วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551

แบบบวกๆ - 22 ส.ค. 2547

แบบบวกๆ - 22 ส.ค. 2547

คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์

ถึงพี่ประภาส

วันนี้ อาจารย์สอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็พูดยกตัวอย่างให้ฟังหลายตัวอย่าง อาจารย์บอกว่าความคิดแปลกๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียหาย ไม่เรียกว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าความคิดไหนสร้างสรรค์ เพราะตอนเราคิดเราก็ไม่รู้นี่ว่ามันมีผลเสียหายหรือเปล่า

อยากจะ ถามพี่ประภาสว่าแล้วความคิดสร้างสรรค์กับความคิดเชิงบวกเป็นความคิดแบบเดียว กันหรือไม่ อาจารย์ยกตัวอย่างงานของพี่ประภาสด้วยว่าเป็นลักษณะของความคิดเชิงบวก

หนามเตย

==========================================
เรียนพี่ประภาส

ผม เคยอ่านเจอในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าการมองโลกในแง่ดีไม่ใช่เรื่องถูก ที่ดีที่สุดต้องมองโลกในแง่จริง ในบทความนั้นยังพูดด้วยว่าการมองโลกในแง่บวกเกินไปทำให้ไม่เห็นความจริงของ โลก

อยากถามพี่ประภาสว่า ถ้าการมองโลกในแง่บวก คือการมองโลกโดยละเลยความจริง เราก็ไม่ควรมองโลกแบบนั้นจริงมั้ย

แฟนพันธุ์แท้พี่ประภาส

==========================================
พี่ประภาส

เพื่อนฝากมาถามสั้นๆ ค่ะ คิดบวก คือการคิดเข้าข้างตัวเองใช่หรือไม่

ยุ้ย

==========================================


พระเอกของเรื่องวันนี้ชื่อ นายชาติ เขามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อวัลลภ สองคนเข้าหุ้นเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าร้านหนึ่งด้วยกัน

ชื่อ จริงๆ ว่าชาตินั้น ที่ถูกต้องเขียนว่า ชาด เพราะชื่อในบัตรประชาชนเขียนว่า กาชาด แม่ตั้งชื่อเขาแปลกๆ อย่างนี้เพราะแม่มีใจชอบในเครื่องหมายกาชาดที่เป็นเครื่องหมายบวกเป็นพิเศษ และอยากให้ชีวิตของลูกเป็นบวกตามความหมายของสัญลักษณ์นี้ ส่วนหุ้นส่วนของเขา ใครๆ ก็เรียกสั้นๆ ว่า ลบ แทนชื่อจริง ดังนั้นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าร้านนี้จึงตั้งชื่อว่า บวกลบพานิชย์ ตามชื่อของเจ้าของสองคน อีกทั้งยังมีความหมายไปถึงขั้วบวกขั้วลบของไฟฟ้า ซึ่งก็ตรงความหมายกับของที่ขายอยู่

กิจการดำเนินไปด้วยดี จนวันหนึ่ง พัดลมเครื่องหนึ่งที่วางขายอยู่ในร้านเกิดหายไป โดยบันทึกสมุดในบัญชีก็ไม่แจ้งไว้ เจ้าลบไม่รอช้าเดินมาถามตรงๆ กับหุ้นส่วนของเขาทันทีว่า ลูกจ้างของเราที่มีอยู่คนเดียวนั้นขโมยไปหรือเปล่า

แต่แล้วเขาก็ ยั้งปากไว้ ไม่ปรักปรำลูกน้องต่อ พลันก็พูดว่าหรือว่าเราขายไปแล้วแต่ลืมจดรายการลงในสมุดขาย แต่ใครเล่าที่เป็นคนขายแล้วลืมจด

ชาดเลยบอกหุ้นส่วนของเขาว่า เมื่อวานเห็นคนมาเข้าร้านเยอะแยะ ของอาจจะหายตอนไหนก็ได้ เราไปเปิดวิดีโอวงจรปิดที่ตั้งกล้องถ่ายไว้ในร้านดูกันไหม

ใน วิดีโอเทปที่ถ่ายภาพไว้ เห็นได้ชัดเลยครับว่าเจ้าลูกจ้างคนเดียวของร้าน กำลังถือพัดลมอยู่ปะปนในกลุ่มลูกค้า แต่เนื่องจากผู้คนที่เดินไปมาเต็มร้าน จึงมองเห็นไม่ชัดนักว่าเขาถือพัดลมเดินไปไหน หรือถือยืนอยู่เฉยๆ

"หรือว่ามันยกไปส่งลูกค้า" ชาดดึงมือเจ้าวัลลภไว้ก่อนที่มันจะวิ่งขึ้นบันไดไปเล่นงานลูกน้องที่นอนพักอยู่ชั้นบน

"มันเพิ่งมานอนค้างร้านเป็นวันแรกนี่ กินบนเรือนขึ้รดบนหลังคาอย่างนี้ เลี้ยงไว้ไม่ได้" นายลบพยายามสะบัดมือชาด

" คนเราถ้ามันจะขโมยแล้วละก็ มันไม่มานอนให้เราจับอย่างนี้หรอก" ชาดจับมือเพื่อนไว้แน่น เพราะกลัวจะสะบัดมือหลุด “บางทีเขาอาจจะกำลังยกพัดลมขึ้นมาทำความสะอาด หรือไม่ก็ยกขึ้นจัดข้าวของในร้านให้เป็นระเบียบก็ได้"

..............................................


พักเหตุการณ์ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วมาดูว่ามันมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นตรงไหนบ้างในนิทานเรื่องนี้

การ ตั้งชื่อร้านเป็นอย่างไรครับ เท่หยอกอยู่เมื่อไร เรียกได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่งนะครับได้ทั้งความหมายของกิจการ ได้ทั้งความหมายของเจ้าของ ถ้าจะถามว่าความคิดสร้างสรรค์แบบนี้ถือเป็นการคิดแบบคิดบวกไหม ก็คงต้องบอกว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะมันก็เป็นเพียงชื่อ ไม่มีผลอะไรในเชิงตัวเลขอย่างชัดเจนนัก แต่จะว่าไปมันก็เหมือนกับการตั้งชื่อลูกนั่นละครับ ชื่อที่มีที่มาจากชื่อพ่อหรือชื่อแม่นี่ ความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้นนะครับ ถึงจะไม่บวกเป็นรูปธรรมขึ้นมา แต่ผมว่ามันก็บวกอยู่ในใจทั้งพ่อแม่และลูก

คุณหนามเตยคงน่าจะพอได้คำตอบนะครับเรื่องคิดบวกกับคิดสร้างสรรค์

ที นี้ก็มาถึงประโยคแรกที่นายลบคิดว่าลูกจ้างขโมยของไป อันนี้เริ่มต้นก็คิดลบก่อนเลย แต่ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ เพราะเป็นแค่การสงสัย เพราะประโยคต่อมาของเขาก็บวกเข้าไปอีกหน่อยว่า "หรือขายแล้วลืมลงบัญชี"

บวกขึ้นมาอีกนิด แม้จะยังไม่ถึงศูนย์ แต่ก็ยังดี จริงไหมครับ ที่ยังคิดเผื่อ

แต่หลังจากดูภาพของกล้องวงจรปิดแล้วสิครับ นายชาดกับนายลบตีความการนอนค้างที่ร้านของลูกจ้างต่างกันคนละขั้วจริงๆ

คน หนึ่งมองว่าลูกจ้างขี้รดบนหลังคาแล้วยังมากินบนเรือน ส่วนอีกคนกลับมองว่าลองกล้านอนบนเรือนอย่างนี้แล้วจะไปขี้รดบนหลังคาได้ อย่างไร

ตอบคุณยุ้ยตรงนี้ได้เลยว่า ที่นายชาดมองบวกในเรื่องนี้ เขาไม่ได้มองเข้าข้างตัวเองตรงไหนเลยนะครับ เขาเข้าข้างลูกจ้างของเขาถ่ายเดียว แล้วถามว่าการมองต่างกันในประเด็นนี้ของทั้งสองคนก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง จินตนาการได้ร้อยแปดครับ นายลบขึ้นไปทำร้ายลูกจ้าง ลูกจ้างเลยทำร้ายกลับ หรือลูกจ้างผูกใจเจ็บกลับมาขโมยของจนหมดร้าน ก็แล้วจะจินตนาการละครับ

แล้ว ถามว่า ถ้าเกิดลูกจ้างขโมยจริงๆ ละ ผมก็คงต้องถามกลับว่าปรักปรำขนาดนี้ หลักฐานพอไหม (การมองลบของนายลบไม่ใช่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การสงสัย และป้องกันไว้น่าจะเป็นเรื่องดี)

ส่วนคำถามของคุณแฟนพันธุ์แท้ฯ ที่ถามว่าการมองโลกในแง่ดีนั้นคือการมองอย่างละเลยความจริงหรือเปล่า คงต้องฝากหาคำตอบด้วยตัวเองว่า กรณีนี้นายชาดละเลยความจริงหรือเปล่า

แล้วความจริงคืออะไร

ในขณะที่กล้องที่ถ่ายได้ก็ถ่ายได้แค่ภาพลูกจ้างยกพัดลม ใครจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพัดลมตัวนั้นจริงๆ ตอนที่ภาพถ่านไม่เห็น

ในความคิดผม ความสำคัญมันอยู่ตรงนี้ครับ

อยู่ตรงที่เมื่อไม่เราสามารถหาความจริงได้ว่าพัดลมตัวนั้นหายไปไหน เราจะคิดจะมองเรื่องนี้อย่างไร

ฟังภาคสองของนิทานเรื่องนี้ต่อดูครับ บางทีคุณแฟนพันธุ์แท้ฯ อาจจะได้คำตอบ

หลัง จากนั้นอีกปีหนึ่ง นายลบกับนายชาดก็แยกร้านกัน ทั้งสองเปิดเป็นร้านตัวแทนจำหน่ายแอร์คอนดิชั่นร้านหนึ่งชื่อวัลลภคลายร้อน อีกร้านหนึ่งชื่อ กาชาดชุ่มฉ่ำ (ความคิดสร้างสรรค์อาจจะน้อยกว่าชื่อร้านเมื่อครั้งที่ร่วมหุ้นกันเล็กน้อย)

ทั้งสองร้านขายแอร์ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน และมีฝีมือการติดตั้งเหมือนกัน

จะมีต่างกันก็แต่ใบเรียกเก็บเงินของทั้งสองร้าน ลองดูการมองโลกของทั้งสองคนสิครับ

ร้าน วัลลภคลายร้อน เขียนว่า ราคาแอร์พร้อมติดตั้ง ราคายืนไว้ ณ วันวางบิล 30,000 บาทถ้วน แต่ถ้าชำระเงินข้ามเดือนไป ต้องคิดเพิ่ม 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 31,500 บาท

ร้านกาชาดชุ่มฉ่ำ เขียนไว้ว่า ราคาแอร์พร้อมติดตั้ง ราคายืนไว้ ณ วันวางบิล 31,500 บาท แต่หากชำระภายในเดือนนี้ ทางร้านจะลดให้ทันที 1,500 บาท เหลือเพียง 30,000 บาท

ใครจะตอบผมได้ว่าความจริงคืออะไร

การได้รับเงิน 30,000 บาทนั้นคือความจริงใช่ไหม

ไม่ว่าคำตอบของท่านผู้อ่านแต่ละคนจะออกมาเป็นอย่างไร ผมขอเคารพความคิดไว้แค่นั้นครับ ไม่ขอต่อความยาวสาวความยืด

แต่เชื่อผมอย่างหนึ่งเถอะว่า ร้านกาชาดชุ่มฉ่ำนั้นจะเก็บเงินลูกค้าได้ก่อน และครบทุกรายอย่างแน่นอน

ประภาส ชลศรานนท์

ที่มาของบทความ - มติชน วันอาทิตย์ หน้า 17

ไม่มีความคิดเห็น: