วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

จดหมายจากพุทธบริษัท - 6 ก.พ. 2548

จดหมายจากพุทธบริษัท - 6 ก.พ. 2548

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

เรียน คุณประภาส


วัน อาทิตย์ที่ผ่านมา คุณดำรง โทร. มาที่กอง บก. ทีแรกถามว่าอาทิตย์นี้คอลัมน์ประภาสหายไปไหน เมื่อแจ้งให้ทราบว่าคุณประภาสติดธุระ แกก็บอกว่า ช่วยฝากบอกคุณประภาสด้วย ความว่าดังนี้

"...เข้าใจว่าคุณประภาสจะเป็นคนคริสต์ เวลาจะเขียนสรรเสริญพระเจ้าของคุณก็เขียนไป ไม่ได้ว่าอะไร แต่ไม่ควรเขียนอ้อมๆ ว่ากล่าวศาสนาพุทธอย่างนั้นอย่างนี้ รู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่เขียน…."

จึงเขียนแจ้งมาให้ทราบ ตามที่รับปากกับคุณดำรงว่าจะแจ้งให้คุณประภาสทราบ

กอง บก.มติชน

=========================================

เจริญพรมายังคุณประภาส

ได้ อ่านเรื่องของคุณขอนลอย ที่มีข้อกังขากับพระพุทธเจ้าว่า "คนที่ทิ้งลูกเมียของตัวเองเพื่อไปแสวงหาทางหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวนั้น เราจะนับว่าเป็นคนดีได้ด้วยหรือไม่"

อ่านคำชี้แจงของคุณประภาสแล้ว เป็นคำชี้แจงที่ดี ช่วยเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลย (พระพุทธเจ้า) อันเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง

คำ ถามแนวนี้ อาตมาเคยโดนลูกศิษย์ถามอยู่เหมือนกัน ในตำราก็ไม่มีเพราะไม่มีใครกล้าถามพระพุทธเจ้า เลยไม่มีคำตอบ ต้องบรรเลงเอาเอง แนวที่คุณประภาสตอบนั้น ปรากฏเป็นเรื่องราวได้อย่างชัดเจน เข้าใจได้ง่ายด้วย เชื่อว่าคุณขอนลอยและผู้อ่านที่เคยมีความคิดตำหนิพระพุทธเจ้าอยู่ลึกๆ คงจะหายข้องใจไปด้วย อาตมาอยากจะช่วยเสริมความเข้าใจตามที่เคยได้ชี้แจงกับลูกศิษย์ เพื่อที่คุณจะได้พิจารณาตอบในโอกาสต่อไป

วิสัชนาว่า เราจะนำพระพุทธเจ้าไปเปรียบกับบุคคลธรรมดาหาได้ไม่

อย่าง คนทั่วไปได้เห็น คนเกิด คนแก่ คนตาย โดยมากจะรู้สึกเฉยๆ พระพุทธองค์กับเห็นว่านี่มันเป็นความทุกข์ และเข้าใจว่าต้องมีหนทางแก้ได้อีกด้วย (แก้ความทุกข์)

พระองค์น่า จะเห็นด้วยว่าต้นเหตุของความเกิดคือความรัก ความหลง เป็นเหตุแห่งชาติ ชรา มรณะฯลฯ มันเป็นเสมือนกองทุกข์ กองทุกข์เหล่านี้กำลังลุกไหม้ จนรู้สึกว่ามันลุ่มร้อนกันทั้งพระราชวัง ประหนึ่งมีข้าศึกศัตรูมาปิดล้อมแอบเข้ามาวางเพลิงอยู่ทุกวันคืน ถ้าจ้องมองอย่างสายตาธรรมดา ไม่มีใครแลเห็นภาวการณ์เหล่านี้ ก็มักจะตัดพ้อต่อว่า (โดยเฉพาะผู้หญิง) ว่าพระองค์ไม่รักลูกรักเมีย ตัดช่องน้อยแต่พอตัว

แต่ความจริงพระองค์รักยิ่งกว่าคนอื่นต่างหาก ลองคิดดู ถ้าไม่ตัดใจหนีไป ยังรักยังหลงทะนุถนอมอยู่เหมือนคนธรรมดา เป็นอันต้องตกเป็นเหยื่อไฟเสน่หาที่คอยเหนี่ยวรั้งให้หลงไหล ไม่สามารถพ้นจากความทุกข์ทรมานพากันตายเปล่า ถ้าเสี่ยงหนีไปยังมีโอกาสรอด จึงตัดช่องน้อยแต่พอตัว ไปแสวงหาอาจารย์ ผู้มีวิชชาแก่กล้า (โมกขธรรม) และเที่ยวเสาะหาสมัครพรรคพวกกองทัพธรรม เมื่อพระองค์เป็นจอมทัพกลับมาลุกรบกับศัตรูหมู่มาร ไม่ดีกว่าหรือ (ตรงนี้ต้องขยายความหน่อย พระองค์ได้ศึกษากับอาจารย์สองคน ได้สมาธิตามลำดับ เมื่อเห็นว่าแค่นี้ยังไม่สามารถดับไฟได้ ข้าศึกยังไม่สิ้น จึงหาวิธีฝึกปรือด้วยพระองค์เอง จนสำเร็จ (โมกขธรรม)

อาจมีคำถามว่า ทำไมพระองค์ไม่พาครอบครัวหนีออกไปด้วย

คำ ตอบอยู่ที่คุณขอนลอยนั่นไง นับว่าเป็นครอบครัวที่น่าอิจฉา อบอุ่นมีอนาคตมั่นคง แล้วผลสุดท้ายเป็นอย่างไร เพราะอะไร จึงได้เป็นเช่นนี้

ตอบว่า เพราะสรรพสิ่งตั้งอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง(อนิจจัง) เคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถคงทนอยู่กับสภาพเดิมได้(ทุกขัง) และไม่อาจบังคับให้มันเป็นอย่างที่ใจเราปรารถนา (อนัตตา) แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

เริ่มต้นจากความรัก ความหลงไหล อยู่ๆ มาเกิดการเปลี่ยนแปลง (ตามเหตุปัจจัย) ไม่อยู่อย่างที่ใจทั้งสองต้องการ จึงเกิดความลุ่มร้อนยุ่งยาก เพราะไม่สามารถควบคุมใจที่ดิ้นรน เมื่อทนรับเพลิงทุกข์ไม่ไหว ทุกอย่างก็พังเหมือนตึกถล่มวิมานทลาย

ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงไม่ยอมพาลูกเมียหนีไปพร้อมกันเพราะถึงอย่างไร ก็มาสามารถหนีพ้นจาก ชาติ ชรา มรณะ จึงยอมตัดไฟแต่ต้นลม

"ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

"มีรักหนึ่ง ทุกข์หนึ่งมีรักสอง ทุกข์สองมีรักสาม ทุกข์สาม มีรักร้อยทุกข์ร้อย ไม่มีรัก ไม่มีทุกข์เลย"

"มีสุขเท่าเขาโค มีทุกข์เท่าขนโค"

พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้มีสติ (สติปัฏฐานสี่)

ท่าน เปรียบเป็นเสมือนพระราชาที่นั่งเฝ้าอยู่บนประตูเมือทั้ง 4 ทิศ เพื่อคอยระมัดระวังข้าศึกไม่ให้มันแอบเข้าไปวางเพลิง เมืองคือใจของเรา ถ้าถูกเผา เพราะสติเผลอมันก็เกิดไฟอารมณ์เผาบ่อยๆ

สุดท้ายนี้อาตมา หวังว่า คุณคงเข้าใจไม่เป็นการ "สอนหนังสือสังฆราช" แต่คิดว่าช่วยแต่งแต้มช่วยกันแก้ภาพพจน์ให้พระพุทธเจ้าของเรา อย่างที่คุณขอนลอยมีปัญหาที่ไปเที่ยว "ถามคนไหนก็ไม่ได้คำตอบที่ดีหรอก ส่วนใหญ่ยัดเยียดคำว่าบาปมาให้ผมแทนคำตอบเสมอ"

ถ้าเป็นไปได้ อาตมาอยากให้คุณส่งต่อไปให้คุณขอนลอยได้อ่านอีก น่าจะช่วยให้เขาได้เห็นพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดมนุษย์อันประเสริฐ

เจริญพร

(พระอำนาจ อนาลโย) สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา


==========================================


ถึงคุณประภาส


อ่าน บทความของคุณทั้งจากหนังสือพิมพ์ และรวมเล่มในที่ต่างๆ หลายครั้งนึกสงสัยว่าคุณเป็นชาวพุทธหรือเปล่า เพราะก็เห็นเขียนถึงพุทธศาสนาทั้งเรื่องของพระพุทธเจ้าและเรื่องสั้นที่มี พระสงฆ์เป็นตัวเอก(เรื่องนี้ชอบมาก) แต่หลายครั้งคุณก็พูดถึงพระเจ้า

ความจริงแล้วคุณนับถือศาสนาอะไร

แฟนห่างๆ

==========================================
ผมเป็นชาวพุทธครับ

ที่ ผ่านมา หากพลาดพลั้งไปเขียนอะไรที่มันขัดหูขัดตาชาวพุทธท่านอื่นก็ขอกราบขออภัยมาณ. ที่นี้ และก็ต้องขออนุญาตรวมไปถึงการเขียนถึงพระเจ้าในคริสต์ศาสนาด้วย

เชื่อ ไหมครับว่า ชาวพุทธในประเทศไทยหลายคนเป็นอย่างผม เราก้มกราบรูปพระเยซูได้โดยไม่รู้สึกเก้อเขินแต่อย่างใด ผมเดินผ่านมัสยิดนี่ผมยกมือไหว้บ่อยเลยครับ คนไทยเราถูกสอนให้นอบน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์จนอยู่สายเลือด

แต่ที่มากกว่านั้นก็คือผมคิดว่าผมเปิดใจรับคำสอนของศาสนาอื่นโดยไม่เคยคิดแบ่งเขาแบ่งเราเสมอ

ผม เชื่อว่าศรัทธาที่ศาสนิกชนทุกศาสนามอบให้มหาศาสดาของตนนั้นล้วนมาจาก "ความดี"ที่พระองค์บำเพ็ญเพียร และไอ้ตรงศรัทธาในความดีนี่แหละครับที่ผมยกมือไหว้

แม้แนวทางของ แต่ละศาสนาจะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเหมือนกันในคำสอนพื้นฐานของทุกศาสนาก็คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการทำความดีกับผู้คนรอบข้าง

เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครไปตีความเป็นอื่นเพื่อจุดประสงค์อันลี้ลับแห่งตน


ประภาส ชลศรานนท์


ที่มาของบทความ - มติชน วันอาทิตย์ หน้า 17

ไม่มีความคิดเห็น: