยคที่สามครับ
"เธอก็รู้ว่าสุธีน่ะเขาไม่ประสีประสาเรื่องความรักเลย"
ภาษามันเติบโตไปเรื่อยๆแล้วจริงไหมครับ จากความหมายว่า พูด เพิ่มความหมายเป็นลักษณะท่าทาง วิสัยที่เป็นไป แล้วก็เพิ่มเป็น รู้ เข้าใจ จำนวนพยางค์ก็เพิ่มขึ้นจาก ภาสา กลายเป็น ประสีประสา
ประโยคสุดท้ายครับ
"เด็กน้อยช่างไร้เดียงสาเสียจริง"
คำว่า "เดียงสา" นี้มาจากคำสองคำคือ เดียง+ภาสา เดียงเป็นภาษาเขมรแปลว่า รู้ ปัจจุบันเขมรก็ยังใช้คำนี้อยู่ แต่สะกดว่า ฎึง (จากหนังสือไวยากรณ์ไทย โดยอาจารย์สมชาย ลำดวน)
จะว่าไปแล้วนักภาษาศาสตร์นี่ก็ไม่ผิดอะไรกับนักวิทยาศาสตร์ทางภาษานะครับคุณครู พวกเขาใช้หลักเหตุและผลในการวิเคราะห์วิจัยภาษา เหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ฟอสซิลเพื่อค้นหาบรรพบุรุษของมนุษย์อย่างไรอย่างนั้น
ถึงคุณครูจะไม่ได้สอนภาษาไทย แต่ได้ให้ความสนใจภาษาไทยขนาดนี้ น่าชมเชยออก ก็ถือโอกาสนี้เชิญชวนให้คุณครูลองศึกษาดู คิดเสียว่าศึกษาเอาเล่นๆ ก็ได้ ผมเองก็ไม่ได้เรียนมาทางนี้โดยตรงหรอกครับ แต่ก็ยอมรับว่าได้สนุกทุกครั้งที่ได้ค้นได้เจอ
สนุกไม่แพ้ตอนทำการทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้

ไม่มีความคิดเห็น: