วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คอลัมน์ คุยกับประภาส : ทุกๆ คนเป็นคนดี - 23 ม.ค. 2548

คอลัมน์ คุยกับประภาส : ทุกๆ คนเป็นคนดี - 23 ม.ค. 2548



คอลัมน์ คุยกับประภาส โดย ประภาส ชลศรานนท์


สวัสดีครับพี่ประภาส


"กับสิ่งที่เราควบคุมมันไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องยอมรับมัน และก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน"

คง คุ้นๆ กับคำพูดนี้นะครับ เพราะว่าเป็นประโยคของพี่เอง ตอนนี้ชีวิตผมกำลังเปลี่ยนแปลง คงต้องใช้คำว่ายิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่เคยคิดมาก่อนล่ะครับว่าจะต้องแยกทางเดินกับภรรยา ที่ลำบากใจก็เพราะว่ามีลูกชายตัวเล็กเป็นผู้มาร่วมปัญหานี้ด้วย...

ตอน เด็กๆ สมัยเรียนหนังสือแล้วครูเล่าประวัติพระพุทธเจ้าให้ฟัง ผมเคยสงสัยว่าคนที่ทิ้งลูกเมียตัวเองเพื่อไปหาทางหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวนั้น เราจะนับเป็นคนดีได้ด้วยหรือ ถามผู้ใหญ่คนไหนก็ไม่เคยได้คำตอบที่ดีหรอกครับ พี่คงเดาได้ว่าส่วนใหญ่จะยัดเยียดคำว่าบาปมาให้ผมแทนคำตอบเสมอ

แล้วผมก็ลืมคำถามที่ไม่มีคำตอบนี้ไปกับวันเวลา หรือจะเป็นบาปที่ผมคิดคำถามแบบนี้จริงๆ

ผม เคยคิดเสมอว่าการที่เราพอจะเข้าใจชีวิตและปล่อยวางกับเรื่องส่วนมากได้เสมอ ปัญหาชีวิตคู่นั้นไม่น่าเกิดกับเราได้ เพราะผมคิดเสมอว่ากับคนอื่นคนไกลที่มาทำไม่ดีกับเรา เรายังให้อภัยได้ แล้วทำไมกับคนใกล้ตัวเราจะให้ไม่ได้ และผมก็ปฏิบัติแบบนั้นเรื่อยมา ชีวิตคู่น่ะครับ ดีกันบ้าง งอนกันบ้าง โกรธกันบ้าง ก็อยู่ด้วยกันมาสิบปี จนลูกชายอายุห้าขวบกว่าแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าวันเวลาแห่งความสุขเป็นส่วนมากของชีวิต

แต่ก็มี ปัญหาขึ้นมาจนได้ กับสิ่งที่เราควบคุมมันไม่ได้ แล้วผมก็ใช้อารมณ์ตัดสินปัญหาจนได้สิครับ ไม่ได้มีมือที่สามอะไรหรอกครับ แค่เป็นเส้นที่เขาข้ามมาที่ผมยอมรับไม่ได้ และคิดว่าเราอยู่ด้วยกันไม่ได้จริงๆ แล้ว เหมือนเหตุผลทั่วไปที่พี่เคยได้ยินมานั่นแหละครับ

ที่กังวลก็มีแต่ ลูกชายเท่านั้น ผมคลุกคลีกันมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เขา หาเพลงคลาสสิคพวก Mozart for morther to be, Beethoven lullabies for mother and child แล้วก็พวก Nature sounds and music แบบที่เป็นเพลงบรรเลงเบาๆ แล้วมีเสียงฝนตก นกร้องเพลง เสียงจิ้งหรีด เสียงจักจั่น เรไรแว่วๆ มาเปิดให้ฟัง แล้วก็ลูบคลำท้องแม่เขาเล่านิทาน ร้องเพลงผีเสื้อ แมงมุมลายตัวนั้น ท่องอาขยาน เล่านิทานให้ฟังตั้งแต่ยังดิ้นเล็กๆ ในท้องแม่ เป็นสัญญาณตอบรับว่าผมฟังอยู่นะพ่อ

จนโตขึ้นมาหน่อยก็ วาดรูป ร้องเพลง เล่นต่อสู้ ต่อเลโก้ รถบังคับ จนถึงออกไปเล่นว่าว ก่อปราสาททราย แล้วมานั่งกินมาม่ากรอบๆ เป็นขนมแกล้มกับน้ำแดงดูแสงหิ่งห้อยด้วยกัน รอให้แม่เขามาว่าๆ ให้ลูกกินของแบบนี้อีกแล้ว เดี๋ยวไปอืดในท้อง

(ผมว่าเขาคงจำมาจากผู้ใหญ่สมัยก่อนอีกที เพราะผมกินตั้งแต่เด็กจนสามสิบกว่าเข้าไปแล้ว ก็ยังโดนว่าอยู่ ฮะ ฮะ)

ที่ เล่าให้ฟังก็เพราะเรากำลังจะแยกกันอยู่ ภรรยาผมเป็นนักธุรกิจ เธอเก่งไปทางการค้า ส่วนเรื่องเล็กๆ เธอไม่ค่อยสังเกต การ์ตูนเธอก็ไม่รู้จัก โดเรม่อนยังไม่รู้จัก เธอคล้ายๆ คนที่ถ้าเราเดินไปที่จุดหมายด้วยกันก็จะเร่งให้เราเดินตรงไปให้ถึงเร็วๆ ถ้าแวะชมทุ่งชมหญ้าก็จะโดนดุว่าเอา

ภรรยาผมเขาก็บอกว่าเขารู้ว่า เจ้าลูกชายมองโลกและคิดในมุมคล้ายๆ ผม ถ้าได้ไปอยู่กับผมก็จะดี แต่อย่างไรเธอก็จะเอาลูกไว้ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรครับ ถึงจะอยากพาลูกไปด้วยจนน้ำตาไหล ชีวิตที่เราเข้าใจว่าต้องยอมรับนี่ อธิบายไม่ง่ายเลยนะครับ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกชายถามเราว่า

พ่อจะทิ้งเขาไปหรือ...พ่อไม่รักเขาแล้วหรือ...เขาทำอะไรผิดหรือ ตามความเข้าใจของเขาครับ

ผม สอนเขาเสมอว่าให้รู้สึกเสียใจในสิ่งที่เราทำผิดครับ พอบอกว่าเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว เขาบอกว่าเขาต้องทำผิดอะไรสักอย่างแน่ๆ พ่อกำลังทำโทษเขาใช่ไหม เขาแอบกินคุกกี้แทนข้าวใช่ไหม หรือเขาไม่เก็บของเล่น...พ่อไม่ไปได้ไหม เขาสัญญาว่าจะเป็นเด็กดี

ผมโตมากับสมัยรายการวิทยุโลกสวยด้วยเพลง ผมคุ้นเคยกับเพลงของกลุ่มคีตกวีเพลงหนึ่ง "ทุกทุกคนเป็นคนดี" ผมเชื่อเสมอว่าผมเป็นคนดี

แต่ วันนี้คำถามเก่าๆ ก็กลับมาอยู่ในใจผมอีกครั้ง ว่าผู้ชายที่ทิ้งลูกเมียตัวเอง เพื่อไปหาทางหลุดพ้นทุกข์ส่วนตัวนั้น เราจะนับเป็นคนดีได้ไหม


ขอนลอย


=========================================


คำถามของคุณขอนลอยฟังดูน่ากลัวนะครับ ยิ่งสำหรับคนเฒ่าคนแก่นี่อาจจะรับไม่ได้เลย

ตอน ที่ผมตัดสินใจจะตอบจดหมายคุณขอนลอย ผมตั้งใจไว้ว่าก่อนที่ผมจะเขียนตอบผมจะไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจด และก็ไปที่โต๊ะหมู่บูชาเพื่อสวดมนต์กราบพระทำจิตใจให้มีสมาธิก่อนจะมาตอบ

ใคร ที่เป็นแฟนคอลัมน์นี้คงพอจะนึกออกว่า ผมได้เขียนถึงพระบรมศาสดาของเราอยู่บ่อยๆ เขียนถึงธรรมอันเป็นข้อหลักของพุทธศาสนาบ้าง เขียนถึงเรื่องราวตอนพระองค์ยังเป็นเจ้าชายเสด็จออกผนวชบ้าง ใครอ่านดูก็รู้สึกได้ว่ามุมมองของผมนั้นคล้ายกับว่าผมมองพระพุทธเจ้าอย่าง มนุษย์ ผมมักพูดเสมอว่าพระองค์คือ "มนุษย์ผู้ค้นพบ" และสิ่งที่พระองค์ค้นพบนั้นยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่เชื่อไหมครับเอาเข้าจริงๆ ถึงตอนที่ผมนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป ผมกลับรู้สึกว่าพระองค์ไม่ใช่มนุษย์

ไม่ใช่มนุษย์แล้วเป็นอะไร เป็นเทพ เป็นพระเจ้า?

ผมรู้สึกว่าพระองค์เป็น "ศรัทธา"

ยอมรับครับว่าอธิบายยากเรื่องความรู้สึกว่าพระองค์เป็น "ศรัทธา" นี่ แต่ผมเชื่อคนไทยหลายคนน่าจะมีความรู้สึกอย่างผม

ทุก ครั้งที่ผมกราบพระสามหน ผมจะนึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ นามธรรมทั้งสามนี่แหละครับที่พอจะอธิบายความรู้สึกศรัทธาในพระบรมศาสดาของผม

วันนี้หลังจากที่กราบสามครั้งสุดท้ายเสร็จ ผมก็ยังคงนั่งอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชา มองพระพักตร์ของพระพุทธรูปนิ่งอีกพักใหญ่ ไม่รู้ผมรู้สึกไปเองหรือเปล่าว่าวันนี้ท่านมีรอยยิ้มคล้ายๆ ผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก

ไม่รู้ว่าท่านกำลังเอ็นดูผมหรือเอ็นดูคุณขอนลอยอยู่

แล้วภาพเมืองกบิลพัสดุ์ก็ลอยขึ้นมาตรงหน้า

บาง ทีตอนที่คุณขอนลอยตั้งคำถาม คุณขอนลอยอาจจะลืมจินตนาการไปว่า ครอบครัวในอินเดียโบราณเขาอยู่กันอย่างไร สามีภรรยาและบุตรเขาอยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวรรณะกษัตริย์

แต่ผมว่ากษัตริย์เขาคงไม่อยู่กันแค่สามคนพ่อแม่ลูกแน่ๆ

แล้วภาพของกองทัพ ข้าทาสบริวาร นางสนม เหล่าเสนาอำมาตย์และประชาราษฎร์ก็ปรากฏขึ้นมาเต็มมโนภาพผมไปหมด

ถึงตอนนี้ผมมีคำถามที่ลอยขึ้นมาถามคุณขอนลอยกลับบ้างแล้วนะครับ

ถาม ว่า กษัตริย์ที่ต้องจำพราก(หรือคุณขอนลอยจะเรียกว่าทิ้งก็ได้) จากมเหสีและพระโอรสไปรบทัพเพื่อปกป้องบ้านเมืองและไพร่ฟ้าประชาชนนั้นเรียก ได้ว่าเป็นคนดีไหม?

บางทีคุณขอนลอยอาจจะนึกถึงคำว่า "เสียสละ" ไม่ออก เลยใช้คำว่าทิ้งลูกเมียแทน

กษัตริย์ หลายพระองค์ในประวัติศาสตร์ ต้องจากบ้านจากลูกเมียไปรบทัพจับศึกเป็นปีๆ นะครับ ที่ถูกแล้วต้องเรียกว่าเสียสละเรื่องส่วนตัวเพื่อส่วนรวมด้วยซ้ำ

เจ้าชายสิทธัตถะนั้นยิ่งกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์บนโลก เพราะพระองค์มิได้เสียสละเพื่อประชากรเมืองใดเมืองหนึ่ง

พระองค์เสียสละความสุขในพระราชวัง เสียสละความเป็นครอบครัว เพื่อไปรบทัพจับศึกกับศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ "ความทุกข์" ที่ สำคัญพระองค์ไม่ได้แสวงความหลุดพ้นเพียงส่วนตัวเลย สิ่งที่พระองค์ทำทั้งหมดหลังจากตัดพระเกศาที่ริมฝั่งเนรัญชรา ก็คือต้องการค้นหาหนทางที่จะสยบความทุกข์เพื่อมาบอกแก่คนทั้งโลก

และ ถ้าคุณขอนลอยศึกษาพุทธประวัติสักหน่อย คุณขอนลอยก็คงจะรู้เพิ่มเติมอีกว่า หลังจากพระองค์ตรัสรู้ประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ยังทรงเสด็จมาแสดงธรรมโปรดพระญาติ รวมไปถึงพระชายาและพระโอรส จนได้บรรลุโสดาบัน โดยภายหลังพระราหุลยังได้บวชในพุทธศาสนา ศึกษาธรรมจนสำเร็จอรหันต์

ส่วนปัญหาชีวิตส่วนตัวของคุณขอนลอยนั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเห็นใจ ไม่ว่าผมหรือใครๆ ก็คงแก้ให้ไม่ได้ อีกทั้งดูจากจดหมายแล้ว คุณขอนลอยเองก็ไม่ได้มุ่งมาดจะให้ใครมาแก้ปัญหาให้ แม้ผมอยากจะบอกคุณเต็มแก่ว่า เส้นที่คุณว่าภรรยาของคุณข้ามนั้นมันสำคัญว่าครอบครัวจริงๆ หรือ มันสำคัญถึงขนาดเป็นความเป็นความตายของมนุษยชาติเชียวหรือ

ลองหาหนังสือพุทธประวัติมาอ่านดูสิครับ บางทีคุณขอนลอยอาจจะเจอคำตอบของตัวเองในประวัติของพระองค์



ประภาส ชลศรานนท์


ที่มาของบทความ - มติชน วันอาทิตย์ หน้า 17 จากเวป Thaimung.com

-------------------------------------------------------------

อ่านครั้งแรกก็คิดไม่ถึง ถึงการที่ต้องมองอีกแง่นึงตอนพระพุทธเจ้าออกบวช ท่านทิ้งพระชายาและพระราชบุตรได้อย่างไร

คนไทยถูกสอนให้เชื่อก่อน เหตุผล ทั้งที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่ เริ่มด้วยศรัทธาอาศัยเหตุผล ตามกาลามสูตร อาจจะเป็นไปได้ไหมครับว่าก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเดินตามกรรม แต่พอตรัสรู้แล้วกรรมตามไม่ทัน ไม่ส่งผลมากมายนัก บวกกับทรงมีเมตตาโปรดสัตว์ด้วยก็ไม่รู้

ไม่มีความคิดเห็น: